xs
xsm
sm
md
lg

แม่กลางหลวง : หนุ่มติงต๊อง มองการณ์ไกล / ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี
ช่วงหน้าฝนทุ่งนาขั้นบันไดบ้านแม่กลางหลวงจะดูเขียวชอุ่มนุ่มตาไปทั่วบริเวณ
กม.30 เชิงดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่

หากเดินทางขึ้นไปจะเป็นยอดดอยอินทนน์ จุดสูงสุดแดนสยาม ที่ระดับความสูง 2,565 เมตร (2,565.3341 เมตร) จุดถ่ายรูป(คู่กับป้าย)สำคัญของนักท่องเที่ยว

แต่...ครั้งนี้ผมไม่เดินหน้าขึ้นไปยังจุดสูงสุดแห่งสยามประเทศ หากแต่เลือกเดินลงข้างทางแทน

เปล่า งานนี้ผมไม่ได้ทำตัวนอกลู่นอกทาง หากแต่ข้างทางที่ กม. 30 นี้ เป็นเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติสู่บ้านแม่กลางหลวง ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ บ้านน้อยกลางป่าใหญ่ที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นนาขั้นบันไดอันสวยงาม โดยมีน้ำตกผาดอกเสี้ยวเป็นไฮไลท์ระหว่างทาง

ทั้งบ้านแม่กลางหลวงและน้ำตกผาดอกเสี้ยวเคยเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์หลายเรื่อง โดยเฉพาะทุ่งนาขั้นบันไดนี้ สุดฮอตฮิตปรากฏเพียบทั้งในจอเงิน จอแก้ว และมิวสิควีดีโอ

ในขณะที่ความโดดเด่นของบ้านแม่กลางหลวงนั้น ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ชาวชุมชนผูกพันแนบแน่นกับธรรมชาติ ป่า ดิน น้ำ ต้นไม้ และคงไว้ซึ่งวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ แบบดั้งเดิม ซึ่งวิถีแบบนี้หาได้ยากยิ่งในสังคมปัจจุบัน

เรียกว่าบ้านแม่กลางหลวงนี่แค่เที่ยวชมโน่นชมนี่ก็น่าประทับใจแล้ว ผมยังมีพี่สมศักดิ์ คีรีภูมิทอง หรือ“สาทู”(ชื่อปกาเกอะญอ) หนุ่มใหญ่ชาวปกาเกอะญอ ผู้มากไปด้วยเรื่องเล่ามากมาย มาทำหน้าที่เป็นไกด์นำชม

งานนี้การเดินป่าของผมจึงเข้าทำนอง นอกจากจุดหมายปลายทาง ระหว่างทางยังมีเรื่องราวชวนประทับใจแอบแฝงอยู่ โดยเฉพาะเรื่องราวการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง ตามแนวพระราชดำริขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ต้นทาง

เส้นทางเดินป่าสายนี้มีระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นทางเดินที่ไม่ยากลำบาก(เพราะเดินลงเป็นส่วนใหญ่)

เราเดินเลียบเคียงลำน้ำแม่กลางที่ไหลเอื่อย ช่วงแรกของเส้นทางผ่านหมู่บ้านม้ง และแปลงผักที่ชาวบ้านปลูกส่งโครงการหลวงอินทนนท์ ซึ่งพี่สมศักดิ์เล่าว่า เมื่อราว 30 ปีที่แล้วสมัยแกยังเด็ก ชาวบ้านที่นี่ล่าสัตว์ แผ้วถางป่า ปลูกฝิ่น ทำไร่เลื่อนลอยกันมาก แต่หลังจากในหลวงเสด็จมาที่โครงการหลวงอินทนนท์ มาให้ความรู้ด้านอาชีพแก่ชาวบ้านแถวนี้ สภาพป่าก็เริ่มดีขึ้นตามลำดับ
น้ำตกผาดอกเสี้ยว
พอโตขึ้นมาเป็นแกนนำหมู่บ้าน พี่สมศักดิ์ก็ยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงเป็นแนวทางในการใช้ชีวิตควบคู่ไปกับการศึกษาในเรื่องการท่องเที่ยวชุมชนเชิงนิเวศ พร้อมๆกับรวมกลุ่มชาวบ้านจัดตั้งโครงการท่องเที่ยวชุมชนบ้านแม่กลางหลวงขึ้น

“แต่ก่อนที่นี่มีสัตว์เยอะ แต่ปัจจุบันหายไปจำนวนมาก พอผมคิดทำกิจกรรมท่องเที่ยวได้ไปบอกชาวบ้านว่า ใครไปตัดต้นไม้ ฆ่าสัตว์ เอาไปขาย วันนึงอาจขายหมด วันนึงอาจกินสัตว์ที่ฆ่าหมด พรุ่งนี้พอไปฆ่าใหม่ ตัดใหม่ สุดท้ายมันก็ต้องถูกตัดถูกฆ่าจนหมด แต่ถ้าขายให้การท่องเที่ยว มันยังคงอยู่กับเรา ยกตัวอย่างนกที่นี่ถ้าเรายิงมันไปกิน มันคงหมดสักวัน แต่ถ้าเป็นทัวร์ดูนกจะมีนกให้ดูอยู่ตลอด แถมมันยังออกลูกออกหลานอีก แต่ว่าเราต้องใช้ความพยายามมองหามันหน่อย เพราะที่นี่จะเป็นเหมือนสวนสัตว์เปิด มีสัตว์เล็กๆและนกหลายชนิด”

พี่สมศักดิ์ อธิบายวิธีคิด แต่ประทานโทษ ช่วงแรกแป๊กสนิท

“ช่วงแรกคนที่นี่เขางงๆว่าผมจะทำอะไร มันบ้า มันเพี้ยน หรือเปล่า บางคนบอกว่าผมติงต๊องเพราะทำอะไรประหลาดๆไม่เหมือนชาวบ้านเค้า”

แต่พี่สมศักดิ์หาได้ย่อท้อไม่ เพราะใจมันรัก ใครจะว่าบ้า ว่าติงต๊อง ไม่สนเดินหน้าทำงานด้านการท่องเที่ยวชุมชนต่อ แกกับทีมงาน(มีสกว.(สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย)เป็นพี่เลี้ยง)ค่อยๆปรับเปลี่ยนแนวคิดของชาวบ้าน ให้มาใส่ใจในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ สัตว์ ดินน้ำ และวิถีชีวิตวัฒนธรรม จนวันนี้บ้านกลางหลวงเป็นหนึ่งในหมู่บ้านท่องเที่ยวอันเข้มแข็งของเมืองไทย

กลางทาง

ณ น้ำตกผาดอกเสี้ยวชั้น 7 ชั้นไฮไลท์ที่สวยที่สุด มีความสูงราวๆ 20 เมตรไหลเป็นสายขาวฟูฟ่อง มีสะพานไม้ไผ่เดินข้ามดูสวยงามโรแมนติก

บางคนเรียกน้ำตกแห่งนี้ว่าน้ำตกรักจัง เพราะใช้เป็นหนึ่งในฉากสำคัญของภาพยนตร์เรื่อง“รักจัง” ที่แสดงนำโดย ฟิล์ม : รัฐภูมิ โตคงทรัพย์และพอลล่า เทเลอร์

สำหรับพื้นที่ต้นน้ำอย่างน้ำตกรักจัง พี่สมศักดิ์แกมีแนวคิดตามแนวทางชาวปกาเกอะญอดั้งเดิมว่า น้ำเป็นสิ่งสำคัญ คนต้นน้ำอย่างพวกเขามีโอกาสได้ดื่มน้ำ ได้ใช้ น้ำที่สะอาดกว่าคนปลายน้ำ ชาวแม่กลางหลวงจึงมีการทำนาเพียงแค่หน้าฝนเท่านั้น เพราะมีน้ำมาก ส่วนหน้าแล้งก็ปลูกพืชผักเล็กๆอยากอื่น เพราะถ้าทำนาในช่วงหน้าแล้ง น้ำที่ต้นทางมีน้อยแล้วถูกนำไปทำนาก็จะส่งผลกระทบต่อคนปลายน้ำ

วิธีคิดแบบนี้นับว่าหาได้ยากยิ่งจริงๆในสังคมทุนนิยมบ้านเราทุกวันนี้
พี่สมศักดิ์กับต้นกาแฟของแก
ปลายทาง

พูดถึงการทำนานแล้ว ช่วงปลายทาง เรามาถึงยังทุ่งนาขั้นบันไดบ้านแม่กลางหลวงที่เป็นเชิงชั้น เส้นสาย ลดหลั่นกันไปตามภูมิประเทศ แลดูสวยงามนัก โดยในช่วงหน้าฝนนาขั้นบันไดที่นี่จะเขียวขจีไปทั่วบริเวณ ส่วนช่วงหน้าหนาวก็จะเหลืองทองอร่ามงามตา

สำหรับการทำนาที่นี่พี่สมศักดิ์บอกว่า ที่นี่ทำนาเป็นอาชีพหลักและเน้นทำนาเพื่อปลูกข้าวไว้กิน เมื่อเหลือจึงค่อยขายตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

“เราทำท่องเที่ยว โฮมสเตย์เป็นอาชีพเสริม เพื่อให้ชุมชนมีรายได้อีกทาง นอกจากนี้ยังปลูกพืชผักอื่นๆเป็นอาชีพเสริม ของผมมีปลูกกาแฟเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง เดี๋ยวเราไปจิบกาแฟสดกัน”

พี่สมศักดิ์พาผมจิบกาแฟสดแบรนด์ “สมศักดิ์” ที่คั่วเอง-บดเอง ปลูกเอง และจากสวนของแก ซึ่งมีวิธีการปลูกที่ไม่ค่อยเหมือนใคร

“ผมปลูกกาแฟพันธุ์อะราบิก้า ช่วงแรกปลูกเหมือนคนทั่วไป คือใช้สารเคมี ใช้ยาฆ่าแมลง มันให้ผลผลิตค่อนข้างดี ได้เงินเข้ามากมา แต่เราต้องเสียเงินค่ายาและที่สำคัญคือต้องเสียเงินไปกับการรักษาตัวที่ได้รับผลกระทบจากการใช้สารเคมี เมื่อหักลบกลบหนี้กันแล้ว เหลือเงินไม่เท่าไหร่ แต่สิ่งที่เสียก็คือสุขภาพร่างกายของเรา”

จากนั้นพี่สมศักดิ์จึงมาคิดทบทวนและนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงมาประยุกต์ใช้ ผสมกับภูมิปัญญาพื้นบ้านโบราณ เป็นการปลูกกาแฟในแบบฉบับของตัวเอง คือมีพืชชนิดอื่นปลูกผสมผสานด้วย แล้วไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ ให้ธรรมชาติมันดูแลกันเอง

และจากการสังเกตพี่สมศักดิ์พบว่า ต้นกาแฟมีทั้งหนอน แมลง มดแดง โดยมดแดงจะช่วยกำจัดหนอนแมลงให้ แต่มดแดงกับไม่อยู่ที่ต้นกาแฟเพราะใบกาแฟมีกลิ่นฉุน แกจึงเกิดไอเดียนำต้นมะม่วง ขนุน ที่มดแดงชอบขึ้นมาปลูกแซม ปรากฏว่าไม่กี่ปีผ่านไปพอมดแดงคุ้นกับกลิ่นของกาแฟ มดแดงก็ช่วยกำจัดหนอน แมลง ให้

“ในสวนผมยังมีแมลง มีหนอน มีมดแดง มีสัตว์เล็กๆอย่างกระแต กระรอก แต่ผมก็ปล่อยไว้ เพราะเราคิดว่าเราไม่ควรปลูกต้นไม้เพื่อคนอย่างเดียว แต่ควรปลูกเพื่อสัตว์ด้วย เพราะเราเป็นเพื่อนร่วมโลกเหมือนกัน”

พี่สมศักดิ์อธิบาย ซึ่งช่วงแรกที่แกปลูกกาแฟวิธีนี้ก็ถูกคนว่าติงต๊องอีกเหมือนเดิม แต่ประทานโทษพี่สมศักดิ์แกไม่ท้อ พิสูจน์ตัวให้เห็นว่าทั้งเรื่องท่องเที่ยวชุมชน เรื่องกาแฟที่แกทำนั้น ไปได้ดี ได้ผลพอใจเป็นรูปธรรม

หลังจากนั้นหนุ่มติงต๊องก็ถูกยกเป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลประจำหมู่บ้านไปโดยปริยาย

*****************************************

บ้านแม่กลางหลวง ตั้งอยู่ในหุบเขานาขั้นบันไดอันเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 3 เชิงดอยอินทนนท์ ในเขตการปกครองของหมู่ 17 ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
         
          การเดินทางสู่บ้านแม่กลางหลวง สามารถเดินทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 108 (เชียงใหม่ – ฮอด) ผ่านอำเภอหางดง อำเภอสันป่าตอง และอำเภอจอมทอง เป็นระยะทาง 50 กิโลเมตรโดยประมาณ แล้วเดินทางต่อไปตามเส้นทางอำเภอจอมทอง – อุทยานแห่งชาติ ดอยอินทนนท์ (ทางหลวงหมายเลข 1009) อีกประมาณ 26 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าสู่บ้านแม่กลางหลวง
         
          ชาวบ้านแม่กลางหลวงล้วนเป็นปกาเกอะญอ ที่มีวิถีชีวิตผูกพันอยู่กับธรรมชาติ และมีความเชื่อ ประเพณีที่ยึดถือเป็นเอกลักษณ์ ในชุมชนได้มีการจัดการท่องเที่ยวโดยจัดทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน และศูนย์วัฒนธรรมปกาเกอะญอ พร้อมทั้งกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เที่ยวชมและศึกษาวิถีชีวิตชนเผ่า การทอผ้า การทำนาขั้นบันได แปลงปลูกสตรอว์เบอรี่ แปลงดอกไม้ การขับลำนำที่เรียกว่า อื่อทา ตลอดจนบริการที่พักแบบโฮมสเตย์และที่พักชุมชน (Village Stay) ริมนาขั้นบันได รวมถึงที่พักแบบเต็นท์
         
          ทั้งนี้การเที่ยวชมนาขั้นบันไดนั้นจะเป็นไปตามฤดูกาล คือช่วงหน้าฝนจะเขียวขจี ช่วงหน้าหนาวก็จะเหลืองทองอร่าม ส่วนช่วงหน้าร้อนจะเก็บเกี่ยวเหลือเพียงร่องรอยของท้องนา
         
          สำหรับสนนราคานั้นอยู่ที่ บ้านพัก Home Stay 200 บาท/หลัง/คืน บ้านพักแบบ Village Stay 300 - 2,000 บาท/หลัง (อัตราค่าที่พักมีการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลท่องเที่ยว) - ค่าอาหาร 50 บาท/คน/มื้อ - ค่ามัคคุเทศก์ท้องถิ่น/ลูกหาบ 200 บาท/คน/วัน ฯลฯ ซึ่งผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บ้านแม่กลางหลวง โทร 08-1020-3615,08-9952-0983 , 08-1960-8856 และสามารถสอบถามสถานที่ท่องเที่ยวระหว่างบ้านแม่กลางหลวงเชื่อมโยงกับสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆในจังหวัดเชียงใหม่ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)สำนักงานเชียงใหม่ โทร.0-5324-8604, 0-5324-8607

กำลังโหลดความคิดเห็น