xs
xsm
sm
md
lg

“สวนผึ้ง”แนวท่องเที่ยวด้านตะวันตกบนความเปลี่ยนแปลง/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี
ทิวทัศน์ขุนเขาในสวนผึ้ง
คนมีอดีต สถานที่ก็มีอดีตเช่นกัน

คนมีความเปลี่ยนแปลง สถานที่ก็มีความเปลี่ยนแปลงเช่นกัน

สำหรับ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ก็มีทั้งอดีตและความเปลี่ยนแปลง

ยุคต้นผึ้ง

ไม่มีบันทึกเป็นหลักฐานข้อมูลชัดเจนว่าชื่อ“สวนผึ้ง” เริ่มขึ้นเมื่อใด แต่จากคำบอกเล่าของคนเก่าคนแก่ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ในอดีต ณ แนวเทือกเขาตะนาวศรีเขตแดนไทย-พม่าฝั่งตะวันตก ซึ่งเต็มไปด้วยแนวเขาสลับซับซ้อน ป่าดิบรกชัฎ ถิ่นฐานดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงหรือปกาเกอะญอ มีดินแดนหนึ่งในพื้นที่อุดมไปด้วยต้นไม้ขาวๆ สูงใหญ่ ซึ่งผึ้งนิยมมาเกาะทำรัง บางต้นมีผึ้งมาทำรังร่วม 200 รังเลยทีเดียว

ชาวบ้านที่นี่เรียกต้นไม้ชนิดนี้ว่า “ต้นผึ้งหรือต้นยวนผึ้ง” แล้วเรียกชุมชนในละแวกนั้นว่าบ้านต้นผึ้งหรือบ้านยวนผึ้ง ก่อนที่จะเพี้ยนเป็น“สวนผึ้ง”ในกาลต่อมา

จากนั้นชุมชนสวนผึ้งได้เติบโตจนกลายตำบลสวนผึ้งขึ้นกับอำเภอจอมบึง ก่อนยกระดับเป็น กิ่งอำเภอสวนผึ้งในวันที่ 21 ต.ค. 2517 และต่อมาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอสวนผึ้ง เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2526

ยุคเหมืองแร่

ก่อนจะเป็นอำเภอสวนผึ้งแนวเทือกเขาตะนาวศรีแถบนี้ บนพื้นดินไม่เพียงมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์เท่านั้น ใต้พื้นดินยังเป็นแหล่งแร่ดีบุกอันสมบูรณ์อีกด้วย

ปี 2531 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสไทรโยค มีกรรมกรเหมืองแร่ชาวจีนจากสวนผึ้งนำแร่ดีบุกไปถวายถึงเมืองกาญจน์ ทำให้เรื่องนี้โจษจันไปทั่ว จึงมีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาแสวงหาแร่ในสวนผึ้ง

ส่งผลให้มีการสำรวจแร่อย่างเป็นทางการใน ปี 2438 ก่อนจะมีฝรั่งมาเปิดสัมปทานทำเหมืองแร่อย่างเป็นทางการใน ปี 2457 อันเป็นยุคแรกของเหมืองแร่ในสวนผึ้ง (ยุคแรกจะเป็นแหมืองแล่นทำกันมากแถวเขาลันดา)

จากนั้นราวปี 2501 มีการทำเหมืองสูบขึ้นเป็นแห่งแรกที่ราชบุรีบนพื้นที่เดิมของเหมืองหาบบนเขาลันดา ชื่อ“เหมืองแร่เขากระโจม” พร้อมๆกับการเจริญขึ้นเป็นลำดับของธุรกิจเหมืองแร่ที่สวนผึ้ง

ช่วงต่อระหว่างปลายทศวรรษ 2510 ถึงต้นทศวรรษปี 2520 ราคาแร่โลกพุ่ง ถือเป็นยุครุ่งเรืองสุดๆของเหมืองแร่สวนผึ้ง มีคนต่างถิ่นเดินทางเข้ามาทำงานที่นี่กันมากมาย

“ยุคนั้นที่นี่รุ่งเรืองมาก มีเหมืองแร่ประมาณ 50 เหมือง สวนผึ้งเป็นเมืองที่คึกคักมาก มีทั้งชุมชน ตลาด วัด โรงเรียน บาร์ บ่อน และอีกสารพัด ตอนนั้นผมยังเด็กอยู่ มาจากราชบุรีเข้ามาขายของที่นี่” ผู้ใหญ่แมวผู้กว้างขวางแห่งสวนผึ้งเล่าให้ฟัง

เมื่อมีรุ่งก็ย่อมมีเสื่อมปลายทศวรรษ 2520 ราคาแร่ตกต่ำ เหมืองแร่ในสวนผึ้งทยอยปิดตัว จนในที่สุดรัฐบาลได้ยกเลิกสัมปทานการทำเหมืองแร่ที่สวนผึ้งลงในปี 2534 อันเป็นการปิดฉากตำนานเหมืองสวนผึ้งไปโดยปริยาย

ยุคก็อดอาร์มี

เป็นที่รู้กันดีว่าบริเวณตะเข็บชายแดนไทย-พม่าตั้งแต่ภาคเหนือลงมา มีการสู้ระหว่างกองกำลังกะเหรี่ยงกู้ชาติเคเอ็นยูภายใต้การนำของนายพลโบเมียะกับทหารพม่าอยู่บ่อยครั้ง

ต้นปี 2540 ทหารพม่ายกกำลังบดขยี้กะเหรี่ยงเคเอ็นยูอย่างหนักและต่อเนื่อง จนต้องถอยร่นมาตั้งฐานที่มั่นอยู่ที่แถวนอกชายแดน ฝั่งตรงข้ามเขากระโจม อ.สวนผึ้ง

จากนั้นกะเหรี่ยงกลุ่มนี้เกิดการแตกกัน จึงมีการตั้งกองกำลังขึ้นมาใหม่ในชื่อ "ก็อดอาร์มี" หรือ”นักรบพระเจ้า”โดยการนำของเด็กแฝดลิ้นดำ(จอห์นนี่ และ ลูเธอร์ ฮะทู) มีฐานที่มั่นอยู่ที่หมู่บ้านกัมปรอ ฝั่งตรงข้ามเขากระโจม อ.สวนผึ้ง

กองกำลังก็อดอาร์มี มีความใกล้ชิดกับกลุ่มนักศึกษาพม่าศูนย์มณีลอยที่เคลื่อนไหวให้รัฐบาลทหารพม่าเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนถูกปราบปรามต้องอพยพมาอยู่ที่ศูนย์บ้านมณีลอย ต.วังมะนาว อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี (ศูนย์นี้ก่อตั้งเมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2534 ในสมัยรัฐบาลสมัยนายอานันท์ ปันยารชุน)

วันที่ 1 ต.ค. 2542 ก็อดอาร์มีและนักศึกษาพม่าศูนย์มณีลอยบุกยึดสถานทูตพม่าเพื่อให้รัฐบาลไทยกดดันทางการพม่าปล่อยตัวนางออง ซาน ซู จี แต่ไม่เป็นผล

จากนั้นทำให้ชายแดนไทย-พม่าบริเวณสวนผึ้ง เกดการสู่รบระกว่างทหารพม่ากับก็อดอาร์มีอยู่บ่อยครั้ง และหลายครั้งที่รุกล้ำเข้ามาในเมืองไทย อำเภอสวนผึ้งในยุคนั้นจึงดูน่ากลัวในสายตาของคนทั่วไป

กระทั่งวันที่ 24 ม.ค. 2543 กองกำลังก็อดอาร์มีจำนวน 10 คน ได้บุกยึดโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรีจับตัวประกันไว้กว่า 700 คน แต่สุดท้ายก็ถูกกองกำลังหน่วยนเรศวร 261 สังหารกลุ่มก็อดอาร์มีตายหมด ขณะที่ตัวประกันปลอดภัย(ยุคนั้นพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ผบ.ทบ.เป็นผู้บัญชาการแผนการช่วยเหลือตัวประกัน)

ต้นปี 2544 กองกำลังก็อดอาร์มีแผลงฤทธิ์อีก เข้ามาบุกปล้นและสังหารหมู่คนไทยเสียชีวิตไป 6 ศพ ทำให้ทหารและตำรวจตระเวนชายแดนกดดันก็อดอาร์มีอย่างหนัก ด้านนายพลโบเมียะก็ไม่พอใจก็อดอาร์มีที่ทำให้กะเหรี่ยงกระทบกระทั่งกับไทยจึงส่งกำลังปราบปรามเช่นกัน

กระทั่งเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2544 สองเด็กแฝดลิ้นดำ พร้อมลูกน้องเข้ามอบตัวกับทหารค่ายทัพพระยาเสือที่หมู่บ้านห้วยสุด อ.สวนผึ้ง ทิ้งเรื่องราวก็อดอาร์มีไว้ให้เล่าขาน

ยุคท่องเที่ยว

“หลังปิดเหมืองสวนผึ้งมีบรรยากาศดีแต่มายาก ช่วงนั้นจึงมีพวกลุยๆพวกออฟโรดมาเที่ยวกัน ก่อนช่วงก็อดอาร์มีประมาณ 3-4 ปี สวนผึ้งเริ่มมีชื่อเสียง แต่ใครจะมาพักต้องไปที่(อำเภอ)บ้านคา เพราะยุคนั้นสวนผึ้งยังไม่มีที่พัก” ผู้ใหญ่แมวรำลึกความหลัง

หลังสิ้นยุคก็อดอาร์มี ชื่อเสียงของสวนผึ้งเริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งท่องเที่ยวมากขึ้น จนช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา สวนผึ้งเริ่มโด่งดัง เพราะเป็นแหล่งธรรมชาติใกล้กรุงฯที่มีบรรยากาศสวยงาม มีอากาศดี มากไปด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อน ที่สำคัญก็คือใน อ.สวนผึ้ง มีทรัพยากรทางการท่องเที่ยวมากหลาย ไม่ว่าจะเป็น

ธารน้ำร้อนบ่อคลึง ธารน้ำร้อนธรรมชาติที่มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาตะนาวศรี, พิพิธภัณฑ์ภโวทัย แหล่งรวบรวมโบราณวัตถุในอดีต รวมถึงพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับของไทยชนิดต่างๆ,น้ำตกเก้าโจน น้ำตกขนาดใหญ่ 9 ชั้นอันน่ายล, ไร่กุหลาบอุษาวดี,อุทยานธรรมชาติวิทยา ศูนย์ให้ความรู้ด้านพันธุ์ไม้ป่า-สัตว์ป่า แร่ต่างๆ, แก่งส้มแมว(สวนป่าสิริกิต์) เป็นสวนป่าบรรยากาศร่มรื่นสวยงาม,กิจกรรมล่องแก่งมหาสนุก ภูมิปัญญาชาวบ้านที่นำห่วงยางมาดัดแปลงเป็นเรือยางล่องแก่ง,สวนผึ้งออร์คิด ที่เต็มไปด้วยกล้วยไม้แวนด้าหลากสีสันหลายชนิด,โป่งยุบ ประติมากรรมธรรมชาติที่เกิดจากการยุบตัวของพื้นดิน

ส่วนที่จัดเป็นไฮไลท์ของสวนผึ้งก็คือเขากระโจมที่มีถนนลูกรังขึ้นไปบนทางสูงชันคดเคี้ยว ข้างบนเป็นฐานตชด.137 มีที่กางเต็นท์ เป็นจุดชมวิวชั้นดี ดูได้ทั้งพระอาทิตย์ขึ้น-ตก และทะเลหมอก บนทางขึ้นเขามีน้ำตกผาแดงเป็นอีกหนึ่งจุดชวนชม

นอกจากแหล่งท่องเที่ยวแล้ว สิ่งที่ผมได้ไปสัมผัสพบเห็นเมื่อไม่นานก็คือสวนผึ้งนับเป็นอำเภอที่มีที่พักรีสอร์ทมากหลาย แถมนับวันยิ่งมารีสอร์ท ที่พักในสวนผึ้งยิ่งเพิ่มมากขึ้นตามกระแสธุรกิจท่องเที่ยวที่บูมขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งความเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนผ่านของ อ.สวนผึ้ง จากป่าเขามาสู่เมืองเหมืองมาจนถึงอำเภอชายแดนตะวันตกที่กำลังมาแรงด้านการท่องเที่ยวของเมืองไทยนั้น สิ่งที่ทั้งคนสวนผึ้งเจ้าของพื้นที่ ภาครัฐ นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ ต้องคำนึงให้ดีก็คือการเจริญเติบโตของภาคธุรกิจท่องเที่ยวอย่างมีขอบเขตมีแบบแผน เพื่อให้สวนผึ้งคงเสน่ห์ดุจดังน้ำผึ้งเดือนห้าอันขึ้นชื่อลือชาไว้ตราบนานเท่านาน
กำลังโหลดความคิดเห็น