xs
xsm
sm
md
lg

“เชียงคาน”...ตำนานโขง (ฤาแก่งคุดคู้จะเหลือเพียงตำนาน) / ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี
แก่งคุดคู้ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเชียงคาน
ปกติ ฟ้าหลังฝนจะสดใส

แต่ในค่ำคืนนี้ไม่ปกติ ฟ้าหลังฝน(ห่าใหญ่)ริมโขงเมืองเชียงคานจึงหม่นทึบ ไร้เดือน ไร้ดาว ผสมด้วยสายลมวูบไหวไปจนถึงกระโชกรุนแรงอยู่เป็นระยะๆ

ผมกับเพื่อนอีก 2 หน่วยนั่งหนาวเหน็บสยิวกายตามสายลมอยู่ ณ ระเบียง เชียงคาน ริเวอร์ วิว เกสเฮาส์ โดยมี อ.จงรักษ์ ทิพรส เจ้าของที่พักมาให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น

อันที่จริงผมไม่ได้นอนที่เกสเฮาส์นี้หรอก พักอยู่เกสเฮ้าต์ข้างๆ เพียงแต่ว่ามาขออาศัยที่กินเหล้าริมโขง เพราะวิวดี บรรยากาศเยี่ยม แถมยัง “ถูกคอ” กับ อ.จงรักษ์ ทั้งคอบอล(เข้าใจว่าอาจารย์ชอบผีแดงเหมือนกัน) คอสุราและคอเดียวกันในเรื่องราวที่พูดคุย

นั่นจึงทำให้ค่ำคืนที่ฟ้าหลังฝนไม่ปกติเป็นคืนไม่ปกติของผมด้วย แถมเรื่องราวที่คุยกันก็เน้นเรื่องไม่ปกติของลำน้ำโขงที่เบื้องหน้าเป็นหลัก

ตำนานลี้ลับ

มันจะด้วยบรรยากาศพาไปหรือยังไงไม่ทราบ เรื่องราวที่เริ่มต้นสนทนาคืนนี้มันช่างสอดรับกับบรรยากาศของม่านฟ้าที่มาคุเหลือใจ เพราะมันเป็นเรื่องราวความลี้ลับในลำน้ำโขงแห่งน่านน้ำเชียงคาน

“ฟ้าน่ากลัวแบบนี้ ลมแรงแบบนี้ คนเฒ่าคนแก่ที่นี่เชื่อว่าวิญญาณในแม่น้ำโขงจะมาเอาชีวิตใครบางคนไปแทนที่วิญญาณเก่าที่ยังไม่ไปผุดไปเกิด”

อ.จงรักษ์เปิดประเด็น ก่อนเล่าเรื่องลี้ลับที่พิสูจน์ไม่ได้อีก 2-3 เรื่องให้ฟัง ไม่ว่าจะเป็น

เรื่องเงือกที่คล้ายผีพรายมาคอยคร่าชีวิตคนริมน้ำโขง

“บางคนอยู่บนฝั่งเฉยๆ แต่เหมือนมีอะไรดลใจให้เดินหายลงน้ำไปเลย แถววัดท่าคกกับแก่งคุดคู้นะแรงมาก”

เรื่องผีขนน้ำที่เป็นคนละตำนานกับผีขนน้ำบ้านนาซ่าว(อยู่ในเชียงคาน)ที่ผมเพิ่งไปชมมาหมาดๆในเช้าวันนั้น(ผีขนน้ำบ้านนาซ่าวเป็นการละเล่นในช่วง 1-3 ค่ำ เดือน 6 เพื่อบวงสรวงผีบรรพบุรุษ บูชาบุญคุณวัว ควาย และให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล)

“มันเป็นสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆมีขนสีแดงยาวเต็มตัว ชอบออกมาเล่นน้ำกับเด็ก ดูไกลๆเหมือนเด็กคนหนึ่ง พอขึ้นฝั่งมาตัวขนจะเปียกชุ่มเรียกกันว่า“ผีขนน้ำ”ชอบขึ้นไปยืนบนแก่งคุดคู้ พอเรือแล่นผ่านมาก็จะกระโดดหายลงน้ำ บางคนสงสัยว่านี่อาจจะเป็นลูกเงือกก็ได้”

ระหว่างนี้ฟ้าแลบแปลบปลาบเป็นเส้นสายแปลกตา ผมเหลือบไปมองหน้าเพื่อนคนหนึ่งถึงกับแทบผงะ เพราะหน้าของมัน...ดูๆไปช่างละม้ายคล้ายพี่ป๋อง กพล ทองพลับไม่มีผิด น่ากลัวจนผมต้องขอเหล้าผสมน้ำเปล่ามากระชุ่นอารมณ์อีก 1 แก้ว ก่อนไปฟังอาจารย์เล่าถึงตำนานแก่งคุดคู้แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเชียงคาน มีความว่า

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีนายพรานชื่อ “จึ่งขึ่งดังแดง” ไล่ล่าตามควายเงิน พอถึงริมโขงเห็นควายเงินหยุดกินน้ำ นายพรานง้างหน้าไม้เตรียมยิง แต่พอดีมีเรือแล่นผ่านมา ควายเงินตกใจวิ่งหนีขึ้นไปบนภูเขาลูกหนึ่ง ทำให้ภูเขาลูกนั้นชื่อ “ภูควายเงิน” ส่วนนายพรานโมโหยิงพลาดไปถูกเขาลูกหนึ่งพังทลายลง กลายเป็น “ภูผาแบ่น”

นายพรานเมื่อพลาดก็โกรธเรือว่าเป็นต้นเหตุ จึงไปขนหินมาปิดลำน้ำโขงกั้นทางเดินเรือ แต่มีเณรรูปหนึ่งผ่านมาเห็น จึงออกอุบายให้นายพรานใช้ไม้เฮียะ(ไม้ไผ่ชนิดหนึ่ง)ไปหาบหินแทนจะสะดวกกว่า นายพรานจึงใช้ไม้เฮียะทำเป็นคานหาบหิน แต่ว่าหินหนักมากจนคานหักบาดคอนายพรานตายนอนคุดคู้อยู่ตรงนั้น จึงเรียกแก่งหินนั้นว่า “แก่งคุดคู้”

“แล้วอาจารย์เคยเห็นพญานาคที่นี่มั้ย แม่น้ำโขงเขาบอกมีเยอะนี่” ผมถามสลับอารมณ์

“ที่นี่ไม่ค่อยมีเรื่องพญานาคเหมือนหนองคาย แต่ก็มีคนเล่าว่าเคยเห็นรอยบ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นตามวัดมากกว่า แต่ผมเคยเห็นบั้งไฟพญานาคนะ ผมนั่งอยู่ริมน้ำนี่แหละ มีลูกไฟพุ่งขึ้นมา 2-3 ลูก มันนานมาแล้ว แต่ยังจำได้ดี อ้อ?!? ช่วงนั้นไม่ใช่ช่วงออกพรรษาด้วย” อ.จงรักษ์ ทิ้งระยะชั่วขณะ

“แต่ผมเชื่อว่ามันเกิดจากธรรมชาตินะ เดี๋ยวนี้ไม่มีบั้งไฟพญานาคขึ้นที่เชียงคานแล้ว เพราะระบบนิเวศแม่น้ำโขงมันเปลี่ยนไป” อ.จงรักษ์ ยกแก้วขึ้นจิบพร้อมมองออกไปในลำน้ำโขงเบื้องหน้าด้วยแววตาเจือกังวล

ฤาจะเหลือแต่ตำนาน

ดูเหมือนธีมสนทนาของเรื่องยามนี้จะเปลี่ยนจากตำนาน เรื่องเล่าขาน สนุกๆ เข้าสู่ประเด็นสิ่งแวดล้อมไปโดยอัตโนมัติ

“เดี๋ยวนี้เขาทำกับแม่น้ำโขงอย่างไม่บันยะบันยัง ทั้งระเบิดเกาะแก่ง ทั้งสร้างเขื่อนในจีน จนพันธุ์ปลาพื้นถิ่นสูญพันธุ์ไปเป็นจำนวนมากในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เมื่อก่อนมีทั้งปลาบึก ปลาตัวโตๆ เดี๋ยวนี้มันหายไปเยอะมาก นานๆถึงเจอสักที” อ.จงรักษ์ตัดพ้อ

สำหรับเรื่องสร้างเขื่อนในจีนและระเบิดแก่งนี่ผมได้ข่าวมานานแล้ว ผลกระทบของมัน ไม่เพียงแต่ปลา พืช สัตว์เท่านั้น แต่คนเล็กๆอย่าง ชาวประมงพื้นบ้าน คนริมโขง เดือดร้อนกันทั่วหน้า

“นี่ถ้าพญานาคมีจริง มันคงต้องหาที่อยู่ใหม่ เพราะเดี๋ยวเขามาระเบิดบ้านของมัน หรือเกิดซวยถูกระเบิดตาย หรือถูกกักไว้ในเขื่อนไปไหนไม่ได้” ผมพูดติดตลกเบรกอารมณ์ พร้อมกับนึกถึงเรื่องตลกชั้นเลวเรื่องหนึ่ง นั่นก็คือเรื่องที่ภาครัฐของเราบ้าจี้จะสร้างเขื่อนไปกับเขาด้วย ดังที่มีข่าวโครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงไทย-ลาวออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านั้นคือ เขื่อนผามอง จ.เลย ที่ต้องยกเลิกไปเพราะมีปัญหาเรื่องการย้ายที่ทำกินของชาวบ้าน

ส่วนปัจจุบัน มีโครงการที่จะสร้างอีก 2 เขื่อน คือ เขื่อนปากชม อ.ปากชม จ.เลย และเขื่อนบ้านกุ่ม อ.โขงเจียม จ.อุบลฯ ที่เคยถูกเสนอไว้ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2539

โครงการเขื่อนทั้งสองเป็นการกั้นแม่น้ำโขงตอนล่าง แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและคนเล็กๆริมโขงในบ้านเราเต็มๆ อีกทั้งจากการวิจัยยังพบว่าอาจทำให้ปลาบึกสูญพันธุ์ได้ เพราะปลาบึกตามธรรมชาติมันจะวางไข่ที่ต้นน้ำ จ.เชียงราย พอเป็นตัวอ่อน ตัวน้อย จะออกหากินอยู่แถเขมรหรือเวียดนาม จนกระทั่งโตก็อาศัยอยู่บริเวณที่ลึกๆของแม่น้ำโขงตอนล่างทั่วไป ถ้ามีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนล่าง นั่นเท่ากับปิดเส้นทางของปลาบึกโดยสิ้นเชิง

นอกจากนี้เท่าที่คุยกับคนในเชียงคาน ยังมีข่าวเล็ดลอดออกมาว่าอดีตนายกฯคนหนึ่งก็มาเล็งพื้นที่แถวเชียงคานเพื่อที่จะทำโครงการอุโมงค์ผันน้ำโขงสู่อีสาน ตามนโยบายหาเสียง แน่นอนว่าผลกระทบก็เกิดกับคนและธรรมชาติแถวนี้อีกเช่นกัน แต่เดชะบุญ(ของประเทศ)ที่นายกฯคนนั้นต้องกระเด็นออกจากตำแหน่งไปก่อนด้วยความตะกละจากรายการอาหารรายการหนึ่ง

“เขื่อนปากชม คนเชียงคานที่รู้เขาค้านกันมาก เพราะแม้จะสร้างที่ อ.ปากชม ทางใต้(เชียงคาน)ลงไป แต่หลังสร้างเขื่อนจะมีน้ำท่วมในพื้นที่ทางเหนือปากชมเป็นหมื่นๆไร่ แน่นอนว่าเชียงคานโดนเต็มๆ งานนี้ถ้าสร้างจริงแก่งคุดคู้โดนน้ำท่วมหมดไม่เหลือแน่” อ.จงรักษ์เล่าปลุกผมตื่นจากภวังค์

เรื่องนี้ถ้าอนาคตมีการสร้างเขื่อนปากชมจริง แก่งคุดคู้คงจะกลายเป็นแค่ตำนานของนายพรานจึ่งขึ่งดังแดงเล่าขานให้ลูกหลานฟัง พร้อมกับตำนานอัปยศของการสร้างเขื่อนอีกหนึ่งบทที่ภาครัฐกระทำ แต่ผู้เดือดร้อนคือระบบนิเวศ ธรรมชาติ และคนตัวเล็กริมฝั่งโขง

ในขณะที่คนตัวใหญ่อย่างนักการเมือง ข้าราชการ และนายทุนผู้มีเอี่ยวกับโครงการก็คงเหมือนเดิม คือ คอร์รัปชั่นกันสะดือปลิ้นไปเลย
กำลังโหลดความคิดเห็น