xs
xsm
sm
md
lg

ผีเมืองเลย!!!/ ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี
ลีลา หน้ากาก และการแต่งกาย ในการละเล่นผีขนน้ำ
ผมไม่เคยเห็นผี...แต่เคยเจอผี

ผมไม่กลัวผี...แต่ไม่อยากเจอผี

เพราะผีทั่วๆไปมักมีกิตติศัพท์ชวนให้ขนพองสยองเกล้าไม่น้อย แต่กระนั้นโลกนี้ก็ยังมีผีน่ารักๆให้ชื่นชมกันอยู่บ้าง อาทิ ผีเสื้อสัตว์ปีกงาม ผีน้อยแคสเปอร์ ผีสาวโปเยโปโลเย หรือผีที่มีคนรักมากที่สุดในโลกอย่าง “ผีแดง”แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ที่คว้าแชมป์ลีกสูงสุดของอังกฤษไปครองได้อีกสมัยชนิดที่แฟนหงส์ฝันค้างไปอีกปี

สำหรับที่เมืองไทยนั้น แม้จะมีผีหลายประเภท หลายตระกูล แต่หากจะพูดถึงผีน่ารักออกแนวสนุกสนานที่น่าไปเที่ยวชมแล้วละก็ “ผีตระกูลเมืองเลย”นับว่าโดดเด่นโด่งดังที่สุด

ผีตระกูลเมืองเลยประเภทแรกคือ“ผีตาโขน” อ.ด่านซ้าย ที่วันนี้ชื่อชั้นทางการท่องเที่ยวโด่งดังติดตลาดโกอินเตอร์ไปไกล

ผีตระกูลเมืองเลยอีกประเภทที่น่าสนใจไม่น้อยนั่นก็คือ “ผีขนน้ำ” ซึ่งผมมีโอกาสได้ไปเบิ่งตัวเป็นๆ ของจริง เสียงจริง เล่นจริง เต้นจริง มาเมื่อเร็วๆนี้

รู้จักผีขนน้ำ

ผีขนน้ำ เป็นการละเล่นพื้นบ้านของชาวบ้านนาซ่าว ต.นาซ่าว อ.เชียงคาน จ.เลย จัดขึ้น ในช่วงงานประเพณีบุญเดือนหก โดยกำหนดเอาวันแรม 1-3 ค่ำ หลังวันวิสาขบูชาเสร็จสิ้น(ปีนี้ตรงกับวันที่ 9-11 พ.ค.) ซึ่งถ้าหากพูดถึงเรื่องผีทั่วๆไป คงต้องยกให้เกจิผีอย่างพี่ป๋อง-กพล ทองพลับ แต่ถ้าจะพูดถึงเรื่องผีขนน้ำแล้วละก็ ต้องยกให้นี่ อ.สำเนียง ทาก้อม ครูชำนาญการพิเศษ ผู้ค้นคว้าศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับผีขนน้ำมายาวนาน

อ.สำเนียงเล่าว่า การเล่นผีขนน้ำมีคู่กับชาวบ้านนาซ่าวมายาวนานหลายร้อยปี ชาวบ้านนาซ่าวมีความเชื่อในเรื่องการนับถือผีบรรพบุรุษ ผีปู่ผีย่า โดยเฉพาะผีเจ้าปู่ที่ชาวบ้านเคารพศรัทธามาก เพราะเชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองให้อยู่เย็นเป็นสุข จึงได้สร้าง“ศาลเจ้าปู่”ประจำหมู่บ้านไว้

ทุกๆปีชาวบ้านนาซ่าวจะทำพิธีไหว้ผีเจ้าปู่หรือที่เรียกว่า“เลี้ยงบ้าน” โดยนอกจากพิธีกรรมทางด้านศาสนาและจิตวิญญาณแล้ว ยังมีพิธีกรรมทางด้านการรื่นเริง ซึ่งชาวบ้านจะจัดเตรียมแต่งตัว“ผีขน” ไปเล่นประกอบพิธีจนเกิดเป็นประเพณีการแห่ผีขนขึ้นมา

“สมัยก่อนจะมีการฆ่า วัว ควาย เพื่อบวงสรวงผีเจ้าปู่ ต่อมาผีเจ้าปู่จึงบอกผ่านร่างทรงว่าให้ทำ “แมงหน้างาม” หรือ “ผีขน” เพื่อบูชาทดแทนบุญคุณที่มันมีต่อเรา” อ.สำเนียงอธิบาย

นอกจากความเรื่องการบูชา วัว ควาย แล้ว ยังมีความเชื่ออีกว่า ผีขน คือวัว ควาย ที่ตายไป แต่วิญญาณยังลอยล่องวนเวียนอยู่ตามห้วย หนอง คลอง บึง เมื่อชาวบ้านไปตักน้ำอาบวิญญาณสัตว์เหล่านี้จะตามเข้าหมู่บ้านมาด้วย ซึ่งพบแต่ขนและได้ยินแต่เสียงกระดึง แต่ไม่เห็นตัวตน ชาวบ้านจึงพากันเรียกขานว่า "ผีขนวัว ผีขนควาย"

นั่นจึงเป็นที่มาของชุดและหน้ากากผีขนที่สื่อสัญลักษณ์ถึงวัว ควาย โดยหน้ากากสมัยก่อน ทำจากไม้งิ้ว หรือไม้ต้นตีนเป็ด(พญาสัตบรรณ) ตกแต่งเป็นหน้าผีด้วยลวดลายต่างๆ อาทิ ลายบัวเครือ ลายผักแว่น ใช้สีจากธรรมชาติ ติดกระจกที่เสมือนตาที่สามไว้ตรงช่วงหน้าผาก ส่วนชุดใช้ผ้าปูที่นอนเก่า มุ้งเก่า มาเย็บคลุมตัว มีการทำเขาเพื่อสื่อถึงวัวควายด้วยหวายและตกแต่งด้วยเศษผ้าอย่างสวยงามตามใจของแต่ละคน ร่วมด้วยเครื่องดนตรีประกอบการละเล่น อาทิ กลอง กะลอ กะเหลบ กระดึง

ปัจจุบันชุดผีขนปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย สีหันมาใช้สีน้ำมัน หน้ากากบางคนใช้ไม้อัดแทน บางคนใช้ฟิวเจอร์บอร์ด เขาทำจากยางรถ ชุดนิยมใช้เศษผ้าตัดเย็บอย่างสวยงาม ส่วนเครื่องดนตรีก็ยังคงไว้ด้วยรูปแบบเดิมๆ

“แต่ก่อนเราเรียกการละเล่นผีขน(เฉยๆ) แต่หลังจากการละเล่น ในหมู่บ้านจะมีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ชาวบ้านจึงเรียกชื่อใหม่เป็น ผีขนน้ำ

อ.สำเนียงเล่า ซึ่งชื่อนี้ไปพ้องกับชื่อของผีขนน้ำแห่งเชียงคาน(ตัวเมืองริมโขง) ที่ผู้เฒ่าผู้แก่ที่นั่นเล่าให้ผมฟังว่า แต่ก่อนในลำน้ำโขงมีสิ่งมีชีวิต ตัวเล็กมีขนสีแดงยาวเต็มตัว ชอบออกมาเล่นน้ำกับเด็ก พอขึ้นฝั่งมาตัวขนจะเปียกชุ่ม คนจึงเรียกกันว่า “ผีขนน้ำ”

เรื่องนี้ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อสุดแท้แต่ แต่จากคำบอกเล่าผีขนน้ำที่เชียงคานวันนี้ไม่เห็นแล้ว แต่ผีขนน้ำที่นาซ่าว ยังมีการละเล่นมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไหนๆไปถึงบ้านนาซ่าวแล้ว งานนี้ก็ต้องไปตระเวนดูการละเล่นผีขนน้ำแบบของจริง เสียงจริง กันสักหน่อย

ตามไปดูผีขนน้ำ

การละเล่นผีขนน้ำแบ่งเป็น 3 วันด้วยกัน วันแรก แรม 1 ค่ำ(9 พ.ค. 52) ช่วงเย็นชาวบ้านนาซ่าวจะร่วมกันแห่ดอกไม้ไปที่วัดโพธิ์ศรี โดยมีร่างทรงของผีเจ้าปู่และผู้มีส่วนสำคัญในพิธีบวงสรวงร่วมขบวนไป พอถึงวัดก็จะมีการแห่รอบโบสถ์ 3 รอบ แล้วนำดอกไม้ไปบูชาที่ประรำพิธี

แหม...แค่วันแรกที่ผมไปดูนี่ก็มันแล้ว ขบวนแห่มากันอย่างสนุกสนาน ทั้งตีกลอง ร้องรำ ทำเพลง เปิดเพลงกันกระหึ่ม ให้วัยรุ่นแดนซ์กันกระจาย ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่ก็ขยับยักย้ายร่างกายกันพอให้หัวใจสูบฉีด

จากนั้นวันที่ 2 แรม 2 ค่ำ (10 พ.ค. 52 ) ผมตื่นแต่เช้าไปดูชาวบ้านทำพิธีบวงสรวงผีเจ้าปู่ 5 องค์ด้วยกัน ผ่าน 5 ร่างทรง ที่ศาลผีเจ้าปู่ พร้อมด้วยบั้งไฟ 5 ลูกที่เตรียมไว้จุดถวายในช่วงบ่าย

วันนี้แหละที่เป็นไฮไลท์ เพราะผีขนน้ำแห่แหน เดิน(เป็น)ขบวนกันมาเพียบ มาสร้างสีสันความสนุกให้กับผู้พบเห็นได้เป็นอย่างดี ทั้งผีขนใหญ่(ผู้ใหญ่) ผีขนน้อย(เด็ก) แต่ละคนมากันเต็มที่ ทั้งลีลาการละเล่น เต้น ส่าย และสีสันการแต่งกาย ที่ดูแล้วสนุกเพลิดเพลินจนผมอดขยับแข้งขยับขาตามไม่ได้ นี่ถ้าได้ 28 ดีกรี หรือ 40 ดีกรี ของชาวบ้านเข้าไปสัก 3-4 กรึ๊บ รับรองว่า งานนี้คงได้ลงไปแจมในขบวนแห่กับเขาบ้างแหละ

เมื่อบวงสรวงผีเจ้าปู่เสร็จ ขบวนแห่เคลื่อนเข้าไปที่วัดโพธิ์ศรีเพื่อเชิญพระอุปคุตไปไว้ที่หออุปคุต ระหว่างทางชาวบ้านจะเรียกให้ผู้ผ่านไป-มา แวะเข้าไปกินข้าวปลา อาหาร ขนมหวาน ผลไม้ รวมถึงเครื่องดื่มมึนเมา ซึ่งนี่คือวิถีและน้ำใจไมตรีที่สร้างความความประทับใจให้ผู้มาเยือนได้เป็นอย่างดีเพราะนับวันยิ่งมายิ่งเหลือน้อยเต็มที

จากพิธีทางจิตวิญญาณและศาสนาที่วัดในช่วงเช้า ช่วงสายถึงคิวของพิธีแบบกระเดียดไปเป็นทางการที่โรงเรียนบ้านนาซ่าวบ้าง กับพิธีเปิดงาน ขบวนแห่ การประกวดแข่งกันการละเล่นผีขนน้ำของแต่ละหมู่บ้าน จากนั้นขบวนจะแห่แหนไปที่วัดอีกที เพื่อทำการจุดบั้งไฟถวายผีเจ้าปู่ในช่วงบ่าย ก่อนจะเป็นการละเล่นรื่นเริงยาวไปจนถึงยาวค่ำคืนที่มีมหรสพ มาฉลองกันเป็นที่ครื้นเครง อาทิ ภาพยนตร์ หมอลำ ดนตรี เป็นต้น

วันสุดท้าย แรม 3 ค่ำ (11 พ.ค.) วันนี้ไม่มีการเล่นผีขน แต่จะเป็นการทำบุญตักบาตรที่วัด ถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ มีการแสดงธรรมให้ศีลให้พร ก่อนงานจะเสร็จสิ้นรอวันงานผีขนน้ำมาเยือนอีกครั้งในปีหน้า

มองผีขนน้ำ

งานผีขนน้ำในปีนี้จากการที่ผมได้มีโอกาสไปเที่ยวชม ร่วมงาน สัมผัสพูดคุยกับชาวบ้าน ก็ได้รับรู้มาว่าชาวบ้านหัวก้าวหน้าบางคนกลัวคนจากภาครัฐและการท่องเที่ยวจะมาทำให้ประเพณีดั้งเดิมผิดเพี้ยนไป

“ผมไม่อยากให้มันเหมือนกับงานผีตาโขนที่เน้นเชิงพาณิชย์เพื่อการท่องเที่ยวมากเกินไป จนลืมเสน่ห์แบบวิถีพื้นบ้านดั้งเดิม” ชาวบ้านคนนั้นบ่นให้ฟัง

สอดคล้องกับการตั้งข้อระวังของคุณป้าคนหนึ่งว่า .งานผีตาโขนเดี๋ยวนี้ทางการเขาเปลี่ยนมาเล่นให้ตรงกับช่วงวันหยุด(เสาร์-อาทิตย์) ไม่ใช่ตามวันทางจันทรคติเหมือนแต่ก่อน แต่งานผีขนน้ำนี่ไม่ได้ ถ้าเล่นไม่ตรงกับวันที่กำหนด(แรม 1-3 ค่ำ) หรือแม้แค่ถือฤกษ์คลาดเคลื่อน หมู่บ้านก็จะอยู่ไม่เป็นสุข น้ำท่าขาดแคลน แห้งแล้ง ปลูกข้าวปลาอาหารไม่ขึ้น ต้องทำพิธีบวงสรวงกันใหม่”

“การละเล่นผีขนน้ำ จุดประสงค์หลักๆของชาวบ้านก็เพื่อทำบุญอุทิศให้แก่วัว-ควายที่ตาย และเล่นเพื่อขอฟ้าขอฝนให้น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ฝนตกต้องตามฤดูกาล” อ.สำเนียงกล่าวย้ำทิ้งท้าย

งานนี้ก็คงต้องตามดูกันต่อไปว่าผีขนน้ำในอนาคตจะเดินไปในทิศทางไหน เพราะถ้ามีการจัดการที่ดีให้ชาวบ้านได้สืบสานอนุรักษ์ประเพณีผีขนน้ำไว้ให้ลูกหลาน โดยมีการท่องเที่ยวพ่วงแถมเป็นผลพลอยได้ให้เกิดการกระจายรายได้ก็ดีไป ไม่ใช่เอาการท่องเที่ยวนำหน้าเป็นธงหลักแล้วเอาประเพณีเดินตามจนแก่น แกน เอกลักษณ์ผิดเพี้ยนไปดังที่หลายๆประเพณีถูกกระทำ

แต่ประทานโทษ!?! ถึงกระนั้นผมก็อดเป็นห่วงไม่ได้ เพราะจากอดีตที่ผ่านมา งานประเพณีแบบนี้พอพวก“รัฐการเมือง” (ภาครัฐ+ข้าราชการ+นักการเมือง) เข้าไปจุ้นจ้านเมื่อไหร่ เป็นต้องผิดเพี้ยนเปลี่ยนมั่วไปเสียทุกที

***********************************************
คลิกดูรูปการละเล่นผีขนน้ำ อ.เชียงคาน
กำลังโหลดความคิดเห็น