การได้เรียนรู้ความคิดและเส้นทางของผู้นำที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว เป็นทางหนึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการได้เห็นตัวอย่างและอาจจะนำมาประยุกต์ใช้กับตนเองได้อย่างเหมาะเจาะ ซึ่งแบรนด์ “นารายา” (NaRaYa) พิสูจน์ตัวเองมาแล้วจนเป็นที่ประจักษ์ไม่เฉพาะคนในประเทศ แต่ต่างชาติเองก็ยอมรับในความสามารถ โดยผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ คือ สาวเก่ง และแกร่ง อย่าง “วาสนา รุ่งแสนทอง ลาทูรัส”
วาสนา รุ่งแสนทอง ลาทูรัส เจ้าของผลิตภัณฑ์จากผ้าพิมพ์ลายแบรนด์ "NaRaYa" สินค้าไทยซึ่งผลิตโดยชาวบ้านกว่า 3,000 คน สามารถส่งออกไปขายกว่า 40 ประเทศทั่วโลก สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 400 ล้านบาท กล่าวถึงแนวทางการบริหารจัดการธุรกิจจากประสบการณ์กว่า 18 ปี ว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งเศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัว สิ่งสำคัญที่จะต้องทำคือการเน้นกลับมาดูตัวเราเอง โดยเริ่มจากการประหยัดหรือใช้ความสมถะ แต่ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อลูกค้า และพนักงานซึ่งอยู่ในภาวะท้อแท้และเหนื่อย เพราะได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้ออยู่แล้ว
ในส่วนของนารายาในความสำคัญกับลูกค้าในด้านของการพัฒนาแบรนด์ ด้วยการออกแบบสินค้าใหม่อยู่เสมอเพื่อให้สามารถดึงดูดลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ซึ่งปัจจุบันมีการเปลี่ยนสีสันบ่อยมากขึ้นจากเดิม 8 เดือน เป็น 6 เดือน เพราะลูกค้าชอบความใหม่และอิงแฟชั่นมากขึ้น ไม่ใช่เพียงกระเป๋าผ้าแบบเดิมๆ แต่เพิ่มลูกเล่นและเทคโนโลยีต่างๆ เช่น นาโนเทคโนโลยี สามารถกันน้ำและกันเปื้อน ฯลฯ พร้อมทั้งเน้นการรักษาคุณภาพมาตรฐานอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มช่องทางจำหน่ายใหม่ด้วยการเปิดสาขาที่มาเก๊าในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้ และจะเปิดอีกแห่งที่โตเกียวประมาณต้นปีหน้า
อย่างไรก็ตาม หลักในการทำการค้าที่ยึดถือว่าตลอดคือการให้ความจริงใจและซื่อสัตย์ รักษาคำพูด เช่น ต้องส่งสินค้าตามคำสั่งซื้อให้ตรงตามกำหนดเวลา เพราะผู้ประกอบการหลายรายมักจะมองผ่านโดยเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย ทั้งที่ อาจจะทำให้แผนการขายของลูกค้าผิดพลาดไปด้วย
สำหรับ วาสนา มีวิธีมองสถานการณ์ที่ยากลำบากว่า คนเราเกิดมาฟ้าลิขิต ทุกข์สุขมีอยู่พร้อมกับปัญหา ชีวิตที่ราบเรียบเกินไปไม่มีความหมาย แต่เมื่อมีปัญหาต้องหาทางแก้ไข ที่สำคัญคือสติ ดูสาเหตุการเกิด แต่อย่างไรก็ตาม การแก้ที่ตัวเราง่ายกว่าแก้ที่คนอื่น
ในสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย สำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ต้องตั้งหลักให้ดี ด้วยการให้กำลังใจตัวเองให้ได้ เพราะในความเป็นจริงการเป็นเจ้าของธุรกิจจะต้องเป็นผู้รับสภาพธุรกิจเต็มๆ เพียงลำพัง จึงต้องเข้มแข็งมั่นคง คิดด้วยเหตุผล
เธอยังให้คำแนะนำอีกว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไม่ต้องคิดใหญ่ ให้คิดเล็ก ค่อยๆ ทำตามกำลังความสามารถ เพราะมีปัจจัยเสี่ยงมาก เช่น เงินทุนน้อย ฯลฯ และโมเดลของธุรกิจอย่างเอสเอ็มอี เช่น สินค้าหัตถกรรม คิดใหญ่ไม่ได้ เพราะเป็นสินค้าที่ต้องใช้คนผลิต ไม่สามารถให้เครื่องจักรทดแทน ซึ่งถ้ามีออร์เดอร์เข้ามามากๆ แล้วรับเอาไว้ แต่ถ้าไม่มีคนผลิตให้จะต้องลำบาก ทำให้เสียลูกค้า ต้องประเมินและทำเท่าที่พร้อม ที่สำคัญ ความมั่นคงจะเกิดขึ้นได้จากการวางรากฐานที่มั่นคงก่อน ซึ่งเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมจะสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างยั่งยืน
"เป้าหมายคือ การมองว่าจะทำอย่างไรให้ธุรกิจมั่นคงมากกว่า และค่อยๆ ขยาย ไม่เคยตั้งเป้าว่าจะต้องขยายสาขามากเท่านั้นเท่านี้ ส่วความภูมิใจอยู่ที่การเป็นสินค้าไทยที่ติดป้าย made in Thailand ซึ่งมีเพียงไม่กี่แบรนด์ที่จะส่งออกไปขายได้ในต่างประเทศ และยังมีการลอกเลียนแบบทั้งตัวสินค้าและชื่อแบรนด์ทั้งที่นารายาไม่ใช่แบรนด์เนมดังของโลก หรือราคาเป็นหมื่น ของเราใบละไม่กี่ร้อย"
โดยส่วนตัว การตั้งเป้าหมายของนารายา ไม่มองเป้าหมายที่ใหญ่เกินไป แต่มองการณ์ไกลในแง่ความปลอดภัยของธุรกิจ การตัดสินใจขึ้นอยู่กับ "จังหวะและโอกาส" ถ้าทุกอย่างพร้อมจะลงมือ แต่ถ้าไม่พร้อมจะปล่อยให้ผ่านไป เพราะคิดว่าโอกาสจะกลับมาอีกได้ ถ้าจะเดินไปต้องไปด้วยความระมัดระวัง ประเมินความสามารถของตนเองเป็นหลัก แต่ไม่ถึงกับกลัวเกินไป
จากประสบการณ์ที่เคยล้มเหลวมีหนี้สินถึง 20 ล้านบาท เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ซึ่งกว่าจะฝ่าฟันให้กลับมาตั้งหลักใหม่ได้ ต้องทำใจอย่างหนักและปรับความคิดใหม่ไม่ยึดติดกับทรัพย์สินที่มีอยู่ และรีบปลดหนี้และไม่สร้างหนี้เพิ่ม เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นไม่เคยหยุด
ในการบริหารเงิน นอกจากจะเน้นหนักกับวินัยทางการเงินกับตนเองแล้ว ยังดูแลพนักงานให้รู้จักการใช้เงินอีกด้วย มีกฎระเบียบของบริษัทกำหนดไว้ด้วย เช่น ห้ามเล่นการพนันหรือขายของในบริษัท เพราะถ้ามีปัญหาทะเลาะกัน สุดท้ายจะต้องส่งผลกระทบต่องานได้ และขณะเดียวกัน ต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารอีกด้วย เพราะนิสัยของพนักงานหรือชาวบ้านที่มีฝีมือมักจะใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอีกเรื่องหนึ่ง
***คลิกเพื่ออ่านเรื่องประกอบ บทเรียนสร้างธุรกิจ “นารายา” ล้มแล้วลุก