xs
xsm
sm
md
lg

ตึกยาวสวนกุหลาบ ตึกเรียนยาวที่สุดในไทย "พิพิธภัณฑ์การศึกษา" แหล่งเรียนรู้ทรงคุณค่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง

ตึกยาวสวนกุหลาบด้านในโรงเรียน ตึกเรียนยาวที่สุดในเมืองไทย
ใครรู้บ้างว่า...ตึกเรียนตึกไหนยาวที่สุดในประเทศไทย?

ใครไม่รู้ไม่เป็นไร แต่ชาวสวนกุหลาบส่วนใหญ่ต่างรู้กันดีว่า"อาคารสวนกุหลาบ"หรือที่ชาวชมพู-ฟ้าเรียกสั้นๆว่า "ตึกยาว" ที่มีความกว้าง 11.35 เมตร และมีความยาวถึง 198.35 เมตร คืออาคารเรียนที่ยาวที่สุดในประเทศไทย

ตึกยาวนี้เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.2453 สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นสถาปัตยกรรมยุโรป แบบนีโอคลาสสิค ตัวตึกทอดยาวตามแนวถนนตรีเพชร ผนังอาคารด้านติดถนนชั้นล่างเป็นแนวหน้าต่างโค้ง ส่วนชั้นบนถอยร่นผนังเข้าไปอยู่หลังแนวซุ้มโค้งที่เป็นทางเดิน ช่องทางเข้าสู่โรงเรียนเป็นหลังคาจั่ว ตกแต่งด้วยปัลลาเดียนโมทิฟตามแบบของวิลล่าที่ออกแบบโดยปัลลาดิโอ ผนังด้านในโรงเรียนเป็นแนวทางเดินซุ้มโค้งยาวตลอดทั้งสองชั้น
ตึกยาวสวนกุหลาบด้านนอก
ตัวอาคารมี 37 ห้อง ชั้นบน 19 ห้อง ชั้นล่าง 18 ห้อง มีประตู 164 บาน หน้าต่าง 166 บาน มีบันได 12 แห่ง มีช่องลูกกรงไม้ 54 แห่ง ด้วยความที่ตึกยาวแห่งนี้มีความสวยงามและเก่าแก่กรมศิลปากรจึงได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติในปีพ.ศ. 2530 และสมาคมสถาปนิกสยามยังยกย่องให้เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่นเมื่อปี 2543 อีกด้วย

นอกจากตัวตึกจะมีความสำคัญขนาดนี้แล้วภายในอาคารชั้นล่างยังเป็นที่ตั้งของ "พิพิธภัณฑ์การศึกษา" โดยภายในพิพิธภัณฑ์จะแบ่งห้องจัดแสดงทั้งหมด 14 ห้องนิทรรศการ แต่ก่อนที่ฉันจะเข้าชมภายในพิพิธภัณฑ์ ได้มีเด็กๆนักเรียน "ชุมนุมยูเนสโก้" โรงเรียนสวนกุหลาบฯ ชมรมซึ่งดูแลศิลปวัฒนธรรม โบราณสถาน ให้มีชีวิตชีวาเป็นยุวมัคคุเทศก์พาชม
อาจารย์ ยุวมัคคุเทศก์ สาธิตการเรียนการสอนสมัยก่อนในห้องภูมิปัญญาครูส.ก.
ในส่วนของห้องแรก "ห้องสถาบันพระมหากษัตริย์โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย" ภายในห้องนี้จัดแสดงโบราณวัตถุ อาทิ จารึกศิลาที่ได้โปรดเกล้าให้จารึกความเป็นมาของโรงเรียน นาฬิกาประทับตรา จ.ป.ร. 2 เรือน พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ พร้อมลายพระหัตถ์พระราชทานจากรัชกาลที่ 5 ภาพพระฉายาสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 6 ผู้ทรงทำนุบำรุงโรงเรียนสืบต่อจากพระราชบิดา ภาพพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ และพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อสวนกุหลาบองค์จำลอง เพื่อให้นักเรียนและผู้เข้าชมได้สักการะด้วย

ห้องนิทรรศการที่ 2 "จากวัง สู่ วัด" ภายในจัดแสดงเรื่องราวตั้งแต่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบได้เริ่มเคลื่อนย้ายออกจากพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2442 แบ่งเป็นโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบฝ่ายไทย และโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบฝ่ายอังกฤษ ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างเคลื่อนย้ายไปอยู่ตามที่ต่างๆจนมาสิ้นสุดรวมกันในที่ตั้งโรงเรียนสวนกุหลาบในปัจจุบัน
ตึกยาวยาวสุดสายตาที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์การศึกษาทรงคุณค่า
ฉันเดินต่อไปยังห้องนิทรรศการที่ 3 "ห้องบูรพคณาจารย์สวนกุหลาบวิทยาลัย" จัดแสดงภาพครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ ผู้อำนวยการ ซึ่งเป็นตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียนตั้งแต่เริ่มต้นจนปัจจุบัน โดยผู้บริหารโรงเรียนในอดีตได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้มีบทบาทในการจัดการเรียนการสอนวางรากฐานการศึกษาจนเป็นที่ยอมรับ กระทรวงศึกษาธิการคัดสรรผู้บริหารที่มีคุณภาพมาบริหารโรงเรียนแห่งนี้ เพราะเชื่อว่าจะเป็นแบบอย่างของครูอาจารย์และศิษย์ต่อไป

เข้าสู่ห้องนิทรรศการถัดไป "ห้องภูมิปัญญาครูสวนกุหลาบวิทยาลัย" ซึ่งข้อมูลการจัดทำเป็นห้องภูมิปัญญาครูนี้ได้มาจากงานวิจัยภูมิปัญญาครูสวนกุหลาบ จากความร่วมมือของครูเก่า ครูปัจจุบัน ศิษย์เก่า ในสมัย ผอ.สมหมาย วัฒนคีรี ในห้องนี้จัดแสดงสื่อการสอน แบบเรียน วารสารสวนกุหลาบ หนังสือพิมพ์พิมพ์สวน เครื่องมือวิทยาศาสตร์ต่างๆ เครื่องดนตรี ห้องเรียนโบราณจำลอง ระฆังตีบอกเวลา คอมพิวเตอร์เครื่องแรก และไม้เรียวที่ใช้สั่งสอนคุณธรรมนักเรียนในสมัยก่อน
ยุวมัคคุเทศก์เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับไม้เรียวและการใช้ในสมัยก่อน
ห้องนิทรรศการที่ 5 "ห้องเกียรติยศและเกียรติภูมิชาวสวนฯ" ในห้องนี้จะจัดแสดงรายชื่อศิษย์เก่าที่ได้สร้างคุณงามความดีและเกียรติประวัติไว้มากมายในหลากหลายสาขา อันเป็นเกียรติยศและเกียรติภูมิของชาวสวนกุหลาบทุกคน ความทรงจำที่ปรากฏในห้องนี้จะสร้างเจตคติที่ดีต่อผู้เข้าชมในการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมต่อวิชาชีพที่หลากหลายอันมีคุณต่อสังคมประเทศชาติ และสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีของเยาวชนและผู้คนที่เข้าชมเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งยังมีการจัดแสดงการแต่งกายชุดนักเรียนของโรงเรียนสวนกุหลาบตั้งแต่ในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบจนถึงปัจจุบันอีกด้วย

ต่อมาเป็นห้องนิทรรศการห้องที่ 6 "ห้องเกียรติยศ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์" ฉันเข้าไปในห้องนี้แล้วก็ได้รู้ว่า ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยหมายเลขประจำตัว 7587 จบรุ่น 2480 ท่านได้รับความสำเร็จสูงสุดทั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษของไทย ท่านเป็นแบบอย่างของการประพฤติดี มีความซื้อสัตย์สุจริต กตัญญู รักชาติ ศาสนา เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ดำรงชีวิตอยู่อย่างสมถะและนิยมความเป็นไทย
ห้องเกียรติยศ ฯพณฯ พลเอกเปรม ศิษย์เก่าร.ร.สวนกุหลาบ
ห้องถัดไป "ห้องเกียรติภูมิชาวสวนกุหลาบวิทยาลัย" ห้องนี้จัดแสดงความภาคภูมิใจเกียรติประวัติของบุคคลสำคัญที่เป็นศิษย์เก่า และผู้มีคุณูปการที่สำคัญ อาทิ สมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ผู้อำนวยการก่อตั้งโรงเรียนหลวงสวนกุหลาบ และทรงเป็นกำลังสำคัญในการบริหารประเทศหลายด้าน, มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล), เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน), หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เป็นต้น

ห้องที่ 8 "ห้องจาริกานุสรณ์" ซึ่งในสมัยอาจารย์ใหญ่นอร์แมน ซัดตัน ได้มีการจารึกชื่อนักเรียนที่ได้ทุนออกไปศึกษาต่อต่างประเทศไว้บนป้ายไม้ที่เรียกว่า จาริกานุสรณ์ นักเรียนที่สามารถสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงคนแรกของประเทศไทยในปีพ.ศ.2439 คือ นายพุ่ม สาคร นักเรียนโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ไปศึกษาต่อที่ประเทศรัสเซียพร้อมกับพระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ จนได้เป็นเสนาธิการทหารรัสเซีย ในสมัยต่อๆมาได้จารึกชื่อนักเรียนที่ได้รับรางวัลจากการแข่งโอลิมปิกวิชาการ
ห้องจัดแสดงวิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ภายในพิพิธภัณฑ์การศึกษา
นิทรรศการห้องที่ 9 "ห้องกิจกรรมนำเกียรติภูมิ" ภายในห้องชื่อเก๋ไก๋นี้จัดแสดงกิจกรรมต่างๆอาทิ กีฬาแห่งชาติ กรีฑาแห่งชาติ งานลูกเสือแห่งชาติ งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน งานวิทยาศาสตร์สัมพันธ์ งานสังคมนิทรรศน์ งานนิทรรศสวนฯ เป็นต้น มีการจัดทำโครงงาน เอกสาร หนังสือพิมพ์ การออกร้าน การอภิปราย การโต้วาทีต่างๆ กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้เยาวชนรุ่นนั้นเป็นนักคิดและผู้นำสังคมรุ่นใหม่

ตามติดด้วยห้องที่ 10 "ห้องกิจกรรมหล่อหลอมความเป็นสวนกุหลาบ" โดยโรงเรียนมุ่งส่งเสริมกิจกรรมประเพณีที่สำคัญต่างๆ ที่กลายมาเป็นยุทธศาสตร์ในการหล่อหลอมความรู้ ความคิด ความสามารถ และปลูกจิตสำนึกในด้านคุณธรรม จริยธรรม เช่น งานวันละอ่อน งานวันรับขวัญเสมา วันสมานมิตร งานเชียร์และแปลอักษร งานฟุตบอลประเพณีจตุรมิตรสามัคคี อันเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่สำคัญที่สุด
ตู้จัดแสดงกิจกรรมต่างๆของชาวสวนกุหลาบ
ต่อมาคือ "ห้องบูรณาการ วิชาการ พลานามัย ศิลปะ ดนตรี สุนทรียศาสตร์" ผลของการส่งเสริมนักเรียนทั้งวิชาการ และกิจกรรม ได้ปรากฏผลการเรียนรู้ในทุกด้าน ทั้งด้านกีฬา ด้านดนตรีไทย การแสดงละคร โขน ด้านดนตรีสากล ด้านศิลปหัตถกรรม คหกรรม เป็นต้น ในห้องนี้จะมีสัญลักษณ์วงกลมล้อมรอบตราโรงเรียนแสดงโซนสี ซึ่งแบ่งคุณภาพต่างๆของนักเรียนเป็น 4 สีซึ่งเมื่อบูรณาการเข้าด้วยกันก็จะเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพต่อไป

ห้องนิทรรศการที่ 12 "ห้องสวนกุหลาบฯ ในปัจจุบัน" ในห้องนี้ได้จัดแสดงเหรียญ ถ้วย โล่รางวัลต่างๆที่นักเรียนได้มากจากการไปแข่งขันต่างๆ อันเป็นผลสำเร็จทางการศึกษาของนักเรียนสวนกุหลาบ ถัดมาคือ "ห้องสัญลักษณ์ชาวสวนกุหลาบวิทยาลัย" โรงเรียนได้ใช้ยุทธศาสตร์บริหารจัดการสถาบันให้มีเอกลักษณ์ ความเป็นหนึ่งเดียว เช่น รัชกาลที่ 5 ผู้โปรดเกล้าสถาปนาโรงเรียน, ตึกยาว อาคารพระราชทานเป็นตึกเรียนแรก, หลวงพ่อสวนกุหลาบ, พ่อปู่สวนกุหลาบ, ตราและสีประจำโรงเรียน เป็นต้น
ห้องจัดแสดงถ้วยรางวัลมากมายของนักเรียนสวนกุหลาบ
และห้องสุดท้ายห้องนิทรรศการที่ 14 "ห้องเอกสารโบราณและจดหมายเหตุสวนกุหลาบ”"ที่รวบรวมเอกสาร สิ่งพิมพ์ หลักฐานประวัติสาสตร์ของชาติและของสถาบันไว้มากมาย รวมถึงเอกสารพระราชหัตถเลขาที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งโรงเรียนด้วย

เมื่อฉันชมครบทั้ง 14 ห้องแล้วนอกจากจะรู้เรื่องราวต่างๆของการศึกษาไทยและของโรงเรียนแห่งนี้ ยังรู้สึกประทับใจเหล่ายุวมัคคุเทศก์ที่บรรยายรายละเอียดและพาชมพิพิธภัณฑ์อย่างสนุกสนาน นับว่าการมาเยือนถิ่นชมพู-ฟ้าครั้งนี้คุ้มค่าอย่างยิ่ง
ห้องเกียรติภูมิชาวสวนกุหลาบ


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

พิพิธภัณฑ์การศึกษา โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ถ.ตรีเพชร พระนคร กรุงเทพฯ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมได้ฟรี ในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-16.00 น. สำหรับผู้เข้าชมเป็นหมู่คณะโปรดแจ้งล่วงหน้า หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ งานพิพิธภัณฑ์ โทร.0-2225-5605-8 ต่อ 105
กำลังโหลดความคิดเห็น