ด้วยคณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาว่า การตั้งชื่อชายและหญิงยังมีลึกลั่นอยู่ เพราะชื่อๆเดียวกันอาจตั้งได้ทั้งสองเพศ ไม่ทราบว่าชื่อนั้นเป็นชื่อชายหรือหญิง ต้องอาศัยคำนำชื่อประกอบอีกชั้นหนึ่งจึงจะทราบ ถ้าหากมีหลักตั้งชื่อเพื่อให้รู้ว่าเป็นชายหรือหญิงได้ ก็จะนำเป็นระเบียบที่ดีควรแก่อารยธรรมของชาติ
บัดนี้ คณะกรรมการได้จัดวางหลักตั้งชื่อ และวิธีใช้อักษรย่อชื่อพร้อมด้วยทำบัญชีลำดับชื่อพร้อมด้วยทำบัญชีชื่อลำดับอักษรเป็นนามนุกรมตัวอย่าง เสนอขึ้นมาคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาแล้วลงมติเห็นชอบด้วยเป็นเอกฉันท์ จึงประกาศเพื่อใช้เป็นปฐมฤกษ์ในวันชาติ พุทธศักราช 2584 นี้
ขอชักชวนพี่น้องชาวไทยทั้งมวล ให้ร่วมใจกันตั้งชื่อแสดงเพศตามหลักท้ายประกาศนี้สำหรับในกาลต่อไป เพื่อดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมไทย ส่งเสริมฟื้นฟูเป็นศรีสง่าแก่ประเทศชาติ ทั้งเป็นสวัสดิมงคลแก่เจ้าของชื่อตลอดไปชั่วกาลนาน
ประกาศมา ณ วันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2484
พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี
สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อกว่า 70 ปีที่ผ่านมา มีการสร้างวัฒนธรรมทางการเมือง สังคมใหม่ โดยการออกมาตรการต่างๆมาให้ประชาชนปฏิบัติตาม ในเรื่องของการตั้งชื่อบุคคลถ้าขึ้นชื่อว่าคนไทยก็ต้องมีระเบียบแบบแผนในการตั้งชื่อ ไม่ใช่ว่าคิดอยากตั้งอย่างไรก็จะสามารถตั้งได้ตามใจไปได้ทั้งหมด หากต้องมาคำนึงด้วยว่าชื่อนั้นจะเหมาะสม หรือไม่ อย่างไร จนขณะนั้นการตั้งชื่อกลายเป็นเป็นกฎเกณฑ์บังคับไป
สมัยก่อนคนไทยส่วนมากไม่ได้รับการศึกษา เมื่อให้กำเนิดลูกขึ้นมาจึงตั้งชื่อให้ง่ายที่สุด อาจจะตั้งเอง หรือให้พระในหมู่บ้านตั้งให้ก็ได้ ซึ่งการตั้งชื่อเหล่านั้นอาจจะมีความหมายบ้างหรือไม่มีก็ได้ หากพ่อแม่ไม่คิดอะไรมากก็ตั้งไปตามแต่ใจนึก เช่น บุญมี บุญมา ดำ แดง หมู แมว แตกต่างกับกลุ่มคนที่มีการศึกษาก็จะตั้งชื่อให้ลูกที่มีความหมาย ที่ดูกว้างขวาง มีเกียรติ
เพื่อลดช่องว่างระหว่างชนชั้น ด้วยเหตุนี้เองท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งบริหารประเทศอยู่ในช่วงปี นั้นจึงออกกฎในการตั้งชื่อบุคคล ไว้ว่าหากเกิดเป็นชายก็ต้องตั้งชื่อให้สมชาย ดูเข้มแข็ง และหากเกิดเป็นหญิงก็ตั้งชื่อให้มีความนุ่มนวล นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้คนไทยสมัยนั้นใช้ชื่อและนามสกุลให้เป็นไทยแท้ หากใครตั้งชื่อ-สกุลเหมือนต่างชาติก็จะต้องเปลี่ยน โดยในขณะนั้นได้มีการกำหนดชื่อคนไทยใหม่ เพราะรัฐบาลมองเห็นว่าชื่อคนไทยแต่เดิมบางชื่อไม่มีความหมาย ไม่มีความไพเราะ ทำให้มีประชาชนผู้ที่มีชื่อไม่เหมาะสมหรือคล้อยตามกับเพศของตนต้องออกมาเปลี่ยนชื่อกันให้วุ่นวาย หรือถ้าใครที่มีชื่อไม่คล้อยตามเพศและไม่ยอมเปลี่ยน หากเป็นข้าราชการก็จะไม่ได้รับเงินเดือน
หลังจากนั้นเมื่อปี 2536 ในยุคการปกครองของ ชวน หลีกภัย ได้ยกเลิกหลักเกณฑ์ในการตั้งชื่อบุคคลข้างต้นนี้ เนื่องจากมองว่าไม่เข้ากับกาลสมัย และความนิยมของประชาชน
พอมาถึงยุคปัจจุบันที่เป็นยุคโลกาภิวัฒน์ ความมีเสรีภาพในด้านต่างๆของประชาชนได้เพิ่มมากขึ้น แม้กระทั่งเรื่องชื่อ ที่สามารถ ตั้งอย่างไรก็ได้ตามใจต้องการ ทำให้บางคนที่ไม่พอใจในชื่อของตนเองก็เริ่มมีแนวความคิดที่จะเปลี่ยนชื่อ เพื่อเพิ่มความเป็นสิริมงคลกับตนเอง และบางคนก็เปลี่ยนเพราะเห็นคนอื่นเปลี่ยนเลยอยากจะทำตามบ้าง
เปลี่ยนชื่อง่ายๆสะดวกสบาย
สมศักดิ์ เกตุวงศ์ เจ้าพนักงานการปกครอง7ว สำนักงานเขตพระนครให้ข้อมูลว่า "ทุกวันนี้คนนิยมเปลี่ยนชื่อกันเพิ่มมากขึ้นจากแต่ก่อนมาก เพราะว่ามีหมอดูทักในเรื่องชื่อว่าไม่เป็นมงคลบ้าง ไม่เหมาะสมกับตัวเองบ้างละ จึงมีการมาเปลี่ยนเพื่อเพิ่มความเป็นสิริมงคลให้กับตัวเอง บางรายเปลี่ยนทั้งครอบครัวก็มี ส่วนแต่ก่อนคนไม่นิยมเปลี่ยนชื่อเท่าไหร่ เพราะมีความรู้สึกว่าชื่อที่พ่อแม่ตั้งให้เป็นชื่อที่ดีที่สุดแล้ว"
สาเหตุหลักอีกอย่างที่ทำให้คนนิยมการเปลี่ยนชื่อมีเพิ่มมากขึ้น อาจจะเพราะขั้นตอนการเปลี่ยนชื่อก็ไม่ได้ยุ่งยากเหมือนแต่ก่อน เพราะผู้ที่ต้องการเปลี่ยนชื่อไม่จำเป็นต้องเขียนคำร้องข้อมูลเองเหมือนเมื่อก่อน เพราะทางสำนักงานทะเบียนสามารถป้อนข้อมูลด้วยชื่อใหม่ลงในระบบคอมพิวเตอร์ และเมื่อเจ้าหน้าที่พิจารณาดูแล้วว่าชื่อนั้นไม่เป็นคำหยาบคายและผู้ขอเปลี่ยนชื่อก็ทำการตรวจสอบความถูกต้องของชื่อใหม่ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ทำการอนุมัติให้เปลี่ยนชื่อทันที ซึ่งการเปลี่ยนมาใช้ระบบคอมพิวเตอร์ช่วยในการเปลี่ยนชื่อได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2546 เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและเพิ่มความรวดเร็วในขั้นตอนการเปลี่ยนชื่อ ซึ่งใช้เวลาเพียงไม่เกิน 10 นาที
"บางทีชื่อที่มาเปลี่ยนก็ไม่มีความหมายนะ แต่เจ้าหน้าที่ก็ยึดหยุ่นอนุโลมให้เปลี่ยนได้ แต่ถ้าเมื่อก่อนนี้จะเคร่งครัดมาก ถ้าชื่อไม่มีความหมาย เป็นคำที่ไม่คุ้นเคย หรือเป็นภาษาที่แปลกออกไป ก็จะไม่อนุญาตให้เปลี่ยนได้ อาจจะเพราะว่าสมัยนี้มีหลายภาษาเข้ามา เช่น สันสกฤต บาลี หรือบางชื่ออาจจะเขียนด้วยตัวสะกดที่แปลกออกไปกว่าปกติจากภาษาเดิม เพราะบางคนเขายึดหลักเหตุผลด้านเลขศาสตร์ กำลังของเลขมงคลที่อยู่ในชื่อนั้นๆ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่จะพิจารณาให้เปลี่ยนหรือไม่ และก็มีบางคนที่พอเปลี่ยนชื่อไปแล้วก็มาเปลี่ยนกลับมาใช้ชื่อเดิม เพราะว่ามันวุ่นวายในเรื่องเอกสารสำคัญต่างๆ เช่น หนังสือเดินทาง เอกสารสิทธิ์ที่ดิน สมุดธนาคารฯลฯ " สมศักดิ์ กล่าวไว้
คนมายาแห่เปลี่ยนชื่อเสริมดวง
คงจะได้ยินกันบ่อยๆที่ว่าศิลปิน-ดารา คนนั้นคนนี้เปลี่ยนชื่อเพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลให้กับตัวเองอย่างเช่นรายนี้ จา-พนม ยีรัม ดาราภาพยนตร์ชื่อดัง เปลี่ยนชื่อเป็น ทัชชกร ซึ่งมีความหมายว่า ผู้สร้างที่ยิ่งใหญ่ จา-พนม เล่าว่า ชื่อใหม่มาจากการให้ การศรัทธา เขาไปหาอาจารย์ที่รู้จัก แล้วก็เลือกชื่อมา ซึ่งมีทั้งหมด 10 กว่าชื่อ เขารู้สึกดีและพอใจกับชื่อ ทัชชกร มากที่สุด อย่างไรก็ตามเขาก็ยังคงชื่อ จาก พนม ไว้ในวงการแสดง เพราะเขาก็ยังคงเป็นจา พนม ซึ่งเป็นที่รู้จักของทุกคน
นุ่น-สินิทรา ก็เปลี่ยนชื่อเป็น ดารัล บุญยศักดิ์ และพอหลังจากการเปลี่ยนชื่อแล้วหน้าที่การงานก็ดีขึ้น มีงานละครติดต่อเข้ามาให้ร่วมแสดงรวม 6 เรื่อง ซึ่งเธอก็พอใจกับชื่อใหม่นี้ด้วย
นักแสดงอีกหนึ่งคนที่เปลี่ยนชื่อและนามสกุลเมื่อไม่นานมานี้ คือ น้ำฝน-กุณณัฏฐ์ กุลปรียะวัฒน์ เปลี่ยนเป็น อัญรินทร์ หิรัญพรฐานนท์ ส่วนชื่อในวงการบันเทิงยังคงใช้ชื่อ น้ำฝน กุณณัฏฐ์ เช่นเดิม ส่วนชื่อใหม่ อัญรินทร์ มีความหมายว่ามีโชคดี มีค่า ส่วนนามสกุล หิรัญพรฐานนท์ มีความหมายว่ารวยทรัพย์สิน และความโชคดี
สำหรับนักแสดงสาวคนนี้เปลี่ยนทั้งชื่อและนามสกุลด้วย เพราะมีคนบอกกับเธอว่า ถ้าเปลี่ยนแต่ชื่อมันก็ดี แต่ยังไม่ดีมาก ถ้าจะให้ดีทั้งหมดควรเปลี่ยนนามสกุลด้วย เปลี่ยนชื่อแล้วก็เปลี่ยนนิสัยไปด้วย จุดไหนที่รู้ว่าตัวเองไม่ดีก็พยายามแก้ไข ปรับปรุงใหม่ให้ดีขึ้น ใจเย็นขึ้น
อีกหนึ่งคนที่เปลี่ยนชื่อแล้วงานในวงการก็รุ่งตาม รัน-นพวรรณ ศรีนิกร ที่เปลี่ยนเป็น ณัทธมนกาญจน์ ศรีนิกรโชติ แล้วดูเหมือนว่าหน้าที่การงานในวงการบันเทิงก็เจริญรุ่งเรืองตามมาติดๆ
ส่วน เมษ์-บัณฑิตา ฐานวิเศษ ก็เปลี่ยน เป็น อรวรรณษา ซึ่งแปลว่าหญิงสาวที่เหมือนดั่งน้ำฝน เป็นชื่อที่พระตั้งให้ สาเหตุที่เปลี่ยนก็เนื่องมาจากว่าช่วงปีเบญจเพศพอดี เกรงว่าชีวิตจะมีเคราะห์
ด้านสาว มด-ชุติมณฑน์ ชัยรัตน์ นักร้องคู่ดูโอ้ (โฟร์-มด) ก็เปลี่ยนชื่อเป็น คุณัชญา ชัยรัตน์ แปลว่า ผู้รอบรู้ ใฝ่คุณธรรม ทำงานเก่ง หาเงินเก่ง สาเหตุที่เปลี่ยนก็เนื่องมาจาก มีหมอดูทักมาว่าชื่อเก่ามีตัวกาลากิณี ต้องเปลี่ยนเปลี่ยน เพราะหากไม่เปลี่ยนจะทำให้เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์อย่างรุนแรง อาจจะทำให้เสียชีวิตได้
แม้กระทั่งนักข่าวสาวอย่าง ปอ-อรปรียา หุ่นศาสตร์ ก็เปลี่ยนชื่อมาเป็น ปุณยวีร์ สุขกุลวรเศรษฐ์ เรียบร้อยแล้ว แล้วยังมี โอ๋-นิธิพร มั่นนาค เปลี่ยนชื่อเป็น ปราย ธนาอัมพุช
เปลี่ยนชื่อตามดาราหวังชีวิตรุ่ง
"เห็นมีคนที่รู้จักเปลี่ยนชื่อ เราก็เลยอยากเปลี่ยนบ้าง เพราะคนที่เขาเปลี่ยนแล้วรู้สึกว่ามีชีวิตและหน้าที่การงานที่ดีขึ้น ก่อนหน้านี้เราก็ไม่เชื่อนะว่าถ้าเปลี่ยนชื่อแล้วจะสามารถเปลี่ยนชีวิตได้ แต่พอเราเห็นตัวอย่างจากคนที่รู้จัก หรือแม้กระทั่งดาราคนดังก็มีการเปลี่ยนชื่อกันเยอะขึ้น ดาราบางคนก็มีงานเข้าเพราะเปลี่ยนชื่อกันเยอะนะ ก็เลยทำให้เรามีความคิดอยากจะเปลี่ยนชื่อกับเขาบ้าง" โรจน์วิจิต วงศาโรจน์ หัวหน้าผู้สื่อข่าวบันเทิงนิตยสาร สตาร์ คลิป เล่า
เดิมเขาใช้ชื่อ กรีเทพ วงศาโรจน์ และมีคนแนะนำว่าตัวพยัญชนะ ก เป็นตัวกาลากิณี สำหรับคนที่เกิดวันอาทิตย์ และแนะนำให้เปลี่ยนชื่อให้มีการพ้องเสียงกับนามสกุล ซึ่งจะเป็นการเสริมดวงที่ดียิ่งขึ้นและเขาก็เลือกชื่อ โรจน์วิจิต เพื่อให้คล้องจองกับนามสกุล วงศาโรจน์ โดยมีคำว่า โรจน์ นำหน้าและปิดท้ายชื่อ ซึ่งหมายความถึงความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต
นอกจากการเปลี่ยนชื่อแล้ว โรจน์วิจิต ยังแนะนำฤกษ์ในการเปลี่ยนชื่อเพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลยิ่งๆขึ้นไปว่า ควรเปลี่ยนในช่วงที่เป็นวันมงคล วันเฉลิมฉลอง เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ ตรุษจีน อีกทั้งยังควรมีการทำบุญตักบาตร อุทิสส่วนกุศล และทำให้คนอื่นเรียกชื่อใหม่เราบ่อยๆ เพื่อจะได้เสริมความเป็นสิริมงคลให้กับตัวเองอีกด้วย
"หลังจากเปลี่ยนชื่อแล้ว เราก็ชอบชื่อใหม่นี้นะ ส่วนผลก็มีบ้าง เช่น หน้าที่การงานเราก็ดีขึ้น จะทำอะไรก็ราบรื่น และเราก็เริ่มมีความเชื่อเรื่องที่ว่าถ้าชื่อไม่ดีมันจะทำให้หลายๆอย่างไม่ดีด้วย ถ้าชื่อเราดีมันเป็นการเสริมดวงเราด้วย ทำให้ชีวิตเราดีตาม ตอนแรกเรามองว่าการเปลี่ยนเป็นเรื่องยุ่งยาก วุ่นวายด้วย แต่พอเราไปเปลี่ยนแล้วก็ไม่ได้ยุ่งยากเหมือนที่คิดไว้ ใช้เวลาเพียง 15-20 นาที เท่านั้นเอง" โรจน์วิจิต กล่าว
เขายังกล่าวอีกว่า การเปลี่ยนชื่อในสมัยนี้กลายเป็นความนิยมไปแล้ว อาจจะเป็นการเริ่มเห็นตัวอย่างจากคนดังหลายคน ที่มีการเปลี่ยนชื่อ โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีหลังนี้ มีให้เห็นกันมากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากการที่มีหมอดูออกสื่อเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้คนส่วนใหญ่หันมาให้ความสนใจศึกษาเรื่องชื่อและเปลี่ยนชื่อกันมากขึ้นด้วย
อีกหนึ่งคนที่เชื่อว่าชีวิตและหน้าที่การงานจะดีขึ้นหลังจากการเปลี่ยนชื่อแล้วก็คือ คณธัช วุฒิวรานุรักษ์ เดิมใช้ชื่อว่า ทศพล
"ที่อยากเปลี่ยนชื่อ เพราะว่าช่วงก่อนหน้านี้ชีวิตไม่มีอะไรดีเลย มีปัญหาหลายอย่าง หน้าที่การงาน ไม่ราบรื่น มองไม่เห็นอนาคต พอดีที่บ้านมีคนรู้จักกับเลขาพระสังฆราช ก็เลยอยากให้เราเปลี่ยนชื่อดูบ้าง เผื่อชีวิต หน้าที่การงานจะดีขึ้น แล้วพอหลังจากการเปลี่ยนชื่อเรียบร้อยแล้วนะดูเหมือนว่าอะไรก็เริ่มดีขึ้น การงานก็ราบรื่น ดีขึ้นจากเดิม อย่างการสมัครงานใหม่หลายที่ก็เริ่มมีการติดต่อเข้ามา เรียกสัมภาษณ์และรับเข้าทำงาน 2-3 ที่ จะหยิบจะจับทำอะไรก็ประสบความสำเร็จไปในระดับหนึ่ง เช่น เปิดร้านขายเสื้อผ้าก็ขายดี ส่วนเรื่องความรักก็โอเคขึ้น รวมๆชีวิตเราก็ดีขึ้นหลังจากการเปลี่ยนชื่อแล้ว" คณธัช แสดงความคิดเห็นไว้
นอกจากนี้เขายังบอกอีกว่าสิ่งต่างๆที่ดีขึ้นในชีวิต ไม่เพียงแต่มาจากเหตุผลการเปลี่ยนชื่อเท่านั้น แต่หมายถึงสิ่งอื่นที่เราต้องขวนขวายหาความสำเร็จเองด้วย ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนชื่อแล้วก็รอความสำเร็จเดินทางเข้ามาหาโดยที่ไม่ทำอะไรเลย อย่างนั้นก็ไม่ใช่แล้ว
********
หลักตั้งชื่อบุคคลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม
ชื่อบุคคล ให้มีที่หมายรู้ว่าเป็นชื่อชายหรือหญิง ชื่อหนึ่งให้มีสามพยางค์เป็นอย่างมาก ความหมายรู้ว่าเป็นชายหรือหญิงนั้น
ตัวอย่าง
ชื่อชาย
กลีบ, เจือ, ดวง, บุญ, คะนึง,คำนึง, จรัส,จำรัส, ถนอม, ประเสริฐ, กมล, กิติ,ดรุณ, สุนทร,เทพ, พรหม, อมร, อินทร์, ชาลี, ราม,สุธน, ชนก, ชาย, ,มนู, มานพ, มุนี, สมชาย, ครุฑ, นาค, มังกร, หมี, สิงโต, สิงห์, สีห์, เสือ, อินทรีย์,ขวาน, คฑา, จักร, ตรี, ทวน, ธนู, ศร, กล้า, เกรียง, ไกร, แกล้ว, ชัย, ณรงค์, เดช, บันลือ, ยุทธ์, ระบือ, ยุทธ์, ระบือ, ฤทธิ์, สนั่น, หาญ, ห้าว, เหิม, อาจ, อิทธิ เป็นต้น
ชื่อหญิง
กลีบบัว, กลีบผกา, เจือจันทร์,บุญเจือ, ดวงใจ, ดวงมาลย์, บุญเรือน, บุญศรี, คะนึงสุข, ควรคำนึง, จรัสโฉม,จำรัส, ลักษณ์, ถนอมจิตต์, ถนอมศรี, ประเสริฐทรง, กมลา,กิติมา, ดรุณี, จิตรา, สุนทรี, สุนทรา, กิติมา, โชติมา, สิริมา, เทพี, เมขลา, ลักษมี, ศรี, สุชาดา, อัจฉรา, อัปสร, อินทิรา, กัณหา, รจนา, สีดา, กัญญา, กลัยา, นาฎ, สมร, สุดา, อนงค์, นงนุช, นงเยาว์, นวลอนงค์, สายสมร, ฉวี, ฉลวย, เฉลา, แฉล้ม, ไฉไล, พริ้ง, เรขา, วรรณา, วรรณี, วิไล, ลออ, อรชร, คมขำ, แน่งน้อย, เอี่ยมลออ, สาลิกา, กรรณิการ์, กระดังงา, การะเกด, กุหลาบ, จำปา, จำปี, ชงโค, บุนนาค, มณฑา, ยี่เข่ง, ยี่สุ่น, ลำเจียก, กล้วยไม้, ซ่อนกลิ่น, ดาวเรือง, บานเย็น, พวงชมพู, รสสุคนธ์, ลดาวัลย์ เป็นต้น
อ้างอิงข้อมูลจาก คู่มือปฏิบัติงาน ทะเบียนชื่อบุคคล สำนักงานเขตพระนคร
เรื่อง- มาลิลี พรภัทรเมธา