xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลาหรือยัง? ที่"เกาะช้าง"ต้องเปลี่ยนแปลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธรรมชาติบนเกาะช้างที่หากไม่ช่วยกันอนุรักษ์ อาจต้องสูญเสียไปในวันข้างหน้า
เกาะช้าง จ.ตราด สถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลอันดับต้นๆของเมืองไทย ซึ่งทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนต่างก็พยายามชูให้เกาะช้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพราะเกาะช้าง งดงามไปด้วย หาดทราย น้ำทะเล ป่าไม้ และทรัพยากรใต้ทะเล

แต่ดูเหมือนว่าในภาคปฏิบัติจริง สภาพการณ์กลับตรงกันข้าม เนื่องจากปีหนึ่งๆเกาะช้างมีคนเดินทางมาท่องเที่ยวกันเป็นจำนวนมาก ภาคธุรกิจท่องเที่ยวจึงรุกคืบทำให้เกาะช้างโตเร็วเกินไป ไม่เพียงเท่านั้น เกาะช้างยังถูกทุนสามานย์ทำลายภูมิทัศน์ ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจนซวนเซ

โดยเฉพาะเกาะช้างฝั่งขวาหรือฝั่งตะวันตก(ใช้จุดขึ้น-ลง เรือเฟอรี่เป็นตัวแบ่ง) ซึ่ง ณ วันนี้ภาพส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นย่านชุมชนที่ค่อนข้างคึกคัก แถมบางย่านยังอุดมไปด้วยบาร์เบียร์ และแสง-สี-เสียง ที่หลายคนบอกว่ามีสภาพไม่ต่างจากน้องๆของพัทยาเลยทีเดียว

ในขณะที่เกาะช้างฝั่งซ้าย(ฝั่งตอ.)นั้นยังคงไว้ซึ่งความสงบ เป็นธรรมชาติ มากไปด้วยเรือกสวนและวิถีชีวิตของชาวชุมชนเกาะช้าง ซึ่งนั่นจึงทำให้หลายคนคิดว่าน่าจะมีการวางผังเมืองเกาะช้างกันอย่างจริงจัง ชัดเจน เป็นเรื่องเป็นราว เพื่อจัดระเบียบเกาะช้างให้ดีขึ้น เพื่อไม่ให้พื้นที่ของเกาะช้างฝั่งซ้ายเจริญรอยตามเกาะช้างฝั่งขวา และเพื่อผลักดันให้เกาะช้างเดินหน้าขึ้นสู่สถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศตามเป้าที่ตั้งไว้
ร้านรวงแสงสียามราตรีในเกาะช้างฝั่งขวา
ปัญหาสารพัดสารพัน

สำหรับปัญหาที่เด่นชัดบนเกาะช้างวันนี้ก็คือ การขาดความควบคุมขนาดและความสูงอาคาร การออกแบบสถาปัตยกรรม ระยะห่างจากชายหาด การเพิ่มขึ้นของการสร้างสถานที่พักเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ทำให้สิ่งปลูกสร้างหลายพื้นที่ทำลายภูมิทัศน์ของเกาะ และปิดเส้นทางลงหาดสาธารณะ ขาดการกำหนดโซนนิ่ง จึงไม่สามารถควบคุมการใช้พื้นที่ชายหาดปัจจุบันมีร้านบาร์เบียร์ตลอดแนวชายหาด

การรุกล้ำเข้าไปใช้พื้นที่ของเขตอุทยานฯเพื่อการขยายพื้นที่บริเวณชายฝั่ง การบุกรุกที่ดินในคลองสาธารณะ มีการถมดินในคลองสาธารณะ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศในบริเวณนั้น เช่น จำนวนหิ่งห้อยที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นซึ่งเป็นตัวชี้วัดหนึ่งแสดงถึงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศมีจำนวนลดลง เป็นต้น

พิทยา หอมไกรลาศ ชมรมนำเที่ยวพื้นบ้านสลักคอก เกาะช้าง เล่าว่า สภาพของเกาะช้างจะมีพื้นที่ราบน้อย มันจะอยู่ชิดทางด้านทะเล แล้วมีการตัดถนนรอบหาดเรียบชายฝั่งไปเรื่อยๆ จะมีการก่อสร้างทั้งฝั่งขวาที่ติดกับทะเลมาก และฝั่งซ้ายติดภูเขาซึ่งหลังเขาก็เป็นอุทยาน

เริ่มแรกในการปลูกสร้างจะปลูกสร้างกันริมทะเลก่อน พอพื้นที่เต็มแล้วก็มาสร้างกันอีกฝั่งของถนน ซึ่งการใช้พื้นที่ผมว่าเป็นลักษณะของการใช้พื้นที่เต็มเอกสารสิทธิ์ของเขามากกว่า เป็นพื้นที่ซึ่งจริงๆตามกฎหมาย เพราะพื้นที่มันน้อย เขาเลยจะสร้างกันเต็มพื้นที่ ทำให้เหลือพื้นที่ลงหาดน้อยมาก

"แต่ก่อนถ้าเรามาเกาะช้างมองไปด้านหาดจะเห็นทะเลเห็นวิว ตอนนี้จะถูกปิดโดยรีสอร์ท โรงแรม หรือสิ่งปลูกสร้าง ในอนาคตถ้ามีการใช้พื้นที่เต็มแล้ว มันจะเหมือนเราขับรถไปในซอยที่พัทยา ทางซ้ายก็ตึก ขวาก็ตึก เราจะไม่เห็นอะไร ผมว่าตอนนี้มันขัดกันอยู่ว่าทัศนียภาพที่นักท่องเที่ยวอยากจะเห็นกับการใช้ประโยชน์พื้นที่ของเอกชนที่ต้องการใช้เต็มพื้นที่ มันจึงเป็นความยากของภาครัฐที่จะควบคุม เราจะหาความพอดีได้อย่างไร ไม่เช่นนั้นความสวยงามก็จะหายไปเลย เรานั่งรถไปซ้ายก็ตึกขวาก็ตึก ผมว่ามันเป็นปัญหาของส่วนรวม สุดท้ายก็จะไม่มีใครได้ประโยชน์อะไร ถ้านักท่องเที่ยวไม่เห็นธรรมชาติเขาก็ไม่มา แล้วสิ่งปลูกสร้างเราก็ไม่ได้กำไรเพราะไม่มีนักท่องเที่ยวมา"
 เกาะช้างฝั่งซ้ายยังมีภาพวิถีพื้นบ้านให้ชมกันอยู่
พิทยา เล่าต่อว่า ในสายตาผม ความเสียหายมันเกิดกับส่วนรวมทั้งหมด แต่ผลประโยชน์อาจจะได้เฉพาะรายเท่านั้นเอง ปัญหาของผังเมืองมันกระทบในเรื่องของทัศนียภาพ ทำให้คนที่มาเที่ยวเกาะช้างด้านหาดจะมองไม่เห็นอะไรเลย ถ้าไม่เข้าพักอาศัยตามรีสอร์ทโรงแรม

อีกอย่างคือ เดิมทีเกาะช้างเป็นพื้นที่ลาดชันเวลาหน้าฝนฝนตกเยอะ น้ำที่ไหลบ่ามาจากภูเขามาปะทะสิ่งปลูกสร้าง รอบๆถนนสองข้างทาง ทำให้มันลงทะเลลำบาก จะพบว่าบางที่มีน้ำท่วมขังบางที่เฉอะแฉะอยู่ตลอดเวลา ทางระบายน้ำหลักๆยังคงอยู่ แต่พวกรางน้ำเล็กๆที่ตอนหน้าฝนถึงจะเห็นว่ามันมีน้ำไหลถูกถมไปเยอะ ที่สำคัญคือน้ำที่เคยไหลจากภูเขาลงไปที่หาดได้หลายทิศหลายทางเล็กบ้างใหญ่บ้าง อันใหญ่ยังอยู่อันเล็กหายไปหมด เมื่อทั้งสองข้างทางมันเป็นสิ่งปลูกสร้างทั้งสองข้างทางน้ำมันก็ถูกปิดกั้นระบายลงไม่ได้

น้ำเกาะช้างมากจากทุกทิศทุกทาง เพราะเกาะช้างตรงกลางเป็นภูเขา ฝนที่ตกทำให้น้ำไหลไปได้ทุกทิศทุกทาง ในขณะที่น้ำระบายลงทะเลได้เฉพาะแค่บางทางเท่านั้น อันนี้เป็นลักษณะปกติในการไปเปลี่ยนสภาพภูมิประเทศ ผมว่ามันต้องมีใครเสียสละ ซึ่งในทางปฏิบัติค่อนข้างลำบาก ผมก็เห็นว่าเจ้าหน้าที่เขาก็พยายามทำ แต่มันลำบากมากถ้าจะบอกกับเจ้าของที่ว่า "เพื่อให้หาดนี้มีทางลงน้ำ คุณต้องรื้อตรงนี้เพื่อไม่ให้ไปท่วมคนอื่น" คนที่ถูกรื้อเขาก็ต้องต่อสู้ ทางปฏิบัติมันลำบากมากถ้าเราไม่พยายามทำความเข้าใจกันตั้งแต่แรกๆตอนที่เขายังไม่ทำ

คนที่มาประกอบการบนเกาะช้าง ผมว่ามันน่าจะผ่านการอบรมก่อนว่าอะไรทำได้อะไรไม่ควรทำบนเกาะนี้ และเพราะอะไร คือเรื่องพวกนี้ผมว่ามันต้องทำความเข้าใจกัน เพราะเขามีความรู้สึกว่าเขาได้ลงทุนไปแล้วบางคนก็หมดตัว จะให้เขารื้อถอนอีกมันคงยาก มันเป็นเรื่องของการจัดการความพอดี ความต้องการเงินต้องการผลกำไรในการทำธุรกิจ กับความยั่งยืน ถ้าเราหลีกเลี่ยงเพื่อที่จะรักษาสภาพธรรมชาติเอาไว้เพื่อให้ธุรกิจมันยั่งยืน นักลงทุนแต่ละกลุ่มก็มีข้อจำกัดตรงนี้ไม่เหมือนกัน

อีกหนึ่งปัญหาคือ นักท่องเที่ยวมาเยอะก็มีปัญหาเรื่องน้ำใช้ เพราะน้ำทั้งหมดมาจากธรรมชาติหมดเลย ในขณะที่ห้องพักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทุกปี ทุกห้องพักต้องมีห้องน้ำ ทุกคนมาเกาะช้างต้องใช้น้ำ ปัญหาเรื่องน้ำดีก็ตามมา พอใช้แล้วก็มีปัญหาน้ำเสียอีก ไม่มีระบบบำบัดน้ำเสีย ผมว่าเกาะช้างโตไปเร็วเกินกว่าศักยภาพที่จะรองรับได้
ร้านของที่ระลึกที่เติบโตตามธุรกิจท่องเที่ยว
ผังเมืองตัวช่วยจัดระเบียบเกาะช้าง

พิทยา แนะว่า การวางผังเมืองจำเป็นสำหรับเกาะช้าง แต่ต้องเป็นการวางผังที่ประชาชนบนเกาะช้างรับรู้ และพร้อมที่จะปฏิบัติตามเมื่อผังออกมา ไม่เช่นนั้นจะไม่มีประโยชน์อะไร ในส่วนของผมถ้าในเรื่องของธรรมชาติที่มันเป็นอยู่ต้องรักษาเขาให้เยอะ รบกวนให้น้อย เรื่องน้ำถ้าจะทำน้ำดีมาให้จะทำฝาย ก็ต้องทำบ่อบำบัดน้ำเสียไปพร้อมกันต้องทำไปคู่กัน ไม่เช่นนั้นน้ำดีมาแล้วระบบบำบัดน้ำเสียมาทีหลัง เราใช้น้ำดีจนเสียแล้วก็ทิ้งกันเกลื่อนกลาด มันจะเป็นการทำร้ายซ้ำเติมเกาะช้าง

คือการพัฒนาเราต่างรู้ดีว่ามีผลกระทบอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าจะให้อะไรมาก็ต้องให้คู่ของมันมาด้วยเพื่อที่จะรับผลกระทบไปได้ อย่างถ้าถนนมาก็ต้องรู้ว่าเมื่อเทถนนไปแล้วรถก็จะมา เมื่อรถมาก็ต้องมีเรื่องที่จอดรถ ผมอยากเห็นแผนแบบนี้มากกว่ามันลิ้งค์กันไปหมด ไม่ใช่มาทีละส่วน คือถ้ามีงบทำน้ำดีก็ต้องมีงบทำบำบัดน้ำเสียไปพร้อมกัน มีงบทำถนนก็ต้องมีงบทำที่จอดรถ มันต้องมาคู่กัน เพราะไม่เช่นนั้นมันจะทำให้เราแก้ปัญหาหนึ่งแต่จะต้องไปเจอกับอีกปัญหาหนึ่ง

"ผมคิดว่า นักท่องเที่ยวมาเกาะช้างเพราะธรรมชาติบนเกาะช้าง เขาไม่ได้มาเพราะมีห้องพักสวยหรูหรืออะไรพวกนี้ หากห้องพักสวยแล้วธรรมชาติหายไปเขาคงไม่มา อนาคตนักท่องเที่ยวอาจจะลดลงเหมือนหลายๆเกาะ ผมก็ไม่อยากให้เราทำผิดซ้ำซากเราน่าจะเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นจากที่อื่นๆ และผมเชื่อว่าปัญหานี้คนที่จะแก้ได้ดีที่สุดคือผู้ประกอบการในพื้นที่ เพราะเขาเป็นคนได้ประโยชน์และเขาจะอยู่ในพื้นที่นานกว่าเจ้าหน้าที่ของภาครัฐ ดังนั้นควรจะหาช่องทางให้ผู้ประกอบการในเกาะช้างได้มีโอกาสเข้าไปรับผิดชอบร่วมกับภาครัฐ ชุมชนกับภาคธุรกิจในเกาะช้างต้องมีส่วนร่วม เพราะเขาจะคล่องตัวกว่า ถ้าเราพยายามสร้างกลไกแบบนี้ในทุกธุรกิจภาครัฐก็จะเบาไปด้วย" พิทยา กล่าวปิดท้าย

ด้าน จักรกฤษณ์ สลักเพชร นายก อบต.เกาะช้างใต้ กล่าวว่า เกาะช้างควรมีการวางผังเมืองเนื่องจากมันเป็นพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลด้วย อุทยานฯด้วย และเรื่องของการก่อสร้างเพราะเป็นเมืองที่เติบโตค่อนข้างรวดเร็ว เลยต้องมีการวางผังเมืองไว้ก่อนกันการรุกล้ำทะเลบ้าง อุทยานบ้าง ต้องมีการตั้งโซนกัน แต่ที่เกาะช้างไม่มีการวางผังเมืองไว้ก่อน เลยเกิดปัญหาทั้งเรื่องอาคารสูง การรุกล้ำชายหาดเรื่องน้ำเสีย ท่อระบายน้ำ ถนน มีการก่อสร้างอาคารที่ไม่ถูกระเบียบไม่อยู่ในระบบ บางทีก็ไปชิดถนนเกินไป ไปชิดลำน้ำสาธารณะ ทำให้การระบายน้ำเสียไม่ได้ผลเกิดปัญหาน้ำท่วมตามมา
จากท่าเรือเฟอรี่หากไปทางขวาจะเจอกับแสงสีความพลุกพล่าน หากไปทางซ้ายจะเจอกับความสงบและวิถีชาวบ้าน
สำหรับพื้นที่เกาะช้างใต้ตอนนี้มีปัญหาน้อย เพราะฝั่งนี้ไม่มีหาดทราย ยังไม่ค่อยมีโรงแรม รีสอร์ทใหญ่ๆ จะมีปัญหาก็เรื่องขยะ ที่เรายังจัดเก็บได้ไม่ดีพอ และเรื่องน้ำอุปโภคบริโภคมีไม่เพียงพอในช่วงหน้าแล้ง การวางผังเมืองและกำหนดโซนนิ่งจะช่วยได้ในหลายๆเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของการควบคุมอาคาร การแบ่งพื้นที่ใช้สอยให้ถูกต้อง ตอนนี้แผนเมืองรวมยังไม่ชัดเจน ที่ใช้ได้ตอนนี้ก็เป็นของบัญญัติของตำบลของอบต.เอง มีการกำหนดการสร้างอาคารห่างจากถนนกี่เมตร ห่างจากทะเลกี่เมตร สูงเท่าได้เท่าไร ต้องห่างจากริมคลอง ริมรางสาธารณะเท่าไร ซึ่งก็เป็นเพียงข้อกำหนดเบื้องต้นเท่านั้น

ในขณะที่ สุรพันธ์ กลิ่นขจร โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดตราด ก็ได้กล่าวถึงเรื่องของการวางผังเมืองและการกำหนดเขตโซนนิ่งของเกาะช้างว่า เกาะช้างก็เป็นอีกลักษณะหนึ่งที่เราไม่ได้วางผังเมืองไว้ เนื่องจากเกาะช้างไม่ได้อยู่ในลักษณะงานที่กรมโยธาและผังเมืองจะต้องดำเนินการ ดังนั้นการพัฒนาของเกาะช้างจึงไม่มีผังเมืองบังคับใช้ควบคุมการพัฒนาประโยชน์ที่ดินมาตั้งแต่เริ่มแรก จนมันช้าไปจนเกิดปัญหา มันก็เป็นลักษณะของผังเมืองที่เราดำเนินการทั่วๆไปที่พอมันมีปัญหาเราจึงตามไปแก้ปัญหา

ซึ่งที่เรามาทำ เราก็ได้เอาของเก่ามาดูว่าเขาเคยทำอะไรกันมาแล้วบ้าง ส่วนใหญ่จะมีเป็นโครงการเฉพาะ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโน้นด้านนี้ แต่มีแค่การศึกษาไว้เท่านั้น ไม่ได้ออกเป็นกฎกระทรวงผังเมืองตามครม. ไม่มีการบังคับใช้ ไม่มีการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ในปีนี้เป็นปีที่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนของการวางผังเมืองซึ่งมี 17 ขั้นตอน เราจะพยายามดำเนินการให้ถึงขั้นตอนที่ 4 คือการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาทั้งหมดมันมีปัญหาอุปสรรคมากในการจัดทำผัง เพราะแผนที่ที่มีอยู่ยังใช้ไม่ค่อยได้ การเก็บรวบรวมข้อมูลไม่ดี บางทีจ้างบริษัทมาทำแล้วแต่ระบบสาระสนเทศกลับเอามาใช้ไม่ได้ เพราะถ้าเรามีแผนที่เราจะทุ่นเวลาไปเยอะ

ปัญหาอีกเรื่องคือ กรรมสิทธิ์ที่ดินยังไม่ชัด เพราะตอนที่เก็บข้อมูลป่าไม้ก็ยังระบุไม่ชัดเจนว่าตรงไหนเป็นพื้นที่ป่า จึงยังไม่แน่ใจว่าที่ดินโดนรุกล้ำแค่ไหน ซึ่งตรงนี้ถ้าเรากำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินพลาดมันจะมีปัญหา เราต้องดูกรรมสิทธิ์แล้วกำหนดผังร่างอีกครั้ง แล้วประชุมประชาชนเราจะทราบปัญหามากขึ้น ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือ จังหวัดตราดจะมีกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 แต่ผู้บังคับใช้กฎมายไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย

เรื่องข้อมูลก็ส่วนหนึ่ง ที่เราส่งเจ้าหน้าที่ลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ ก็ได้รับข้อมูลมาส่วนหนึ่งที่จะนำมาจัดเตรียมประชุมท้องถิ่น ซึ่งเราคงต้องประชุมกันหลายครั้ง เพื่อให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้นทั้งกับ เทศบาล อบต. ผู้ประกอบการ คาดว่าในปีหน้า ขั้นตอนทางสำนักงานกรมโยธาของเราจะแล้วเสร็จ จากนั้นถึงไปยังขั้นตอนการทำเป็นกฎกระทรวง ประกาศเป็นกฎกระทรวงซึ่งคาดว่าน่าจะประกาศเป็นราชกฤษฎีกาได้ในปี 2553 ต่อไป

ซึ่งจากการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของเกาะช้าง ทำให้มีนักลงทุนจากทั้งภายในและภายนอกเกาะเดินทางมาลงทุนทำกิจการต่างๆ อาทิ ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ท ที่พัก เป็นจำนวนมากเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลมาจากทั่วทุกมุมโลก ทำให้เกินกว่าศักยภาพของเกาะช้างจะรองรับได้ทัน จึงได้มีการคิดจัดวางผังเมืองและโซนนิ่งให้เกาะช้างเพื่อให้เกาะช้างเติบโตเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีคุณภาพและยั่งยืนต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น