xs
xsm
sm
md
lg

มหัศจรรย์ดนตรีสี่ฤดู “The Four Seasons” กับ ดร. แซ็กเชมเบอร์ ออร์เคสตร้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วงดนตรี ดร. แซ็กเชมเบอร์ ออร์เคสตร้า พร้อมโชว์ศักยภาพด้านดนตรีอีกครั้งในคอนเสิร์ต Solo Night No.9 “The Four Seasons”มหัศจรรย์ดนตรีสี่ฤดูกาล ของศิลปินนักประพันธ์เพลงชื่อก้องโลก แอนโทนิโอ้ วิวาลดี ในวันศุกร์ที่ 4 ก.ย.52 เวลา 18.30 น. ณ หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ชั้น 3 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในราคาบัตร 200 บาท

วงดนตรี ดร.แซ็กเชมเบอร์ ออร์เคสตร้า คือกลุ่มเยาวชนคนดนตรีฝีมือเป็นเลิศ ผู้คว้ารางวัลและสร้างชื่อเสียงในระดับนานาชาติมาแล้วมากมาย ซึ่งพวกเขาเริ่มต้นรวมตัวกันด้วยจิตใจรักเสียงเพลงและฝีมือดนตรี ภายใต้โครงการวิจัยพรสวรรค์ ของ รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ที่ก่อตั้งเมื่อเดือนมีนาคม ปี พ.ศ. 2540

วงดร.แซ็กเชมเบอร์ ออร์เคสตร้า ผ่านการพัฒนาฝึกฝนศักยภาพด้านดนตรี และมีประสบการณ์ด้านการแสดงดนตรีกับศิลปินไทยและศิลปินต่างชาติที่มีชื่อเสียงมาแล้วมากกว่าร้อยคอนเสิร์ต ทำให้เป็นที่ยอมรับจากเวทีการแสดงคอนเสิร์ต และจากเวทีการประกวดระดับนานาชาติ สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยและได้รับรางวัลเกียรติยศบนเวทีระดับโลกมากมายหลายรางวัล

รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ผู้อำนวยการวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประธานมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข กล่าวว่า “วงดนตรี ดร.แซ็กเชมเบอร์ ออร์เคสตร้า” เตรียมสร้างปรากฏการณ์อีกครั้งกับคอนเสิร์ตด้านดนตรีฝีมือระดับโลก พร้อมโชว์ศักยภาพด้านดนตรีของเยาวชนไทยในคอนเสิร์ต Solo Night No.9 “The Four Seasons” Antonio Vivaldi มหัศจรรย์ดนตรีสี่ฤดูกาล ในวันศุกร์ที่ 4 กันยายน 2552 นี้ เวลา 18.30 (เวลาเปิดประตู) ณ หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ชั้น 3 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

สำหรับการแสดงคอนเสิร์ตครั้งนี้ วงดร.แซ็กเชมเบอร์ ออร์เคสตร้า ได้นำบทประพันธ์ “The Four Seasons”(ฤดูทั้งสี่) สุดยอดผลงานของ แอนโทนิโอ้ วิวาลดี (Antonio Vivaldi :ค.ศ.1678 - ค.ศ.1741) ศิลปินดุริยกวีชาวอิตาเลี่ยนในยุคบาโร้ค บุตรของนักไวโอลินเอกของโบสถ์ St. Markแห่งเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี เป็นนักประพันธ์เพลงในยุคบาโร้ค (Baroque)โดยได้ประพันธ์เพลงไว้อย่างมากมาย เช่น ซิมโฟนี 23 บท,คอนแชร์โต้ 400 กว่าบท อุปรากร ประมาณ 50 เรื่อง และเพลงร้องในพิธีศาสนาอีกนับไม่ถ้วน

บทประพันธ์ ฤดูทั้งสี่ (The Four Seasons) จัดเป็นเพลงคอนแชร์โต้สำหรับไวโอลินที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของเขา เป็นผลงานลำดับที่ 8 (Opus 8-1725) ที่ได้เขียนขึ้นตามคำกลอน Sonnet

นางสาว วิศนี วงศ์วิรุฬห์ นักไวโอลิน สมาชิกวงดนตรีดร.แซ็ก เชมเบอร์ ออร์เคสตร้า กล่าวว่า บทประพันธ์ฤดูทั้งสี่ (The Four Seasons) ของ ดุริยกวีชาวอิตาเลี่ยน วิวาลดี นั้นมีความไพเราะและเป็นเพลงคลาสสิกที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวโดดเด่นชั้นดีเยี่ยม โดยมีด้วยกัน 4 บท 4 ฤดูกาล แต่ละฤดูกาลจะกล่าวถึงเรื่องราวต่างๆ คือ

1. ฤดูใบไม้ผลิ Spring (La Primavera)
- Allegro
เมื่อฤดูใบไม้ผลิมาถึง เสียงนก เสียงแมลงแสดงถึงความตื่นเต้น ดีใจ ร่าเริง สลับด้วยเสียงฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ให้เห็นถึงการตื่นตัวของธรรมชาติโดยมีเสียงน้ำไหลเอื่อยๆ ในลำธาร ประกอบชั่วขณะหนึ่งก็มีพายุมาทำลายความเงียบสงบนี้ หลังจากนั้นไม่นานพายุก็ผ่านพ้นไปและนกก็เริ่มร้องเพลงอีกครั้ง
- Largo เสียงเพลงบรรยายให้นึกถึงภาพดอกไม้บาน คนเลี้ยงแกะกำลังนอนหลับในบ้าน และได้ยินเสียงเห่าของสุนัขผู้ซื่อสัตย์ของเขา ที่เฝ้าบ้านและคอยระวังฝูงแกะ
- Allegro (Danza pastorale) เสียงแหบของปี่สก๊อต การร้องรำทำเพลงของคนเลี้ยงแกะชายและหญิง เพื่อต้อนรับฤดูใบไม้ผลิที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้านี้

2. ฤดูร้อน Summer (L’ estate)
- Allegro non molto เสียงเพลงเริ่มต้นด้วยความอิดโรยและอ่อนล้าของฤดูกาล ความร้อนใต้แสงอาทิตย์ ต่อมาจึงถูกปลุกให้ตื่นขึ้นด้วยเสียงนกคุกคู (นกกาเหว่า) ตามมาด้วยเสียงนกเขา และเสียงลมตะวันตก ลมเหนือที่พัดโชย ซึ่งถูกขัดขึ้นมาด้วยเสียงที่รุนแรง กระแสลมได้อ่อนตัวลงและเราได้ยินเสียงคร่ำครวญของคนเลี้ยงแกะ
- Adagio-Presto-Adagio ในช่วงจังหวะช้านี้นำมาซึ่งความสงบแต่ก็มีเสียงฟ้าร้อง ฟ้าผ่าอันน่ากลัวและคลอเคล้ากับเสียงอื้ออึงของเหล่าแมลงต่าง ๆ มากมายทั้งมดและตัวหนอน
- Presto (Tempo impettuoso d’ estate) ความกลัวเริ่มจางหายไป ข้าวโพดพืชผักต่าง ๆ งอกงาม ลีลาในช่วงนี้นำมาซึ่งพายุฤดูร้อนที่กำลังจะพัดมาถึง

3. ฤดูใบไม้ร่วง Autumn (L’autunno)
- Allegro
(Ballo, e canto de’ villanelli) เสียงเพลงบรรยายด้วยเพลงเต้นรำชนบท เพื่อเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวพืชผลที่สุกใหม่ มีการกินเลี้ยงกันอย่างมากมาย การเต้นรำร้องเพลงของขี้เมา ความสุขจบลงจนหลับ
- Adagio molto (Ubriachi dormienti) ทุกคนสนุกสนาน ร้องเพลงเต้นรำจนหมดแรงและผลอยหลับไปด้วยความสุข
- Allegro (La caccia) การออกล่าสัตว์ยามรุ่งอรุณ เสียงแตรจากคนล่าสัตว์ เสียงเห่าของสุนัขของคนล่าสัตว์และเสียงปืน เสียงของแนวไวโอลินในช่วงเดี่ยวนี้ใช้เป็นตัวแทนของสัตว์ที่ถูกล่า ซึ่งวิ่งหนีด้วยความกลัวและตายลงด้วยความเหนื่อยอ่อนจากความตื่นตระหนก

4. ฤดูหนาว Winter (L’ inverno)
- Allegro non molto
เปิดแนวทำนองด้วยความหนาวเย็นยะเยือกของสายลมแห่งฤดูหนาวมาเยือน หิมะจับตัวเป็นน้ำแข็ง ลมหนาวพัดผ่านหนาวจากเท้าสู่ศีรษะ
- Largo บรรยายบรรยากาศอันอบอุ่นรอบเตาผิงที่อยู่กันอย่างสงบสุข มองไปยังภายนอกก็ยังคงมีสายฝนตกอยู่อย่างไม่ขาดสาย
- Allegro ลีลาของเพลงในช่วงนี้แสดงถึงความร่าเริงเบิกบานและความกลัวอันตรายจากการเดินฝ่าไปบนน้ำแข็งด้วยความระมัดระวังกลัวลื่นหกล้ม ก็ยังพลาดล้มลง แต่ก็ได้พยายามลุกขึ้นเดินใหม่ได้ และสามารถวิ่งได้อย่างรวดเร็ว จนกระทั่งน้ำแข็งแตก เราได้ยินเสียงลมมาจากทุกทิศทุกทาง โหมกระหน่ำ ความสว่างจากหิมะสะท้อนท้องฟ้านำมาซึ่งความสุขในฤดูหนาวนี้

ด้าน นาย ชลัฐ ลิมปิศิริ นักไวโอลินมาชิกวงดนตรี ดร.แซ็ก กล่าวเสริมว่า ตนเองได้เล่นไวโอลิน และเพื่อนๆ นักดนตรีในวงดนตรี ได้ทุ่มเทฝึกซ้อมด้วยความมุ่งมั่น อดทน มีระเบียบวินัย ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างสรรค์การแสดงอย่างเต็มที่เกิน 100% ด้วยพลังความสามารถด้านดนตรีของเยาวชนไทยที่เต็มเปี่ยมด้วยศักยภาพที่จะถ่ายทอดความไพเราะของเสียงเพลง ผ่านเครื่องดนตรี เครื่องสาย ไวโอลิน เชลโล เป็นต้น เชื่อว่าผู้ชมคอนเสิร์ตจะได้รับความประทับใจ ตื่นเต้น เร้าใจ และเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้เยาวชนไทยคนอื่นๆ ได้หันกลับมาค้นหาความสามารถของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นความสามารถด้านการเล่นดนตรีหรือความสามารถด้านอื่นๆ จึงถือว่า วงดนตรี ดร.แซ็กเชมเบอร์ ออร์เคสตร้า เป็นแบบอย่างเยาวชนไทยที่ดีที่ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงไม่ควรพลาดชมการแสดงคอนเสิร์ตครั้งนี้

สำหรับผู้ที่สนใจชมคอนเสิร์ต The Four Seasons ในวันศุกร์ที่ 4 กันยายน 2552 ณ หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ชั้น 3 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เวลา 18.30 น. บัตรราคา 200 บาท ผู้สนใจสามารถซื้อบัตรได้ที่ โรงเรียนดนตรีเอื้อมอารีย์ อาคารสำนักงาน Tower A ชั้น 19 ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า โทรศัพท์ 02-884-8502 , 02-884-8333 – 4 หรือที่ ศูนย์วิจัยพรสรรค์ศึกษา บริเวณ Blue Complex สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินจตุจักร และที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์มหาวิทยาลัย มหิดล สยามพารากอน Education Zone หรือเข้าไปดูรายละเอียดที่ www.drsaxchamberorchestra.com โดยรายได้ทั้งหมดจากการจำหน่ายบัตรจะนำไปสมทบทุนโครงการดนตรีเพื่อการพัฒนาเยาวชน ของมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข

นอกจากนี้ ยังได้จัดฟรีคอนเสิร์ต ดนตรีคลาสิกสัญจรสู่จังหวัดนครสวรรค์ “The Four Seasons” ในวันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน 2552 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครสรรค์ เพื่อเปิดโอกาสให้น้องๆ เยาวชนจังหวัดนครสวรรค์ได้มีส่วนร่วมในการแสดงและชมคอนเสิร์ตเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทยหันมาสนใจการเล่นดนตรีรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น