xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องสนุก ที่ “วัดปงสนุก” ลำปาง/ ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี
วิหารพระเจ้าพันองค์หลังการบูรณะใหม่
การเที่ยวโบราณสถาน วัดวาอาราม หากได้คนนำเที่ยวเก่งๆผู้รอบรู้ในสถานที่นั้นๆ การเที่ยวในครั้งนั้นก็จะ“สนุก”และได้อรรถรสขึ้นมาทันตาเห็น ยิ่งได้คนมาเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยหรือเรื่องราวท้องถิ่นที่อยู่นอกสาระบบบันทึกในเอกสารนำเที่ยวด้วยแล้วละก็ บอกได้คำเดียวว่า“มันส์พะยะค่ะ”

ทริปนี้ก็เช่นกัน ผมไปเที่ยว“วัดปงสนุก”และบังเอิญโชคดีที่ได้คนนำชมระดับกูรู การเที่ยววัดปงสนุกจึงสนุกสอดคล้องกับชื่อวัดชนิดที่ต้องไปเสาะหาในสถานบันเทิงที่ไหน

สนุก 1

ก่อนที่จะตามกูรูไปแอ่ววัดกัน ผมขอเล่าเรื่องวัดปงสนุกให้ฟังคร่าวๆ พอเป็นกระสัยว่า วัดนี้ ตั้งอยู่ที่ หมู่บ้านปงสนุก ต.เวียงเหนือ อ.เมือง จ.ลำปาง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราว พ.ศ. 1223 ในสมัยที่เจ้าอนันตยศ ราชบุตรของพระนางจามเทวีแห่งหริภุญชัย(ลำพูน) เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จมาสร้างเขลางค์นคร (ลำปาง)

วัดนี้มีความพิเศษตรงที่แบ่งเป็นวัดปงสนุกเหนือและใต้ในเขตใบพัทธสีมาเดียวกัน เนื่องจากในอดีตมีพระสงฆ์-สามเณรจำนวนมาก จึงแบ่งเป็น 2 วัดเพื่อช่วยกันดูแล

วัดปงสนุก เป็นวัดสำคัญคู่ลำปางมาช้านาน แต่หลายคนไม่รู้จัก ไม่คุ้นหู จนกระทั่งปี 51 ได้รับรางวัลจากองค์การยูเนสโก ด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม(Award of Merit)นั่นแหละ วัดนี้โด่งดังขึ้นมาทันตาเห็นเลย แต่ละวันมีคนแวะเวียนมาเที่ยววัดกันไม่ได้ขาด แต่ อ.อนุกูล ศิริพันธุ์ สมาชิกเทศบาลนครลำปาง ประธานชุมชนบ้านปงสนุก และนักวิชาการท้องถิ่น ผู้นำชมวัดระดับกูรู(ที่เอ่ยอ้างไว้ในข้างต้น)บอกกับผมว่า ไม่อยากให้วัดปงสนุกเรียกว่าแหล่งท่องเที่ยวเพราะกลัวจะมีเรื่องของพาณิชย์ตามมา แต่อยากให้วัดนี้เป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อการศึกษาและการศาสนามากกว่า

แล้ว อ.อนุกูลก็พาผมท่องโลกการเรียนรู้ด้วยการพาไปรู้จักกับบริเวณสำคัญ(มาก)ของวัดอย่าง “ม่อนดอย” ที่เป็นเนินขนาดย่อมเปรียบดังเขาพระสุเมรุจำลอง บนนั้นมีของล้ำค่า อาทิ ซุ้มประตูโขงบนทางขึ้น องค์พระธาตุ วิหารพระนอน และวิหารพระเจ้าพันองค์ ที่มากไปด้วยเรื่องราวแฝงปริศนาธรรมให้ชวนติดตาม

“วิหารหลังนี้ มี 3 ชื่อด้วยกัน คือ ชื่อแรกวิหารพระเจ้าพันองค์ เพราะมีพระพิมพ์ประดับอยู่ภายในรอบวิหารจำนวน 1,080 องค์ ชื่อที่สองวิหารจัตุรมุข ชื่อที่สาม วิหารพระเจ้าสี่ทิศ เพราะมีพระพุทธรูป 4 องค์ 4 ทิศ ประทับนั่งหันหลังชนกัน”

“จากการศึกษาของนักวิชาการด้านสถาปัตยกรรม วิหารพระเจ้าพันองค์ เป็นวิหารหลังเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ในเมืองไทยที่มีลักษณะเป็นวิหารโถงแล้วมีพระพุทธรูป 4 ทิศ ส่วนการตกแต่งก็มีความพิเศษเป็นศิลปะผสมผสาน มีความเป็นศิลปะจีน พม่า พื้นเมืองล้านนา รัตนโกสินทร์ ผสมกลมกลืนกันอยู่”

อ.อนุกูล อธิบาย พร้อมกับเล่าถึงความสำคัญของวิหารหลังนี้ว่า พระพิมพ์ที่ประดับไว้ 1,080 องค์สื่อความว่าในอดีตพระพุทธเจ้าได้อุบัติมาจุติบนโลกมากมายดุจดังเม็ดทราย และมีพระพุทธเจ้า 4 องค์ หันหน้าออก 4 ทิศสื่อถึงพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้แล้วใน 4 ยุคหลังสุด ส่วนต้นโพธิ์ที่อยู่ตรงกลางเป็นสัญลักษณ์แทนพระศรีอริยเมตไตรย์ที่จะมาจุติในอนาคต

จากนั้น อ.อนุกูลก็พาเดินชมสิ่งน่าสนใจต่างๆในวิหารพระเจ้าพันองค์ วิหารเก่าแก่อายุกว่า 120 ปี ที่แม้จะเป็นวิหารเล็กๆแต่ว่าก็ถูกออกแบบและสร้างอย่างสมส่วน งดงาม ประณีตไปด้วยลวดลายศิลปกรรมต่างๆ ที่สำคัญก็คือวิหารหลังนี้เพิ่งบูรณะใหม่หมาดๆ แต่เป็นการบูรณะที่จัดการของใหม่กับของเก่าให้เข้ากันได้อย่างกลมกลืนลงตัว อีกทั้งยังเป็นการสร้างมิติใหม่ในการอนุรักษ์อาคารเก่าจนได้รับรางวัลจากองค์การยูเนสโก

“จุดสำคัญที่ทำให้ได้รับรางวัลน่าจะอยู่ที่กระบวนการบูรณะของเรา”

อ.อนุกูลบอกเช่นนั้น ซึ่งจากการตามไปดูงานบูรณะและการสืบค้นข้อมูลพบว่า นี่เป็นการบูรณะที่ทำลายขนบเดิมๆของการอนุรักษ์โดยกรมศิลป์และผู้รับเหมาทั่วๆไปอย่างสิ้นเชิง เพราะนี่เป็นการอนุรักษ์โดย“คนตัวเล็ก”ที่ไม่มีอำนาจ ไม่มีหน้าตาทางสังคม หากแต่มีความร่วมแรงร่วมใจ ความเสียสละ และความศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ

สนุก 2

การอนุรักษ์วิหารพระเจ้าพันองค์เริ่มขึ้นประมาณปลายปี 2548 เมื่อ อ.อนุกูล ได้ขอความช่วยเหลือในการบูรณะเพราะเห็นว่าวิหารหลังนี้ทรุดโทรมเสื่อมสภาพเอาเรื่อง ทั้งจากการเสื่อมสภาพตามกาลเวลา การรั่วซึมของน้ำฝน และจากความชื้นใต้อาคาร ซึ่งวิหารหลังนี้ได้ผ่านการบูรณะครั้งสุดท้ายมาเมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว

ด้วยเหตุนี้โครงการอนุรักษ์วิหารพระเจ้าพันองค์จึงเกิดขึ้น จากความร่วมมือร่วมใจกันของคนเล็กๆอย่าง ชาวบ้าน(ชุมชน) พระ(วัด) นักศึกษาผู้มีใจรักในงานศิลปะ วัฒนธรรม(ม.ศิลปากร,ม.เชียงใหม่,ราชภัฏเชียงราย) และนักวิชาการ-ผู้ทรงความรู้-ช่างฝีมือ ที่ต่างก็เป็น “คนคอเดียวกัน” บนพื้นฐานการอนุรักษ์ที่เต็มไปด้วยองค์ความรู้และการเคารพในภูมิปัญญาดั้งเดิมของท้องถิ่น อันเปี่ยมไปด้วยมิตรภาพระหว่าง“คนใน”(ชุมชน)กับ“คนนอก”(ชุมชน)

พวกเขาระดมมันสมองแลกเปลี่ยนแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย สืบค้นความเป็นมา ค้นหาความสำคัญ หาแนวทางในการอนุรักษ์ จนตกผลึกออกมาโดยผ่านความเห็นชอบจากชาวบ้าน(และมีกรมศิลป์เป็นเพียงผู้รับรู้)

จากนั้นจึงได้ระดมทุนบูรณะ อาทิ การจัดแสดงภาพถ่ายของอาจารย์ นักศึกษา ส่วนชาวบ้านก็จัดผ้าป่า กฐิน มาร่วมอีกทาง เกิดเป็นงานอนุรักษ์ที่เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา โดยนักวิชาการและผู้รอบรู้ทำงานในด้านการจัดเก็บข้อมูล การคัดสรรจัดจ้างช่าง การเลือกหาวัสดุ กระบวนการซ่อมแซม นักศึกษาช่วยงานรังวัด เขียนแบบ เขียนภาพจำลอง ทำคอมพิวเตอร์กราฟฟิค

ในขณะที่ชาวบ้านผู้ไม่สันทัดแต่มีใจ ก็ช่วยในด้านอาหารการกิน ช่วยด้านแรงงาน ช่วยดูแลทำความสะอาด และช่วยในด้านกำลังใจ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญมาก จนกระบวนการอนุรักษ์วิหารพระเจ้าพันองค์ลุล่วง และเกิดการอนุรักษ์งานด้านอื่นๆตามมา อาทิ งานอนุรักษ์ซุ้มประตูโขง อนุรักษ์พระพุทธรูปไม้ อนุรักษ์หีบพระธรรม งานศึกษาภาพพระบฏ การจัดทำพิพิธภัณฑ์

สำหรับงานอนุรักษ์วิหารพระเจ้าพันองค์นั้น อ.อนุกูลบอกว่า ได้รักษาโครงสร้างทั้งหมดไว้เกือบ 100 % เปลี่ยนแปลงบ้างเฉพาะวัสดุบางอย่าง บางจุดทำของเก่ากับของใหม่เทียบกันให้เห็น ว่าการบูรณะครั้งล่าสุดกับการบูรณะปัจจุบันทำอย่างไร บางจุดก็นำของใหม่เสริมเข้าไปแบบไม่แปลกแยก อย่างเสริมสังกะสีเพื่อกันน้ำฝนซ่อนไว้ใต้กระเบื้อง แต่กระเบื้องนั้นทำตามของเดิมหมดทุกอย่างซึ่งไม่มีในท้องตลาดต้องสั่งเผาเป็นพิเศษ ส่วนลวดลายปูนปั้นประดับก็ใช้มือปั้นแบบดั้งเดิม

“พระพิมพ์(1,080 องค์)นี่เราก็ทำขึ้นใหม่หมดเหมือนกัน เพราะของเดิมในอดีตถูกคนมาอาราธนาหายไปแทบไม่เหลือแล้ว” อ.อนุกูลพูดติดตลกให้ฟัง

สนุก 3

สำหรับรางวัลจากยูเนสโกที่วัดปงสนุกได้รับดูจะเป็นผลพลอยเท่านั้น แต่ผลสำเร็จที่แท้จริงนั้นเกิดจากการที่คนตัวเล็กๆอย่างชาวบ้าน พระ นักศึกษา นักวิชาการ(ผู้ชอบทำงานปิดทองหลังพระ) ได้บอกให้โลกรู้ว่าการร่วมแรงร่วมใจกันดูแลชุมชนนั้นคือความยิ่งใหญ่เกินกว่ารางวัลใดๆ จน ณ วันนี้งานอนุรักษ์วัดปงสนุก(หลังได้รางวัล) กลายเป็นห้องเรียนกลางแจ้ง เป็นแหล่งเรียนรู้ และเป็นต้นแบบให้กับงานอนุรักษ์หลายๆแห่ง

นับเป็นผลสำเร็จของ“คนเล็ก” แต่ “งานโต”ที่น่าชื่นชมไม่น้อย

ในทางตรงกันข้ามกัน หากงานนี้ให้คนโตอย่างกรมศิลป์มาดำเนินการบูรณะผ่านกระบวนการผู้รับเหมาทุนนิยมอย่างหลายๆวัดที่ผ่านๆมา ผลงานที่ออกมาของวัดปงสนุกคงจะ“ไม่สนุก”อย่างที่เห็น
กำลังโหลดความคิดเห็น