xs
xsm
sm
md
lg

ล่องใต้ ไปแล ‘เมืองลิกอร์’ ณ นครศรีธรรมราช

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระบรมธาตุเมืองนครโดดเด่นเหนือหมู่เจดีย์ราย
คนใจใฝ่ธรรมะอย่าง“ตะลอนเที่ยว” ลงเที่ยวเมืองใต้ ก็ได้โคจรมาเยือนดินแดนแห่งพุทธศาสน์เมืองใต้อย่างเมืองนครศรีธรรมราชแห่งนี้อีกครา แรกเริ่มเดิมทีตั้งใจไว้ว่า เข้าไปไหว้พระบรมธาตุเมืองนคร ภายใน”วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร”เป็นการเรียบร้อยแล้ว จะตระเวนทัวร์นอกตัวเมืองคอนทันที

แต่เพิ่งมาแจ้งแก่ใจตัวว่า เข้าเมืองคอนครั้งใด ก็ยังๆไม่เคยสัมผัสเสน่ห์ในเมืองอย่างเต็มๆเป็นล่ำเป็นสัน ดังนั้นก่อนที่คิดจะผลีผลามไปเที่ยวนอกเมือง เลยเปลี่ยนแปรเป็นเที่ยวเบาๆภายในเมืองแทน
ยามค่ำคืนของพระบรมธาตุเมืองนคร
มงกุฎเมืองลิกอร์

เริ่มต้นกับเป้าหมายหลักที่ตั้งใจไว้ มาเมืองคอนทีไร ต้องแวะไปกราบไหว้บูชาทุกครั้ง ที่ “วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร” วัดที่เป็นศูนย์รวมใจของชาวเมืองนครศรีธรรมราช ที่ชาวบ้านนิยมเรียกแตกต่างกันออกไป เช่น วัดพระธาตุ วัดพระมหาธาตุ ที่มีฐานะเป็นอารามหลวงชั้นเอกชนิด วรมหาวิหาร สันนิษฐานว่าสร้างในปี พ.ศ. 854 ด้วยศิลปะแบบศรีวิชัย

ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่ในเขตริมถนนราชดำเนิน ต.ในเมือง อ.เมือง บนเนื้อที่จำนวน 25 ไร่ 2 งาน ทำให้ภายในวัดแห่งนี้มากด้วยสรรพสิ่งชวนมอง ความโดดเด่นอันดับแรกที่เราจะสัมผัสได้ตั้งแต่ยังไม่ทันย่างกรายเข้าภายในบริเวณวัดเสียด้วยซ้ำก็คือ ความยิ่งใหญ่ของ “พระบรมธาตุเจดีย์” ซึ่งเป็นพระเจดีย์บรรจุบรมสารีริกธาตุ สัญลักษณ์ของเมืองนคร อันเปรียบประดุจมงกุฏแห่งมือง
บันไดทางขึ้นสู่พระบรมธาตุที่มีเหล่าผู้ปกปักรักษาอยู่
พระบรมธาตุเจดีย์ที่ปรากฏในปัจจุบันนี้ เป็นทรงลังกาหรือระฆังคว่ำบ้างก็ว่าโอคว่ำ (โอ คือ ภาชนะเครื่องสานอย่างหนึ่งสำหรับใส่ของรูปร่างคล้ายขัน) หรือ ระฆังคว่ำ

สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับองค์พระบรมธาตุเจดีย์ สูง 55.78 เมตร มีปล้องไฉน 52 ปล้อง ยอดของปล้องไฉนหุ้มทองคำเหลืองอร่าม สูง 6 วา 1 ศอก ส่วนรอบพระบรมมหาธาตุเจดีย์ มีเจดีย์รายรอบถึง 158 องค์ เยอะเอาการทีเดียว

ตำนานเมืองนครเล่าสืบต่อกันมาว่า เจ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าชายทนทกุมารขณะที่อัญเชิญพระธาตุไปเมืองลังกานั้น เผอิญเจอพายุหนักจนเรือสำเภาแตก ทำให้ทั้งสองพระองค์มาเกยขึ้นฝั่งบริเวณหาดทรายแก้ว(บริเวณวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร) จึงฝังพระทนตธาตุ (พระเขี้ยวแก้วเบื้องซ้าย) ไว้ส่วนหนึ่ง สร้างเจดีย์เล็กๆ ครอบไว้เป็นเครื่องหมาย ก่อนจะเสด็จต่อไปที่เมืองลังกา ครั้งพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชได้ย้ายมาสร้างเมืองใหม่ที่หาดทรายแก้ว ประมาณปีพ.ศ.1770 ทรงทราบเรื่องจากตำนานดังกล่าว จึงให้อัญเชิญพระทันตธาตุมาประดิษฐานในพระบรมธาตุเจดีย์องค์ใหญ่เพื่อเป็นปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์ของอาณาจักรนี้
ภาพยนต์ที่ตั้งอยู่ด้านขวามือของทางขึ้น
นอกเหนือจากพระบรมธาตุอันเป็นที่เคารพบูชาแล้ว ถ้าไม่เอ่ยถึงต้นตำรับของ “จตุคามรามเทพ” ก็มิอาจเรียกได้ว่าได้มาถึงวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

รูปปั้นเทวดาลอยตัวทั้งสององค์ ลักษณะทรงเครื่องกษัตริย์นั่งชันเข่าขวาขึ้นตั้ง ขาซ้ายวางราบ เรียกว่าท่ามหาราชลีลา อันเป็นท่านั่งของผู้สูงศักดิ์ อยู่ทางด้านรอยพระพุทธบาทจำลอง มีชื่อว่า “ท้าวขัตตุคาม” คู่กับ “ท้าวรามเทพ” นั่งเป็นศรีสง่าอยู่บริเวณทางขึ้นสู่พระบรมธาตุ

ที่ด้านข้างมีเทวรูป 4 กรอยู่ด้วย คือพระหลักเมือง พระทรงเมือง ส่วนประตูไม้จำหลักที่งดงามประณีตเป็นรูปพระทวารบาล ได้แก่ พระพรหมและพระนารายณ์ อยู่ในวิหารพระทรงม้าเป็นรูปเจ้าชายสิทธัตถะทรงม้าเสด็จออกบรรพชา หรือที่เรียกว่า “เสด็จออกมหาภิเนษกรม” ศิลปะสมัยอยุธยาตอนกลาง
ศาลหลักเมืองนคร
รายรอบเชิงบันไดด้านล่างยังมีเหล่า “ภาพยนต์” (หุ่นที่ผูกขึ้นด้วยฟ่อนหญ้าแล้วปลุกเสกด้วยเวทมนต์คาถา)ผู้ปกปักรักษาพระบรมธาตุ เป็นงานปูนปั้นลอยตัวตามตำนานระบุว่า “เจ้ากากภาษาผูกภาพยนต์ด้วยเวทมนต์คาถาเป็นยักษ์ครุฑ นาค สิงห์ โค ม้าและช้าง” ประกอบด้วย ยักษ์คู่ คือ ท้างเวฬุราชและท้าวเวชสุวรรณ ครุฑคู่ คือ ท้าววิรุฬปักษ์และท้าววิรุฬหก นาคคู่ คือ ท้าวทตตรฐมหาราช

ภายในวัดยังมีวิหารสำคัญอีกหลายแห่งให้เราได้เดินชมสักการะทั้ง “วิหารสามจอม” สักการะพระพุทธรูปปางมารวิชัยเครื่องอย่างกษัตริย์โบราณ คือ “พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช” ประดิษฐานในตู้กระจกใหญ่ เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องที่งดงามที่สุดองค์หนึ่งของไทย

“วิหารทับเกษตร” เป็นส่วนที่ทางวัดอนุญาตให้จุดธูปเทียนสักการบูชาพระบรมธาตุเจดีย์ วิหารนี้เป็นส่วนที่สร้างคลุมฐานของพระบรมธาตุเจดีย์ไว้ เป็นพระวิหารที่เชื่อว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ.2312

และสิ่งน่าสนใจอื่นที่ต่างก็มากไปด้วยคุณค่าทางศิลปกรรมและทางประวัติศาสตร์ อาทิ พระวิหารหลวง พระระเบียงตีนธาตุ วิหารเขียน วิหารโพธิ์ลังกา ที่นี่จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวหลัก ที่คนมาเมืองนครจะพลาดการมาเยือนไม่ได้
ด้านหน้าหอพระอิศวร
แลเมืองลิกอร์

ถ้าจะมีใครถาม “ตะลอนเที่ยว” ว่าเมืองใดมีชื่อเรียกเมืองมากที่สุด “ตะลอนเที่ยว” คงยกให้เมืองนครจัดลำดับอยู่ในอันดับต้นๆเป็นแน่ เอาชื่อมีพอคุ้นหูกันก่อน ก็ต้อง ตามพรลิงค์ ไล่เรื่อยต่อทั้งกะมะลิง มัทธมาลิงคัม ตมลิงคาม เต็งหลิวมาย

เรียกแบบโปรตุเกสก็ต้อง “ลิกอร์” เป็นการออกเสียงจากเมืองนครฯ กลายเป็นเมืองละคร ฝรั่งเข้ามาเรียกไม่ชัดกลายเป็นลิกอร์ จากนั้นมาจนถึงปัจจุบัน คนใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ของไทย รวมไปถึงมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ยังคงเรียกจังหวัดนครศรีธรรมราชว่า “ลิกอร์”หรือ “ละกอร์”

ในเมืองลิกอร์แห่งนี้ จากวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ห่างออกไปไม่ไกล เป็นที่ตั้งของ “หอพระพุทธสิหิงค์” เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปสำคัญหนึ่งในสามองค์ที่มีอยู่ในประเทศไทย อีกสององค์ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทธไธศวรรย์พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนครและวัดพระสิงค์ จังหวัดเชียงใหม่
เสาชิงช้าภายในหอพระอิศวร
กล่าวกันว่าพระมหากษัตริย์แห่งลังกา โปรดเกล้าให้สร้างขึ้นในปีพ.ศ.700 แล้วอัญเชิญมายังแผ่นดินสยามในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นพระพุทธรูปที่มีศิลปกรรมอยู่ในตระกูลช่างแบบนครศรีธรรมราช หรือ ที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “แบบขนมต้ม” เป็นพระพุทธรูปที่งดงามมากองค์หนึ่ง พระพักตร์กลมอมยิ้ม พระอุระอวบอ้วน ประทับนั่งในท่าขัดสมาธิเพชร

และใกล้ๆกันบนเส้นถนนราชดำเนิน ยังเป็นที่ตั้งของ “หอพระอิศวร” ด้านใต้ในบริเวณเดียวกันเป็นเสาชิงช้า แต่เดิมมีโบสถ์พราหมณ์อยู่บริเวณเสาชิงช้าด้วย แต่ต้องนี้ปรักหักพังไปหมดแล้ว ใช้พิธีตรียัมปวายและยัมปวาย เป็นโบราณสถานในศาสนาฮินดู

เป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของพระอิศวร สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยา แต่ของเดิมชำรุดอาคารปัจจุบันเป็นอาคารที่กรมศิลปากรสร้างขึ้นใหม่ในปีพ.ศ.2509 และฐานโยนีรวมทั้งเทวรูปสำริดจำลองจากองค์จริงที่เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช
เก๋งจีนวัดแจ้ง
ส่วนอีกฟากฝั่งของถนนตรงข้ามกับหอพระอิศวร เป็นที่ประดิษฐานเทวรูปพระนารายณ์ เรียกกันว่า “หอพระนารายณ์” ซึ่งจำลองจากองค์จริงในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช ซึ่งพบในแหล่งโบราณคดีแถบอำเภอสิชล มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 10-11 เทวรูปพระนารายณ์จำลององค์นี้สลักจากหินทรายสีเทา ทรงมาลากระบอกพระหัตถ์ขวาทรงสังข์

เมืองนครศรีธรรมราชเป็นอีกเมืองหนึ่งที่ทำให้ “ตะลอนเที่ยว” เล็งเห็นว่าศาสนาทุกศาสนาอยู่ร่วมกันได้ฉันท์มิตร ยอกตัวอย่างง่ายๆ เพียงแค่บนเส้นถนนราชดำเนินถนนสายหลักสายสำคัญของเมืองคอนเพียงเส้นเดียวก็เป็นที่ตั้งของวัดพุทธ โบสถ์พราหมณ์ และมัสยิดหลายแห่งตั้งอยู่บนเส้นทางเดียวกัน

สถานที่ท่องเที่ยวที่พาทัวร์ในครั้งนี้ ตั้งอยู่บนเส้นถนนราชดำเนินเสียเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นแหล่งท่องเที่ยวแต่ละแห่งจึงสามารถเดินเที่ยวชมได้ตลอดเส้นทาง แต่ถ้าเป็นคนเมื่อยง่ายขี้คร้านจะเดินทาง เมืองนครฯเขาก็มีบริการนั่งรถรางชมเมือง พร้อมกับมัคคุเทศก์ไว้บรรยายถึงความเป็นมาและความสำคัญของแต่ละแห่งให้ฟัง

มาเยือนหัวใจของเมืองกันดีกว่า ที่ “ศาลหลักเมือง” ประดิษฐานอยู่บริเวณทิศเหนือของสนามหน้าเมือง ใกล้กับหอพระสูง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2530 เพื่อให้เป็นสถานที่เคารพสักการะของชาวเมืองอีกแห่งหนึ่ง ในช่วงกระแสจตุคามฟีเว่อร์ ที่ศาลหลักเมืองแห่งนี้ถือเป็น 1 ใน 2 สถานที่สำคัญเช่นเดียวกับวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ที่หากว่าวัตถุมงคลจตุคามได้มาผ่านพิธีปลุกเสกที่นี่ก็จะสร้างความขลังและศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น
เก๋งจีนวัดประดู่
ด้านนอกประกอบไปด้วยอาคาร 5 หลัง มีอาคารประธานเป็นที่ประดิษฐานของเสาหลักเมือง ออกแบบเป็นทรงเหมราชลีลาในศิลปะศรีวิชัย มีอาคารเล็กทั้งสี่หลัง เป็นบริวารสี่ทิศ เรียกว่าศาลจตุโลกเทพ ประกอบด้วยศาลพระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระพรหมเมือง และศาลพรบันดาลเมือง

ด้านในอาคารประธานเป็นที่ประดิษฐานของเสาหลักเมืองทำจากไม้ตะเคียนทอง มีการแกะสลักลวดลายต่างๆอย่างสวยงามไล่ตั้งแต่ส่วนฐานขึ้นไปเป็นวงรอบเก้าชั้น จำนวน 9 ลาย ส่วนยอดหลักเมือง แกะสลักเป็นรูปพรหมสี่หน้าใหญ่และเล็ก

การจะดูความยิ่งใหญ่ของเมืองใดนั้น สิ่งหนึ่งที่เป็นเครื่องชี้บอกสำหรับ “ตะลอนเที่ยว” คือมองดู “กำแพงเมือง”แล้วจะเห็นความรุ่งโรจน์ของเมืองได้อย่างเด่นชัด สำหรับกำแพงเมืองนครฯ เดิมก่ออิฐถือปูนทั้งสี่ด้าน มีเชิงเทียน ใบเสมา และป้อมที่มีมุมกำแพงทั้งสี่มุม

ตามตำนานกล่าวว่า กำแพงเมืองชั้นแรกสุดนั้น สร้างในสมัยพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชโดยเป็นกำแพงดิน ผู้สร้างคือชาวอินเดียและมอญฝ่ายใต้

กำแพงด้านเหนือและด้านใต้มีประตูเมือง คือ ประตูชัยเหนือ และประตูชัยใต้ ขนาดของเมืองวัดตามแนวกำแพงเมืองยาว 2,238.50 ม. กว้าง 456.50 ม. กำแพงเมืองได้รับการบูรณะครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ.2533 ปัจจุบันแนวกำแพงเมืองที่หลงเหลืออยู่เป็นแนวขนานไปกับคูเมืองตั้งแต่ประตูชัยเหนือไปทางทิศตะวันออกยาวประมาณ 100 ม. และเส้นถนนราชดำเนินก็คือแนวกำแพงเมืองเก่า
พระพุทธสิหิงค์เมืองนคร
“ตะลอนเที่ยว” ตะลอนทัวร์จนเหนื่อย จึงหลบอากาศร้อนเข้ามาในเขตวิทยาลัยสงฆ์ภาคทักษิณวัดแจ้ง มาชมสถาปัตยกรรมแบบจีนๆกันที่ “เก๋งจีนวัดแจ้ง” เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนแบบเก๋งจีน ก่อสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ ภายในประดิษฐานที่เก็บอัฐิของเจ้าพระยานคร (หนู) และหม่อมทองเหนี่ยวผู้เป็นชายา และเชื่อว่ารวมถึงพระอัฐิของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชด้วย

วัดใกล้ๆกันอย่างวัดประดู่เองก็มี “เก๋งจีนวัดประดู่” ตั้งอยู่ในบริเวณวัดประดู่ เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนเช่นเดียวกับเก๋งจีนวัดแจ้ง เป็นที่ประดิษฐานอัฐิของพระเจ้าพระยานคร (น้อย) ซึ่งเป็นบุตรของเจ้าพระยานคร (หนู) ตั้งหลบมุมเงียบอยู่ภายในวัดประดู่

แม้จะเที่ยวไม่ทั่วเพราะยังเหลือสถานที่อีกหลายแห่งอาทิ วัดวังตะวันตก วัดนางพระยา วัดสวนป่าน ฯลฯ แต่ “ตะลอนเที่ยว” ก็ได้เห็นประจักษ์แล้วว่า “เมืองลิกอร์” แห่งนี้ เป็นเมืองแห่งอารยธรรมเก่าแก่ ของแดนใต้โดยแท้.

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สนใจติดต่อสอบถามเพิ่มได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้เขต 2 สนามหน้าเมือง ถนนราชดำเนิน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช โทร.0-7534-6515-6

กำลังโหลดความคิดเห็น