ประเด็นร้อนสุดๆเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในขณะนี้ไม่มีเรื่องใดที่น่าสนใจไปกว่า โครงการสัมปทานโรงแรมในอุทยานแห่งชาติซึ่งริเริ่มโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันที่จริงความคิดเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มันเคยเกิดขึ้นมาแล้วเกือบทุกรัฐบาล ตั้งแต่พ.ศ.2525 จนถึงปัจจุบัน นับได้ประมาณ 5-6 ครั้ง แต่ที่เป็นข่าวใหญ่มีอยู่ครั้งเดียว คือ เมื่อ พ.ศ.2535 นับว่าเป็นความโชคดีของประเทศไทย ที่โครงการเหล่านั้นไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากทนแรงต่อต้านของกลุ่มนักอนุรักษ์ไม่ไหว
ความคิดที่จะให้มีการอนุญาตสัมปทานโรงแรมในอุทยานแห่งชาตินั้นสันนิษฐานว่า คงจะเนื่องมาจากผู้บริหารของเราเคยไปดูงานที่สหรัฐอเมริกา เห็นเขามีโรงแรมขนาดใหญ่ในอุทยานแห่งชาติ ก็เลยเห็นดีเห็นงาม อยากจะให้มีในอุทยานแห่งชาติของเราบ้าง สันนิษฐานของผมอีกข้อหนึ่งคือ นักธุรกิจที่สายตาไกลจะมองเห็นกำไรอย่างมหาศาล หากสามารถสร้างโรงแรมในอุทยานแห่งชาติได้ เพราะมันเป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่ดีที่สุดของประเทศ มีลูกค้าชั้นดีแน่นอน และสามารถคุ้มทุนในระยะสั้น
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ นักธุรกิจเหล่านั้นมักจะเป็นผู้มีความสัมพันธ์อันดีกับนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลและอดที่จะเอ่ยเสียมิได้ ก็คือหน่วยงานที่บริหารการท่องเที่ยวมักจะสนับสนุนโครงการดังกล่าว เพราะเป็นหน้าที่โดยตรงของเขา
ผมขอเล่าถึงต้นตอที่เป็นจุดกำเนิดของความคิดเกี่ยวกับสัมปทานโรงแรมในอุทยานแห่งชาติสักเล็กน้อย เมื่อปี ค.ศ.1872 สหรัฐอเมริกาได้ประกาศจัดตั้งเยลโลสโตน เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศ และเป็นแห่งแรกของโลกด้วย
วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งในตอนนั้น ก็เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเท่านั้น และต้องการให้เอกชนเข้าไปลงทุนบริการต่างๆ แล้วเก็บค่าเช่าเพื่อนำเงินไปใช้ให้เอกชนเป็นค่าดูแลรักษาพื้นที่ อุทยานแห่งชาติแรกๆของสหรัฐอเมริกา เช่น เยลโลสโตน โยเซมิตี และแกรนด์ แคนยอน จะมีอาคารสำหรับบริการนักท่องเที่ยวอย่างหนาแน่น ประเทศแคนาดาก็พัฒนาโดยการลอกเลียนแบบอเมริกา
ดังจะเห็นได้จากอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของเขาได้สร้างศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เป็นชุมชนขนาดใหญ่อยู่ในเขตอุทยาน อุทยานแห่งชาติแรกๆของประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ก็พัฒนาตามแนวคิดของอเมริกา ปรากฏว่ามีโรงแรมในอุทยานแทบทุกแห่ง
กาลเวลาผ่านไปหลายสิบปี ความคิดที่ว่าดีในสมัยนั้นก็ออกฤทธิ์ไปทางลบ และยังไม่สามารถแก้ไขได้กระทั่งทุกวันนี้ กล่าวคือสิ่งก่อสร้างทั้งหลายยังคงแออัดอยู่ในบริเวณที่มีทิวทัศน์สวยงาม และมีผลกระทบต่อสัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม ปัญหาสำคัญ คือ หน่วยงานอุทยานแห่งชาติไม่สามารถควบคุมสัมปทานให้ดำเนินการไปตามเงื่อนไขในสัญญาเนื่องจากเจ้าของสัมปทานส่วนใหญ่มีอิทธิพลมาก และมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับนักการเมือง ซึ่งมีผลประโยชน์ร่วมกัน ปัญหาใหญ่ที่ยังคาราคาซังอยู่ คือ อุทยานไม่สามารถบอกเลิกสัมปทานได้
ประสบการณ์ดังกล่าวเป็นบทเรียนสำหรับผู้บริหารอุทยานแห่งชาติทั่วโลก ฉะนั้นในช่วง 30 ปี ที่ผ่านมา แทบจะไม่มีสัมปทานโรงแรมขนาดใหญ่เกิดขึ้นในอุทยานแห่งชาติใดๆในโลก แต่สัมปทานบริการอื่นๆยังคงมีอยู่ เช่น การขายอาหาร ขายของที่ระลึก การนำเที่ยว และการขนส่ง เนื่องจากเห็นว่าสามารถควบคุมดูแลได้ง่ายและมีผลกระทบน้อย
มีคำถามว่า แล้วจะให้นักท่องเที่ยวไปพักที่ไหน คำตอบจากหน่วยงานบริหารอุทยานแห่งชาติทั่วโลกเห็นพ้องกันว่า ควรให้ไปใช้บริการของเอกชนที่อยู่นอกเขตอุทยาน เพื่อว่าจะได้กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ขณะเดียวกันอุทยานแห่งชาติจะได้ลดภาระในการดูแล และมีเวลาทำหน้าที่หลักมากขึ้น ได้แก่ การป้องกันทรัพยากร การให้ความรู้และความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว
หากมีโอกาสเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติในยุโรป เช่น ประเทศฟินแลนด์ นอร์เวย์และสวีเดน จะพบว่า เขาไม่มีโรงแรมในเขตอุทยานสักแห่งเดียว แต่จะมีอยู่ในบริเวณชายเขต
สำหรับ สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันเขาจะส่งเสริมให้เอกชนไปพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อบริการนักท่องเที่ยวในบริเวณก่อนเข้าถึงเรียกว่า "Gateway Community" นักท่องเที่ยวจะเข้าไปหาความเพลิดเพลินในอุทยานตอนกลางวัน และพักข้างนอกตอนกลางคืนหลักคิดเช่นนี้ ควรนำมาใช้ในประเทศไทยด้วย
อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถยุติการบริการพักแรมในอุทยานได้อย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะที่พักแรมของเยาวชน ในรูปแบบของอาคารหรือลานกางเต็นท์ ยังควรมีอยู่ต่อไป เพราะโครงการสร้างสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติแก่เยาวชน เป็นเพราะหน้าที่ของอุทยานโดยตรง ส่วนอุทยานแห่งชาติที่อยู่ห่างไกล และไม่มีบริการของเอกชนที่อยู่ใกล้เคียง ก็ให้มีที่พักแรมตามความจำเป็น
ถ้าไม่เอาสัมปทานแล้วจะเอาใคร หน่วยงานอุทยานแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ได้เปลี่ยนแนวคิดจากสัมปทาน ไปใช้บริการขององค์กรเอกชนที่ไม่หวังผลกำไร (non – profit organjzation) องค์กรเหล่านี้จะไม่ก่อปัญหา แต่จะช่วยสนับสนุนและทำงานสอดคล้องกับอุทยานเป็นอย่างดี
อีกทั้งยังแบ่งกำไรทั้งหมดให้แก่อุทยานเพื่อนำไปใช้ในการบริหาร เช่น อุทยานแห่งชาติโยเซมิติ ได้รับบริจาคเงินจากองค์กรดังกล่าว ประมาณร้อยละ 20 ของงบประมาณทั้งปี นอกจากนี้อุทยานยังได้ใช้ประโยชน์จากอาสาสมัคร และสามารถลดค่าจ้างบุคลากรได้เป็นอันมาก
ถึงเวลาแล้วที่กรมอุทยานแห่งชาติฯจะต้องจัดทำนโยบายด้านบริการนักท่องเที่ยวเสียใหม่ เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการผมมีความคิดเบื้องต้น ดังนี้
1. ควรกำหนดให้แน่นอนว่า อุทยานใดจะมีบริการพักแรมและอุทยานใดไม่มีบริการพักแรม เพื่อว่าจะได้กำหนดบุคลากรและสิ่งอำนวยความสะดวกได้ถูกต้อง
2.ควรส่งเสริมให้เอกชนจัดบริการอยู่ภายนอก และอุทยานช่วยประชาสัมพันธ์ให้ไปใช้บริการดังกล่าว
3.ให้โอกาสคนในท้องถิ่นดำเนินธุรกิจก่อน เมื่อไม่มีจึงให้บุคลภายนอกเข้ามาทำ
4.ควรพิจารณาใช้ประโยชน์จากองค์กรเอกชนที่ไม่หวังกำไรและอาสาสมัคร
สรุป จากบทเรียนที่ได้รับจากต่างประเทศเกี่ยวกับปัญหาสัมปทานโรงแรมก็พอจะเป็นแนวคิดที่ว่า เราควรหลีกเลี่ยงโครงการดังกล่าว ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ควรส่งเสริมให้เอกชนพัฒนาบริการนักท่องเที่ยวอยู่นอกเขตอุทยาน พร้อมทั้งช่วยอุดหนุนเงินทุน วิชาการ และสาธารณูปโภคที่จำเป็น ซึ่งจะช่วยให้เกิดความยั่งยืน ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ เศรษฐกิจ และสังคม
การเมืองเป็นปัจจัยสำคัญ ที่มักจะริเริ่มโครงการที่ขัดกับวัตถุประสงค์ของการอนุรักษ์อยู่เสมอ จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ต้องชี้แจ้งข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้องและต่อไปนี้ควรจะร่างนโยบายเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในอุทยานแห่งชาติ โดยประยุกต์ใช้แนวคิดแบบสากล เพื่อเป็นหลักปฏิบัติต่อไป ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลใครจะเป็นผู้บริหาร ก็จะต้องปฏิบัติตามกรอบที่กำหนดไว้
สุดท้ายนี้ผมหวังว่าบทความนี้คงจะเป็นประโยชน์บ้างตามสมควร และแอบหวังลึกๆว่า โครงการสัมปทานโรงแรมในครั้งนี้ คงจะเป็นครั้งสุดท้าย
โดย: เสรี เวชชบุษกร ประธานชมรมนักนิยมธรรมชาติ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
หมายเหตุกองบรรณาธิการ : บทความ"โรงแรมในอุทยานแห่งชาติ" เป็นการนำเสนอมุมมองที่แตกออกมาจากประเด็นร้อนในเรื่องของการเปิดให้เอกชนเข้าไปสัมปทานทำธุรกิจในพื้นที่ 10 อุทยานแห่งชาติชื่อดัง ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่, ห้วยน้ำดัง, ดอยอินทนนท์, ดอยสุเทพ-ปุย, ดอยผ้าห่มปก, ภูกระดึง, แก่งกระจาน, เอราวัณ, หมู่เกาะสิมิลัน และหมู่เกาะสุรินทร์ โดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ซึ่งล่าสุด ทาง ทส. ได้ถอนเรื่องออกจากมติครม. เนื่องจากมีกระแสต่อต้านและคัดค้านจำนวนมาก แต่ก็ไม่ควรที่จะนิ่งนอนใจเพราะในอนาคตอาจจะมีการรื้อฟื้นโครงการนี้ขึ้นมาอีกเมื่อไหร่ก็ได้