xs
xsm
sm
md
lg

“ตาเมือนธม” กับศิวลึงก์หนึ่งเดียวในไทย/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี
ปราสาทตาเมือนธม
“ตาเมือน”

ครั้งแรกที่ได้ยินชื่อนี้ ผมนึกว่าเป็นชื่อคนชรา(คุณตา)หรือผัวยาย(คุณตา) อย่าง ตาหมู ตาหมา ตาหมัก ตาแม้ว เป็นต้น

แต่ประทานโทษ ปรากฏว่าผิดถนัด เพราะตาเมือนเป็นชื่อของปราสาทและกลุ่มปราสาทขอมโบราณในจังหวัดสุรินทร์ ที่บ้านหนองคันนา ต.ตาเมียง กิ่งอ.พนมดงรัก ซึ่งอยู่ในฝั่งไทยห่างชายแดนกัมพูชาแค่ประมาณ 100 เมตรเท่านั้น

กลุ่มปราสาทชุดนี้ที่มีชื่อเรียกขานว่า “กลุ่มปราสาทตาเมือน”เป็นหนึ่งในรอยอดีตแห่งอาณาจักรขอมโบราณที่เคยเรืองอำนาจอยู่ในดินแดนแถบนี้ (แนวคิดเรื่องขอมโบราณนี้ ปัจจุบันมี 2 กระแสหลักด้วยกันคือ หนึ่งเชื่อว่าขอมไม่ใช่เขมรและอีกหนึ่งเชื่อว่าขอมคือเขมร) แต่ว่าปัจจุบันไม่มีอาณาจักรขอมโบราณแล้วมีแต่ประเทศไทยกับกัมพูชา ซึ่งกลุ่มปราสาทตาเมือนนั้นก็อยู่ในเขตแดนและการครอบครองของไทยมาช้านาน โดยกลุ่มปราสาทชุดนี้ประกอบด้วย ปราสาทตาเมือน ปราสาทตาเมือนโต๊ด และปราสาทตาเมือนธม
บารายปราสาทตาเมือนโต๊ด
สำหรับลักษณะของกลุ่มปราสาทแบบนี้อาจมีอยู่หลายแห่งในเขมร แต่ในเมืองไทยพบเพียงที่นี่ทีเดียวเท่านั้น ซึ่งปราสาทแต่ละหลังต่างก็มีประโยชน์ใช้สอยและความสำคัญแตกต่างกันออกไป

ปราสาทตาเมือน สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในพุทธศตวรรษที่ 18 (ยุคศิลปะบายน) เพื่อเป็นธรรมศาลาหรือที่พักคนเดินทาง ปราสาทหลังนี้เป็นห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีทางเดินเชื่อมถึงกัน มีมุขยื่นยาวออกมา มีหน้าต่าง 4 บาน ส่วนหน้าบันนั้นพังไปหมดแล้ว

ปราสาทตาเมือนโต๊ด สันนิษฐานว่าสร้างยุคเดียวกับปราสาทตาเมือนในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เพื่อเป็น“อโรคยาศาล” หรือที่รักษาพยาบาลของชุมชน(คล้ายสถานพยาบาลหรือสุขศาลา) ซึ่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นั้น ได้ชื่อว่านอกจากจะดูแลความเป็นอยู่ของพสกนิกรอย่างดีแล้ว ยังใส่ใจในการดูแลสุขภาพโรคไข้เจ็บของประชาชนอีกด้วย ปราสาทหลังนี้เป็นปราสาทเล็กหลังเดียวก่อด้วยศิลาแลงและหินทราย ประกอบด้วยปรางค์ประธานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีมุขยื่นทางด้านหน้า มีบรรณาลัยอยู่ทางด้านหน้าเยื้องไปทางขวาขององค์ปรางค์ ล้อมรอบด้วยกำแพงก่อศิลาแลง มีระเบียงคดล้อมรอบ ด้านนอกมีบารายขนาดเล็ก 1 สระ

ปราสาทตาเมือนธม คำว่า“ธม”นั้น หลายคนคุ้นกันดีว่าแปลว่า“ใหญ่” ส่วนตาเมือนธมเท่าที่ผมอ่านข้อมูลเจอ ในภาษาเขมรเขาแปลว่า“ตาไก่ใหญ่” แน่นอนเมื่อมีคำว่าธม ปราสาทหลังนี้ย่อมมีขนาดใหญ่ที่สุด แถมยังมีอายุเก่าแก่ที่สุดในกลุ่ม สันนิษฐานว่าสร้างราวพุทธศตวรรษ 16-17

ปราสาทตาเมือนธม ประกอบด้วยปรางค์สามองค์ ปรางค์องค์เล็กด้านหนึ่งสร้างถวายแด่พระอุมา องค์เล็กอีกองค์หนึ่งสร้างแด่พระคเณศหรือพระขันทกุมาร ส่วนองค์ใหญ่ปรางค์ประธานที่อยู่ตรงกลางสร้างขึ้นเพื่อบูชาศิวะ มีศิวลึงค์ประดิษฐานโดดเด่นอยู่ในห้องโถง

ศิวลึงค์องค์นี้จัดอยู่ในขั้นไม่ธรรมดา เพราะเป็นศิวลึงค์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือ“สวยัมภูลึงค์”(ก้อนหินรูปร่างคล้ายศิวลึงค์) ที่หาไม่ได้ง่ายๆในโลกนี้ เมืองไทยมีที่นี่เพียงหนึ่งเดียว

สำหรับความพิเศษอีกอย่างหนึ่งของปราสาทตาเมือนธมก็คือ ปราสาทหลังนี้สร้างบนเนินหินทราย จึงมีการตัดหินทรายจากที่นี่ และดัดแปลงเนินหินทรายเซาะสลักเป็นรางน้ำ เพื่อรองรับน้ำศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรมการบูชาศิวลึงค์ ซึ่งรางน้ำดัดแปลงจากสภาพพื้นที่แบบนี้มีที่นี่เพียงหนึ่งเดียวในเมืองไทยอีกเหมือนกัน

นอกจากปราสาทตาเมือนธมจะใหญ่สุด เก่าแก่สุดแล้ว ยังเป็นปราสาทที่อยู่ติดชายแดนเขมรที่สุดด้วย(ราว 100 เมตร) ตอนที่ผมไปเที่ยวกลุ่มปราสาทตาเมือนครั้งแรกเมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว ช่วงที่ไปเดินชมปราสาทตาเมือนธมนั้น จำได้ดีว่าที่หน้าประตูบางช่วงมีพี่ตชด.ยืนถือปืนขึงขังรักษาการณ์ ปานประหนึ่งทวารบาลมีชีวิตที่นับว่าแปลกไม่น้อยเลย

ส่วนที่จำได้ดียิ่งกว่าก็คือการจะเดินเที่ยวชมตามจุดต่างๆแถวนี้ อย่างออกนอกเส้นทางเป็นอันขาดใครที่ปวดเบาเห็นป่าละเมาะอยู่ข้างๆ จะเดินลงไปปลดทุกข์ก็พึงสังวรไว้ด้วยว่า แถบนี้ยังมีกับระเบิดอยู่ เพราะฉะนั้นอย่าได้เดินออกนอกลู่นอกทางเป็นอันขาด เพราะมันคือ“กับระเบิด”!?! ไม่ใช่ “กับข้าว”นะจะบอกให้ จะได้มาทำเป็นเล่นๆได้ ส่วนถ้าไปเที่ยวในขอบเขตในเส้นทางก็ปลอดภัยหายห่วง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นกับระเบิดที่ยังไม่ระเบิดยังไงมันก็ดีกว่าลูก“ระเบิด”ที่บึ้ม!!! ตูมตามขึ้นมา แถมยังระเบิดกันเป็นจริงเป็นจังที่นี่เสียด้วย เพราะเท่าที่อ่านและฟังจากกูรูด้านปราสาทขอม พบว่าที่กลุ่มปราสาทตาเมือนโดยเฉพาะปราสาทตาเมือนธมนี่ ต้องทุกข์ระทมกับการกระทำของพวกชั่วบางคนที่เข้ามาลักลอบวางระเบิดเพียงเพื่อต้องการสกัด กะเทาะ เอารูปนางอัปสราและลวดลายประดับอื่นๆไปขาย นับเป็นการทำร้ายทำลายปราสาทตาเมือนธมอย่างร้ายกาจ ส่งผลให้ปราสาทหลังนี้ที่ทรุดโทรมอยู่แล้วยิ่งพังทลายมากขึ้นไปอีก
ศิวลึงค์ธรรมชาติที่ปราสาทตาเมือนธม
แต่นั่นมันเป็นเรื่องอันน่าทุกข์ระทมของปราสาทตาเมือนธมเมื่อเมื่อหลายสิบปีก่อน ส่วนวันนี้กรมศิลป์ ตชด. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเขาสามารถจัดการดูแลได้(ดีพอตัว)แล้ว จึงทำให้เมื่อไม่นานมานี้ทางการพยายามผลักดันกลุ่มปราสาทตาเมือนเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดสุรินทร์ ที่ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นไปด้วยดี

ทว่าเมื่อไม่กี่วันมานี้ ปราสาทตาเมือนธมต้องประสบกับภาวะทุกข์ระทมอีกรอบหนึ่ง เนื่องจากรัฐบาลกัมพูชาได้แสดงอาการ“ได้คืบจะเอาวา”(เพราะคำว่าได้คืบเอาศอกมันดูน้อยไป)เพราะหลังได้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียวไปแล้ว(โดยการสนับสนุนของนักการเมืองไทยขายชาติบางคน)ก็ยังละโมบพยายามจะเข้ามาฮุบปราสาทตาเมือนธม(รวมถึงปราสาทสด๊กก๊อกธมในสระแก้วด้วย)ไปเป็นของตน โดยอ้างเรื่องเขตแดนและพื้นที่ทับซ้อนทำนองเดียวกับปราสาทพระวิหาร

แต่มันก็น่าแปลกนะ ที่รัฐบาลไทยกับไม่รู้สึกรู้สาอะไร ในขณะที่นายกฯก็ไม่แสดงทีท่าหรือแสดงความอินังขังขอบใดๆ กลับมุ่งเน้นแต่การบริภาษนักข่าว ด่าพันธมิตรฯ และคนที่คิดแตกต่างเหมือนอย่างเคย จนประชาชน(ส่วนใหญ่)เอือมระอาไปตามๆกัน ส่วนผู้นำเหล่าทัพก็ออกแนวมึนๆทำอะไรไม่ถูก แถมบางคนยังมึนถึงขั้น “กะแล่วแต๊” อะไรก็ช่าง ยังไงก็ได้

ผิดกับกรมศิลปากรที่งานเข้าจึงมาแนวพระเอก ดูเอาจริงเอาจัง ออกมายืนยันพร้อมหลักฐานชัดเจนว่า ปราสาทตาเมือนธมเป็นของไทยมานานแล้ว อีกทั้งได้รับประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานของไทย ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 2478 หรือเมื่อ 70 กว่าปีที่แล้ว ในสมัยของหลวงวิจิตรวาทการ เป็นอธิบดีกรมศิลปากรโน่น

เรียกว่าปราสาทตาเมือนธมอยู่ในเขตไทย อยู่ในการครอบครอง ดูแล บูรณะ ของไทยมาตั้งแต่ปีมะโว้แล้ว แต่น่าแปลกที่จู่ๆทำไมรัฐบาลกัมพูชาถึงจุดประเด็นนี้ขึ้นมาอีก

เอ...(ผมคิดไปเอง)หรือว่างานนี้มันเกี่ยวโยงกับเรื่องปราสาทพระวิหาร-เกาะกง-แหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่อ่าวไทย เพราะหากไล่เลียงจะพบว่าการที่นายติ๊งเหล่ไปเซ็นยินยอมรับให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกนั้น มันเป็นการยอมรับในแผนที่ฉบับเขมร(1 : 200,000)ด้วยหรือเปล่า? เพราะมาถึงวันนี้เรายังไม่เคยเห็นรัฐบาลเปิดเผยข้อมูลแผนที่เวอร์ชั่นเขมรที่นายติ๊งเหล่ไปเซ็นยินยอมรับรองเลย

และนั่นจึงเป็นเหตุให้รัฐบาลเขมรเขาพยายามรุกเราอย่างต่อเนื่อง งานนี้ถ้าเราเดินเกมไม่ดีมีหวังปราสาทตาเมือนธมอาจจะทำให้คนไทยทุกข์ระทมอีกครั้งไม่ต่างจากปราสาทพระวิหารก็เป็นได้
กำลังโหลดความคิดเห็น