xs
xsm
sm
md
lg

ซึมซับวัฒนธรรมล้านนาที่ "ไร่แม่ฟ้าหลวง"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หอคำ สถาปัตยกรรมล้านนาโบราณ
เที่ยวเหนือ หน้าหนาว เป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวไทยนิยมกระทำกัน โดยจังหวัดเชียงรายคือหนึ่งในนั้น ซึ่งนอกจากแหล่งท่องเที่ยวประเภทป่าเขา ดงดอย ที่อบอวลไปด้วยบรรยากาศความหนาวเย็นแล้ว ในเชียงรายยังมีแหล่งท่องเที่ยวประเภทวัดวาอารามมากมายและศิลปวัฒนธรรม โดยหนึ่งในนั้นก็คือ"ไร่แม่ฟ้าหลวง" บ.ป่างิ้ว ต.รอบเวียง อ.เมือง จ.เชียงราย

ไร่แม่ฟ้าหลวง ไม่ใช่ไร่ปลูกพืชพันธุ์ ต้นไม้ เหมือนไร่ทั่วไป แต่เป็นไร่ที่"ปลูกคน" ที่สมเด็จย่าพระราชทานทรัพย์สินส่วนพระองค์ซื้อไว้ เพื่อใช้เป็นสถานที่ทรงงานและอบรมเยาวชนจากถิ่นธุรกันดาร ในความดูแลของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯด้วยเหตุที่ทรงพบว่าชาวเขาตามจังหวัดชายแดนภาคเหนือมีความลำบากยากไร้ ต้องดิ้นรนทำมาหากินด้วยการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอยและปลูกฝิ่น
กลางหอคำประดิษฐานพระพร้าโต้ พระพุทธรูปไม้สักองค์สำคัญ
นอกจากการเรียนตามตำราหรือในห้องเรียนแล้ว สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงให้ความสำคัญกับการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง คือ การได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน พึ่งพาและสามัคคีกัน ต้องรู้จักดูแลตนเอง ดูแลกันและกัน ดังนั้นเยาวชนเหล่านี้จะถูกฝึกจนสามารถกลับไปเป็นผู้นำที่ดีของชุมชนตนเองได้ต่อไป ต่อมาหลังจากมีโครงการพัฒนาดอยตุงฯ และระบบการศึกษาไปถึงประชาชนบนภูเขาสูงและที่ทุรกันดาร บทบาทของไร่แม่ฟ้าหลวง ที่เป็นไร่ปลูกคนก็จบลง

ปัจจุบันไร่แม่ฟ้าหลวงบนพื้นที่กว่า 150 ไร่ถูกปรับเปลี่ยนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม ภายใต้แนวคิด "อุทยานแห่งความสงบงามอย่างล้านนา" ซึ่งได้ปรับสถานที่ให้เป็นอาคารอนุรักษ์วัตถุทางวัฒนธรรมล้านนา เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษา อนุรักษ์ส่งเสริมวัฒนธรรมล้านนา และเป็นที่จัดแสดงงานศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี ละคร อีกทั้งยังเหมาะสำหรับจัดงานเลี้ยงรับรองรูปแบบต่างๆ การประชุมสัมมนาหรือการประกอบพิธีกรรมพื้นเมืองเหนือในท่ามกลางบรรยากาศอันสงบขรึมขลัง
ภายในหอคำเป็นที่เก็บรวบรวมศิลปวัตถุและงานพุทธศิลป์
ในไร่แม่ฟ้าหลวง มีการจัดภูมิทัศน์เป็นสัดส่วนสวยงาม มีสวนที่ร่มรื่นด้วยหมู่พันธุ์ไม้พื้นเมือง และพันธุ์ไม้หอมนานาชนิด มีสระน้ำขนาดใหญ่ล้อมรอบบริเวณ โดยมีอาคารที่สำคัญอยู่ 3 หลัง คือ หอคำ หอคำน้อย และหอแก้ว

"หอคำ" สถาปัตยกรรมล้านนาที่ชาวเชียงรายร่วมกันสร้างเพื่อ "ไหว้สาแม่ฟ้าหลวง" ถวายเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเจริญพระชนมายุ 84 พรรษา เมื่อปี พ.ศ.2527 ซึ่งคำว่า"ไหว้สาแม่ฟ้าหลวง" เป็นภาษาเหนือโบราณแปลว่า การน้อมคารวะ ส่วน"แม่ฟ้าหลวง"เป็นคำที่ชาวไทยในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ใช้แทนพระนามของสมเด็จย่า
หนึ่งในสีสัน ลวดลาย ความงามของสัตภัณฑ์โบราณ
สำหรับตัวหอคำมีโครงสร้างและวัสดุที่ใช้อย่างล้านนาไทย คือ ตัวอาคารสอบเข้าเหมือนลักษณะเรือนล้านนาอย่างโบราณ ลวดลายประดับได้จากจังหวัดอุตรดิตถ์ วัสดุใช้ไม้ทั้งหลัง แบบหลังคาได้ความบันดาลใจจากวัดในจังหวัดลำปาง เป็นหลังคาเก่าของบ้านในชนบทเป็นแผ่นไม้สักกว้างประมาณ 4 นิ้ว ซ้อนกัน ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า "แป้นเกล็ด"

ภายในเป็นที่เก็บรวบรวมศิลปวัตถุและงานพุทธศิลป์ มีทั้งพระพุทธรูปแบบล้านนา พม่า และเครื่องใช้พื้นบ้านในชีวิตประจำวัน รวมถึงเครื่องไม้แกะสลักที่ใช้ในการพระศาสนา เช่น ตุงกระด้างหรือตุงหรือธงไม้ ขันดอกหรือภาชนะใส่ดอกไม้ธูปเทียนบูชาพระ เครื่องสัตภัณฑ์หรือเชิงเทียนไม้เก่าแก่ที่ใช้ตั้งถวายบูชาหน้าพระประธานในวิหารหรืออุโบสถของวัดทางภาคเหนือ แต่เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้นวัดวาอารามเก่าแก่หลายแห่งถูกรื้อลง เพื่อสร้างขึ้นใหม่ตามแบบสมัยนิยม สัตภัณฑ์ก็ได้ถูกยักย้ายถ่ายเทไปตามที่ต่างๆและขาดผู้สนใจ
ในศาลาแก้วจัด นิทรรศการพระราชกรณียกิจของสมเด็จย่า
สัตภัณฑ์ในไร่แม่ฟ้าหลวงมีการแบ่งเป็นจังหวัดต่างๆในล้านนา ซึ่งแต่ละจังหวัดต่างก็มีศิลปะของ สัตภัณฑ์แตกต่างกันออกไป โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้รวบรวมมาเพื่ออนุรักษ์ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาและเกิดความภาคภูมิใจ นอกจากนี้ ยังมีผู้บริจาคสมทบอีกเป็นจำนวนมาก เครื่องสัตภัณฑ์ทุกชิ้นที่จัดแสดงจะมีป้ายชื่อและแหล่งที่มากำกับ เช่น เทพทิพย์ สัตภัณฑ์อย่างสันกำแพง ช้างแก้ว สัตภัณฑ์อย่างหริภุญไชย บัวร้อยดอก สัตภัณฑ์อย่างเขมรัฐและสุคนธประทีป สัตภัณฑ์อย่างนันทบุรี

ใจกลางหอคำมีไม้ลำต้นใหญ่ปักห่างกันประมาณหนึ่งฟุต บนพื้นที่ปูด้วยทราย ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์สำคัญ คือ "พระพร้าโต้" ลักษณะเป็นพระพุทธรูปไม้สักที่ใช้มีดโต้เป็นเครื่องแกะสลักอย่างสง่างาม จากอ.ลอง จ.แพร่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2236 โดยฝีมือช่างพื้นบ้าน ส่วนบริเวณรอบอาคารภายนอกเป็นที่จัดแสดงวัตถุไม้สลักรูปต่าง ๆ เช่น กระต่าย พญานาค หงส์ เป็นต้น
บรรยากาศทางเดินภายในไร่แม่ฟ้าหลวงที่อย่างเป็นระเบียบ
ถัดจากหอคำเข้าไปประมาณ 500 เมตร คือ "หอคำน้อย" เป็นสถาปัตยกรรมศิลาแลงหลังคาแป้นเกล็ดไม้สักเช่นกัน อาคารเป็นแบบปิดทึบโดยรอบ มีเพียงช่องระบายลมที่เป็นช่องว่างระหว่างส่วนบนของผนังกับเพดาน โดยมีซี่กรงไม้กั้นพื้นที่ระหว่างภายในและภายนอกอาคาร

สถาปัตยกรรมล้านนาที่ออกแบบเฉพาะนี้เพื่อรักษาสภาพโบราณภายใน ซึ่งเป็นสถานที่เก็บรักษาภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนด้วยสีฝุ่นบนกระดานไม้สัก รัตนโกสินทร์ โดยช่างเขียนชาวไทลื้อ จากวัดเวียงต้า อ.สอง จ.แพร่ ภาพแสดงให้เห็นถึงความเป็นอยู่ การแต่งกาย และวัฒนธรรมล้านนาเมื่อกว่าร้อยปีมาแล้ว สันนิษฐานว่าภาพจิตกรรมฝาผนังนี้มีอายุเก่าแก่ตั้งแต่สมัยต้นรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
รถม้าประกอบด้วยไม้สัก
และก่อนที่จะไปถึงยังหอแก้ว ด้านหน้าเป็น "ศาลาแก้ว" ซึ่งจัดนิทรรศการแสดงเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่มีต่อปวงชนชาวไทย และอาคาสุดท้ายที่อยู่ติดกันนั้นก็คือ "หอแก้ว" ซึ่งภายในเป็นพื้นที่จัดแสดงศิลปวัตถุทางวัฒนธรรมและนิทรรศการ ทั้งนิทรรศการหมุนเวียนและนิทรรศการถาวร

สำหรับนิทรรศการถาวรเป็นเรื่องราวความรู้เกี่ยวกับไม้สักราชินีแห่งป่าเหนือ การจัดแสดงเริ่มต้นด้วยการบอกเล่าประเภทของไม้สัก อันได้แก่ สักทอง สักขี้ควาย สักหยวก สักหิน และสักไฟ เปรียบเทียบความแตกต่างของไม้สักกับไม้ชนิดต่างๆ จากนั้นเป็นการขยายพันธ์ไม้สักด้วยวิธีต่าง ๆ ทั้งการเพาะด้วยเมล็ด เนื้อเยื่อ กล้า และปักชำ
ปราสาทไม้สักในพิธีปลงศพของชาวมอญ
นอกจากนี้แล้วยังมีเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชาวล้านนาในอดีตที่ทำจากไม้ อาทิ กระดานซักผ้า เครื่องมือปั่นฝ้าย กระสวยยิงด้าย เปลเด็ก ตะเกียงล้านนา หีบใส่ยาสมุนไพร หลุกหรือระหัดวิดน้ำ โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมที่ทำด้วยไม้ อาทิ หลังคา ป้านลม และยังมีเครื่องใช้ต่างๆอีกเช่น รถม้าประกอบด้วยไม้สัก เกวียนเทียมวัว ปราสาทไม้สักในพิธีปลงศพของชาวมอญ รอยพระพุทธบาทไม้สัก

ส่วนที่น่าสนใจอีกแห่งในหอแก้วคือ ห้องจัดแสดงพระพุทธรูป เพราะมีการสร้างสถาปัตยกรรมให้ผู้ชมได้เข้าใจถึงตำแหน่งการจัดวางพระพุทธรูปในโบสถ์หรือวิหาร และพระพุทธรูปในแต่ละยุคแต่ละสมัย อาทิ พระพุทธรูปไทยใหญ่ อีกทั้งยังมีสถาปัตยกรรมทางศาลนาที่ทำจากไม้ เช่น ธรรมาสน์ บันไดนาค เป็นต้น
รอยพระพุทธบาทไม้สัก
สิ่งต่างๆที่กล่าวมาถือเป็นความน่าสนใจในไร่แม่ฟ้าหลวงอุทยานแห่งความสงบงามอย่างล้านนาที่มากไปด้วยศิลปวัตถุมากมายให้ผู้สนใจได้เลือกชม เลือกศึกษา หาความรู้กัน

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ไร่แม่ฟ้าหลวง ตั้งอยู่ที่ 313 หมู่ 7 บ้านป่างิ้ว ต.รอบเวียง อ.เมือง จ.เชียงราย เปิดทุกวันอังคาร-อาทิตย์(ปิดวันจันทร์) เวลา 10.00 – 18.00 น. ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม และข้อมูลการเดินทางได้ที่ โทร. 0-5371-1968

กำลังโหลดความคิดเห็น