xs
xsm
sm
md
lg

"อัมพวา" บนความเคลื่อนไหว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตลาดน้ำอัมพวา แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ
จากอดีตเมืองสวน ฉายา"บางช้างสวนนอก" เมื่อวันเวลาผันผ่าน "อัมพวา"(พื้นที่ส่วนหนึ่ง) ได้เดินทางเข้าสู่เมืองท่องเที่ยว ที่ ณ วันนี้ บูมไม่แพ้ที่ใดๆ

หลายคนบอกว่าอัมพวาเปลี๊ยนไป๋

ในขณะที่บางคนบอกว่าอัมพวาเปลี่ยนไปตามความเป็นจริงของโลก ซึ่งอัมพวาบนความเคลื่อนไหวในวันนี้มีสิ่งใดเปลี่ยนแปลงและมีสิ่งใดหลงเหลืออยู่ เหล่าบรรดากูรูผู้คร่ำหวอดอยู่กับอัมพวาได้พกพาคำตอบส่วนหนึ่งมาให้แฟนานุแฟนเมืองอัมพวาได้ทัศนากัน

อัตลักษณ์อัมพวา

อาจารย์ ธันยพร วณิชฤทธา นักวิจัยและนักวิชาการอิสระ กล่าวว่า แต่เดิมที่สมุทรสงครามเป็นจังหวัดที่เกี่ยวกับเกษตรทำเกี่ยวกับชาวสวน วิถีของชาวสวนก็จะเรียบง่าย เป็นจังหวัดที่เล็กที่สุดเข้าถึงยากดังนั้นจะเงียบสงบไม่พลุกพล่าน อัมพวาอยู่ในจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นเมืองเล็กๆ ที่ไม่มีคนรู้จักแต่รุ่งเรือง มีการทำเศรษฐกิจด้านเกษตรกรรม ในอดีตมีรายได้ต่อหัวมากแห่งหนึ่งในประเทศเนื่องจากขายสินค้าเกษตร
บ้านเรือนริมน้ำในอัมพวา
"คนในอดีตก็จะมีความร่ำรวยด้านเกษตร และร่ำรวยความสุข เพราะไม่ได้เป็นจังหวัดอุตสาหกรรม แต่เป็นคนสวนส่วนหนึ่งที่มีความรู้ เพราะคนที่มีความรู้เขาก็จะดูแลพืชสวนไร่นา เขาก็จะมีภูมิปัญญา เป็นคนรักศิลปะ โดยจะเห็นที่อุทยานร.2 เป็นต้น นอกจากเป็นเมืองเกษตร ร่ำรวย แล้วก็ศิลปวัฒนธรรม สืบเนื่องมาจากสมัยรัชกาลที่ 2 ท่านชอบมาอยู่ที่อัมพวา คือท่านได้พระชายาเป็นคนอัมพวา ลักษณะความสัมพันธ์ทางพระมหากษัตริย์ ในระบบราชวงศ์ก็อยู่ที่นี่เหมือนกัน

"คนเมืองอัมพวาเป็นคนที่มีความสุข นั่นคืออัตลักษณ์ของเขา เขาจะภูมิใจในวิถีในตัวตนของเขา จากคนนอกแล้วบางครั้งอาจจะมองไม่เห็น เพราะเป็นเมืองเล็กแล้วก็ไม่ได้เปิดเผยตัว ไม่ได้เป็นคนที่แสดงตัวอะไร ถูกเก็บเงียบอยู่ในพื้นที่ของเขา ดังนั้นเขาก็จะมีทรัพยากรมากมายที่อุดมสมบูรณ์ไม่ได้ถูกทำลาย และลักษณะภูมิประเทศยังมีแม่น้ำ มีคลองหลายสาย ด้วยความที่มีสภาพน้ำจืด น้ำเค็ม น้ำกร่อย แล้วก็ป่า มีความสวยงามทางสิ่งแวดล้อมเป็นทุนเดิม" อ.ธันยพร กล่าว

อัมพวาก็คืออัมพวา

ขณะเดียวกัน ธีรภาพ โลหิตกุล นักเขียนสารคดีอิสระ เล่าว่า ถ้าพูดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลง คงไม่มีที่ใดที่ไม่เปลี่ยน แต่ถ้ามองในแง่ของอัมพวา พูดได้ว่าคงมีความเปลี่ยนแปลงไปบนพื้นฐานของความเป็นคนเก่าแก่ของอัมพวา คือการเป็นเมืองด้านการเกษตรชายฝั่งทะเล เป็นแหล่งอาหาร จนมีคำกล่าวในสมัยนั้นว่า สวนในบางกอกสวนนอกบางช้าง ซึ่งสวนในบางกอกปัจจุบันนี้ก็คือฝั่งธนบุรี ส่วนสวนนอกบางช้างหมายถึงสวนที่อยู่นอกเมืองนั้นคือ บางช้างหรืออัมพวา อันเป็นแหล่งปลูกผลไม้มากมาย
วิถีดั้งเดิมชาวอัมวาที่ยังคงอยู่
ต่อมาก็เป็นเมืองที่มีอาหารด้านทะเล อย่างที่รู้ว่าเป็นเมืองเดียวในประเทศไทยที่มีการจับปลาทูเป็นล่ำเป็นสัน เนื่องจากอัมพวามีอุณหภูมิดินและน้ำที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ จึงมีคำกล่าวบอกว่า ปลาทูของอัมพวานั้นเป็นปลาทูที่ไม่มีที่เทียบ จับขึ้นมารับประทานก็สด หวาน

ในความเป็นเมืองที่เงียบสงบไม่ค่อยมีคนรู้จัก จึงเป็นแค่จุดผ่านจากเมืองหลวงไปชายทะเลภาคใต้ ก็เป็นเพียงแค่จุดแวะประเดี๋ยวประด๋าว แวะดื่มน้ำผลไม้ หรือน้ำมะพร้าวสักลูกหนึ่ง และก็เดินทางไปต่อ ฉะนั้นทิศทางการเปลี่ยนแปลงของอัมพวา จึงต่างตรงที่ว่าไม่ได้เปลี่ยนจากเมืองเกษตรเป็นเมืองอุตสาหกรรม แต่ว่ายังเป็นแหล่งผลิตอาหาร เป็นเมืองสวน เมืองชายน้ำ เมืองที่มีแม่น้ำลำคลองไหลผ่านเหมือนเดิม

ภายหลังเมื่อมีการสร้างถนนพระราม 2 และอุทยานวรรคดีของรัชกาลที่ 2 หรือที่เราเรียกกันว่า อุทยาน ร. 2 ขึ้น และก็มีคนค้นพบว่า บรรยากาศของบ้านสวนที่ร่มรื่น เมืองชายน้ำที่อุดมสมบูรณ์มั่งคั่ง ดินดี น้ำดี บรรยากาศที่คนในเมืองแสวงหาหรืออาจจะเรียกได้ว่าโหยหา เพราะว่าชีวิตในเมืองนั้น วุ่นวาย เร่งรีบ แข่งขัน ร้อนรน ขับรถ 2 ชม.ไปอัมพวา ก็พบกับบรรยากาศบ้านสวน พบกับลำประโดงเอ่อหล่อเลี้ยงสวนมะพร้าว พบกับชาวบ้านที่ทำน้ำตาลโตนด พบกับป่าจากที่ยังอุดมสมบูรณ์ พบกับป่าชายเลนที่ยังอุดมสมบูรณ์ หิ่งห้อยจำนวนมากพึ่งพาอาศัยอยู่
ชมการทำตาลโตนดได้ตามบ้านทำตาลต่างๆ
ในบริเวณนั้นยังมีสภาพอากาศ ดิน และน้ำที่ยังดีอยู่ มลภาวะน้อย เมื่อมีคนค้นพบตรงนี้ ก็เริ่มมีคนคิดทำโฮสเตย์ขึ้นมา ที่เป็นที่รู้จักขึ้นมามากๆ น่าจะเป็น หมู่บ้านอนุรักษ์บ้านทรงไทยปลายโพงพาง สร้างชื่อเสียงเกี่ยวกับการรณรงค์ให้มีการอนุรักษ์บ้านทรงไทย บ้านบางหลังอายุเกินร้อย มีจำนวนนับร้อยๆ หลัง จัดกิจกรรมให้คนไปอยู่กับชาวบ้าน ทานอาหารอย่างชาวบ้าน ดูการทำมาหากินของชาวบ้าน และก็ไปดูหิ่งห้อย

นับแต่นั้นอัมพวาก็เลยกลายเป็นแหล่งพักพิงแห่งใหม่ของชาวเมือง ในยามที่ต้องการแสวงหาความเงียบสงบ ต้องการการแสวงหาความงดงามของอดีตก็มักจะพากันไปเที่ยว แต่แน่นอนว่าไม่มีอะไรเป็นด้านดีไปทั้งหมด ก็จะมีคนที่ฉาบฉวยไปเที่ยวเพียงแค่อยากมาเห็นหิ่งห้อยแล้วก็กลับ และก็แห่กันมามากขึ้น บางทีก็ไปดึกๆแล้วอยากจะดูหิ่งห้อย กลายเป็นความเดือดร้อนรำคาญส่งเสียงดัง จนกระทั่งรบกวนวิถีชีวิตแบบชาวบ้านชาวสวน เพราะชาวสวนเค้าจะตื่นแต่เช้า ไปทำน้ำตาล ไปขึ้นตาล เค้าต้องนอนแต่หัวค่ำ แต่ว่านักท่องเที่ยว 4 ทุ่ม 5 ทุ่มแล้วก็ยังมากัน จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ที่มีการตัดสินใจโค่นต้นลำพูหน้าบ้านทิ้ง เพื่อตัดปัญหาเดือดร้อนรำคาญไป แต่ก็มีการพยายามแก้ไขด้วยการตั้งกลุ่มชุมชนที่บริการเรือที่จะพาไปชมหิ่งห้อย โดยที่จะไม่ก่อให้เกิดเสียงดัง ให้เดือดร้อนรำคาญ

"ทุกวันนี้ อัมพวากลายเป็นดินแดนเป็นปลายทางในความฝันของผู้คนจำนวนมาก ทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ จะมีตลาดนัดที่เรียกว่า "ตลาดน้ำอัมพวา" ทีวีทุกช่องเกือบทุกรายการไปถ่ายทำ แต่ว่าผมมองเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้มาสิบกว่าปี ผมคิดว่าอัมพวายังคงรักษาความเป็นตัวของตัวเองไว้ได้ค่อนข้างมาก เนื่องมาจากความเข็มแข็งของผู้นำที่ตระหนักรู้ว่า ที่คนแห่มาอัมพวาเพราะความเป็นอัมพวา ความเงียบสงบ ความเขียวขจี ความอุดมสมบูรณ์ อาหารการกิน ผลหมากรากไม้ เพราะฉะนั้นพวกเขาก็จะต้องต่อสู้เพื่อที่จะรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ เพื่อไม่ให้สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม ไม่ให้มีการมาสร้างโรงงาน ไม่ให้มีการมาซื้อที่ดินแล้วสร้างเป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่โต ซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียต่อสภาพอากาศ ผมคิดว่าความเข้มแข็งของชุมชนที่จะรักษาอัตลักษณ์ของตัวเองไว้ทำให้อัมพวาเปลี่ยนแปลงไปอย่างที่ไม่เกินเลย หรือว่าไม่เสียหายต่อความเป็นเมืองเกษตร" ธีรภาพกล่าว

เสน่ห์อัมพวา

ด้านสุรจิต ชิรเวทย์ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสมุทรสงคราม อดีตประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า ถ้าเราตีโจทย์ให้แตกว่าเราต้องการให้การท่องเที่ยวอยู่ในมือคนของเราเป็นส่วนใหญ่ และก็รูปแบบการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับตัวตนทางกายภาพ ภูมิศาสตร์ และวิถีชีวิตของเราให้มากที่สุด คือการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์-วัฒนธรรม เพราะว่าแม่กลองเป็นระบบเมือง 3 น้ำ วิถีชีวิตน้ำเคลื่อนไหวขึ้นลง การทำเกษตรประมงก็ขึ้นอยู่กับน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม ตำแหน่งมันถูกกำหนดโดยธรรมชาติ เพราฉะนั้นเรามีคนที่ประกอบอาชีพอิสระมากกว่ามนุษย์เงินเดือน มากกว่าลูกจ้าง คนของเรามีภูมิปัญญาทำมาหากิน ที่บ้านเมืองเราหน้าตาเปลี่ยนแปลงน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับเมืองอื่นเพราะว่าคนส่วนใหญ่ของเราประกอบอาชีพอิสระ เขามีภูมิปัญญาความรู้ดูแลประกอบอาชีพได้เอง เขาดูแลตัวเขาเองได้ เพราะฉะนั้นการท่องเที่ยวก็ต้องมาเสริมจุดที่ขาดไป และก็สวมลงไปกับวิถีชีวิตปกติ
อุทยาน ร.2 อัมพวา
"การท่องเที่ยวก็มีประโยชน์ในการกระจายรายได้ แต่เราไม่อยากให้กระจุกอยู่เฉพาะริมน้ำ หมายความว่าเมื่อริมน้ำมันคึกคักเกินไป รบกวนวิถีชีวิตเกินไป เราก็ต้องเสนอขายแนวทางอื่นบาง เช่น การท่องเที่ยวโดยเส้นทางจักรยาน คือหมายความว่าถ้าน้ำแห้ง คุณก็ไม่ต้องไปเรือ คุณก็ขี่จักรยานเที่ยวไปตามในสวน ไปดูเตาเคี้ยวน้ำตาลไปเห็นด้วยตาตัวเอง เพราะแม่กลองมันเล็กจากจุดกลางจังหวัดไปทั่วทิศทางไม่เกิน 15 กม. หมดเขตจังหวัด และชาวสวนก็มีแต่อัธยาศัยดี เราก็ได้ไปดูวิถีชีวิตตามที่เป็นจริง อย่างบ้านเบญจรงค์ ถิ่นสุวรรณ ก็แตกลูกแตกหลานออกไปเยอะแยะ เดี๋ยวนี้ก็มีหลายสิบแห่ง ซึ่งเราสามารถขี่จักยานไปนั่งเขียน นั่งทำ แล้วให้เขาเผาให้ก็ได้ มันมีอะไรที่เป็นความรู้อยู่เยอะ ถ้ามันไปแบบนี้ได้มันก็จะไม่กระจุกตัว ไม่รบกวนวิถีชีวิตจนเกินไป และก็ทำให้มันชัดลงไปเลยว่าถ้าชอบอะไรเดิมๆ ก็ไปแม่กลองอัมพวาล่ะกัน ถ้าชอบแสงเสียงก็ไปภูเก็ต พัทยา คือทำให้มันชัดเจน" สว. สุรจิต กล่าว

ในขณะที่ ธีรภาพ กล่าวเพิ่มเติมว่า "ผมคิดว่าคนที่ไปเที่ยวอย่างฉาบฉวยนี่ครั้งเดียวก็พอแล้ว แค่นี้เองหรอ แค่หิ่งห้อย เพราะฉะนั้นการเที่ยวแบบแฟชั่นก็จะลดน้อยลง หรืออย่างมากที่สุดก็คือการฉาบฉวยตรงบริเวณตลาดน้ำ ทำให้การกินที่นั่นค้าขายดีค้าขายคล่อง แต่ว่านักท่องเที่ยวตัวจริงแสวงหาความงดงามที่ดีของพืชพันธุ์ธัญญาหาร ความเงียบสงบ ความเป็นเมืองศิลปิน มีปริมาณไม่ล้นเกินทำความเสียหายให้อัมพวา ส่วนเรื่องหิ่งห้อยนั้นผมคิดว่ามีขบวนการต่อสู้เพื่อที่จะแก้ไขปรับปรุงได้ตลอดเวลา นอกจากนั้นแล้วการที่คนไปมากๆเนี่ยจะทำให้กลายเป็นชุมชนคลองโคนเป็นจุดขายที่ดี ชวนคนมาเที่ยวชมป่าชายเลนแล้วสร้างกิจกรรมที่สนุกสนานในการถีบกระดานไปปลูกป่าชายเลน กรโดดเล่นน้ำ เล่นสกีด้วยกระดานและปลูกป่าชายเลน กลายเป็นกิจกรรมที่นอกจากจะสร้างความสนุกสนาน ให้กับนักท่องเที่ยวได้แล้วยังช่วยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับป่าชายเลนของแม่กลองด้วยการปลูกต้นไม้เสริมขึ้นมานอกอัมพวา

ในส่วนของโฮมสเตย์ ปัจจุบันนี้มีการสร้างโฮมสเตย์เพิ่มขึ้นมากมาย แต่ว่าเท่าที่ผมสังเกตดูว่าน่าชื่นชมที่ยังมีแนวโน้มโฮมสเตย์ แม้ว่าจะมาจากคนต่างถิ่นแต่ก็เพราะหลงรักอัมพวา ไม่ว่าเขาจะสร้างธุรกิจอะไรขึ้นมาก็ต้องไม่ทำลายอัมพวา เพราะว่าถ้าเกิดทำลายอัมพวาทำลายความเป็นตัวอัมพวาก็เท่ากับทำลายตัวเขาเอง เพราะสิ่งที่คนไปนั้นคนไม่ได้ไปอัมพวาที่บาร์เบียร์ คนไม่ได้ไปดูโชว์กระเทย แต่คนไปอัมพวาเพราะว่าธรรมชาติดั้งเดิม แสงสีมากมาย เพราะฉะนั้นคนที่ไปเที่ยวและคนที่ทำธุรกิจต้องเข้าใจอัมพวา

ผมคิดว่าถ้าใครอยากไปสัมผัสกับอัมพวาที่แท้จริงต้องไปอย่างเข้าใจอัมพวา วิวอัมพวาก็เป็นบ้านสวน ป่าชายเลน จะไปแสวงหาความบันเทิงเริงรมย์ที่อัมพวาก็คงจะไม่ได้ ฉะนั้นถ้าไปแสวงหาความเงียบสงบ ภูมิปัญญาพื้นบ้านและวัฒนธรรมท้องถิ่นศิลปวัฒนธรรมอันงดงามก็จะมีส่วนช่วย แต่ถ้าประเภทที่นัดไปฮากัน ส่งเสียงดัง ไปดูหิ่งห้อยเนี่ย หิ่งห้อยหนีไปหมดและยังทำความเดือนร้อนรำคานให้กับชาวบ้าน อย่างนี้ถือว่าเป็นการทำลายอัมพวา ซึ่งยังได้ชื่อว่าเป็นดินแดนสวรรค์ที่ยังมีจริง"

ธันยพร กล่าวทิ้งท้ายว่า "ส่วนแนวโน้มในอนาคตของอัมพวา จริงๆจะขึ้นหรือลงอยู่ที่คนอัมพวา เขาจะเป็นคนตอบเอง คือท่องเที่ยวที่นี่แปลกตรงที่เขาจะเป็นคนกำหนดท่องเที่ยวด้วยตัวเขาเอง ถึงแม้จะมีคนมาเที่ยวแต่เขาจะบอกว่าเขาจะรับหรือไม่รับ เพราะเขาเป็นกลุ่มเป็นก้อน เขาสนิทกันเขารู้ถึงกันหมด ดังนั้นเขาจะเป็นตัวกำหนดเอง แต่ก็มีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเพราะปัจจุบันมีการพัฒนาถึงเรื่องของการจัดฝึกอบรมมัคคุเทศก์ของจังหวัดโดยมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ได้ร่วมมือกับสำนักพัฒนาฝีมือแรงงาน และ ททท. เพื่อที่ชุมชนของเขาจะได้รับรองนักท่องเที่ยวด้วยตนเองอย่างมีคุณภาพ และตัวนักท่องเที่ยวเองก็ต้องเข้าใจว่าเราจะไปเที่ยวอัมพวา ในแบบไหน"
กำลังโหลดความคิดเห็น