xs
xsm
sm
md
lg

ชิโน-มลายู แปลกใหม่ในระนอง / ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี
ไกด์น้อย กลุ่มอาสาฯรักหาดส้มแป้น เปา(ซ้าย) กล้วย(กลาง) ต๋อง(ขวา)
ตัวเมืองระนอง

8 โมงกว่าๆ ณ จุดนัดพบหน้าที่พัก รถสองแถวไม้สีแดงสด 3 คัน จอดเรียงแถวรออยู่พักใหญ่แล้ว

เช้านี้คณะเรามีโปรแกรมนั่ง 2 แถวไม้เที่ยวชมเมืองระนอง ซึ่งตัวผมเองแม้จะเคยเที่ยวตัวเมืองระนองมาหลายครั้งแล้ว แต่ครั้งนี้ถือว่ามีความพิเศษอยู่ 2 เด้ง

เด้งแรก คือการนั่งรถ 2 แถวชมเมือง กิจกรรมใหม่ที่จ่าสิบเอก กฤษดา เอกวานิช หรือจ่าดา ประธานชมรมอนุรักษ์ฯและเครือข่ายท่องเที่ยวนิเวศจังหวัดระนองจัดขึ้น เพื่ออนุรักษ์รถ 2 แถวไม้เหล่านี้ไว้ เนื่องจากเป็นหนึ่งสีสันเมืองระนองที่ปัจจุบันมีจำนวนลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ

เด้งสอง ที่ไม่ใช่สองเด้ง(เจ้ามือจ่าย 2 ต่อ) คือการได้พบกับเหล่ายุวมัคคุเทศน์น้อยหรือไกด์น้อย 3 คน ได้แก่ น้องกล้วย(หญิง) น้องเปา(ชาย)และน้องต๋อง(ชาย) ที่จะมาเป็นผู้นำชมสิ่งน่าสนใจต่างๆในโปรแกรม ซึ่งเมื่อปลายปีที่แล้ว ผมไปเที่ยวระนองแคนยอนเจอต๋องกับเพื่อนอีก 2-3 คน มาทำหน้าที่ไกด์น้อยคอยพาชมโน่นชมนี่ให้ฟัง

แม้พวกเขาไม่ใช่ไกด์มืออาชีพ แต่ความเป็นธรรมชาติ ความใสซื่อ น่ารักของพวกเขานี่แหละคือเสน่ห์สำคัญของเหล่าไกด์เมืองระนองและไกด์น้อยทั่วประเทศ

1...

ไกด์น้อย 1 คน ประจำรถ 2 แถว 1 คัน

ไกด์คันที่ผมนั่งคือน้องกล้วยหรือ ด.ญ. ชนกนันท์ จันทวิชานุวงษ์ นักเรียนชั้น ม.3 ร.ร.สตรีระนอง คนบ้านหาดส้มแป้นแต่มาพักอยู่ที่ตัวเมืองระนอง

น้องกล้วยเรียนเก่ง(เกรด 3.98 )พูดเก่ง ฉะฉาน แต่ออกอาการเขินอายกล้องบ้างในบางครั้ง

งานนี้ด้วยความที่ผมเคยมาเที่ยวเมืองระนองบ่อยครั้ง ผมจึงลดระดับความสนใจในจุดท่องเที่ยวลง แต่หันไปยกระดับความสนใจของพวกน้องๆไกด์น้อยให้มากขึ้น และนั่นก็เป็นมูลเหตุของการสืบสาวความเป็นมาของเหล่าไกด์น้อยกลุ่มนี้

“พวกเราเป็นกลุ่มเยาวชนอาสาสมัครรักหาดส้มแป้นคะ ชมรมนี้เป็นการรวมกลุ่มของเยาวชนในตำบลเพื่อร่วมกันทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์และสร้างสรรค์ ปัจจุบันชมรมเรามีสมาชิกอยู่ 144 คนคะ”

น้องกล้วยเล่า ก่อนอธิบายความเป็นมาของกลุ่มพอสรุปคร่าวๆว่า ชมรมนี้เกิดจากแนวคิดของรุ่นพี่ๆที่เรียนจบไป(มีพี่จ๋าจ้าเป็นแกนนำคนสำคัญ ตอนนี้เรียนอยู่มหาวิทยาลัย) เล็งเห็นว่าตำบลนี้มีเด็กๆเยอะ จึงรวบรวมเด็กๆมาพูดคุยและก่อตั้งเป็นกลุ่ม "อาสาสมัครรักหาดส้มแป้น" ขึ้นในปี 2548 (แบบชมรมในมหาวิทยาลัย) เพื่อให้สมาชิกใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ไม่ไปมั่วสุมตามร้านเกมและอบายมุขอื่นๆ อีกทั้งยังเป็นการเชื่อมประสานความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มเด็กๆในตำบลให้แน่นแฟ้นมากขึ้น

หลังก่อตั้งกลุ่มเยาวชนเหล่านี้ได้หารือกับอบต.หาดส้มแป้น ขอวิทยากร ขอผู้ทรงความรู้ ครูภูมิปัญญามาอบรมเด็กๆ พร้อมจัดทำกิจกรรมต่างๆขึ้นมา ตามความต้องการและแนวคิดของเด็กๆในกลุ่ม อาทิ กลุ่มดนตรีไทย นาฏศิลป์พื้นบ้าน ระบำร่อนแร่ มวยไทย ทำว่าวไทย และกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อการท่องเที่ยวหรือกลุ่มยุวมัคคุเทศน์ที่มีน้องกล้วยเป็นสมาชิกอยู่(ในชมรมนี้นอกจากน้องกล้วยจะเป็นมัคคุเทศก์น้อยแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญเพราะเป็นทั้งฝ่ายวางแผนงานและฝ่ายประชาสัมพันธ์ของกลุ่ม อีกทั้งยังมีดีกรีเป็นแชมป์ไกด์นำเที่ยวพระราชวังรัตนรังสรรค์อีกด้วย แหม เก่งจริงนะตัวแค่เนี่ย)

เมื่อกิจกรรมในกลุ่มไปได้สวยกลุ่มฯรักหาดส้มแป้นได้ต่อยอดด้วยการจัดกิจกรรมอื่นๆเพิ่มเติม อาทิ โครงการกล้วยไม้คืนถิ่น สร้างฝายกั้นน้ำ จัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติ การรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม กิจกรรมด้านการท่องเที่ยว เป็นต้น จนกลุ่มฯรักหาดส้มแป้น สามารถคว้ารางวัลลูกโลกสีเขียวครั้งที่ 9 (ปี 50) มาครองในประเภทกลุ่มเยาวชน ซึ่งนี่ถือเป็นรางวัลจากความมุ่งมั่นและความพยายามของน้องเหล่านี้อย่างแท้จริง

2...

ขณะที่ผมคุยกับน้องกล้วยอยู่เพลินๆ รถ 2 แถว ก็มาจอดยังจวนเมืองเก่าเจ้าเมืองระนอง ที่เป็นจุดหมายแรกและจุดหมายสำคัญในทริปนี้ ซึ่งหลังการฟังผู้ดูแลจวนบรรยายความเป็นมาของจวนเก่าแก่แห่งนี้ ผมก็ถือโอกาสพูดคุยกับน้องๆทั้ง 3 แบบครบองค์ประชุม

เปา บอกกับผมว่า การมาเป็นยุวมัคคุเทศก์นั้นได้หลายอย่าง ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ได้รู้ประวัติและเรื่องราวเกี่ยวกับตำบลของตนเอง

“เมื่อก่อนอยู่บ้านไม่รู้อะไร แต่พอมาเป็นไกด์ได้รู้จักเมืองระนองมากขึ้น ได้ทำกิจกรรมให้ตำบล ได้ทำอะไรให้ชุมชน รู้สึกดีใจมากค่ะ” กล้วยเสริม

“เขาสอนเราหลายอย่าง ทั้งความรู้ และเรื่องการตรงต่อเวลา” ต๋องที่ตัวเล็กที่สุดเล่าบ้าง ก่อนพูดต่อว่า ตอนไปเข้ากลุ่มอาสาสมัครรักหาดส้มแป้น ยังไม่ได้สนใจทางด้านนี้ แต่พอเข้าไปฟังแล้วก็สนใจ จึงสมัครเข้ากลุ่ม

สำหรับเด็กพวกนี้ถือเป็นยุวมัคคุเทศก์รุ่นแรก ซึ่งเปาเล่าว่าใช้เวลาอบรมประมาณ 2 ปี

“พวกเราไปอบรมกันที่เพชรบุรี ที่ต้นน้ำพะโต๊ะ(ชุมพร) ที่ม่วงกลวงระนอง ตอนนี้เรามีกลุ่มยุวมัคคุเทศก์รุ่นที่สองแล้ว” ต๋องเล่า

ครั้นเมื่อได้มาปฏิบัติหน้าที่จริงกลุ่มไกด์น้อยเหล่านี้ก็ได้เจอประสบการณ์หลากหลายทั้งน่ายินดีและน่าท้อใจ

“บางครั้งผมรู้สึกท้อเหมือนกัน เพราะนักท่องเที่ยวเขาบ่นว่าเนี่ย อบต.อะไรวะ ขยะเต็มไปหมด หรือบางวันทำเต็มที่แล้วแต่ก็ถูกต่อว่า บางครั้งรู้สึกเสียกำลังใจ ไม่อยากทำแล้ว แต่บางครั้งก็ดีใจมากที่พี่ๆนักท่องเที่ยวให้ความร่วมมือมากและคอยเป็นกำลังใจให้เรา” เปาเล่าความรู้สึก

“นักท่องเที่ยวบางคนก็เข้าใจ เขาบอกว่าที่ขยะเยอะนี่ไม่ได้ผิดที่อบต.นะ แต่ผิดที่นักท่องเที่ยวเอง เพราะนักท่องเที่ยวเห็นแก่ตัวทิ้งขยะ” ต๋องเล่าเสริม

ผมฟังเด็กๆเล่าแล้วก็รู้สึกชื่นชมและเห็นว่าพวกเขากล้าพูดกล้าแสดงออกแบบสมเหตุสมผล ดูเป็นธรรมชาติแบบเด็กๆไม่ดูเว่อร์เหมือนเด็กบางคนในม่านมายา(บางคนถูกผู้ใหญ่เขียนบทให้เว่อร์เป็นพิเศษเพื่อเป็นจุดขาย) ซึ่งผมคิดว่าผู้ใหญ่ในบ้านนี้เมืองนี้น่าจะหันมาสนใจกลุ่มเด็กๆที่ทำหน้าที่ยุวมัคคุเทศก์น้อยให้มากขึ้น

“ททท.น่าจะมีการให้รางวัลกินรีกับไกด์เด็กบ้างนะ” ป๋าอาทร ผู้อาวุโสประจำกลุ่มเสนอแนะ

งานนี้ผมเห็นด้วยสุดลิ่มทิ่มประตู เพราะเห็นว่าที่ผ่านมามีแต่ให้รางวัลไกด์ผู้ใหญ่ แต่ละเลยกับกลุ่มไกด์เด็กไป ซึ่งผมเห็นว่าพวกไกด์เด็กเหล่านี้แหละคืออีกหนึ่งสีสันของการท่องเที่ยวที่หากว่าได้รับการอุ้มชู รับรองว่าบ้านเราจะมีไกด์เด็กที่ไม่เป็นรองประเทศใดแน่นอน

3…

นอกจากความน่ารัก ใสซื่อ และกล้าแสดงออกแล้ว ไกด์น้อยทั้ง 3 ยังมีชุดแต่งกายที่เตะตาต้องใจผมไม่น้อยเลย

ชุดท่อนบนทั้งชาย-หญิง ใส่เสื้อดูออกแนวจีนนิดๆ สีขาวนวล

ท่อนล่าง ผู้หญิงนุ่งกระโปรงมีลวดลายดูกิ๊บเก๋ ผู้ชายนุ่งกางเกงทรงกางเกงเล 3 ส่วน มีสายผูกเอว มีสีสันลวดลายฉูดฉาด

“ชุดที่ใส่นี่ซื้อที่ไหนเนี่ย จ๊าบมาก” ผมถามน้องทั้ง 3

“นี่เป็นชุดชิโน-มลายู”

น้องกล้วยบอกก่อนขยายความว่า เป็นชุดที่กลุ่มฯรักหาดส้มแป้นช่วยกันคิดค้นออกแบบขึ้นมาใหม่ หวังให้เป็นเสื้อทีมของกลุ่ม

ชิโน หมายถึง จีน คือส่วนเสื้อที่ออกสไตล์จีน มลายู หมายถึง แหลมมลายู ผู้ชายจะนุ่งกางเกงคล้ายกางเกงเลที่ตัดเย็บจากผ้าปาเต๊ะ(บาติก)ผู้ชาย ผู้หญิงจะเป็นกระโปรงตัดจากผ้าปาเต๊ะผู้หญิง”

ผมฟังน้องกล้วยอธิบายแล้วเห็นว่า พวกเด็กกลุ่มนี้เขาเข้าใจคิดแฮะ สามารถตีความเป็นระนองออกมาเป็นชุดสไตล์กิ๊บเก๋ได้อย่างน่าทึ่ง เพราะระนองในอดีตถือเป็นเมืองท่าสำคัญของคนจีน(ชิโน) ส่วนมลายูนั้น คือแหลมมลายูดินแดนทางตอนใต้ไล่ไปจนถึงมาเลเซีย โดยมีคอคอดกระเป็นแผ่นดินส่วนที่แคบที่สุดในแหลมมลายูอยู่ใน อ. กระบุรี จ.ระนอง นั่นเอง

เห็นชุดเท่ๆอย่างนี้ผมจึงถามน้องๆว่า

“เอ่อแล้วมีกางเกงแบบนี้ขายพี่มั่งปะ”

“ไม่มีเหลือแล้วครับ ตอนไปรับรางวัลงานลูกโลกสีเขียว มีคนมาซื้อไปจนเกลี้ยงเลย” เปาบอก

งานนี้ผมได้แต่บอกน้องๆว่า นี่ถ้าขายเป็นของที่ระลึกนักท่องเที่ยว รับรองขายได้แน่ๆ เพราะบรรดาเพื่อนๆร่วมทริปพอเห็นชุดแบบนี้ต่างก็สนใจและอยากได้กันไม่น้อย

“อย่างนี้ผู้ใหญ่ในจังหวัดหรือภาครัฐน่าจะส่งเสริมเด็กๆพวกนี้นะ อย่างน้อยก็เพื่อเป็นรายได้มาสนับสนุนกิจกรรมของกลุ่ม หรือไม่ก็ทำให้มันเป็นชุดประจำจังหวัดระนอง เป็นสัญลักษณ์การแต่งกายเมืองระนองที่ใครเห็นก็นึกถึงและอยากซื้อชุดชิโน-มลายูไปใส่ หรือซื้อไปเป็นที่ระลึก” ผมบอกกับเพื่อนคนนึงในทริปบอก

“อืม...ช่าย น่าส่งเสริมมั่กๆแต่ผมกลัวว่าพวกนั้นจะเข้ามาฉกฉวยโอกาสกับเด็กๆนะสิ”เพื่อนร่วมทริปอีกคนหนึ่งแสดงความเห็นด้วยและเห็นแย้ง

อา...เพราะเหตุใดเขาจึงมีทัศนะคติต่อผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหรือภาครัฐเช่นนี้ ผมว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นเพราะ “กรรมขึ้นอยู่กับการกระทำ”นั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น