" แสงดาวแห่งศรัทธา"
ถ่ายทอดโดย อิสรพงศ์ ดอกยอ
นักรบประชาชนตัวจริงเสียงจริง "จิตร ภูมิศักดิ์" ผู้เป็นเจ้าของวรรคทอง "คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย" กับบทเพลงจำนวนหนึ่ง ณ วันนี้ วงดุริยางคศิลป์แห่งมหาวิทยาลัยมหิดลนำบทเพลงที่เขียนคำร้องและทำนองโดย จิตร ภูมิศักดิ์นำมาใส่สูท ผูกไท บรรเลงมาแล้วหลายครั้งตามคำเชิญในหลายสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นที่หอแสดงดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
"เพื่อลบรอยคราบน้ำตาประชาราษฎร์
สักพันชาติจักสู้ม้วยด้วยหฤหรรษ์
แม้นชีพใหม่มีเหมือนหวังอีกครั้งครัน
จักน้อมพลีชีพนั้นเพื่อมวลชน"
กลอนบทนี้ ศรีนาคร (จิตร ภูมิศักดิ์) แปลจากงานของกวีประชาชนชาวอาร์เมเนีย ชื่อ อาเวตีก อีสากยัน (Awetik Issaakjan) ถือเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงตัวตนที่แจ่มชัดของจิตร ภูมิศักดิ์
ต้นฉบับเดิมของ Awetik Issaakjan เขียนว่า
"To banish the trace of a tear from eyes;
A thousand deaths would I gladly die;
If one more life were granted me;
I'd spend that life in serving thee."
5 พฤษภาคม 2509 เจ้าหน้าที่ล้อมยิงทหารป่าในบริเวณชายป่าบ้านหนองกุง ต.คำบ่อ อ.วาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร ชายไทย เจ้าของบัตรประจำตัวประชาชน เลขที่ 59839/2496 ชื่อ "จิตร ภูมิศักดิ์"
พ.ศ. 2516 วงกรรมาชนเป็นวงเพื่อชีวิตของนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำเพลงของจิตร ภูมิศักดิ์มาเผยแพร่สู่ขบวนการนักศึกษาและสาธารณชน ผลงานเพลงชุดแรก แปรบทกวี "เปิบข้าว" มาเป็นเพลง ผลงานของจิตร ภูมิศักดิ์ซึ่งให้เนื้อและโน้ตอีกหลายเพลงถูกวงกรรมาชนนำมาเป็นผลงานเพลงในชุดที่ 2 และ 3 จนงานเพลงเหล่านั้นเป็นที่รู้จัก และเป็นเพลงนิยมในหมู่ปัญญาชนสมัยหลัง 14 ตุลาคม 2516 – 6 ตุลาคม 2519
พ.ศ. 2551 – 2552 วงดุริยางคศิลป์แห่งมหาวิทยาลัยมหิดลนำเพลงทั้งหมดของจิตร ภูมิศักดิ์มาเรียบเรียงเสียงประสานใหม่ เฉพาะบทเพลงของจิตร ภูมิศักดิ์ ล้วนๆ แสดงครั้งแรก วันที่ 25 - 26 ตุลาคม 2551 ณ หอแสดงดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และล่าสุด จัดแสดงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในคอนเสิร์ต "ซิมโฟนี 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์" เมื่อวันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน 2552
ก่อนหน้านี้ บางบทเพลงถูกนำไปแทรกอยู่ในคอนเสิร์ตบทเพลงปฏิวัติ 4 ครั้ง โดยจัดแสดงที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ครั้งแรก "สายลมเปลี่ยนทิศ แต่ดวงจิตมิได้เปลี่ยนเลย" (13 กันยายน 2546) , ครั้งที่ 2 "ยืนหยัดมั่นคงเช่นเคย...ไม่เปลี่ยนทางเหมือนดั่งดาวเหนือ" (25 ธันวาคม 2547) ครั้งที่ 3 "ด้วยรักและอุดมการณ์" ที่หอแสดงดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ( 1 กันยายน 2551) นอกจากนี้ยังมี October Zone Cencert ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (8 มกราคม 2549) อีก 1 ครั้ง
วงดุริยางค์ซิมโฟนีแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล มี รศ. ดร. สุกรี เจริญสุข เป็นผู้อำนวยการวงฯ และยุทธพล ศักดิ์ธรรมเจริญ เป็นผู้ควบคุมวง
"เปรียบอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนวงเพื่อชีวิตทั้งหลายเขาใส่เสื้อม่อฮ่อม นุ่งกางเกงขาก๊วย เล่นเพลงจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งให้อารมณ์แบบหนึ่ง แต่วันนี้เราจับมาผูกไท ใส่สูทให้มันเป็นอินเตอร์ขึ้นมา มันก็เป็นอย่างที่เห็นและได้ยินนั่นแหละ จริงๆ แล้ว มันก็เนื้อร้อง – ทำนองเดิม เพลงเป็นมาอย่างไรก็ไปอย่างนั้น การเรียบเรียงเสียงประสานก็คือการนุ่งผ้า อย่างที่ผมเปรียบให้ฟัง" อ. สุกรี เจริญสุข กล่าวกับทีมสกู๊ปพิเศษ ซูเปอร์บันเทิง ASTV Manager Online
บทเพลงของจิตร คือบทกวีที่มาพร้อมทำนอง และทำนองกำกับด้วยโน้ตเชอร์เวย์ (ตัวเลข)
"โน้ตเชอร์เวย์หรือโน้ตตัวเลข เป็นโน้ตที่ชาวจีนใช้ เข้าใจว่าจิตรคงจะเรียนเรื่องโน้ตนี้มาจากครูชาวจีน ถ้าเป็นโน้ตดนตรีไทยจะใช้ ด-ร-ม-ฟ ก็คือ โด เร มี ฟา ตัวเลขก็คือ 1–2-3–4 หรือจะเป็นตัวโน้ตสากล ไม่ว่าคุณจะใช้แบบไหนมันคือ ภาษา เหมือนกับการยักคิ้ว หลิ่วตา พยักหน้า อ่านหนังสือ ซึ่งทุกอากัปกิริยาเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่จะนำไปสู่ความเข้าใจ"
จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นทั้งศิลปิน นักกวี นักประวัติศาสตร์ นักคิดที่มีการต่อสู้ทางการเมือง อีกทั้งยังมีความลุ่มลึกทางภาษาศาสตร์ โบราณคดี เขาไม่ใช่แค่ปัญญาชน หากแต่เป็นปราชญ์ที่มองสิ่งต่างๆ ด้วย "ความรู้แจ้ง และ รู้จริง" ไม่ใช่แค่ "รู้จัก"
"การที่เขามีความรู้มากมายเหล่านี้ เวลาที่เขาถ่ายทอดออกมา เราจึงเห็นการถ่ายทอดที่เป็นแบบฉบับแท้ๆ เป็นจริตและอารมณ์ของเขา ไม่เคลือบแฝง ไม่เสแสร้ง ไม่ดัดจริต...คนจำนวนมากรู้จักอารมณ์แบบนั้น ความรักแบบนี้ ร้องเพลงเป็นตุเป็นตะ แต่คนเหล่านั้นล้วนแต่เสแสร้ง เพราะเขาแค่รู้จัก แต่จิตร รู้แจ้ง รู้จริง เห็นถึงสัจจะของชีวิต เขาเห็นทุกอย่างมากกว่าที่เราเห็น" อาจารย์สุกรี เจริญสุข กล่าว
จริตและอารมณ์ของจิตร ภูมิศักดิ์ เป็นจริตที่เปี่ยมเต็มด้วยความห่วงหา, ความจริงใจและเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์ จริตแบบนี้หาได้ยากในหมู่คนยุคปัจจุบัน
"สำหรับผม ชีวิตและงานของเขาบริสุทธิ์มาก ถึงแม้เพลงมาร์ชในยุคแรกๆ (พ.ศ. 2498-2499) จะเป็นการจำทำนองมาใส่เนื้อร้อง แต่พัฒนาการหลังจากนั้น (พ.ศ. 2501 - 2507) เป็นจริตของเขาแท้ๆ ขณะที่ชีวิตถูกจองจำอยู่ในคุก ขาดซึ่งอิสรภาพ แต่สติปัญญา จินตนาการกลับโบยบินอยู่ในโลกกว้าง เป็นตัวของตัวเอง ภาษานักกลอน เรียกว่า มุตโตแตก คือ สติปัญญาแตกฉาน"
รศ. ดร. สุกรี เจริญสุข ยืนยันว่า จิตร ภูมิศักดิ์ ไม่ใช่มีแต่เรื่องดุเดือดเพียงอย่างเดียว หากแต่มีมุมของมนุษย์ปุถุชนอยู่ด้วย
"เราเห็นถึงความรู้สึกนึกคิด ความรัก ความอ่อนไหว และสัจจะที่อยู่ในรูปของบทเพลง แน่นอนว่าเขามีความรู้สึกนึกคิดที่เกี่ยวกับการต่อสู้ , ความไม่เป็นธรรมเยอะ ใครจะไปคิดว่าขณะที่เขาใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่กับคุก การต่อสู้ และความรันทด เขาจะมีอารมณ์ในการเขียนเพลงรักอย่าง "อาณาจักรความรัก" ในความเป็นปุถุชนนี้ ผมคิดว่าชีวิตในมุมอื่น เช่น วัฒนธรรม ความงาม ความเสมอภาค เป็นสิ่งที่ชีวิตเขาเรียกหา และถ้าเขามีโอกาสได้สัมผัสกับชีวิตที่หลากหลายกว่านี้ ผมว่าเขาจะมีงานในลักษณะอื่นออกมาอีกเยอะ"
"จิตรจะร้องเพลงเอง เขาก็ไม่ใช่นักร้อง เขาจะเล่นเอง ก็ไม่ใช่นักดนตรี แต่สิ่งที่เราเห็นในบทเพลงของเขาคือ วิญญาณ เรานำวิญญาณนั้นมาถ่ายทอดโดยนักดนตรีที่ถูกฝึกมาให้เป็นนักดนตรีที่มีฝีมือ นักร้องซึ่งได้เสียงอย่างที่ต้องการ ได้นักเรียบเรียงเสียงประสานซึ่งเชี่ยวชาญที่จะอุ้มเพลงให้ได้ นั่นคือ หน้าที่ซึ่งเราทำให้กับงานเพลงของเขา เป็นเพลงที่เต็มรูปแบบอย่างที่ควรจะเป็น" อาจารย์สุกรี เจริญสุขอธิบาย
อาจารย์สุกรี เจริญสุขชอบเพลงของจิตรหลายเพลง เช่น ทะเลชีวิต, ฟ้าใหม่, อาณาจักรความรัก และแสงดาวแห่งศรัทธา
...
อิสรพงศ์ ดอกยอ & แสงดาวแห่งศรัทธา
ในบรรดาบทเพลงของจิตร ภูมิศักดิ์ เพลง "แสงดาวแห่งศรัทธา" ถือเป็นเพลงยอดนิยม เนื่องจากมีศิลปินทั้งฝ่ายเพื่อชีวิต และนักร้องเพลงไทยสากลนำมาขับร้อง เช่น กรรมาชน, หงา คาราวาน, วงโฮป, คีตาญชลี, สุเทพ วงศ์คำแหง, เพ็ญศรี พุ่มชูศรี , อู๋ เสรีชน, อรวี สัจจานนท์ เป็นต้น
บันทึกระหว่างบรรทัดนี้ว่า เพลง "แสงดาวแห่งศรัทธา" ในคอนเสิร์ต " ซิมโฟนี 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์" ผู้ขับร้องเพลงนี้คือ อิสรพงศ์ ดอกยอ เพลงอื่นซึ่งขับร้องในคราวเดียวกัน เช่น "เสียงเพรียกจากมาตุภูมิ" และ "อาณาจักรความรัก" (ร้องคู่กับ กมลพร หุ่นเจริญ) แต่ถ้าถามความชอบส่วนตัวแล้ว อิสรพงศ์อยากร้องในสไตล์ลูกทุ่งอย่าง "จอมใจดวงแก้ว" มากกว่า !!
หลายเวที อิสรพงศ์เคยผ่านการร้องเพลงมาแล้วหลายเวที เช่น ปี พ.ศ. 2545 เขาขึ้นเวทีประกวดของ KPN Junior Award ครองนักร้องยุวชนยอดเยี่ยมแห่งประเทศไทย และปี 2551 ชนะเลิศการประกวดเพลงพระราชนิพนธ์ ชิงถ้วยพระราชทานฯสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งจัดโดยกรุงเทพมหานครและสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ณ โรงมหรสพศาลาเฉลิมกรุง และเป็นผู้เข้ารอบ 50 คนของ อคาเดมี แฟนเทเซีย (AF 6) โดยส่วนตัวชอบเพลง "ลูกทุ่ง"
อิสรพงศ์ ดอกยอ จบชั้น ม.3 มาจากโรงเรียนวิสุทธิรังษี จังหวัดกาญจนบุรี และมาเรียนต่อมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ (องค์การมหาชน) และระดับปริญญาตรีที่ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล แขนงวิชาดนตรีสมัยนิยม สาขาการขับร้อง ปัจจุบันอายุ 19 ปี เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2
เขาฟังเพลงนี้ครั้งแรกจากน้ำเสียงของอาจารย์ดุษฎี พนมยงค์ ในคอนเสิร์ต October Zone เมื่อวันเด็ก 13 มกราคม 2550 เมื่อฟังจนชิน การฝึกย่อมจะง่ายขึ้น
"โดยพื้นฐานแล้ว ผมไม่ใช่คนเสียงสูง แล้วการที่ต้องมาร้องเพลงที่เลนกว้างๆ เมื่อถึงช่วงที่ต้องขึ้นเสียงสูงมันยากมาก แต่คอนเสิร์ตทั้ง 2 ครั้ง ทั้งที่มหิดลและที่ธรรมศาสตร์ เสียงตอบรับดีนะครับ ก่อนหน้านี้ ผมไม่เคยรู้จักผลงานของท่านเลย เคยได้ยินเพลง แสงดาวแห่งศรัทธา เพียงเพลงเดียวเท่านั้น จนเมื่อวันที่ไปเล่นที่ธรรมศาสตร์ มีทั้งนิทรรศการและร้านขายหนังสือ ผมถึงมีโอกาสได้รู้จักและสัมผัสกับความยิ่งใหญ่ของท่าน สำหรับเพลงนี้ในแง่คำร้อง ความหมายสุดยอดเลยครับ ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างมากที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ถ่ายทอดเพลงนี้ เพราะเพลงนี้เป็นเพลงที่มีคนรู้จักมากที่สุดในบรรดาเพลงทั้งหมดของท่าน" อิสรพงศ์ ดอกยอกล่าว
...
จุดยืนของดุริยางคศิลป์
"เพลงก็คือเพลง การรับใช้มวลชนสังคมถือเป็นหน้าที่ เราในฐานะมหาวิทยาลัยของรัฐต้องทำสิ่งเหล่านี้ บทเพลงต้องอยู่เหนือความขัดแย้งทางสังคม มหาวิทยาลัยเป็นปัญญาของปวงชน เป็นแหล่งความรู้ 360 องศา รอบทิศทาง ครบวงจร หน้าที่ของวิทยาลัยทางดนตรีจึงทำตั้งแต่เพลงหมอลำถึงดนตรีคลาสสิก ผมถือว่า จิตร ภูมิศักดิ์ เป็น "ครูของสังคม" เรามีหน้าที่แสดงความยกย่องเขาในรูปของการแสดงดนตรี ส่วนเขาจะซ้าย ขวา หน้า หลัง เราไม่สนใจ" อาจารย์สุกรี เจริญสุข กล่าวถึงจุดยืน
ที่ผ่านมา วงดุริยางคศิลป์แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล ผ่านผลงานหลากหลาย เช่น คอนเสิร์ตอย่าง เชิดชูบูชา คีตาจารย์ (พระเจนดุริยางค์, ขุนวิจิตรมาตรา และพรานบูรณ์) , 60 ปี สุรชัย จันทิมาธร เป็นต้น
"เราทำในสิ่งที่คนอื่นไม่ทำ รื้อประวัติศาสตร์มาทำใหม่ให้เป็นปัจจุบัน เพลงพวกนี้ไม่ตาย เพียงแต่ไม่มีใครเอามาเล่นเท่านั้นเอง เราทำในฐานะนักวิชาการทางดนตรี เพื่อให้เพลงเหล่านี้มีชีวิตอยู่ หลังจากที่เราทำเพลงของจิตร ภูมิศักดิ์ โดนใจคนเยอะ คอนเสิร์ตที่จัด ณ หอแสดงดนตรี ของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์มันง่าย ไม่ต้องขนย้าย ลงทุนน้อย คนจะดูหรือไม่มีคนดูก็ไม่เป็นไร แต่การไปจัดข้างนอกมันสิ้นเปลืองเยอะ ดังนั้นผมจึงทำกับหน่วยงานภายนอกน้อยมาก ทุกครั้งที่เราแสดง เราจะบันทึกผลงานการแสดงไว้ทั้งหมดเพื่อเป็นกรณีศึกษา" อาจารย์สุกรี เจริญสุขกล่าว
วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นวิทยาลัยดนตรีแห่งแรกของประเทศไทย มีฐานะเทียบเท่าคณะหนึ่งในกำกับของมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดสอนวิชาเกี่ยวกับดนตรีโดยเฉพาะ ตั้งแต่ระดับเตรียมอุดมดนตรี (ม. 4 - ม. 6) จนถึงระดับปริญญาเอก โดยเป็นสถาบันเดียวในประเทศที่เปิดสอนวิชาดนตรีในระดับปริญญาเอก มีอาจารย์ที่ชำนาญในเครื่องดนตรีแต่ละชนิดโดยเฉพาะ ทั้งยังเป็นสถาบันเดียวในประเทศที่เปิดสอนทั้งด้านแนวเพลงไทยและแนวเพลงสากล
ทางมหาวิทยาลัยฯ มีวงดนตรีประเภทต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อแสดงในมหาวิทยาลัย และเมื่อได้รับการร้องขอจากหน่วยงานภายนอก วงดุริยางคศิลป์แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล (Mahidol University Pop Orchestra) ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2544 วงนี้ได้รวบรวมนักร้อง นักดนตรี ในทุกแขนงวิชามารวมกันเป็นวงขนาดใหญ่ ที่มีเครื่องดนตรีทุกประเภทคือ String, Woodwind, Saxophone, Brass, Piano และ Rhythm Section ได้รับเชิญไปแสดงในงานคอนเสิร์ตที่จัดขึ้นในโอกาสพิเศษ เช่น งานสังสรรค์ครบรอบการก่อตั้งสถาบัน, งานคอนเสิร์ตเพลงปฏิวัติ, งานแสดงประกอบละคร Musical ฯลฯ การแสดงของวงนี้ต้องมีการเตรียมการเป็นพิเศษ การจัดการทุกขั้นตอนจึงต้องมีความพิถีพิถัน เนื่องจากมีผู้ร่วมวงเป็นจำนวนมาก
...
เรื่องนี้คุณรู้ไหม?
ครั้งหนึ่งเพลง "แสงดาวแห่งศรัทธา" เคยเป็นเพลงประกอบละครโทรทัศน์เรื่อง "มายาสีเงิน" ทางช่อง 3 สมัยที่สถานีฯ เพิ่งจะเริ่มบุกเบิกละครโทรทัศน์ใหม่ๆ ผู้จัดละครเรื่องนี้คือ ปาริชาติ บริสุทธิ์ ผู้กำกับการแสดงคือ หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล นำแสดงโดย ปฐมพงษ์ สิงหะ, วาสนา สิทธิเวช และวันทิพย์ ภวภูตานนท์ ละครเรื่องนี้ดัดแปลงจาก Diatant Dream หรือ วิมานมายา ทวีป วรดิลก แปลและเรียบเรียงจากงานของ Khwaja Ahmad Abbas (ชวายา อาหะหมัด อับบาซ) ซึ่งเป็นนักคิด นักหนังสือพิมพ์ชาวอินเดีย
นอกจากนี้เพลงนี้ยังนำมาใช้กับละครเรื่อง "เก็บแผ่นดิน" อีกด้วย (ติดตามอ่านตอน 2 - พลังเพลงจากคุกลาดยาว)