วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 คือวันออกพรรษา หรือเป็นวันสิ้นสุดการจำพรรษาเป็นเวลา 3 เดือน และหลังจากวันออกพรรษาหนึ่งวัน พุทธศาสนิกชนก็จะไปทำบุญตักบาตรครั้งใหญ่ ที่เรียกว่าตักบาตรเทโวโรหนะ สืบเนื่องจากพุทธประวัติที่ว่า พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก หลังจากที่ขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยก็มีการจัดงานทำบุญวันออกพรรษาด้วยเช่นกัน เริ่มที่ภาคเหนือ ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยส่วนราชการและประชาชนชาวแม่ฮ่องสอนหลายพันคนได้ร่วมทำบุญตักบาตรเทโวโรหนะ ที่บริเวณวัดพระธาตุดอยกองมู ตำบลจองคำ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน การทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะที่บริเวณวัดพระธาตุดอยกองมู เป็นประเพณีที่ชาวแม่ฮ่องสอน หรือชาวไทยใหญ่ได้ถือปฎิบัติมาตั้งแต่บรรพบรุษจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การทำบุญตักบารตเทโวโรหนะที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก
ทางภาคอีสาน งานบุญออกพรรษาที่คึกคักมากที่สุดแห่งหนึ่งก็ต้องยกให้ที่จังหวัดหนองคาย ที่ในคืนวันออกพรรษานี้ (14 ต.ค.) จะมีปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคขึ้นที่แม่น้ำโขง โดยในเช้าวันนี้ชาวหนองคายก็ได้ประกอบพิธีบวงสรวงเจ้าแม่สองนาง เทพเจ้าประจำแม่น้ำโขง ขอปีนี้มีบั้งไฟพญานาคให้มาก พิธีกรรมนี้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเมื่อถึงวันออกพรรษา ขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ของทุกปี ในความเชื่อของคนเรือ หรือคนริมฝั่งแม่น้ำโขงทั้งไทยและลาว ต่างก็เชื่อว่าเจ้าแม่สองนางเป็นผู้รักษาคุ้มครองทางน้ำและไม่ว่าจะออกเดินเรือไปทางไหนก็ต้องมากราบขอพรเพื่อให้เจ้าแม่สองนางได้คุ้มครอง รวมถึงมีความเชื่อว่าเจ้าแม่สองนางเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนสำคัญให้เกิดปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคในพื้นที่จังหวัดหนองคายด้วย ขอภาวนาให้มีบั้งไฟพญานาคขึ้นมากในปีนี้
ส่วนในวันออกพรรษาของทุกปี ชาวบ้าน หรือชาวคุ้มต่างๆ จะรวมกันมาแทงหยวกกล้วยเพื่อทำปราสาทผึ้ง ซึ่งเป็นประเพณีท้องถิ่นที่สำคัญของชาวหนองคาย ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่โบราณ โดยจะยึดเอาวันขึ้น 14 ค่ำเดือน 11 เป็นวันโฮม ซึ่งชาวหนองคาย ตามชุมชนต่างๆ จะรวมตัวกัน ที่วัดประจำชุมชน หรือหมู่บ้าน เพื่อร่วมกันทำปราสาทผึ้ง นำไปถวายเพื่อเป็นพุทธบูชาแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เสด็จลงมาจากสวรรค์ เปิด 3 โลกพร้อมกัน สำหรับปราสาทผึ้งของชาวหนองคาย จะทำด้วยหยวกกล้วย โดยนำมาฉลุให้เป็นลวดลายต่างๆ แล้วประกอบขึ้นรูปปราสาทรูปทรงต่างๆ เช่น รูปทรงจตุรมุข รูปทรงบุษบก ทรงพระธาตุ ทรงหอผี และประดับประดาด้วยเทียนผึ้ง ดอกไม้ ผ้า กระดาษสลับสีที่วิจิตรตระการตายิ่งนัก หลังจากนั้น จะจัดขบวนแห่อัญเชิญปราสาทผึ้งไปที่ชุมชนวัดธาตุเพื่อถวายต่อพระธาตุกลางน้ำ พระธาตุที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสร็จจากนั้นได้ประกอบพิธีบวงสรวงพระธาตุกลางน้ำ สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองหนองคายในครั้งนี้ด้วย
แม้จะมีผู้ให้ความสนใจในปรากฏการณ์ลึกลับนี้ แต่ในปีนี้บรรยากาศการเดินทางของประชาชนที่จะไปลุ้นชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคที่จังหวัดหนองคายในปีนี้ไม่คึกคักเท่าไรนัก การจราจรบนเส้นทางอุดรฯ-หนองคาย บางตา โดยในวันนี้ (14 ต.ค.) เวลา 09.30 น.ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมาการเดินทางของประชาชนที่จะเข้าสู่จังหวัดหนองคาย เพื่อไปชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค ซึ่งในการเดินทางนั้นจะต้องผ่านทางจังหวัดอุดรธานีเพียงเส้นทางเดียว ไม่คึกคักเหมือนกับหลายปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะเป็นรถยนต์ที่มาจากต่างจังหวัดไกลๆ ส่วนจังหวัดใกล้เคียงนั้นยังไม่เห็นมากเหมือนปีก่อนๆ และส่วนใหญ่รถที่เดินทางเข้าจังหวัดหนองคายในวันนี้ที่จะไปชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคนั้นจะเป็นรถตู้ และรถส่วนตัวเท่านั้น
ในขณะที่ทางด้านจังหวัดอุดรธานี ไม่ได้มีการตั้งจุดบริการประชาชนเหมือนกับทุกปีที่ผ่านมา แต่มีการตั้งจุดกวดขันวินัยจราจรของตำรวจ สภ.เมืองอุดรธานี ที่บริเวณบายพาสหนองคาย ทั้งนี้จะสังเกตุได้ว่าจากหลายปีที่ผ่านมา กับในปีนี้ไม่ว่าจะเป็นการประชาสัมพันธ์จากหน่วยงาน หรือทางจังหวัดเองก็ไม่ได้ให้ความคึกคักเหมือนก่อน และในส่วนของห้องพักหรือโรงแรมจากที่เคยมีการจองกันล่วงหน้า เนื่องจากหลายคนจะทราบกันดีว่าที่จังหวัดหนองคายจะมีที่พักไม่เพียงพอ และจะกลับมาพักกันที่จังหวัดอุดรธานี ในปีนี้การจองห้องพักโรงแรมก็ดูน้อยลงกว่าปีที่ผ่านๆ มา ก็อาจเป็นมาจากสาเหตุ ปีที่ผ่านมา ปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคขึ้นน้อย จึงทำให้นักท่องเที่ยวไม่เดินทางมา
แต่ทางจังหวัดสกลนครที่มีประเพณีแห่ปราสาทผึ้งนั้นมีบรรยากาศค่อนข้างคึกคักโดยที่บริเวณสนามมิ่งเมือง เขตเทศบาลเมืองสกลนคร ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานประเพณีออกพรรษาแห่ปราสาทผึ้งก็ได้มีปราสาทผึ้งทั้งแบบประยุกต์และแบบโบราณ ที่ได้ตกแต่งอย่างงดงามอลังการ จำนวน 13 คุ้มวัด ได้ถูกนำมาตั้งโชว์ให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ได้ชมความวิจิตรตระการตาตลอดทั้งคืน ได้รับความสนใจจากประชาชนที่มาชมงานหลายหมื่นคน ซึ่งปราสาทผึ้งที่ถูกนำมาแสดงเพื่อประกวดโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้คะแนน ส่วนลวดลายที่จัดทำขึ้นได้สื่อถึงความสำคัญทางพระพุทธศาสนา และในตอนเย็นวันนี้ (14 ต.ค.) เวลาประมาณ 17.00 น. ปราสาทผึ้งทั้งหมดจะถูกนำไปเข้าขบวนแห่ ร่วมกับชนพื้นเมือง 6 เผ่า โดยขบวนจะเริ่มออกจากบริเวณศูนย์ราชการ ไปตามถนนสุขเกษม เพื่อนำไปถวายเป็นพุทธบูชาที่วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปชมหลายหมื่นคน
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีงานพาแลง ซึ่งเป็นงานที่ประชาชนและนักท่องเที่ยว ได้นำอาหารมารับประทานร่วมกันด้วยความสามัคคี และการบายศรีสู่ขวัญนายสุวัฒน์ ตันประวัติ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร พร้อมทั้งชมการแสดงคอนเสิร์ต ศิลปินชื่อดัง วงโปงลางสะออน พร้อมนี้ยังมีงานเทศกาลของดีของแซ่บเมืองสกล ซึ่งจัดโดยหอการค้าจังหวัดสกลนคร โดยของดีเป็นการแสดงผ้าย้อมครามฝีมือภูมิปัญญาชาวบ้านในท้องถิ่นผลิตจากวัสดุธรรมชาติ ที่สร้างชื่อเสียงและรายได้ให้ชาวสกลนคร ส่วนของแซ่บเป็นการรวบรวมอาหารพื้นบ้าน ไทย จีน ฝรั่ง เวียตนามอย่างหลากหลายรสชาด มาให้บริการ โดยเฉพาะเนื้อโคขุนโพนยางคำ ซึ่งเป็นเนื้อคุณภาพดีอันดับหนึ่งของประเทศ และในปีนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร ร่วมกับหอการค้าจังหวัด ได้ร่วมจัดกิจกรรมงานตลาดแลง ลานแสดงวัฒนธรรมขึ้น โดยรวบรวมการดำรงวิถีชีวิตของชนพื้นบ้าน การแต่งกาย อาหาร รวมทั้งอุปกรณ์ต่างในการดำรงชีวิตของชาวพื้นบ้าน เพื่อรักษาและสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามเป็นเอกลักษณ์ของชาวสกลนครสืบไป
ทางด้านจังหวัดกาฬสินธุ์ ชาวกาฬสินธุ์ต่างก็มาร่วมทำบุญออกพรรษาคึกคัก มีประชาชนจำนวนมากเดินทางไปร่วมทำบุญกันอย่างแน่นขนัด โดยเฉพาะที่วัดป่ามัชฌิมวาสบ้านดงเมือง ต.ลำพาน อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นศาสนสถานที่หลวงพ่อเมือง พลวฺฑโฒ พระเกจิชื่อดังสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต จำพรรษาและเป็นเจ้าอาวาส
วัดป่ามัชฌิมวาสนั้น นอกจากจะมีความสงบเหมาะแก่การปลีกวิเวกและร่มรื่นแล้ว ก็ยังมีศาลาอัศวินวิจิตร หรือพิพิธภัณฑ์อาจารย์ใหญ่หรือซากศพคนตาย บรรจุในโลงแก้ว ให้ได้ศึกษาธรรมและความไม่เที่ยงแท้ของวัฏสงสารอีกด้วย
สำหรับกิจกรรมการทำบุญของชาวพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ ในวันออกพรรษานี้ นอกจากจากทำบุญตักบาตร ถวายเป็นพุทธบูชาแล้ว ยังร่วมสวดมนต์ และฟังพระธรรมเทศนา ถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และนอกจากนี้ยังหวังให้สังคมไทยเกิดความสมานฉันท์ รู้รักสามัคคี สร้างความดี 116 วันอีกด้วย
ทางภาคใต้ที่จังหวัดระนองก็มีการเตรียมจัดงานทำบุญตักบาตรเทโวในวันพรุ่งนี้ด้วยเช่นกัน โดยเทศบาลตำบลหงาว อ.เมือง จ.ระนอง ร่วมกับคณะกรรมการวัดบ้านหงาว อุบาสกอุบาสิกา ได้กำหนดจัดงานประเพณีตักบาตรเทโว ณ วัดบ้านหงาว ประจำปี 2551 เนื่องในเทศกาลออกพรรษา ในวันที่ 15 ตุลาคม 2551 ซึ่งตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 เพื่อสืบสานประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชุมชนอันดีงามของท้องถิ่น เริ่มตั้งแต่เวลา 06.45 น.จัดให้มีริ้วขบวนแห่ของชุมชนต่าง ๆ ในเขตเทศบาลตำบลหงาว จากสำนักงานเทศบาลตำบลหงาว ไปยังวัดบ้านหงาว
จากนั้น เวลา 08.00 น. จัดให้มีพิธีทำบุญตักบาตรเทโว ด้วยข้าวสาร อาหารแห้ง ขนมต้ม และดอกไม้ แด่พระสงฆ์ สามเณร ที่เดินลงมาจากยอดเขาเพื่อมารับบิณฑบาต เสมือนหนึ่งยอดเขา สิเนรุราช ตามพุทธตำนาน นับว่าใกล้เคียงกับความเป็นจริง เพื่อระลึกถึงวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จกลับจากการโปรดพระพุทธมารดาในเทวโลก โดยจะมีบรรดาเหล่านางฟ้า เทวดา พร้อมขบวนแห่บุษบกประดิษฐานพระพุทธรูปนำหน้าเดินลงจากยอดเขาด้วยพร้อมโปรยดอกไม้ให้พุทธศาสนิกชนที่ร่วมในพิธี นอกจากนี้ยังจัดให้มีกิจกรรมสาธิตการร่อนแร่ในคลองหงาว การจัดซุ้มออกร้านของดีต่าง ๆ ของชุมชนบ้านหงาว ส่วนภาคกลางคืนจัดให้มีการแสดงศิลปะ วัฒนธรรมพื้นบ้าน เช่น ดนตรีลูกทุ่ง หนังตะลุง