ไม่ว่าคนหรือสัตว์ “แม่”ต่างรัก“ลูก”ของตัวเองด้วยกันทั้งนั้น
สำหรับคุณแม่มือใหม่อย่าง“หลินฮุ่ย”ก็เช่นกัน ตั้งแต่ให้กำเนิดแพนด้าน้อยหรือ“หลินปิง”(ชื่อมหาชนที่ประชาชนพร้อมใจกันโหวตให้อย่างล้นหลาม)ออกมา พฤติกรรมของหมีแพนด้าตัวนี้ ได้แสดงถึงสัญชาติญาณแห่งความเป็นแม่ออกมาอย่างชัดเจน สร้างความประทับใจให้กับผู้ที่ได้เห็นไปตามๆกัน ส่งผลให้คู่แม่-ลูกหมีแพนด้าที่ได้รับความนิยมอยู่แล้วเป็นที่สนใจมากขึ้นไปอีก
นับเป็นคู่แม่-ลูก(หมี)ที่มีคน(ไทย)สนใจมากที่สุดคู่หนึ่งแห่งปีแม้ว่าจะไม่ใช่คนก็ตาม
สัญชาติญาณแม่สูง
หลังจากแพนด้าน้อยหลินปิงออกมาจากท้องแม่ลืมตาดูโลกเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา แพนด้าแม่ลูกคู่นี้กลายเป็นคู่ขวัญใหม่ของคนไทย เรื่องราวของทั้งสองถูกสื่อนำเสนออย่างต่อเนื่อง เกาะติดใกล้ชิดแทบจะทุกอิริยาบถ จนหลายๆคนเกิดอาการน้อยใจแทนช้างไทยไม่ได้
อย่างไรก็ตามเรื่องนี้หาใช่ความผิดของแพนด้าแต่อย่างใดไม่ หากแต่เป็นความไม่พอดีของสังคมไทย ซึ่งเราคงปฏิเสธไม่ได้ถึงความน่ารักน่าชังของหมีแพนด้าแม่-ลูก ที่แม้บางคนอาจจะหมั่นไส้เล็กน้อย แต่ก็อดอมยิ้มไม่ได้เมื่อเห็นกิริยาท่าทางน่ารัก ท่าทางตลกๆ ของแพนด้าน้อย อีกทั้งยังเกิดความประทับใจในความรักของแม่หมีที่มีต่อลูกผ่านภาพการดูแลเอาใจใส่แสดงความรักตามประสาสัตว์ที่ถูกนำเสนอออกมา
นายประเสริฐศักดิ์ บุญตระกูลพูนทวี หัวหน้าโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย กล่าวถึงสัญชาติญาณความเป็นแม่ของหลินฮุ่ยให้ฟังว่า
“สัญชาติญาณความเป็นแม่ของแพนด้าค่อนข้างจะชัดเจน มีความแปลกจากธรรมชาติของตัวเอง เพราะแพนด้าตามธรรมชาติแล้วจะเป็นสัตว์ที่อยู่ตัวเดียวจนทำให้เรารู้สึกว่าไม่น่ามีความละเอียดอ่อนในการเลี้ยงลูก แต่พอมีลูกแล้วกลับเห็นสัญชาตญาณความเป็นแม่ชัดเจนมาก คือเรียนรู้ที่จะให้ความรัก ดูแลเอาใจใส่ทะนุถนอมลูก ให้เวลากับลูกอย่างเต็มที่ โดยยอมเสียสละชีวิตส่วนตัว ทั้งที่สิ่งที่หมีแพนด้าชอบมากที่สุดก็คือการกินกับการนอน แต่พอมาเป็นแม่ต้องเลี้ยงลูกแล้วเขาก็ยอมที่จะไม่กิน ยอมที่จะไม่นอน ทุ่มเททุกอย่างให้การเลี้ยงลูก”
สำหรับลูกแพนด้าอายุ 3 เดือน เมื่อเทียบกับคนแล้วจะมีอายุเท่ากับเด็กทารกอายุ 1 ขวบ จึงถือว่าแพนด้าโตไว และมีพัฒนาการที่ไวมาก แม่แพนด้าจึงต้องมีการเรียนรู้เพิ่มเติมทุกวัน ซึ่งตามสายตาของผู้เชี่ยวชาญที่ติดตามพฤติกรรมของแม่แพนด้ามาตลอดแล้วก็ถือว่า หลินฮุ่ยเป็นแม่ที่เก่งใช้ได้เลยทีเดียว
“หลินฮุ่ยถือว่าเป็นคุณแม่มือใหม่ที่เลี้ยงลูกได้ดีเกินคาด อาจมีบางเรื่องที่ยังทำไม่ได้ดีนัก เช่นเคยทำลูกหลุดมือหล่นบ้าง แต่ก็ถือว่าเลี้ยงได้ดี และหลินฮุ่ยยังเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อยู่ตลอด ไม่ต้องเสริมอาหารอย่างอื่น หรือว่านมชง” ประเสริฐศักดิ์ กล่าว
แม้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกยังไม่ชัดเจนมากนัก เนื่องจากลูกแพนด้ายังมีพัฒนาการไม่เต็มที่ แต่ในตอนนี้ก็เริ่มมีการตอบสนองมากขึ้น เริ่มรู้เรื่อง เริ่มมองเห็น ได้ยิน และตอบสนองกับแม่ เวลาถ้าแม่ทำอะไรแล้วไม่พอใจก็จะใช้มือยันไว้บ้าง โดยก่อนหน้านี้ลูกจะไม่รู้เรื่องอะไร แม่จะอุ้มจะเลียจับพลิกไปพลิกมา ก็ไม่รู้เรื่อง
“เราจะได้เห็นภาพที่น่ารักว่าสัตว์ชนิดหนึ่งตัวใหญ่ๆ มีสีขาวดำ พยายามอุ้มลูกเหมือนกับคน แต่อุ้มได้ไม่ถนัดนัก เพราะมีข้อจำกัดเรื่องขนาดและน้ำหนักตัวของลูก ส่วนเวลานอนหลินฮุ่ยก็จะปล่อยลูกให้นอนข้างๆตัว แต่เมื่อไรที่ตื่นขึ้นมาก็จะรีบมองหาลูกก่อน และจะสำรวจตรวจตรา เลียทำความสะอาดตัวให้ลูกเสมอ และยังพยายามเอาลูกมาอุ้มเดินอยู่ถึงแม้จะทุลักทุเลไปบ้างก็ตาม” ประเสริฐศักดิ์เล่าให้ฟัง
เราคงจะได้เห็นภาพน่ารักๆนี้กันไปอีกนาน เพราะตามธรรมชาติของหมีแพนด้าแล้ว แม่ลูกจะแยกกันตอนลูกอายุได้ประมาณ 1 ปีครึ่ง ซึ่งถือว่าลูกหมีเติบโตมากแล้ว โดยหมีแพนด้าที่เลี้ยงในประเทศจีนส่วนมากจะถูกแยกจากแม่และหย่านมตั้งแต่อายุประมาณหกเดือนเนื่องจากมีหมีแพนด้าจำนวนมาก แต่สำหรับหลินฮุ่ยแล้วประเสริฐศักดิ์กล่าวว่าน่าจะแยกกับแพนด้าน้อยได้ตอนอายุ 1 ปี
ในขณะที่ใครๆต่างสนใจแพนด้าแม่ลูกคู่นี้ พ่อแพนด้าอย่าง“ช่วงช่วง”ก็แทบจะถูกลืมไปเลยทีเดียว จนเมื่อถึงวันครบรอบวันเกิด 9 ปี ของช่วงช่วง(6 ส.ค.52)นั่นแหละ เรื่องของช่วงช่วงถึงปรากฏเป็นข่าว
วันนั้นแพนด้าพ่อลูกคู่นี้ได้พบกันเป็นครั้งแรก ซึ่งปฏิกิริยาของทั้งสองนั้นยังคงเป็นหมีแปลกหน้าต่อกัน โดยช่วงช่วง มีอาการแปลกใจ และตื่นเต้น ตามสัญชาตญาณหวาดระแวงของสัตว์ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นให้ความสนใจ อยากรู้ว่าตัวที่อยู่ตรงหน้านี้เป็นใคร โดยใช้จมูกดมกลิ่น และจ้องมองตลอดเวลา ขณะที่แพนด้าน้อยส่งเสียงคำรามเป็นระยะ เพราะได้กลิ่นใหม่ที่ไม่คุ้นเคยและไม่ใช่กลิ่นของแม่ ซึ่งถือเป็นสัญชาติญาณในการป้องกันตัวของแพนด้าน้อยนั่นเอง
แม่ลูกผูกพัน “หลินฮุ่ย-หลินปิง”
แพนด้าน้อยเพศเมียลูกของแม่หลินฮุ่ย นอกจากกำลังเป็นขวัญใจของคนไทยแล้ว ยังคนเป็นจอมขวัญของแม่หลินฮุ่ยอีกด้วย ซึ่งหากไล่เรียงถึงสัญชาตญาณความเป็นแม่ของหลินฮุ่ย เกิดขึ้นเมื่อใด ก็คงจะทันทีที่เจ้าหลินปิงถูกผสมเทียมจนปฏิสนธิอยู่ในท้องตลอดเวลาตั้งครรภ์นาน 97 วัน นั่นเอง ตั้งแต่แพนด้าน้อยเกิดบ่อยครั้งที่เราจะเห็นหลินฮุ่ยอุ้มลูกน้อยไว้แนบอก ชนิดไม่ยอมปล่อยในพี่เลี้ยงคว้าตัวไปตรวจเช็คสุขภาพได้
กระทั่งในช่วงหลังๆเจ้าหน้าที่โครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย ซึ่งเป็นทีมดูแลหลินฮุ่ยและหลินปิง ทำการฝึกให้ “หลินฮุ่ย”พยายามวางลูกแพนด้าน้อยให้มากขึ้น และบ่อยครั้งที่พบว่า“หลินฮุ่ย” มีอาการอ่อนเพลียอย่างเห็นได้ชัด เพราะยังมีอาการหวงและคอยอุ้มลูกอยู่ตลอดเวลา ทำให้ไม่ค่อยได้พักผ่อนอย่างเต็มที่
มีครั้งหนึ่งที่ปรากฏว่าหลินฮุ่ยหวงลูกมาก เจ้าหน้าที่ใช้ความพยายามนานร่วม 2 ชั่วโมงที่จะแยกเอาลูกน้อยออกมาตรวจสุขภาพ แต่ไม่เป็นผลสำเร็จแต่อย่างใด เนื่อง “หลินฮุ่ย” กอดลูกไว้ไม่ห่างตัว และไม่ยอมนำลูกมาอยู่ในจุดที่เจ้าหน้าที่จะสามารถแยกตัวลูกออกมาได้เลย รวมทั้งไม่ยอมกินอาหารอีกด้วย
บางวันหลินฮุ่ยหวงลูกถึงขนาดไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่นำลูกน้อยออกมาจากอ้อมอกได้โดยง่าย แม้จะพยายามทั้งให้กินอาหาร นวดผ่อนคลาย และลูบตามเนื้อตามตัวเพื่อให้หลินฮุ่ยวางใจก็ตาม แต่หลินฮุ่ยก็ขยับออกห่างจากกรง ทำให้เจ้าหน้าที่เข้าไม่ถึงตัวมากขึ้น
หลินฮุ่ยมีการเรียนรู้ว่าจะมีคนมาพรากลูกไปจากอกช่วงไหน มีการย้ายมุมไปอยู่ลึกขึ้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงตัวลูกน้อยได้ยาก แม้ทีมเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลได้ใช้ความพยายามต่างๆในการเบี่ยงเบนความสนใจของหลินฮุ่ยให้ลดอาการหวงลูกลงบ้าง พยายามทดลองแยกแพนด้าน้อย ใช้ตุ๊กตาหมีแพนด้าขนาดใกล้เคียงกับแพนด้าน้อยดึงความสนใจของ"หลินฮุ่ย" เพื่อให้แม่หมียอมวางลูกน้อยลงบนพื้นและเข้ามากินใบไผ่ในอีกกรงหนึ่งตามคำสั่งของพี่เลี้ยง
อย่างไรก็ตามความรักลูกของหลินฮุ่ยบางครั้งดูจะเกินพอดีไปหน่อย เพราะบางวันหลินฮุ่ยจะอุ้มลูกไว้ตลอดเวลา ทำให้ลูกแพนด้าดูดนมจากแม่ได้ไม่เต็มที่จะดูดนมได้ก็เฉพาะแต่เต้าบนเท่านั้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านแพนด้าชี้ว่าหากดูดนมได้มากกว่านี้ลูกหมีจะสามารถเจริญเติบโตได้ดีกว่า
ขณะเดียวกันด้วยความเป็นแม่มือใหม่ก็มีบ้างที่เกิดความผิดพลาด ดังกรณีทำลูกน้อยหลุดจากอกร่วงตกหัวฟาดพื้นขณะที่นอนหนุนไหล่แม่ เพราะหลินฮุ่ยเผลอลืมตัวลุกขึ้นอย่างกะทันหันส่งผลให้แพนด้าน้อยหัวฟาดพื้นนอนแน่นิ่งอยู่กับพื้นพักใหญ่ จนเจ้าหน้าที่ต้องตรวจเช็คสุขภาพกันจ้าละหวั่น และปรากฏเป็นข่าวฮือฮาให้คนใจหายใจคว่ำ
ถึงกระนั้นพัฒนาการของลูกหมีก็ดีวันดีขึ้นสมกับที่แม่ฟูกฟัก แพนด้าน้อยเริ่มคลานหาแม่เป็นครั้งแรกหลังตามองเห็น แม่ลูกผูกพันแพนด้าน้อยเริ่มมองเห็นว่าแม่อยู่ตรงไหน พยายามคืบคลานไปซุกตัวและใช้หัวเพื่อชิดสัมผัสร่างกายของแม่ไว้ให้รู้ว่าแม่ยังอยู่ใกล้ๆ จากนั้นจึงนอนหลับไป
นอกจากนี้ แม่หลินฮุ่ยยังพยายามสอนให้ลูกน้อยหัดคลานโดยใช้มือเขี่ยเพื่อกระตุ้น ซึ่ง
ในตอนหลังๆหลินปิงเริ่มเก่งขึ้นจึงพยายามหัดคลานเองโดยใช้ลำตัวขนานไปกับฝาคอกกักคลานเป็นระยะไกลพอสมควร แต่ถึงเวลาคลานกลับ กลับหมดแรงคลานกลับมาหาแม่ไม่ได้ ต้องส่งเสียงครางร้องเรียกให้แม่หลินฮุ่ยตื่นขึ้นมาอุ้มขึ้นดูดนมในอ้อมอกแม่ท่ามกลางความประทับใจของผู้พบเห็น
.......................................
จากเรื่องราวความเป็นคุณแม่มือใหม่ของหลินฮุ่ย จะเห็นได้ว่าของไม่ว่าคนหรือสัตว์ “แม่”ต่างรัก“ลูก”ของตัวเองด้วยกันทั้งนั้น
แต่น่าแปลกที่สังคมไทยทุกวันนี้กลับมีข่าวลูกทุบตี ทำร้าย ไปจนถึงการทำมาตุฆาตแม่บังเกิดเกล้าอยู่อย่างต่อเนื่อง