xs
xsm
sm
md
lg

ภารกิจใหม่ ใต้รหัส 514

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อุโมงค์หลบภัยในพื้นที่ค่าย 514
...ณ แผ่นดินถิ่นนี้คือด้ามขวาน เกิดตำนานการต่อสู้กู้ศักดิ์ศรี
คือนักรบประชาชนเมืองคนดี ที่ยอมพลีชีวิตอุทิศตน
นับสิบปีร่างถูกฝังกลางราวป่า แนวพนาห่างไกลไร้สถาน
ด้วยจิตมั่นสืบสานปณิธาน โลกกล่าวขานปฏิวัติสังคมไทย...

จากจารึก ณ อนุสรณ์สถานวีรชนบ้านช่องช้าง อ.นาสาร จ.สุราษฏร์ธานี

หากย้อนกลับไปเมื่อสมัย 30 กว่าปีก่อน ในรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประเทศชาติตกอยู่ในอำนาจเผด็จการทหาร บ้านเมืองเกิดความแตกแยกระส่ำระสาย จากเหตุการณ์อันน่าสะพรึงกลัว 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 มีการปราบปรามนิสิตนักศึกษาอย่างรุนแรงทำให้นิสิตนักศึกษาวัยรุ่นหนุ่มสาวพากันหันหลังให้เมืองที่เคยอยู่ มุ่งหน้าเข้าป่าด้วยความมุ่งมั่นที่อยากจะมีสังคมที่เป็นธรรม แม้หนทางที่ต้องเจอจะยากลำบากอย่างใหญ่หลวงเพียงใดก็ตาม

*พรรคคอมมิวนิสต์ สู่ “ค่าย 514”

จากเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย 14 ตุลาคม 2516 และภาพหลอนของเหตุการณ์นองเลือด 16 ตุลาคม 2519 ที่ต้องเห็นรุ่นพี่นักศึกษาวิ่งหนีออกมาจากรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้วถูกรุมตีจนเลือดนองพื้นบาดเจ็บสาหัส บางคนล้มลงตายคาที่ต่อหน้าต่อตาอย่างทารุณ บวกกับการมีรายชื่อติด 1 ใน 20 ในบัญชีดำของทางการฐานที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง แม้ตนจะรู้สึกปรารถนาต่อชาติบ้านเมือง แต่วิธีคิดอาจแตกต่างจากคนอื่นทำไมต้องเข่นฆ่ากันถึงขนาดนั้น และความใฝ่ฝันที่อยากจะสร้างสังคมที่เป็นธรรมขึ้นมาเป็นแรงผลักดันให้ ธีรภาพ โลหิตกุล ตัดสินใจหันหลังให้สังคมเผด็จการ เดินทางสู่หนทางที่คาดหวังว่าจะนำความเป็นธรรมมาสู่สังคมไทย

ธีรภาพ โลหิตกุล หรือ สหายศักดิ์ เล่าว่า การเคลื่อนไหวของ ทปท. (ทหารปลดแอกแห่งประเทศไทย) ในภาคใต้มีมานานแล้ว แต่ยังเป็นพลพรรคขนาดเล็กไม่สามารถตั้งค่ายได้ อาศัยหลบหลีกไปในป่าแบบที่เรียกว่า จรยุทธ จนมาในปี 2508 กำลังพลมีมากพอสร้างค่ายได้ ก็ได้เลือกเอาทำเลที่อยู่บนเทือกเขานครศรีธรรมราชทิศเหนือมาตั้งค่ายและใช้รหัสว่า 'ค่าย508' หรือ 'ค่ายช่องช้าง' อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฏร์ธานี ต่อมาก็มีการขยายเขตงานไปสร้างแนวร่วมมวลชนมาสู่เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำตาปี ฝั่ง อำเภอเคียนซา ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นป่าดิบชื้นขนาดใหญ่มีชาวบ้านอยู่ประปราย ขณะเดียวกันก็มีความไม่พอใจของอำนาจเผด็จการของรัฐบาล มีการปราบปรามคอมมิวนิสต์รุนแรง บางคนไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ก็โดนปราบ โดนกลั่นแกล้ง โดนจับกุม จึงมีคนมาเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์มากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดก็สามารถตั้งค่ายที่ 2 ได้ในปี 2514 ใช้ชื่อรหัสเรียกว่า 'ค่าย 514'

ค่าย 514 นี้ตั้งอยู่ในเขตดงเคียนซา อำเภอเคียนซา จังหวัดสุราษฏร์ธานี ซึ่งมีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มป่าดิบชื้นขนาดใหญ่บริเวณลุ่มแม่น้ำตาปี เพราะพื้นที่เป็นที่ราบไม่มีอะไรบังจึงจำเป็นต้องย้ายค่ายบ่อยๆ เพื่อไม่ให้โดนทางการใช้ปืนใหญ่บอมบ์ได้ง่าย ค่าย 514 นี้จึงมีการย้ายค่ายมาแล้วนับ 10 ครั้ง จนถึงช่วงปี 2523-2525 รัฐบาลเริ่มมีนโยบาย 66/23 เลิกใช้ความรุนแรงในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ หันมาใช้สิ่งที่เรียกว่าการเมืองนำการทหาร ประกอบกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็เปลี่ยนแนวนโยบายใหม่ ไม่สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ไทยอย่างเข้มแข็งเหมือนที่ผ่านมา และพรรคคอมมิวนิสต์เริ่มมีความขัดแย้งภายในพรรค

รัฐบาลได้ใช้วิธีการที่เรียกว่า 'การล้อมปราบ' เพื่อให้คนที่เป็นแนวร่วมทยอยออกมาจากป่า จะไม่ใช้ความรุนแรงและไม่โดนจับ ให้มาใช้ชื่อว่าเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย จึงทำให้ ทปท. ทั้งประเทศอ่อนแอลงเรื่อยๆ จนในที่สุดคนก็ทยอยออกจากป่าหมดในปี 2527

*จากต่างครอบครัวสู่ความเป็น “สหาย”

สหายศักดิ์ เล่าถึงสิ่งที่ได้พบหลังเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพรรคฯ ว่า

“การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธเป็นเพียงวิธีการในสมัยนั้น เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ต้องการสร้างสังคมที่เป็นธรรม แต่ว่าสิ่งที่เราไปพบในป่าก็คือความงดงามในวัฒนธรรมธรรมของชาวคอมมิวนิสต์หลายประการ เช่น การส่งเสริมจิตใจ เสียสละเพื่อส่วนรวม ทุกคนเข้าไปยากลำบากพอๆ กันแต่พรรคสอนให้เราเสียสละให้มากที่สุด ถ้าอาหารมีไม่พอ เราก็เสียสละให้คนอื่นก่อนอยู่เสมอ เราได้พบจิตใจที่สุภาพอ่อนโยน การไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดมึงกู การมีระเบียบวินัยอย่างเคร่งคัดในเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศ อบายมุข การเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน ร่วมทุกร่วมสุขกัน เราได้พบความอบอุ่นของคนที่มาจากต่างครอบครัวทั่วสารทิศแต่มีน้ำใจเดียวกันก็คือ อยากจะใฝ่ฝันเห็นสังคมที่งดงามและเป็นธรรม สมกับคำที่ใช้นำหน้าว่า 'สหาย' สหายแปลว่า ผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุขและร่วมอุดมการณ์”

นี่คือความงดงามที่ติดตรึงใจพวกเรามา แม้ว่าการต่อสู้จะจบไปแล้ว แม้พรรคคอมมิวนิสต์จะล่มสลายไปแล้ว แต่คนที่ผ่านการอบรมบ่มเพาะที่เข้าขบวนการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ส่วนใหญ่จะขยันขันแข็ง อดทน เสียสละ เห็นคุณค่าของเพื่อมนุษย์ทัดเทียมกัน เห็นประโยชน์ของคนส่วนร่วมมากกว่าส่วนตน

“ผมเองเมื่ออกจากป่าแล้วก็กลับเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผมก็มีความรู้สึกว่าผมอยู่ในสังคมไหน ผมควรจะทำประโยชน์ให้สังคมนั้น และผมก็ร่วมทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวมมาตลอดและไม่กลัวว่าใครจะเอาเรื่องที่ผมเคยเป็นคอมมิวนิสต์มาก่อนไปเปิดโปง ดังนั้น ผมคิดว่าเราได้ไปเห็นด้านที่งดงามของพรรคมาแล้ว ต่อเนื่องจนกระทั่งออกจากพรรคมันก็ยังติดตัวเรามันผนึกแน่นอยู่ในความรู้สึกนึกคิด ในขณะที่การใช้กำลังอาวุธมันเหมือนกับลมที่พัดผ่านไปตามกาลเวลาเท่านั้น”

ด้าน สหายเมธี หรือ พลากร จิรโสภณ ก็ได้เล่าถึงสหายที่แม้จะมาจากต่างครอบครัว ต่างการเลี้ยงดู แต่ก็มาอยู่รวมกันได้ว่า

“ผมมองว่ามนุษย์เวลาที่มีอุดมการณ์หรือเป้าหมายร่วมกันจะไปด้วยกันได้ เมื่อเราอยู่ในพรรคเราก็มีตำราเล่มเดียวกัน มีเรื่องราวที่อ่านมาเหมือนกัน ถูกหล่อหลอมด้วยแนวความคิดที่คล้ายๆ กัน เหมือนในคำจีนที่ว่า แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง อะไรที่มันต่างกันก็เก็บไว้ก่อนเอา หาสิ่งที่มันร่วมกันแล้วทำงานด้วยกัน จึงทำให้อยู่รวมกันได้ ผมเชื่อว่าในสังคมก็ทำแบบนี้ได้”

นอกจากนี้ สหายเมธี ยังได้เล่าถึงประสบการณ์และวิธีคิดที่ได้จากพรรคว่า

“เมื่อเราเข้าร่วมกับพรรคเราต้องศึกษาทฤษฏีลัทธิมาร์กซ์ ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ส่วน ส่วนแรกคือปรัชญา ที่ใช้มากคือปรัชญาวัตถุนิยมวิภาษ ส่วนที่ 2 คือเศรษฐศาสตร์การเมือง การต่อสู่ทางการเมือง และการต่อสู่ทางชนชั้น ส่วนที่ 3 คือวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ ในเชิงวิวัฒนาการของสังคมที่เป็นไปตามความเชื่อของลัทธิมาร์กซ์ คือสังคมนิยม สิ่งเหล่านี้ใช้ได้ในช่วงการปฏิวัติ แต่สิ่งที่หลงเหลือมาในการดำรงชีวิตในเรื่องของความคิดวัตถุนิยมวิภาษวิธี ซึ่งเป็นการสอนให้เรามีความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ สอนให้เรามองอะไรเป็นสองด้าน สอนให้เราวิเคราะห์ปัญหาอย่างรอบด้าน

“ตอนอยู่ในขบวนการปฏิวัติเวลาเขาวิเคราะห์หรือมองปัญหาเขาจะพูดเป็นข้อๆ มีด้านหนึ่งเป็นแบบนี้ อีกด้านหนึ่งเป็นแบบนี้ และต้องรู้จักแยกแยะ นี่คือวิธีคิดของพรรค ซึ่งวิธีคิดนี้เอามาใช้ในการทำธุรกิจและการดำรงชีวิตได้ เวลาเรามองอะไรจะมองแบบเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่มองอะไรด้านเดียว ไม่มองอะไรแบบเป็นกลไกตายตัวเช่น 1 บวก 1 เท่ากับ 2 เราอาจมองว่า 1 บวก 1 อาจจะไม่เท่ากับ 2 เท่านั้นก็ได้ อาจเท่ากับอย่างอื่นด้วยก็ได้ นี่คือคุณูประการที่ได้จากพรรค” สหายเมธีเล่า

ในเชิงของความเป็นคน ถ้ามีหลักในการดำเนินชีวิตมีปรัชญาในการดำเนินชีวิตก็จะทำให้เขาดำเนินชีวิตไปอย่างมีหลักมีเกณฑ์ ซึ่งในระดับปัญญาชนอาจจะไม่ค่อยแปลกเท่าใดที่จะรู้จักหลักคิด แต่ถ้าเราไปเห็นชาวนาที่มีการศึกษาน้อยสามารถคิดแบบนี้ได้ด้วยก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าชาวนาเขาคิดแบบนี้ได้อย่างไร เขามีระบบคิดอย่างเป็นระบบได้อย่างไร

นอกจากนี้ ในหมู่ของสหายที่เข้าร่วมการปฏิวัติ มักจะเป็นคนที่ถูกผลักดันให้สนใจในด้านต่างๆ กว้างขวางรอบด้านในช่วงที่เราตื่นตัวทางการเมือง เนื่องจากเรามีแม่แบบที่เป็นนักคิดนักเขียนในหมู่สังคมนิยมไทย เช่น จิตร ภูมิศักดิ์ ที่ถือว่าเป็นปัญญาชนปฏิวัติที่รอบรู้ในเรื่องของวรรณคดี โบราณคดี ในเรื่องของภาษา บทกวี บทเพลง นักแปล หรือศรีบูรพาที่เขียนนิยายที่เป็นอมตะเอามาสร้างเป็นละครโทรทัศน์เรื่องแล้วเรื่องเล่า ซึ่งเรารู้ว่าคนเหล่านี้คือคนที่เข้าร่วมกับพรรคและเป็นแบบอย่างและมีผลงานที่น่าศึกษา

*จากค่าย 514 สู่ศูนย์เรียนรู้ที่ยั่งยืน

จากการที่อดีตสหายที่กลับมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยและมวลชนจำนวนมากยังคงคิดถึงบรรยากาศในสมัยนั้น ที่มิใช่บรรยากาศของการสู้รบหรือบรรยากาศของความรุนแรง แต่หากคิดถึงบรรยากาศที่ไม่มียาเสพติด ไม่มีโจรขโมย ไม่มีผู้มีอิทธิพล ไม่มีนักเรียนยกพวกตีกัน ไม่มีเด็กแว๊น เด็กสก๊อย ถึงวันนี้พวกเขาเริ่มมีปัญหาว่าลูกหลานเขาเจอปัญหาสิ่งเหล่านี้ ฉะนั้น จึงเกิดความคิดว่าอดีตสหายน่าจะรวมตัวกันอีกครั้งหนึ่ง แต่ไม่ได้รวมตัวกันเพื่อต่อต้านรัฐบาลหรือต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ หากแต่รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องเอาความงดงามคืนกลับมา จนกระทั่งมีอดีตสหายคนหนึ่งบริจาคที่ดิน ซึ่งเป็นพื้นที่ดินที่ยังคงเป็นป่าดิบชื้น ค่อนข้างสมบูรณ์ในวงล้อมของป่ายาง

สหายเพลิน หรือ สมปอง ธราพร หนึ่งในสหายรุ่นแรกของพรรคและผู้บริจาคที่ดินสร้างศูนย์ฯ เล่าว่า

“เรามองว่าต่อไปป่าไม้มันหมด เด็กรุ่นหลังจะมาดูอะไร เราทำเพื่อให้เด็กๆ มาดูป่าไม้ มาดูว่านี่ต้นอะไร นี่หวายอะไร เราคิดอย่างนั้น จึงทำตรงนี้ขึ้นมา ส่วนอีกประการหนึ่งคือต้องการรวมพรรคพวกสหายที่เคยอยู่ร่วมกันมาพบปะกัน

"ผมจึงได้บริจาคที่ดินจำนวน 16 ไร่ และคนอื่นบริจาคอีก 3 ไร่ รวมทั้งสิ้น 19 แล้วก่อร่างเป็นแนวคิดร่วมกันว่า ที่ดินตรงนี้นอกจากจะเป็นป่าดิบชื้นที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์เหลืออยู่น้อยนิดของดงเคียนซาแล้ว ยังเป็นที่ที่เคยตั้งค่ายของ 514 มาก่อน 514 มีหลายค่าย แต่หนึ่งในค่ายที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับตรงนั้นเราเรียกว่า ค่ายโรงสี คือค่ายที่มีโรงสี ใช้สีข้าวเลี้ยงทั้งกองทัพ

"ดังนั้น พื้นที่นี้นอกจากจะมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์สังคมลุ่มน้ำตาปีในช่วงที่เราเคลื่อนไหวเมื่อ 30 กว่าปีมาแล้ว ยังมีความสมบูรณ์ของธรรมชาติ ประกอบกับว่ามีนักเรียนลูกเสือเนตรนารีของโรงเรียนในย่านนั้นมาออกค่าย จึงคิดกันว่าในเมื่อมีนักเรียนมาใช้กันอยู่แล้ว น่าจะตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้เพื่อให้เขาเรียนรู้ในเรื่องของธรรมชาติ พันธุ์ไม้ และให้เขาเรียนรู้ว่าพี่ป้าน้าอาญาติพี่น้องของเขาที่เข้าป่า เข้าเพราะอะไร เข้ามาทำอะไร มีชีวิตอยู่อย่างไร อุดมคติของคอมมิวนิสต์ที่นอกจากจะใช้การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธเป็นวิธีการแล้ว อุดมคติจริงๆ เขาคืออะไร เพื่อรำลึกถึงอุดมคติที่งดงามของชาวพรรคคอมมิวนิสต์ที่ไม่ใช่การใช้กำลังอาวุธ"

เพื่อต้องการให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ยั่งยืนของเยาวชนคนรุ่นหลัง จึงใช้ชื่อที่ตรงนี้ว่า 'ศูนย์เรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ ค่าย 514' ภายในศูนย์ฯ นี้ประกอบด้วยอาคารนิทรรศการและพื้นที่จำลองค่าย 514 ซึ่งในพื้นที่จำลองนี้มีสิ่งปลูกสร้างที่เป็นร้านหรือเรือนพักของสหายนำและสหายที่มีครอบครัว ร้านหรือเรือนพักรวมสหายชาย ร้านหรือเรือนพักรวมสหายหญิง โรงพยาบาล โรงครัว สนามกีฬา สนามรวมพลและลานบันเทิง โรงเรียนไฟลามทุ่ง หรือจะเป็นห้องสุขาที่สร้างจำลองแบบในสมัยก่อน ให้ผู้ที่เข้ามาชมได้ศึกษาถึงวิถีการใช้ชีวิตของเหล่าผู้เข้าร่วมปฏิวัติอย่างแท้จริง

และในอนาคตอาจจะขยายออกไปสู่ภูมิปัญญาพื้นบ้านและวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น จะมีศูนย์แพทย์แผนโบราณที่ใช้สมุนไพรท้องถิ่น ตั้งเป็นศูนย์อาหารพื้นบ้าน ศูนย์วัฒนธรรมที่มีเรื่องของมโนรา หนังตะลุง เพลงบอกของท้องถิ่น ตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีเรื่องราวของชาวพรรคคอมมิวนิสต์สืบต่อไป

ณ วันนี้แม้สภาพการณ์บ้านเมืองจะแปรเปลี่ยน พลิกผันจากเผด็จการทหารไปสู่เผด็จการรัฐสภา แต่ทว่าการต่อสู้ของภาคประชาชนผู้รักความถูกต้องชอบธรรมยังคงอยู่ และจะยังคงอยู่ตลอดไป

********************

'ศูนย์เรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ ค่าย 514' ตั้งอยู่ที่บ้านในปราบ หมู่ 5 ตำบลบ้านเสด็จ อำเภอเคียนซา จังหวัดสุราษฏร์ธานี สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เว้นแต่ประสงค์จะเข้าค่ายหรือค้างคืน และควรแจ้งล่วงหน้าที่ สหายเสริม หรือ วัชรินทร์ จันทร์รอด โทร.0-7743-9008, 08-7889-3084 เพื่อจัดเตรียมมัคคุเทศก์เพื่อต้อนรับ หากเป็นคณะใหญ่อาจจะมีการแสดงเล็กน้อยเพื่อต้อนรับ เช่น การแสดงการออกกำลังกาย การสวนสนามอย่างย่อๆ เป็นต้น
จากพรรคคอมมิวนิสต์สู่ศูนย์เรียนรู้ที่ยั่งยืน
ร้านหรือที่อยู่ของสหาย
เด็กๆมาเรียนรู้และเที่ยวเล่นในศูนย์ฯอย่างสนุกสนาน
บรรยากาศธรรมชาติของศูนย์ฯ
บรรยากาศธรรมชาติของศูนย์ฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น