xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยวอุบล ดูคนทำเทียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

งานแห่เทียนประเพณีอันยิ่งใหญ่แห่งเมืองอุบล
ทุกๆปีในช่วงเข้าพรรษาหรือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 (ปีนี้ตรงกับวันที่ 18 ก.ค.)ชาวเมืองดอกบัว จ . อุบลราชธานี จะมีงานประเพณีที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ นั่นก็คือ “งานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา” ซึ่งถือได้ว่าเป็นงานประเพณีที่มีชื่อเสียงและสามารถเรียกนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและเทศ ให้ไปชมความสวยงามของต้นเทียนพรรษาและขบวนแห่อันวิจิตรตระการตาต่างๆได้เป็นอย่างดี

แต่ทว่ากว่าจะมาเป็นต้นเทียนพรรษาและรถขบวนแห่เทียนที่สวยงามดังเช่นที่เราเห็นนั้น เขาทำกันอย่างไร? ใครเป็นคนทำต้นเทียน? ความสงสัยใคร่รู้เกิดขึ้นในใจของ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” มาหลายปีดีดักแล้ว
กว่าจะมาเป็นต้นเทียนอันสวยงามต้องขะมักเขม้นทำกันเป็นเวลาหลายวัน
ครั้นเมื่อมีโอกาสเยือนเมืองอุบลในช่วงก่อนเข้าพรรษาไม่กี่วัน เราจึงหาโอกาสไปดูการทำเทียนของคนที่นี่ ตาม“ชุนชุนอนุรักษ์เทียนพรรษา”ต่างๆ เพื่อต้องการรู้ลึกถึงเบื้องหลังความงดงาม ก่อนที่จะออกมาเป็นขบวนแห่เทียนให้ได้เห็นกันในวันเข้าพรรษา

แต่ก่อนที่จะไปดูการทำเทียนเราขอท้าวความไปยังกำเนิดประเพณีแห่เทียนพรรษาของชาวอุบลกันสักหน่อย

ประเพณีแห่เทียนของชาวอุบล เริ่มขึ้นในสมัยพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองอุบล (คนเดียวกันกับที่ไปสลักชื่อไว้ที่ผาเป้ยตาดีและค้นพบปราสาทเขาพระวิหารหลังจากถูกทิ้งร้างมานานนั่นแหละ)
ต้นเทียนประเภทติดพิมพ์ อีกหนึ่งความงามคู่ประเพณีแห่เทียนอุบล
คราวหนึ่งมีการแห่บั้งไฟที่วัดกลาง มีคนไปดูมาก ในการแห่บั้งไฟมีการตีกันในขบวนแห่จนถึงแก่ความตาย เสด็จในกรมเห็นว่าไม่ดี จึงให้เลิกการแห่บั้งไฟและเปลี่ยนเป็นการแห่เทียนแทน ประเพณีแห่เทียนพรรษาของชาวอุบลจึงเริ่มขึ้นแต่นั้นเป็นต้นมา

จวบจนเมื่อปี พ.ศ.2520 จังหวัดอุบลราชธานี จึงได้จัดงานสัปดาห์ประเพณีแห่เทียนพรรษา ให้เป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่และมโหฬาร สถานที่จัดงานคือ บริเวณทุ่งศรีเมืองและศาลาจตุรมุข มีการประกวดต้นเทียน 2 ประเภท คือ ประเภทติดพิมพ์ และประเภทแกะสลัก

อีกหนึ่งเบื้องหลังความงามของต้นเทียน
โดยขบวนแห่จากคุ้มวัดต่างๆ พร้อมนางฟ้าประจำต้นเทียน จะเคลื่อนขบวนจาก หน้าวัดศรีอุบลรัตนาราม ไปตามถนน มาสิ้นสุดขบวนที่ทุ่งศรีเมือง และการแสดงสมโภชต้นเทียน ส่องสว่างไสวงามจับใจ

สำหรับปีนี้งานประเพณีแห่เทียนพรรษาของชาวอุบล มีชื่องานว่า "เมืองอุบลบุญล้นล้ำ บุญธรรม บุญทาน สืบสานตำนานเทียน" เนื่องจากอุบลราชธานี มีสมญานามว่า "เมืองแห่งดอกบัวงาม" ซึ่งดอกบัว เป็นพฤกษชาติที่มีคติธรรมทางพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ซึ่งเบื้องหลังความสำเร็จก่อนที่จะมาเป็นขบวนแห่เทียนอันวิจิตรตระการตานั้น ชุมชนแห่เทียนทำเทียนในอุบลมีอยู่ด้วยกันหลายแห่ง แต่ที่โดดเด่นมีทั้งหมด 9 ชุมชนด้วยกัน ได้แก่ ชุมชนวัดมหาวนาราม หรือวัดป่าใหญ่ ชุมชนวัดมณีวนาราม หรือวัดป่าน้อย ชุมชนวัดทุ่งศรีเมือง ชุมชนวัดศรีประดู่ ชุมชนวัดบูรพา ชุมชนวัดพระธาตุหนองบัว ชุมชนวัดหนองปลาปาก ชุมชนโรงเรียนวารินชำราบ และที่บ้านคำปุน

งานนี้ถ้าจะให้ตระเวนเที่ยวดูทั้งหมดมีหวังลมจับหืดขึ้นคอ “ผู้จัดการท่องเที่ยว”จึงขอไปเที่ยวชมเฉพาะชุมชนเด่นๆที่อยู่ในเขตอำเภอเมือง เริ่มจาก “ชุมชนวัดบูรพา” ตั้งอยู่ที่ ถ.พโลรังฤทธิ์ ชุมชนนี้ในอดีตเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมต้นกำเนิดวัดสายวิปัสสนากรรมฐาน เป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อเหมือน พระอาจารย์วิปัสสนา 5 องค์ คือ พระอาจารย์ สีทา ชัยเสโน พระอาจารย์เสาร์ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระญาณวิศิษย์ และพระสิทธิธรรมรังสีคัมภีร์เมธาจารย์ ตั้งประดิษฐานอยู่ในสิม(โบสถ์)ที่ทำจากดินเหนียวเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี
เทพีน้อยต้นเทียนพรรษา
ที่ชุมชนวัดบูรพา มีลุงแก้ว อาจหาญ เป็นหัวหน้าช่างทำต้นเทียน(ประเภทติดพิมพ์) มีผลงานประสบการณ์เริ่มต้นทำเทียนมาตั้งแต่ พ.ศ.2517 เป็นวัดที่ส่งเข้าประกวดครั้งใดก็ได้รางวัลติดไม้ติดมือทุกที ในช่วงเวลาปกติ ลุงแก้ว จะทำหน้าที่มรรคนายกวัดบูรพา แต่สำหรับช่วงเวลาที่พิเศษแบบนี้ ลุงแก้วก็จะกลายมาเป็นช่างทำเทียน

ลุงแก้วบอกกับเราว่า การทำเทียนติดพิมพ์นั้นส่วนใหญ่จะต้องทำกันที่วัด เพราะจะต้องใช้คนช่วยทำเยอะ ซึ่งคนที่มาช่วยทำก็จะเป็นชาวบ้านในคุ้มวัดบูรพานั่นเอง เรียกได้ว่า เป็นงานบุญของชุมชนเลยก็ว่าได้ ซึ่งการทำเทียนติดพิมพ์นั้นจะต้องใช้วัตถุดิบในการทำ ก็คือ ขี้ผึ้ง ซึ่งต้องใช้หลายร้อยกิโลกรัมและต้องเอามาจากรังผึ้งร้างเท่านั้น
การแสดงของเหล่าเยาวชนในงานแห่เทียน
“ที่นี่จะแบ่งเป็นแผนกๆแผนกติดลาย แผนกตกแต่ง แผนกพิมพ์ลาย แผนกตัดลาย ผมดีใจที่ได้เผยแพร่วัฒนธรรมท้องถิ่นอยากให้คนต่างถิ่นเห็นว่าเทียนอุบลสวย ส่วนเรื่องรางวัลเป็นแค่ผลพลอยได้ไม่สำคัญ ผมถือว่าเราทำเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและคนในหมู่บ้านมาช่วยงานเกิดความรักสามัคคีกันผมคิดว่าเพียงพอแล้ว”ลุงแก้วเล่าด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแลดูมีความสุขอิ่มเอิบกับสิ่งที่ทำ

จากวัดบูรพา “ผู้จัดการท่องเที่ยว”อำลาลุงแก้วแล้วมาสวัสดี ลุงวิเชียร ภาดี หนึ่งในช่างทำเทียนฝีมือเยี่ยมแห่ง(ชุมชน) “วัดหนองบัว” ที่ตั้งอยู่ ถ. ธรรมวิถี วัดนี้มี พระบรมธาตุ เจดีย์ศรีมหาโพธิ์ เป็นแบบจำลองมาจากเจดีย์พุทธคยาประเทศอินเดีย บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
เหล่าทวยเทพในต้นเทียนแบบแกะสลัก
ลุงวิเชียร เป็นช่างเทียนแบบแกะสลัก เริ่มเรียนรู้การทำต้นเทียนมาตั้งแต่อายุ 15 ปี มีผลงานการทำเทียนพรรษา 27 ปี ลุงวิเชียรเป็นศิษย์ของ อ.อุส่าห์ จันทรวิจิตร ช่างศิลปะชื่อดังของจังหวัดอุบลราชธานี

“อยากให้มาดูการทำเทียนกันเยอะๆ จะได้เห็นว่ากว่าจะออกมาสวยมันยากแค่ไหน ถ้านักท่องเที่ยวมาแล้วอยากลองทำดูก็ได้ เราถือว่าคนมีส่วนร่วมในการทำก็ได้บุญ”ลุงวิเชียรฝากบอกมา

แล้วก็มาดูอีกที่ที่ “ชุมชนวัดศรีประดู่” ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 5 ต.ในเมือง ที่นี่เป็นศูนย์การเรียนเทียนพรรษา มี ลุงสมคิด สอนอาจ ครูภูมิปัญญาไทยรุ่น 3 ซึ่งเป็นช่างทำเทียนพรรษาวัดศรีประดู่ มีประสบการณ์กว่า 40 ปี และได้รับรางวัลชนะเลิศทำต้นเทียนพรรษามามากมาย ลุงสมคิดตั้งใจไว้ว่า จะเป็นครูที่ถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นการทำเทียนให้เยาวชนอย่างต่อเนื่องหลังเกษียณอายุราชการตลอดไป
อีกหนึ่งผลงานเทียนประเภทติดพิมพ์
และปิดท้ายทริปชมชุมชนทำเทียนกันที่ “ชุมชนวัดหนองปลาปาก” ตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านหนองปลาปาก ต.ขามใหญ่ วัดนี้เขาโด่งดังอยู่แล้วจากการที่ในวัดมีเตาอบสมุทรไพรเป็นที่นิยมของประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูงเบาหวานหรือโรคอ้วน เป็นศูนย์สมุนไพรเพื่อสุขภาพอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี ช่างทำเทียนของวัดนี้คือ ลุงทรงพล สำราญสุข เป็นช่างเทียนแบบแกะสลัก

ลุงทรงพลเล่าความแตกต่างของการทำต้นเทียนระหว่างประเภทติดพิมพ์กับประเภทแกะสลักให้ฟังว่า มีความแตกต่างกัน 2 ประการ คือ การหล่อต้นเทียนประเภทติดพิมพ์ ใช้ขี้ผึ้งคุณภาพพอใช้ได้ซึ่งมีราคาถูก แต่การหล่อต้นเทียนประเภทแกะสลัก ต้องใช้ขี้ผึ้งคุณภาพดี และราคาแพงกว่า ทั้งนี้ ก็เพราะว่า หากขี้ผึ้งคุณภาพไม่ดี เมื่อแกะสลักลึกและซับซ้อนหลายขั้น ขี้ผึ้งจะแตกหัก

นอกจากการทำต้นเทียนตามประเพณีแบบไทยๆแล้ว ปีนี้ใครที่ไปเยือนอุบลยังมีโอกาสได้ยลโฉม “ประติมากรรมเทียนนานาชาติ” ณ ลานประติมากรรมเทียนนานาชาติ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอุบลราชธานี ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แล้ว
มือน้อยๆกับศรัทธาอันยิ่งใหญ่ในการทำลวดลายประดับต้นเทียน
โดยครั้งนี้มีศิลปินเข้าร่วมทั้งหมด 9 ประเทศ แกะสลักเทียน ที่มีขนาด1X1 เมตร คนละ 3 แท่ง ภายใต้แนวคิด “โลกเย็นที่ประเทศไทย” ศิลปินแต่ละคนก็มีแนวคิดแตกต่างกันไป แต่ล้วนสื่อความหมายถึงความร่มเย็นเป็นสุขของโลกด้วยกันทั้งนั้น อาทิ ศิลปินชาวเยอรมนีกับแนวความคิด “ประติมากรรมรูปปีกนก”WE ARE ONE สื่อความหมายถึงความคิดความฝันที่จะให้ความรักต่อกัน โดยปราศจากความมุ่งร้ายและความอิจฉาริษยา หรืออย่างช่างแกะสลักน้ำแข็งชาวจีน ที่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกกับการแกะสลักเทียน เขาสร้างประติมากรรมรูป “เทพเจ้ากวนอู” สัญลักษณ์แห่งความซื่อสัตย์ ยุติธรรม เพราะเชื่อว่าถ้าคนเรามีความซื่อสัตย์พอเพียงโลกจะเย็น

อนึ่งหลังเพลิดเพลินกับเยือนชุมชนทำเทียนทั้ง 4 แห่ง สิ่งหนึ่งที่ “ผู้จัดการท่องเที่ยว”ค้นพบคือ แต่ละชุมชนล้วนมีเทคนิค รูปแบบ วิธีการและเคล็ดลับในการประดิษฐ์ต้นเทียนแตกต่างกัน แต่อย่างหนึ่งที่เหมือนกันคือทุกชุมชนต่างร่วมแรงร่วมใจกันสร้างต้นเทียนอันสวยงามขึ้น เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ซึ่งนั่นก็มาจากการที่พวกเขาเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนานั่นเอง

*****************************************
งาน"เมืองอุบลบุญล้นล้ำ บุญธรรม บุญทาน สืบสานตำนานเทียน" หรืองานแห่เทียนอุบล ปีนี้จะจัดขึ้นตลอดตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ไปจนถึงวันที่ 31 ก.ค. 51 โดยจะจัดอย่างยิ่งใหญ่ในวันเข้าพรรษาของทุกปี ซึ่งผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดประเพณีแห่เทียนอุบลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงาน ททท. อุบลราชธานี โทร. 0-4524-3770

สำหรับ 9 ชุมชน คนทำเทียน ได้เปิดตัวต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะมาชื่นชมการทำเทียนตั้งแต่วันที่ 1 – 17 ก.ค. 51 ยกเว้นแหล่งผลิตอนุรักษ์ผ้าพื้นเมือง “บ้านคำปุน” ซึ่งจะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมเพียง 1 วัน คือวันที่ 17 ก.ค. ตั้งแต่เวลา 09.00 – 17.00 น. โดยจัดเก็บค่าเข้าชมท่านละ 100 -บาท เพื่อสมทบทุนกิจกรรมสาธารณกุศลโดยไม่หักค่าใช้

 
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
รายละเอียดงานแห่เทียนอุบล

กำลังโหลดความคิดเห็น