โดย : ปิ่น บุตรี
“เด็กวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า”
แต่ปัญหามันมีอยู่ว่าถ้าเด็กวันนี้มีแต่ตัวอย่างแย่ๆจากผู้ใหญ่แย่ๆให้เห็น ดังกรณีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรช่วงต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ที่นักเลือกตั้งส่วนหนึ่งทำตัวกักขฬะ ไร้จริยธรรม ไร้วุฒิภาวะ ไร้สติปัญญา อนาคตของเด็กวันนี้ที่จะเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้าคงไม่โสภาเท่าไหร่
เมื่อผู้ใหญ่(นักเลือกตั้งกลุ่มหนึ่ง)ทำตัวห่วยแตก ถ่วงความเจริญประเทศชาติ ไม่สมควรเอาเยี่ยงอย่าง ผมว่าเราจับเรื่องราวของคนพวกนั้นโยนทิ้งชักโครก แล้วหันไปดูเรื่องราวดีๆของเด็กไทยกลุ่มหนึ่งกันดีกว่า นั่นก็คือ วงดนตรี“ดร.แซ็ก แชมเบอร์ ออร์เคสตร้า” ที่เพิ่งเปิดการแสดงคอนเสิร์ตไปในวันปลายสัปดาห์เดียวกันกับการประชุมสภาฯ(ศุกร์ที่ 4 ก.ย.52) ณ หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ชั้น 3 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ถ้าใครได้ดูทั้ง 2 เหตุการณ์เหมือนผม จะรู้ว่ามันช่างให้อารมณ์ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ราวฟ้ากับเหวเลยทีเดียว
1...
วงดนตรี ดร.แซ็ก แชมเบอร์ ออร์เคสตร้า (Dr. Sax Chamber Orchestra) เป็นกลุ่มเยาวชนคนดนตรีฝีมือไม่ธรรมดา พวกเขารวมตัวกันด้วยจิตใจรักในเสียงเพลงและฝีมือทางดนตรีอันโดดเด่น ภายใต้โครงการวิจัยพรสวรรค์ ของ รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ที่ก่อตั้งใน เดือน มี.ค. 2540 โดย รศ.ดร.สุกรี มีแนวคิดและปรัชญาในการทำวงว่า
“ดนตรีเพื่อเด็กทุกคนและเด็กทุกคนควรมีโอกาสเรียนดนตรี” เพื่อให้ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เมื่อเด็กได้เรียนดนตรีแล้ว ไม่จำเป็นว่าเด็กจะต้องประกอบอาชีพเป็นนักดนตรีเท่านั้น เด็กสามารถเรียนรู้เพื่อความสุขส่วนตัว เรียนรู้เพื่อความมีรสนิยม เป็นผู้มีวัฒนธรรม โดยอาศัยดนตรีเป็นสื่อ เมื่อพ่อแม่ยอมให้ลูกไปเรียนดนตรี กระทั่งดนตรีดึงให้เด็กสนใจดนตรีมากขึ้น เด็กดึงพ่อแม่ให้มาสนใจกิจกรรมดนตรี พ่อแม่ลูกสนใจดนตรี ทุกคนในครอบครัวสนใจเรื่องเดียวกัน ทุกคนสนใจซึ่งกันและกัน ทุกคนก็จะมีความสุข(จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)
นั่นจึงทำให้วงดนตรี วงดนตรี ดร.แซ็ก แชมเบอร์ ออร์เคสตร้า ถือกำเนิดขึ้นในปลายปี 2540 โดยชื่อนำวง“ดร.แซ็ก”(Dr. Sax)นั้นก็มาจากฉายาของ รศ.ดร.สุกรี นั่นเอง
หลังจากนั้น วง ดร.แซ็กฯ ได้เดินหน้าบ่มเพาะฝึกปรือฝีมืออย่างหนักให้กล้าแกร่งขึ้นตามลำดับ พร้อมๆกับชื่อเสียงที่มีมากขึ้น จนกระทั่งได้เป็นวงดนตรีเยาวชนตัวแทนประเทศไทยในปี 2548 เข้าร่วมการประกวดดนตรีเยาวชนนานาชาติ ในรายการ International Youth Chamber Music Competition 2005 ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งถือเป็นการแข่งขันดนตรีระดับนานาชาติครั้งแรกของวง ดร. แซ็กฯ แต่ปรากฏว่าพวกเขาแสดงความสามารถในเชิงชั้นฝีมือดนตรีคลาสสิกอย่างสุดยอด จนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศมาครอง
การแข่งขันครั้งนั้นสำหรับคนไทยที่รู้ผลการแข่งขันมันคือความน่าปลาบปลื้มยินดีในสุดยอดฝีมือของน้องๆ ส่วนสำหรับผู้เข้าแข่งขันนั้น มันคือความทรงจำอันสุดยอดเยี่ยมครั้งหนึ่งในชีวิต
น้องเปรียว-สรีวันท์ วาทะวัฒนะ ในฐานะหัวหน้าวงและผู้เล่นไวโอลิน(ขณะนั้น) และน้องปี๊ค-สมรรถยา วาทะวัฒนะ (เล่นเชลโล) ลูกสาวของ อี๊ด ฟุตปาธ : อิทธิพล วาทะวัฒนะ สองนักดนตรีผู้เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนั้น เล่าความทรงจำผ่านบทความ “คบเด็กฯ : สองพี่น้องแห่งฟุตปาธ แฟมิลี่ บนถนนใต้ต้นไม้ ที่ไม่ได้มีแค่กลีบดอกไม้...” ในหนังสือ สารคดี ฉบับที่ 252 ว่า
“กว่าจะเอาชนะมาได้ยากมาก ช่วงประมาณ 4 เดือนก่อนไปแข่ง เราต้องซ้อมหนักมาก วันไหนไม่มีเรียนก็จะซ้อมกันวันละประมาณ 12 ชั่วโมง แต่ถ้ามีเรียนก็จะซ้อมหลังเลิกเรียน ตั้งแต่บ่ายสามถึงสามทุ่ม
“เราซ้อมจนรู้คิวกันหมด ปรกติถ้าเล่นด้วยกันก็ต้องมีอายคอนแท็กต์กัน คอยส่งคิวให้กัน มีอยู่วันหนึ่งอาจารย์บอกว่าซ้อมมาเยอะแล้ว หลับตาให้หมดเลย ดูซิว่าจะยังเล่นกันได้ไหม เราก็ยังสามารถรับ-ส่งคิวกันได้ เหมือนกับรู้ใจกันแล้ว
“กรรมการบอกว่าที่พวกเราชนะ เป็นเพราะเราเล่นเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เล่นด้วยใจดวงเดียวกัน เปรียวมองว่าตรงนี้เป็นข้อดีของเด็กไทย ถ้าเรารวมกลุ่มกัน เราสามารถคุยกัน ปรึกษากัน และวิพากษ์วิจารณ์กันได้ โดยที่เราไม่โกรธกัน เราจะไม่คิดว่าฉันแน่อยู่คนเดียว แล้วไม่ฟังใครเลย เพราะถ้าจะทำทีมเวิร์กจริง ๆ ทุกคนก็ต้องลดทิฐิ ลดอีโก้ลง
“ยอมรับเหมือนกันว่าถ้าให้เราไปแข่งเดี่ยว ตัวๆ กับเขา เราก็เดี้ยงเหมือนกัน เพราะเด็กฝรั่งแค่ 3-4ขวบ พ่อแม่ก็จับเล่นดนตรีแล้ว พื้นฐานของเขาจึงแน่นมาก แต่พอเก่งแล้วเขาก็ไม่อยากรวมวง อยากเป็นโซโลอิสต์ (soloist-นักแสดงเดี่ยว) กันหมด ขณะที่เรากว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ก็ถูกสร้างมาตั้งแต่เด็กเหมือนกัน แต่ถูกสร้างมาแบบกรุ๊ป”
จากบทสัมภาษณ์เห็นชัดว่า การคว้าแชมป์ครั้งนั้น ไม่ใช่ได้มาเพราะโชคช่วยหรือจากแม่ยกช่วยโหวตหากแต่เกิดจากการเคี่ยวกรำฝึกปรือฝีมืออย่างหนัก จึงมีวันนั้นเกิดขึ้น
และเมื่อมาถึงวันนี้ วงดร.แซ็กมีหลายผลงานที่สร้างชื่อให้กับประเทศไทย มีการแสดงคอนเสิร์ตกว่า 100 คอนเสิร์ตทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังมีผลงานบันทึกเสียงเป็นของตัวเองอีก 8 อัลบั้ม
2...
ใบไม้มีการผลัดใบ ฉันใดก็ฉันเพล ที่วง ดร.แซ็กฯ ก็มีการผลัดใบเปลี่ยนรุ่นเช่นกัน เมื่อบรรดารุ่นพี่ๆรุ่นแรกบางคนต้องไปเรียนต่อต่างประเทศ บางคนต้องไปทำงาน จึงมีสมาชิกรุ่นใหม่เข้ามาเสริมแทน โดยแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ ขั้นสูง ขั้นกลาง ขั้นต้น และระดับเตรียมความพร้อม
สำหรับการแสดงคอนเสิร์ตในครั้งนี้(ศุกร์ที่ 4 ก.ย.52) ถือเป็นการแสดงของพวกขั้นสูง และเป็นการรวมรุ่นของพวกรุ่นแรกๆที่เป็นสุดยอดฝีมือ ใช้ชื่อว่า Solo Night No.9 “The Four Seasons”มหัศจรรย์ดนตรีสี่ฤดูกาล นำเสนอผลงานของศิลปินนักประพันธ์เพลงชาวอิตาเลียนนามอุโฆษในยุคบาโรค คือ แอนโทนิโอ้ วิวาลดี(Antonio Vivaldi) กับผลงาน “The Four Seasons”(ฤดูทั้งสี่)อันลือลั่น พร้อมด้วยบทเพลงร่วมคอนเสิร์ตอีก 3 เพลง
ตัวผมเองแม้ไม่ใช่ผู้สันทัดกรณีด้านเพลงคลาสสิค แต่ด้วยฝีมือขั้นเทพของน้องๆ ที่แสดงพลังและลีลาการพรมนิ้ว ชัก สี ดีด ไวโอลิน วิโอล่า เชลโล และดับเบิ้ลเบส อย่างยอดเยี่ยม ได้อารมณ์จังหวะจะโคน ให้ซุ้มเสียงออกมากลมกลืนเพราะพริ้ง สะกดผมและผู้ชมคนอื่นๆให้เกิดอารมณ์ร่วมคล้อยตามไปกับบทเพลงได้อย่างไม่ยากเย็น
3...
หลังคอนเสิร์ตจบลง แต่อารมณ์ความอิ่มเอมยังคุกรุ่นอยู่ เพื่อนผมที่ได้ดูวง ดร.แซ็กฯ มาเหมือนกัน มันบอกว่า น่าจะให้บรรดานักเลือกตั้งได้ฟังดนตรีดีๆจากฝีมือของน้องๆบ้าง เพราะหวังว่าเสียงดนตรีน่าจะช่วยปลอบประโลมยกระดับจิตใจของนักเลือกตั้งกลุ่มหนึ่ง(ซึ่งมีพฤติกรรมดังที่ผมกล่าวไว้ในข้างต้น)ให้ดีขึ้น
งานนี้ผมฟังมันแล้วได้แต่ขำๆ พร้อมพยายามที่จะนึกภาพของน้องๆวงดร.แซ็กฯเล่นดนตรีสีเครื่องสายให้พวกนักเลือกตั้งเขี้ยวลากดินฟัง แต่ประทานโทษนึกยังไงก็นึกไม่ออก
ส่วนที่นึกออกในตอนนั้นก็มีแต่สำนวนไทยที่ว่า “สีซอให้ควายฟัง”เท่านั้นเอง
“เด็กวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า”
แต่ปัญหามันมีอยู่ว่าถ้าเด็กวันนี้มีแต่ตัวอย่างแย่ๆจากผู้ใหญ่แย่ๆให้เห็น ดังกรณีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรช่วงต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ที่นักเลือกตั้งส่วนหนึ่งทำตัวกักขฬะ ไร้จริยธรรม ไร้วุฒิภาวะ ไร้สติปัญญา อนาคตของเด็กวันนี้ที่จะเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้าคงไม่โสภาเท่าไหร่
เมื่อผู้ใหญ่(นักเลือกตั้งกลุ่มหนึ่ง)ทำตัวห่วยแตก ถ่วงความเจริญประเทศชาติ ไม่สมควรเอาเยี่ยงอย่าง ผมว่าเราจับเรื่องราวของคนพวกนั้นโยนทิ้งชักโครก แล้วหันไปดูเรื่องราวดีๆของเด็กไทยกลุ่มหนึ่งกันดีกว่า นั่นก็คือ วงดนตรี“ดร.แซ็ก แชมเบอร์ ออร์เคสตร้า” ที่เพิ่งเปิดการแสดงคอนเสิร์ตไปในวันปลายสัปดาห์เดียวกันกับการประชุมสภาฯ(ศุกร์ที่ 4 ก.ย.52) ณ หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ชั้น 3 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ถ้าใครได้ดูทั้ง 2 เหตุการณ์เหมือนผม จะรู้ว่ามันช่างให้อารมณ์ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ราวฟ้ากับเหวเลยทีเดียว
1...
วงดนตรี ดร.แซ็ก แชมเบอร์ ออร์เคสตร้า (Dr. Sax Chamber Orchestra) เป็นกลุ่มเยาวชนคนดนตรีฝีมือไม่ธรรมดา พวกเขารวมตัวกันด้วยจิตใจรักในเสียงเพลงและฝีมือทางดนตรีอันโดดเด่น ภายใต้โครงการวิจัยพรสวรรค์ ของ รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ที่ก่อตั้งใน เดือน มี.ค. 2540 โดย รศ.ดร.สุกรี มีแนวคิดและปรัชญาในการทำวงว่า
“ดนตรีเพื่อเด็กทุกคนและเด็กทุกคนควรมีโอกาสเรียนดนตรี” เพื่อให้ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เมื่อเด็กได้เรียนดนตรีแล้ว ไม่จำเป็นว่าเด็กจะต้องประกอบอาชีพเป็นนักดนตรีเท่านั้น เด็กสามารถเรียนรู้เพื่อความสุขส่วนตัว เรียนรู้เพื่อความมีรสนิยม เป็นผู้มีวัฒนธรรม โดยอาศัยดนตรีเป็นสื่อ เมื่อพ่อแม่ยอมให้ลูกไปเรียนดนตรี กระทั่งดนตรีดึงให้เด็กสนใจดนตรีมากขึ้น เด็กดึงพ่อแม่ให้มาสนใจกิจกรรมดนตรี พ่อแม่ลูกสนใจดนตรี ทุกคนในครอบครัวสนใจเรื่องเดียวกัน ทุกคนสนใจซึ่งกันและกัน ทุกคนก็จะมีความสุข(จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)
นั่นจึงทำให้วงดนตรี วงดนตรี ดร.แซ็ก แชมเบอร์ ออร์เคสตร้า ถือกำเนิดขึ้นในปลายปี 2540 โดยชื่อนำวง“ดร.แซ็ก”(Dr. Sax)นั้นก็มาจากฉายาของ รศ.ดร.สุกรี นั่นเอง
หลังจากนั้น วง ดร.แซ็กฯ ได้เดินหน้าบ่มเพาะฝึกปรือฝีมืออย่างหนักให้กล้าแกร่งขึ้นตามลำดับ พร้อมๆกับชื่อเสียงที่มีมากขึ้น จนกระทั่งได้เป็นวงดนตรีเยาวชนตัวแทนประเทศไทยในปี 2548 เข้าร่วมการประกวดดนตรีเยาวชนนานาชาติ ในรายการ International Youth Chamber Music Competition 2005 ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งถือเป็นการแข่งขันดนตรีระดับนานาชาติครั้งแรกของวง ดร. แซ็กฯ แต่ปรากฏว่าพวกเขาแสดงความสามารถในเชิงชั้นฝีมือดนตรีคลาสสิกอย่างสุดยอด จนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศมาครอง
การแข่งขันครั้งนั้นสำหรับคนไทยที่รู้ผลการแข่งขันมันคือความน่าปลาบปลื้มยินดีในสุดยอดฝีมือของน้องๆ ส่วนสำหรับผู้เข้าแข่งขันนั้น มันคือความทรงจำอันสุดยอดเยี่ยมครั้งหนึ่งในชีวิต
น้องเปรียว-สรีวันท์ วาทะวัฒนะ ในฐานะหัวหน้าวงและผู้เล่นไวโอลิน(ขณะนั้น) และน้องปี๊ค-สมรรถยา วาทะวัฒนะ (เล่นเชลโล) ลูกสาวของ อี๊ด ฟุตปาธ : อิทธิพล วาทะวัฒนะ สองนักดนตรีผู้เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนั้น เล่าความทรงจำผ่านบทความ “คบเด็กฯ : สองพี่น้องแห่งฟุตปาธ แฟมิลี่ บนถนนใต้ต้นไม้ ที่ไม่ได้มีแค่กลีบดอกไม้...” ในหนังสือ สารคดี ฉบับที่ 252 ว่า
“กว่าจะเอาชนะมาได้ยากมาก ช่วงประมาณ 4 เดือนก่อนไปแข่ง เราต้องซ้อมหนักมาก วันไหนไม่มีเรียนก็จะซ้อมกันวันละประมาณ 12 ชั่วโมง แต่ถ้ามีเรียนก็จะซ้อมหลังเลิกเรียน ตั้งแต่บ่ายสามถึงสามทุ่ม
“เราซ้อมจนรู้คิวกันหมด ปรกติถ้าเล่นด้วยกันก็ต้องมีอายคอนแท็กต์กัน คอยส่งคิวให้กัน มีอยู่วันหนึ่งอาจารย์บอกว่าซ้อมมาเยอะแล้ว หลับตาให้หมดเลย ดูซิว่าจะยังเล่นกันได้ไหม เราก็ยังสามารถรับ-ส่งคิวกันได้ เหมือนกับรู้ใจกันแล้ว
“กรรมการบอกว่าที่พวกเราชนะ เป็นเพราะเราเล่นเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เล่นด้วยใจดวงเดียวกัน เปรียวมองว่าตรงนี้เป็นข้อดีของเด็กไทย ถ้าเรารวมกลุ่มกัน เราสามารถคุยกัน ปรึกษากัน และวิพากษ์วิจารณ์กันได้ โดยที่เราไม่โกรธกัน เราจะไม่คิดว่าฉันแน่อยู่คนเดียว แล้วไม่ฟังใครเลย เพราะถ้าจะทำทีมเวิร์กจริง ๆ ทุกคนก็ต้องลดทิฐิ ลดอีโก้ลง
“ยอมรับเหมือนกันว่าถ้าให้เราไปแข่งเดี่ยว ตัวๆ กับเขา เราก็เดี้ยงเหมือนกัน เพราะเด็กฝรั่งแค่ 3-4ขวบ พ่อแม่ก็จับเล่นดนตรีแล้ว พื้นฐานของเขาจึงแน่นมาก แต่พอเก่งแล้วเขาก็ไม่อยากรวมวง อยากเป็นโซโลอิสต์ (soloist-นักแสดงเดี่ยว) กันหมด ขณะที่เรากว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ก็ถูกสร้างมาตั้งแต่เด็กเหมือนกัน แต่ถูกสร้างมาแบบกรุ๊ป”
จากบทสัมภาษณ์เห็นชัดว่า การคว้าแชมป์ครั้งนั้น ไม่ใช่ได้มาเพราะโชคช่วยหรือจากแม่ยกช่วยโหวตหากแต่เกิดจากการเคี่ยวกรำฝึกปรือฝีมืออย่างหนัก จึงมีวันนั้นเกิดขึ้น
และเมื่อมาถึงวันนี้ วงดร.แซ็กมีหลายผลงานที่สร้างชื่อให้กับประเทศไทย มีการแสดงคอนเสิร์ตกว่า 100 คอนเสิร์ตทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังมีผลงานบันทึกเสียงเป็นของตัวเองอีก 8 อัลบั้ม
2...
ใบไม้มีการผลัดใบ ฉันใดก็ฉันเพล ที่วง ดร.แซ็กฯ ก็มีการผลัดใบเปลี่ยนรุ่นเช่นกัน เมื่อบรรดารุ่นพี่ๆรุ่นแรกบางคนต้องไปเรียนต่อต่างประเทศ บางคนต้องไปทำงาน จึงมีสมาชิกรุ่นใหม่เข้ามาเสริมแทน โดยแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ ขั้นสูง ขั้นกลาง ขั้นต้น และระดับเตรียมความพร้อม
สำหรับการแสดงคอนเสิร์ตในครั้งนี้(ศุกร์ที่ 4 ก.ย.52) ถือเป็นการแสดงของพวกขั้นสูง และเป็นการรวมรุ่นของพวกรุ่นแรกๆที่เป็นสุดยอดฝีมือ ใช้ชื่อว่า Solo Night No.9 “The Four Seasons”มหัศจรรย์ดนตรีสี่ฤดูกาล นำเสนอผลงานของศิลปินนักประพันธ์เพลงชาวอิตาเลียนนามอุโฆษในยุคบาโรค คือ แอนโทนิโอ้ วิวาลดี(Antonio Vivaldi) กับผลงาน “The Four Seasons”(ฤดูทั้งสี่)อันลือลั่น พร้อมด้วยบทเพลงร่วมคอนเสิร์ตอีก 3 เพลง
ตัวผมเองแม้ไม่ใช่ผู้สันทัดกรณีด้านเพลงคลาสสิค แต่ด้วยฝีมือขั้นเทพของน้องๆ ที่แสดงพลังและลีลาการพรมนิ้ว ชัก สี ดีด ไวโอลิน วิโอล่า เชลโล และดับเบิ้ลเบส อย่างยอดเยี่ยม ได้อารมณ์จังหวะจะโคน ให้ซุ้มเสียงออกมากลมกลืนเพราะพริ้ง สะกดผมและผู้ชมคนอื่นๆให้เกิดอารมณ์ร่วมคล้อยตามไปกับบทเพลงได้อย่างไม่ยากเย็น
3...
หลังคอนเสิร์ตจบลง แต่อารมณ์ความอิ่มเอมยังคุกรุ่นอยู่ เพื่อนผมที่ได้ดูวง ดร.แซ็กฯ มาเหมือนกัน มันบอกว่า น่าจะให้บรรดานักเลือกตั้งได้ฟังดนตรีดีๆจากฝีมือของน้องๆบ้าง เพราะหวังว่าเสียงดนตรีน่าจะช่วยปลอบประโลมยกระดับจิตใจของนักเลือกตั้งกลุ่มหนึ่ง(ซึ่งมีพฤติกรรมดังที่ผมกล่าวไว้ในข้างต้น)ให้ดีขึ้น
งานนี้ผมฟังมันแล้วได้แต่ขำๆ พร้อมพยายามที่จะนึกภาพของน้องๆวงดร.แซ็กฯเล่นดนตรีสีเครื่องสายให้พวกนักเลือกตั้งเขี้ยวลากดินฟัง แต่ประทานโทษนึกยังไงก็นึกไม่ออก
ส่วนที่นึกออกในตอนนั้นก็มีแต่สำนวนไทยที่ว่า “สีซอให้ควายฟัง”เท่านั้นเอง