xs
xsm
sm
md
lg

“ททท.หาดใหญ่-พัทลุง” เผย 5 กลยุทธ์ ปั้นท่องเที่ยวสีเขียวโกยเงินกว่าหมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประภาส อินทนประสาธน์ ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานหาดใหญ่-พัทลุง
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – ผอ.ททท.หาดใหญ่-พัทลุงเผยหาดใหญ่ไล่หลังติดอันดับ 4 ใน 5 ของเมืองท่องเที่ยวทำรายได้สูงในภาคใต้เมื่อปีที่ผ่านมา เร่งเครื่องเปิดแผนปั้นรายได้สงขลา-พัทลุงกว่าหมื่นล้านด้วย 5 กลยุทธ์เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวในปี 2552 โดยจับกระแสการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ ลดภาวะโลกร้อนเปิดตัวแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง พร้อมหนุนให้หาดใหญ่เป็น 1ใน 4 ของแหล่งท่องเที่ยวทางเลือกสำหรับกลุ่มที่มีรายได้สูง มั่นใจเมืองหาดใหญ่ฟื้นแน่หากยังคงไร้เหตุความรุนแรง ด้านนายกสมาคมโรงแรมหาดใหญ่-สงขลาชี้ ปีนี้ผู้ประกอบการเริ่มลืมตาอ้าปากได้ จากยอดนักท่องเที่ยวที่ทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ขณะกระแสข่าวยุติก่อความรุนแรงจังหวัดชายแดนใต้ส่งผลดีต่อจิตวิทยาการท่องเที่ยว


นายประภาส อินทนประสาธน์ ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานหาดใหญ่-พัทลุง เปิดเผยถึงสถานการณ์ท่องเที่ยวของสงขลาและพัทลุง ซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบว่ามีแนวโน้มการเติบโตด้านการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ในปี 2550 พบว่าส่วนแบ่งรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งสงขลาและพัทลุงอยู่ที่ 7.34% ของรายได้รวมการท่องเที่ยวในภาคใต้ หรือคิดเป็นเงิน 13,340.48 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นรายได้จากสงขลา 12,842.52 ล้านบาท และพัทลุงอีก 497.96 ล้านบาท

ปัจจุบัน จ.สงขลา อยู่ในอันดับ 4 ใน 5 ของเมืองในภาคใต้ ที่ทำรายได้จากการท่องเที่ยวมากที่สุด สถานการณ์ท่องเที่ยวของ จ.สงขลาดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปี 2550 ซึ่งเห็นได้จาก 2 ไตรมาสแรกของปี 2551 เปรียบเทียบกับปี 2549 เนื่องจากไม่มีเหตุการณ์ความไม่สงบร้ายแรงใดๆ เกิดขึ้น มีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางเข้ามา 1,885,052 คน ชาวต่างชาติ 760,768 คน และแนวโน้มของการท่องเที่ยวในปีต่อๆไป ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ดีขึ้นด้วย จากความมั่นใจด้านความปลอดภัย

“เมื่อเปรียบเทียบรายได้จากการท่องเที่ยวของ จ.สงขลา ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบพบว่า ในปี 2546 มีนักท่องเที่ยวไทยเข้ามา 1,294,988 คน และชาวต่างชาติ 1,044,900 คน สร้างรายได้ให้แก่ภาคการท่องเที่ยว 14,210.08 ล้านบาท แต่เมื่อเกิดเหตุความไม่สงบขึ้นใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลาในปี 2547-2549 แม้ว่ายอดนักท่องเที่ยวชาวไทยจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะมีการเร่งจัดอบรมสัมมนาในพื้นที่เพื่อรักษาการท่องเที่ยว แต่ตัวเลขของนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง และสถานการณ์แย่สุดในปี 2548 ที่เหลือรายได้การท่องเที่ยวหายไปเกือบ 3,000 ล้านบาท เหลือเพียง 11,715.49 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 2,435.99 บาท/วัน แต่เมื่อนักท่องเที่ยวเริ่มมีความมั่นใจในความปลอดภัย สถานการณ์ก็ค่อยๆ ดีขึ้น” นายประภาสกล่าวต่อและว่า

สำหรับ จ.พัทลุง สถานการณ์ท่องเที่ยวกระเตื้องขึ้นมากในปี 2550 เนื่องจากมีการเปิดสะพานยกระดับหัวป่า-ไสกลิ้ง รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมไหว้พระ และกิจกรรมทางการกีฬา ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น ทำให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นลำดับที่ 6 มีนักท่องเที่ยวเป็นชาวไทย 499,335 คน ต่างชาติ 1,985 คน รายได้สะพัด 467.96 ล้านบาท
สมชาติ  พิมพ์ธนพูนพร  นายกสมาคมโรงแรมหาดใหญ่ สงขลา
ทั้งนี้ สถานการณ์นักท่องเที่ยวในช่วงปี 2548-2550 ของ จ.พัทลุงมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้แก่ 400,106 คน, 448,000 คน และ 499,335 คนตามลำดับ โดยที่สัดส่วนการเพิ่มของนักท่องเที่ยวไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสวนทางกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่แนวโน้มลดลง แต่รายได้ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้แก่ 403.43 ล้านบาท, 456.73 ล้านบาท และ 497.96 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 742.67 บาท/วัน ซึ่งยังมีข้อจำกัดที่ยังมีห้องพักและโรงแรมให้บริการน้อย

นายประภาส กล่าวต่อด้วยว่า สำหรับแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวของทั้ง 2 จังหวัดในปี 2552 สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจะนำเสนอให้หาดใหญ่เป็น 1 ใน 4 ของแหล่งท่องเที่ยวในภาคใต้ที่จะเป็นทางเลือกสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้สูงเทียบชั้นกับกระบี่,พังงา และสมุย

ขณะที่ ททท.สำนักงานหาดใหญ่(สงขลา-พัทลุง) จะผลักดันส่งเสริมให้หาดใหญ่ เป็นประตูของนักท่องเที่ยวจากประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เดินทางเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดใกล้เคียง ตลอดจนประชาสัมพันธ์และเสนอขายแหล่งท่องเที่ยวใหม่ใน จ.สงขลา เช่น ย่านเมืองเก่าสงขลา (ถนนนางงาม, ถนนนครนอก-นครใน) ล่องเรือทะเลสาบสงขลา (เกาะหนู เกาะแมว วิถีชีวิตชาวประมง) วิถีชีวิตโหนด-นา-เล, ถ้ำศรีเกสร เส้นทางขับรถรอบทะเลสาบสงขลา เป็นต้น

ที่ จ.พัทลุง เน้นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศทั้ง อ.ป่าบอน, เขาลูกล้อน, อุทยานแห่งชาติเขาปู่เขาย่า, เส้นทางตามรอยพระพุทธเจ้าหลวง, เส้นทางตามรอยเกจิอาจารย์สายวัดเขาอ้อ, วัฒนธรรมหนังตะลุง-มโนราห์, เมืองเก่าชัยบุรี เป็นต้น ร่วมกับการสนับสนุนกลุ่ม M.I.C.E. เดินทางเข้ามาในพื้นที่เพื่อสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยของจังหวัดชายแดนใต้ ผ่านการกระตุ้นด้วยกิจกรรมประชุม สัมมนา นิทรรศการ เป็นต้น

สำหรับแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวดังกล่าวได้เตรียม 8 โครงการ รองรับการส่งเสริมการท่องเที่ยวของทั้ง 2 จังหวัด ภายใต้ 5 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 1.การรณรงค์ให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างรู้คุณค่ารักษาแหล่งท่องเที่ยว 2.ส่งเสริมการท่องเที่ยวในเชิงมิติของการเรียนรู้ อนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยวทางทะเล และมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลให้คงความอุดมสมบูรณ์

3.สร้างกระแสให้การท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เพื่อขายสินค้าการท่องเที่ยวแบบพิเศษ (Niche Market) แก่นักท่องเที่ยวที่มีความสนใจเฉพาะด้าน เช่น จัดถ่ายภาพ ศาสนา วิถีชีวิตภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเน้นกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพื่อเป็นการประหยัดพลังงานและตอบสนองต่อภาวะโลกร้อน 4.สร้างการรับรู้ความเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ โดยส่งเสริมให้เกิดการเดินทางเพื่อสุขภาพและเป็นทางเลือกอีกรูปแบบหนึ่งของการท่องเที่ยว 5.ส่งเสริมการเดินทางเชื่อมโยง เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เดินทางมากยิ่งขึ้น พร้อมนำเสนอเอกลักษณ์ที่โดดเด่น
บัญญัติ พัทธธรรม เจ้าของเขาชันเฮอริเทจ ต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง
“ทิศทางการท่องเที่ยวในก้าวต่อไป นอกจากหาดใหญ่ต้องเป็นประตูการท่องเที่ยวแล้ว จะต้องกระจายนักท่องเที่ยวไปยังจังหวัดอื่น โดยเน้นการท่องเที่ยวแบบสีเขียว ขณะนี้ชาวต่างชาติจะให้ความสำคัญต่อการท่องเที่ยวที่ลดภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นสิ่งดึงดูดการท่องเที่ยวสอดคล้องกับจุดแข็งของพื้นที่ของเราเป็นอย่างดี” นายประภาสกล่าว

ด้านนายสมชาติ พิมพ์ธนพูนพร นายกสมาคมโรงแรมหาดใหญ่ สงขลา เผยว่าภาพรวมของการเข้าพักในโรงแรมต่าง ๆ ของ จ.สงขลาในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ผู้ประกอบการโรงแรมอยู่ได้ และเชื่อว่าหากเหตุการณ์ความรุนแรงลดลงจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น เพราะหัวใจของการท่องเที่ยวใน จ.สงขลา และในจังหวัดชายแดนภาคใต้คือเรื่องของความปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม สำหรับการแถลงของกลุ่มใต้ดินรวมภาคใต้ของประเทศไทย ในการยุติการก่อความไม่สงบ แม้ว่าจะยังไม่มีหน่วยงานใดออกมารับรองเกี่ยวกับแถลงการณ์ดังกล่าว แต่ในแง่ของการท่องเที่ยวแล้วข่าวที่ปรากฏออกมาถือเป็นข่าวดีในรอบ 4 ปี เพราะจะมีผลทางจิตวิทยา ที่ทำให้นักท่องเที่ยวมีความมั่นใจมากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย ซึ่งเป็นกลุ่มหลักของ จ.สงขลา และจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในมาเลเซียสอบถามเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเข้ามาอย่างต่อเนื่อง มีผลในเชิงจิตวิทยาที่ส่งผลในแง่บวกต่อความมั่นใจของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ จ.สงขลา และจังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น

ส่วนนายบัญญัติ พัทธธรรม เจ้าของเขาชันเฮอริเทจ ต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง เปิดเผยว่า นักท่องเที่ยวที่เข้ามาใน จ.พัทลุง ส่วนใหญ่จะอยู่วันเดียวแล้วกลับ เดินทางเข้าพักคนเดียว และมาเป็นครอบครัวในวันหยุด ถ้าเป็นกลุ่มใหญ่จะเน้นการเข้ามาประชุมสัมมนาของข้าราชการองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากปัจจุบันการคมนาคมมีความสะดวกขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก

ทั้งนี้ จากการที่พัทลุงยังไม่มีความพร้อมด้านที่พักอาศัย ซึ่งยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดก่อสร้างห้องพัก แต่ควรเปิดตัวและเน้นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ซื้อของที่ระลึก รับประทานอาหาร จึงควรเตรียมความพร้อมด้านบริการ ซึ่งการจัดท่องเที่ยวใน จ.พัทลุง สามารถใช้เวลาเพียง 1 วัน โดยไม่ต้องพักค้างคืน ขณะที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งเป็นคลัสเตอร์การท่องเที่ยวของพัทลุง มีความพร้อมรองรับด้านที่พักซึ่งมีห้องพักจำนวนมาก เพื่อแชร์รายได้กันระหว่างพัทลุง-หาดใหญ่
กำลังโหลดความคิดเห็น