xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจ "อ.สุกรี" ประเทศด้อยพัฒนากับบทบาทเจ้าภาพแซ็กโซโฟนโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข
"การที่ได้มาจัดในประเทศไทย ถือว่าเป็นเรื่องใหม่มากๆ สำหรับคนไทย เรื่องใหม่สำหรับชาวโลกด้วย เขาก็ตื่นเต้นว่า มาประเทศไทยที่เขาคิดว่าเป็นประเทศด้อยพัฒนานี่จะมีพัฒนาการทางดนตรีอย่างไร?"

แม้จะเป็นประโยคที่ชวนให้น่าน้อยใจไม่น้อยสำหรับคนไทยโดยทั่วไป แต่เราคงต้องยอมรับว่าคำบอกเล่าจากปากของ "รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข" นี้มีความเป็นจริงอยู่ไม่น้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะทั้งหลาย

ตัวอย่างไม่ต้องอื่นไกล ดูได้จากกว่าการที่ประเทศไทยจะได้ก้าวขึ้นเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน "มหกรรมแซ็กโซโฟนโลก ครั้งที่ 15" ที่จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 7-12 ก.ค.2552 ณ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลนี้ต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่อย่างใด

"มหกรรมแซ็กโซโฟนโลกครั้งนี้ เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 15 แล้วนะครับ ผมในนามวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ และประเทศไทย ไปร่วมงานตั้งแต่ปี 2003 แล้วก็พยายามอย่างยิ่ง ตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน 2520 ผมเรียนที่อเมริกา ก็ไปร่วมงานแซ็กโซโฟนโลกอยู่ตลอดเวลา แล้วก็คาดหวังว่าสักวันหนึ่งจะมีมหกรรมนี้ในประเทศไทย"

"ก็เฝ้าเทียวไล้เทียวขื่อไปเสนอตัวจนกระทั่งปี 2006 ที่ประเทศสโลวีเนีย เราก็ได้รับคะแนนท่วมท้น ได้รับการสนับสนุนจากทุกประเทศที่เข้าร่วม เหตุผลที่ประเทศไทยเราได้รับการคัดเลือกก็คือเราเสนอตัวโดยมีความพร้อมที่จะจัดงานโดยเป็นเจ้าภาพและเราเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยจัดมาก่อน"

"โดยเฉพาะพื้นที่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ละแวกนี้ไม่มีดนตรีคลาสสิกในแผนที่โลก เราก็ถือว่าเป็นจุดเด่นของเรา เขาก็อยากมาดูที่นี่ ว่าเป็นประเทศอย่างไร เครื่องดนตรีก็เป็นเครื่องมือชนิดหนึ่ง เดี๋ยวนี้เครื่องดนตรีคงไม่แบ่งตะวันตกตะวันออกแล้วมั้ง ทุกคนเป่าแซ็กโซโฟนได้ และความรู้เหล่านี้ก็สามารถเผยแพร่อยู่ได้ ทุกมุมโลก"

มหกรรมแซ็กโซโฟนโลกจัดครั้งแรกในปี ค.ศ.1969 ที่ชิคาโก สหรัฐอเมริกา จากการริเริ่มของ Paul Brodie และ Eugene Rousseau โดยมีวัตถุประสงค์ก็เพื่อยกระดับสถานะของวงการแซ็กโซโฟน ทั้งการหาทุนเพื่อประพันธ์เพลงใหม่ๆ สำหรับนักแซ็กโซโฟน, การแสดงผลงานการดนตรี, การแสดงรีไซทัลและคลินิก รวมถึงการพบปะกันของนักแซ็กโซโฟนทั้งหลาย

ทั้งนี้ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมานั้นมีการจัดกันมาแล้วรวม 14 ครั้งด้วยกัน และในครั้งที่ 15 ครั้งนี้ ไทยเราถือได้ว่าเป็นชาติแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นเจ้าภาพ
“ตอนปี 2003 เราก็ไปกัน 7 คน นำวงแซ็กโซโฟน ไปเล่น วง Bangkok Saxophone Quartet เราไปแล้วเราสู้เขาไม่ได้ โหวตปั๊บที่หนึ่งได้ สโลวีเนีย 68 เสียง ที่สองประเทศไทย 46 เสียง ที่สาม สเปน 19 เสียง ที่เหลือไม่ยกมือ เนื่องจากฝรั่งเศสคุมพื้นที่ของยูโรเปี้ยนคอมมูนิตี้ คือผู้นำ ประธานแซ็กโซโฟนโลกอยู่ที่ฝรั่งเศส เขาคิดว่าประเทศไทยไม่มีพื้นที่ทางดนตรี เขาโหวตให้สเปน สโลวีเนีย ในที่สุด สโลวีเนีย เราเลยกลับมาแบบช้ำๆ หน่อย"

"ปี 2006 ที่สโลวีเนียจัด เราก็ไปอีก คราวนี้ไป 32 คน เตรียมตัวไปแสดง ทั้งเดี่ยว Quartet Quintet Orchestra พอผมขึ้นเวทีว่าเสนอตัวขอเป็น nominee เจ้าภาพจัดงานนี้ เราได้รับคะแนน 238 เสียง ท่วมท้น หมด ไม่มีใครเสนอเป็นมือสอง เราก็มาด้วยความอบอุ่นและภูมิใจมาก ว่าใช้เวลา 9 ปีกว่าจะได้เป็นเจ้าภาพในวันนี้”

“ที่เขาจัดส่วนมากจะจัดในมหาวิทยาลัย วิธีคิดของเขาก็คือ คนมาลงทะเบียน เอาค่าลงทะเบียนไปจัดงาน หนึ่งเราหาสปอนเซอร์ มีเงินในกระเป๋า แล้วเราเหยียบเท้าเขาอีกว่า เราให้ทุนได้ 100 ทุน ทุนละ 500 เหรียญ”

รศ.ดร.สุกรี ในฐานะของประธานการจัดงานบอกต่อไปว่า การที่ไทยได้เป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ถือว่าเป็นการทำให้ประเทศไทยได้ปรากฏขึ้นในแผนที่โลกแห่งเสียงดนตรี
"แล้วการที่นักแซ็กโซโฟนประมาณพันหรือพันสองร้อยคนมาเมืองไทยนี่ ทำให้ประเทศไทยมีชื่อเสียง อยู่ในแผนที่โลกที่เกี่ยวกับดนตรี แล้วคนเหล่านั้นเมื่อมาเมืองไทยแล้ว ได้พบกับการดูแลอย่างดี ได้พบกับอาหารเมืองไทย ได้พบกับที่พักดีๆ มาพบกับรอยยิ้มดีๆ"

"กรุงเทพฯ และประเทศไทยก็มีชื่อเสียงจากตรงนั้นและต่อไปอาจจะมีงานไวโอลินโลกในประเทศไทย วงเชลโล่โลกในประเทศไทย งานขลุ่ยโลก แคนโลกในประเทศไทยก็ได้นะครับ สิ่งเหล่านี้ก็จะตามมา เขาก็จะวัดความพร้อมของการจัดงานมหกรรมแซ็กโซโฟนโลกครั้งนี้ด้วย"

"คือต้องยอมรับว่าประเทศไทยส่วนใหญ่ กิจกรรมอยู่ล้าหลังเป็นโลกที่สาม แต่การที่เราก้าวไปอยู่โลกที่หนึ่ง ไม่ง่ายนัก ผมคิดว่าคนไทยมีดีอยู่สองอย่างคือ Hospitality กับ Service สุดยอด เราได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐโดย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน."

"ทีนี้เมื่อเรามีกายภาพที่นี่สมบูรณ์ในแง่ของดนตรี เหลืออยู่เรื่องเดียวที่เราทำไม่ได้คือ Money Ware พอเรามีสิ่งนี้ปั๊บ อย่างอื่นเราได้หมด ก็ได้รับการอุ้มชูจากไทยเบฟเวอเรจ One O Clock Jazz Band James Carter ซึ่งถือว่าเป็นนักแซ็กโซโฟนเอกของโลก สุดยอดของนักแจ๊ส ก็จะมา”

“ความเป็นแซ็กโซโฟน หรือเครื่องดนตรีแซ็กโซโฟนนี่มีตั้งแต่การเล่นแบบพื้นบ้าน การเล่นแบบแจ๊ส การเล่นแบบคลาสสิก หรือการเล่นแบบอาวองการ์ด มีทุกชนิดครับ การเสนอก็มีทุกรูปแบบ

อาจารย์ลองยกตัวอย่างศิลปินที่เข้าร่วม?
"ศิลปินที่ใหญ่ๆ ผมยกตัวอย่าง ฌอง- มารี ลอนเด็กซ์ ( Jean – Marie Londeix) ซึ่งเป็นประธานแซ็กโซโฟนโลก โคลด เดอลอง (Claude Delangle) ซึ่งเป็นปรมาจารย์ของแซ็กโซโฟนสอนอยู่ที่ปารีส เมเจอร์ กรีนเบอร์ก เจมส์ คาร์เตอร์ (James Carter) วันโอคล็อกแบนด์ (One O Clock Band)เป็นต้น คนเหล่านี้เป็นดาราของโลกทั้งนั้น"

"ส่วนศิลปินไทย ที่เป็นนักแซ็กโซโฟนก็ขึ้นกันทุกคนแหละครับ เวทีนี้ ตั้งแต่อ. กฤษณ์ อ. เลี่ยม ...วิทยวุฒิ โก้ แซ็กแมน นักเรียนที่ชนะการประกวดโอซากาพวก Siam Saxophone Quartet วง Saxophone Ensemble จากประเทศไทยก็ขึ้นเวที อ. เชน ลี ซึ่งเป็นอ. ของที่นี่ก็ขึ้น"

ประธานการจัดงานยังบอกต่อไปด้วยว่าในคอนเสิร์ตครั้งนี้จะมีการเขียนเพลงใหม่ในรูปแบบของ concerto สำหรับแซ็กโซโฟน 12 เพลงด้วยกัน
"แล้วก็มีสองเพลงที่เขียนโดยมีกลิ่นอายของความเป็นประเทศไทย ความเป็นวิญญาณไทย คุณณรงค์ ปราณเจริญ ซึ่งเป็นคอมโพสเซอร์ไทยที่มีชื่อเสียง เป็นนักประพันธ์เพลง และมีวง Thailand Phil Harmonic Orchestra เล่นรองรับ นักแซ็กโซโฟนเอกของโลก One O Clock Band แดเนียล วิกคินซี่ ซึ่งเป็นนักแซ็กโซโฟนที่ทั่วโลกยอมรับซึ่งเป่าตั้งแต่อัลตราแซกโซโฟน จนกระทั่งโซปราโนแซ็กโซโฟน ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ๆ

"ก็มีนักแซ็กโซโฟน 10ๆ คน ขึ้นประชันกับนักดนตรีระดับโลก และอย่างน้อย ที่สุด เด็กไทย สามารถไปเรียนแซ็กโซโฟนได้ทั่วโลก นักดนตรีและอาจารย์แซ็กโซโฟนทั่วโลกยอมรับ เด็กไทยรุ่นใหม่ๆ เก่งมาก เรามีนักแซ็กโซโฟนตอนนี้เยอะมาก หลายร้อยคน"

"ผมว่าทุกรายการเป็นไฮไลต์หมด คุณไม่ได้ดู คุณก็จะเสียใจ เพราะนักดนตรีมาเป่าแค่หนึ่งตู๊ดนี่ ไม่ง่ายนักที่จะเอาเจมส์ คาเตอร์ มาเป่า เอา ฌอง- มารี ลอนเด็กซ์ มา เอาบิลสตรีทมา เขาไม่ได้มาเมืองไทยง่ายๆ นะ เพราะค่าตัวเขาแพง เมเจนซี่ ซึ่งเป่าแซ็กโซโฟนตั้งแต่อัลตราเบส ไปจนกระทั่งโซปราโน่เบสซึ่งเราไม่เคยเห็น ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่เห็น ทุกรายการไฮไลต์หมด เพราะ 200 รายการนี่ ถ้าเขาไม่แน่จริง เขาไม่ขึ้นเวทีโลกหรอก"
...
มหกรรมแซ็กโซโฟนโลก ครั้งที่ 15 (Growth and Convergence) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 – 12 กรกฎาคม 2552 ณ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา นักดนตรี และผู้สนใจเข้าร่วมงาน สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02 – 800– 2525 ต่อ 125, 157, 162 หรือเข้าไปดูตารางการโชว์ได้ที่ www.wscxv.org


บรรยากาศของ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล ศาลายา สถานที่จัดงานมหกรรมแซ็กซโฟนโลกครั้งที่ 15
บรรยากาศของ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล ศาลายา สถานที่จัดงานมหกรรมแซ็กซโฟนโลกครั้งที่ 15



กำลังโหลดความคิดเห็น