เกาะพีพีร่วมกับททท.จัดกิจกรรมเก็บขยะใต้ท้องทะเล เพื่อร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและรับฤดูกาลท่องเที่ยว หัวหน้าชุดเก็บขยะวอนนักท่องเที่ยวนำขยะคืนฝั่ง ด้านทีมงานดำน้ำเผยขยะใต้ทะเลยังมีมากเพราะพฤติกรรมคนทิ้งขยะยังไม่ดีขึ้น
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สมาคมกรีนฟินส์ ร่วมกับภาครัฐและเอกชนบนเกาะพีพี จัดกิจกรรมเก็บขยะใต้ทะเลภายใต้ชื่อ “โครงการ Nature Heal ทำความสะอาดแนวปะการัง หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่”ในวันที่ 11 พ.ย.51 เพื่อรับฤดูกาลท่องเที่ยวหรือไฮซีซั่นทางทะเลอันดามัน
สำหรับโครงการ Nature Heal ถือเป็นแนวทางหนึ่งในการฟื้นฟูสภาพแนวปะการังและโลกใต้ท้องทะเลบริเวณหมู่เกาะพีพีให้กลับมามีสภาพที่สมบูรณ์มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการรณรงค์ไม่ให้นักท่องเที่ยวทิ้งขยะลงทะเลเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า
โครงการนี้มีวัตถุประสงค์คือ สนับสนุนนโยบายของททท.ในบทบาทด้านการท่องเที่ยวเพื่อต้านภัยโลกร้อน “7 Greens ” (Green Attraction) เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ชุมชนในท้องถิ่นเห็นความสำคัญและมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในแหล่งท่องเที่ยว เพื่อทำความสะอาดแนวปะการังให้มีสภาพสมบูรณ์ตามธรรมชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมและเพิ่มศักยภาพของแหล่งดำน้ำเพื่อรองรับกิจกรรมการท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมและรณรงค์การอนุรักษ์แนวปะการังในกลุ่มนักท่องเที่ยว นักดำน้ำ เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวร่วมกันมือดูแล รักษาแหล่งท่องเที่ยว
เปลี่ยนประสพ ขาวนวล หัวหน้าอุทยานแห่งชาตินพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี หัวหน้าชุดที่ดูแลด้านการเก็บขยะในครั้งนี้ เปิดเผยว่า การเก็บขยะใต้ทะเลที่เกาะพีพีนั้นแม้จะทำกันมาหลายครั้งแต่ก็ยังมีขยะอยู่ ทำให้ต้องทำกันอย่างต่อเนื่องอยู่เรื่อยๆ โดยการดำน้ำเก็บขยะในครั้งนี้ ทางทีมงานได้ไปใน 3 จุด อ่าวมาหยา โล๊ะซามะ ปิเละ
“ขยะใต้ทะเลยังเป็นปัญหาของเกาะพีพีอยู่มาก เนื่องมาจากความมักง่ายของนักท่องเที่ยว ซึ่งเท่าที่สังเกตจากพฤติกรรมที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวไทยจะมีพฤติกรรมทิ้งขยะไม่เป็นที่มากกว่าชาวต่างชาติ”
เปลี่ยนประสพ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปัญหาเรื่องขยะบนบกนั้นปัจจุบันถือว่าดีขึ้น เพราะที่ผ่านมาแม้ทางอุทยานฯมีมาตรการบังคับให้เรือทุกลำและนักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวตามจุดต่างๆนอกจากเกาะพีพีดอน ต้องนำขยะกลับไปฝั่ง เนื่องจากบนเกาะพีพีไม่มีที่กำจัดขยะ ซึ่งก็ทำให้ช่วยลดขยะบนบกได้ส่วนหนึ่ง
“สิ่งที่อยากฝากไปถึงนักท่องเที่ยวที่มาเกาะพีพีคือ ขอให้ช่วยกันแยกขยะ เพราะทางเกาะได้จัดทำถังแยกขยะให้ เพราะปีหนึ่งๆอบต.ต้องเสียเงินนำขยะกลับฝั่งจำนวนมาก หรือทางที่ดีที่สุดก็คือ การช่วยกันนำขยะกลับฝั่ง เพื่อไม่ให้เกิดขยะตกค้างเพราะบนเกาะพีพีไม่มีที่กำจัดขยะ” เปลี่ยนประสพกล่าว
ด้านชัยรัช ทิพสาร หนึ่งในทีมงานดำน้ำเก็บขยะจากศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยว่า ขยะใต้น้ำส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตใต้น้ำมาก เพราะขยะที่เป็นพิษจะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรใต้ทะเลมาก ถ้าปลา ปะการัง ไปเกาะ กัด กิน อาจจะส่งผลต่อชีวิตได้
ชัยรัช เล่าต่อว่า สำหรับขยะที่เก็บได้นั้น ที่พบมากก็มี ขวด กระป๋องแคน เศษโลหะ ยางรถยนต์ อวน แกลลอนน้ำมัน ส่วนที่แปลกๆก็มี กล้องถ่ายรูป โทรศัพท์มือถือ โดยกระบวนการเก็บขยะ ก่อนลงดำน้ำ จะศึกษาจุดลงไปเก็บ จากนั้นจะลงไปเป็นทีมช่วยกันเก็บขยะ เมื่อได้แล้วจะนำมาส่งให้เรือหางยาวที่จอดคอยอยู่ แล้วจึงนำกลับสู่ฝั่งเพื่อคัดแยกขยะอีกที ซึ่งขยะประเภทไหนขายได้ก็จะนำไปขายเพื่อเป็นเงินทุนสนับสนุนการเก็บขยะครั้งต่อไป ส่วนขยะประเภทไหนขายไม่ได้ก็จะส่งให้อบต.นำขยะไปทำลายต่อไป
“บางครั้งแค่การทิ้งเปลือกลูกอม ก้นบุหรี่ ลงทะเล หากปลาตัวเล็กไปกินอาจทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งจากการลงดำน้ำเก็บขยะหลายครั้งพบว่าปริมาณของขยะลงทะเลยังคงมีมากเหมือนเดิม นั่นแสดงว่าพฤติกรรมคนทิ้งขยะยังไม่ดีขึ้น”ชัยรัชกล่าว