โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
ถนนเยาวราชนั้น ได้ชื่อว่าเป็น "ถนนสายมังกร" โดยส่วนหัวของมังกรนั้นอยู่ที่บริเวณ"วงเวียนโอเดียน" หรือ "ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ" ท้องมังกรก็อยู่ในบริเวณที่ช่วงกลางๆของถนนที่เต็มไปด้วยร้านทอง และร้านอาหารสารพัดอย่าง ส่วนหางมังกรนั้นก็อยู่บริเวณสุดถนนเยาวราชใกล้กับสี่แยกวัดตึก
"วัดไตรมิตรวิทยาราม" พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ถือเป็นวัดหนึ่งที่ตั้งอยู่บริเวณส่วนหัวของมังกร เดิมเป็นวัดโบราณชื่อว่า "วัดสามจีน" เนื่องจากเชื่อว่าผู้ที่สร้างวัดเป็นชาวจีนกลุ่มแรกๆที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองไทย ในจำนวนนั้นมีชาวจีน 3 คนที่สร้างเนื้อสร้างตัวจนร่ำรวยเป็นเจ้าสัว มีจิตศรัทธาร่วมใจกันสร้างวัดแห่งนี้ขึ้น จึงเรียกว่าวัดสามจีน แต่ภายหลังจากที่มีการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ วัดสามจีนก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดไตรมิตรวิทยารามอย่างในปัจจุบัน
ภายในวัดมีพระอุโบสถที่ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2490 แทนพระอุโบสถเดิมที่ได้รับความกระทบกระเทือนจากระเบิดเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นพระอุโบสถทรงจัตุรมุข หลังคาสามชั้น มีชานรอบพระอุโบสถ บานประตู หน้าต่างเขียนลายรดน้ำสวยงาม ภายในประดิษฐาน "พระพุทธทศพลญาณ" พระประธานของวัดไตรมิตร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ปูนปั้นลงรักปิดทอง
แต่พระพุทธรูปที่โดดเด่นของวัดไตรมิตรฯ ที่ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต่างก็มีความศรัทธาชื่นชมนั้น ก็คือ "หลวงพ่อทองคำ" หรือ "พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร" พระพุทธรูปซึ่งประดิษฐานอยู่ในพระวิหารของวัด หลวงพ่อทองคำนั้นมีความสำคัญตรงที่เป็นพระพุทธรูปทองคำองค์แรกของไทยที่ได้รับการบันทึกไว้ใน The Guinness Book of World Record ปีค.ศ.1991 ว่าเป็นพระพุทธรูปทองคำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยขนาดขององค์พระนั้นมีขนาดหน้าตักกว้าง 6 ศอก 5 นิ้ว หรือมากกว่า 2.50 เมตร ความสูงจากพระเกตุมาลาถึงฐานทับเกษตร (ฐานที่รองรับพระพุทธรูป) 7 ศอก 1 คืบ 9 นิ้ว หรือประมาณ 3.04 เมตร 10 ฟุต น้ำหนักประมาณ 5.5 ตัน และที่สำคัญคือสร้างด้วยทองคำแท้ มีมูลค่าสูงกว่า 21 ล้านปอนด์ ตามที่ถูกบันทึกไว้ในหนังสือกินเนสส์บุ๊ค เมื่อปี พ.ศ.2533 มาจนถึงตอนนี้เมื่อราคาทองพุ่งกระฉูด ฉันเชื่อว่ามูลค่าย่อมสูงขึ้นกว่าเดิมอีกหลายสิบเท่า
เชื่อกันว่าหลวงพ่อทองคำเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และเคยประดิษฐานอยู่ที่วัดมหาธาตุกลางเมืองสุโขทัย แต่เมื่ออาณาจักรเสื่อมอำนาจลง ชาวเมืองจึงได้ลงรักและพอกปูนทับเนื้อทองคำขององค์พระพุทธรูปไว้ให้รอดพ้นจากข้าศึกศัตรู ทำให้ไม่มีใครรู้เลยว่าพระพุทธรูปองค์นี้มีเนื้อแท้เป็นทองคำ
เวลาผ่านมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ชะลอพระพุทธรูปจากหัวเมืองมาประดิษฐานยังกรุงเทพมหานคร หลวงพ่อทองคำที่ถูกปูนพอกไว้ทั้งองค์ก็ถูกอัญเชิญมาด้วยเช่นกัน โดยตอนแรกได้ไปประดิษฐานอยู่ที่วัดพระยาไกรอยู่นาน จนเมื่อปี พ.ศ.2478 จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดไตรมิตรวิทยารามซึ่งในขณะนั้นชื่อว่าวัดสามจีน
กว่าที่คนทั่วไปจะได้รู้ว่าพระพุทธรูปองค์นี้เป็นทองคำก็ต่อมาอีก 20 ปี เมื่อมีการประกอบพิธีอัญเชิญพระพุทธรูปมาประดิษฐานบนพระวิหาร ก็ได้เกิดอุบัติเหตุเชือกที่ยกองค์พระขาดลง ทำให้พระพุทธรูปตกลงมากระแทกพื้นอย่างแรงจนปูนที่พอกไว้กะเทาะออกบางส่วน และเมื่อกะเทาะปูนและล้างรักออก ทุกคนจึงได้ทราบว่าพระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปทองคำสุกปลั่ง อีกทั้งที่ใต้ฐานพระยังพบกุญแจที่ใช้ไของค์พระแยกออกเป็นส่วนๆ รวม 9 ส่วน ทำให้สามารถเคลื่อนย้ายองค์พระได้อย่างสะดวกราบรื่นขึ้น
และจากเหตุการณ์นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระพุทธรูปทองคำองค์นี้ว่า "พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร" ตามลักษณะของพระพุทธรูป แต่ประชาชนทั่วไปนิยมเรียกพระองค์นี้ว่า "หลวงพ่อทองคำ" มาจนปัจจุบัน
หากใครได้เคยมีโอกาสเข้าไปกราบหลวงพ่อทองคำในวิหารอาจจะมีคนรู้สึกเหมือนกับฉันว่า วิหารหลังนี้คับแคบเกินไปเสียแล้ว เพราะนอกจากพุทธศาสนิกชนไทยที่ศรัทธาจะมากราบไหว้หลวงพ่อทองแล้ว ก็ยังมีพุทธศาสนิกชนต่างชาติ และนักท่องเที่ยวอีกหลากหลายเชื้อชาติให้ความสนใจมากราบไหว้และเยี่ยมชมที่วัดไตรมิตรกันมากมาย เมื่อคนมากแต่พื้นที่แคบทำให้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จึงพากันยืนออถ่ายภาพอยู่หน้าพระพุทธรูปกันเต็มไปหมด คนเข้ามาทีหลังแทบจะมองไม่เห็นอะไร เป็นภาพที่ไม่น่าดูเท่าไรนัก ส่วนคนไทยอย่างฉันแทบจะหาที่กราบพระไม่ได้ ต้องรอจนคนซาเสียก่อนจึงจะมีพื้นที่
แต่ในขณะนี้หลวงพ่อทองก็กำลังจะได้ประดิษฐานอยู่ในสถานที่ใหม่ที่สมเกียรติของท่าน เพราะประชาคมนักธุรกิจเขตสัมพันธวงศ์ ชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีน และพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ร่วมกับวัดไตรมิตรฯ กำลังสร้างพระมหามณฑปองค์ใหม่เพื่อประดิษฐานหลวงพ่อทองคำ เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในปี พ.ศ.2549 และทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษาในปี พ.ศ.2550 และในขณะนี้การก่อสร้างก็กำลังรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยมีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม หรือปลายปีนี้นั่นเอง
ฉันได้เห็นแบบจำลองพระมหามณฑปหลังใหม่นี้แล้ว ต้องบอกว่าดูงดงามเป็นอย่างมาก โดยรูปแบบสถาปัตยกรรมนั้นก็เป็นแบบไทยประยุกต์สมัยรัตนโกสินทร์ ส่วนยอดพระมณฑปเป็นรูปทรงจตุรมุข ประดับด้วยตราสัญลักษณ์เฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ตัวอาคารพระมหามณฑปเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนบุด้วยหินอ่อน มีขนาดความกว้าง 30 เมตร สูง 60 เมตร ภายในแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ชั้นด้วยกัน ชั้นบนสุดเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อทองคำ และเป็นลานประทักษิณไว้สำหรับประกอบศาสนกิจต่างๆ ส่วนชั้นที่ 2 และ 3 จะใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชน จัดแสดงเรื่องราวต่างๆ ในย่านเยาวราช เช่นเรื่องของชาวจีนที่เดินทางเข้ามาในเมืองไทยแบบเสื่อผืนหมอนใบ แต่ภายหลังกลายเป็นเจ้าสัว ส่วนพื้นที่ชั้นล่างสุดก็จะใช้เป็นลานจอดรถ
ตอนนี้หลายคนก็กำลังรอให้พระมหามณฑปองค์นี้สร้างเสร็จไวๆ เพื่อจะได้ชื่นชมความงามอันเหมาะเจาะกับหลวงพ่อทองคำ พระพุทธรูปสำคัญของไทย และมีความสำคัญระดับโลกองค์นี้ ซึ่งอีกไม่นานเกินรอพระมหามณฑปก็จะเสร็จสมบูรณ์ เป็นสง่าราศีบนถนนสายมังกรนี้ต่อไป
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
วัดไตรมิตรวิทยาราม ตั้งอยู่ที่ 661 ถนนตรีมิตร แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ 10100 ใกล้กับวงเวียนโอเดียน การเดินทาง สามารถมาทางรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) ไปยังสถานีหัวลำโพง แล้วเดินต่อมาทางถนนตรีมิตร หรือจะขึ้นรถประจำทางสาย 4, 53 มาลงที่วัดไตรมิตรวิทยารามก็ได้ หากนำรถยนต์ไปเอง สามารถจอดรถได้ที่บริเวณวัด สอบถามรายละเอียดได้ที่โทรศัพท์ 0-2222-7470
ถนนเยาวราชนั้น ได้ชื่อว่าเป็น "ถนนสายมังกร" โดยส่วนหัวของมังกรนั้นอยู่ที่บริเวณ"วงเวียนโอเดียน" หรือ "ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ" ท้องมังกรก็อยู่ในบริเวณที่ช่วงกลางๆของถนนที่เต็มไปด้วยร้านทอง และร้านอาหารสารพัดอย่าง ส่วนหางมังกรนั้นก็อยู่บริเวณสุดถนนเยาวราชใกล้กับสี่แยกวัดตึก
"วัดไตรมิตรวิทยาราม" พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ถือเป็นวัดหนึ่งที่ตั้งอยู่บริเวณส่วนหัวของมังกร เดิมเป็นวัดโบราณชื่อว่า "วัดสามจีน" เนื่องจากเชื่อว่าผู้ที่สร้างวัดเป็นชาวจีนกลุ่มแรกๆที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองไทย ในจำนวนนั้นมีชาวจีน 3 คนที่สร้างเนื้อสร้างตัวจนร่ำรวยเป็นเจ้าสัว มีจิตศรัทธาร่วมใจกันสร้างวัดแห่งนี้ขึ้น จึงเรียกว่าวัดสามจีน แต่ภายหลังจากที่มีการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ วัดสามจีนก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดไตรมิตรวิทยารามอย่างในปัจจุบัน
ภายในวัดมีพระอุโบสถที่ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2490 แทนพระอุโบสถเดิมที่ได้รับความกระทบกระเทือนจากระเบิดเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นพระอุโบสถทรงจัตุรมุข หลังคาสามชั้น มีชานรอบพระอุโบสถ บานประตู หน้าต่างเขียนลายรดน้ำสวยงาม ภายในประดิษฐาน "พระพุทธทศพลญาณ" พระประธานของวัดไตรมิตร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ปูนปั้นลงรักปิดทอง
แต่พระพุทธรูปที่โดดเด่นของวัดไตรมิตรฯ ที่ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต่างก็มีความศรัทธาชื่นชมนั้น ก็คือ "หลวงพ่อทองคำ" หรือ "พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร" พระพุทธรูปซึ่งประดิษฐานอยู่ในพระวิหารของวัด หลวงพ่อทองคำนั้นมีความสำคัญตรงที่เป็นพระพุทธรูปทองคำองค์แรกของไทยที่ได้รับการบันทึกไว้ใน The Guinness Book of World Record ปีค.ศ.1991 ว่าเป็นพระพุทธรูปทองคำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยขนาดขององค์พระนั้นมีขนาดหน้าตักกว้าง 6 ศอก 5 นิ้ว หรือมากกว่า 2.50 เมตร ความสูงจากพระเกตุมาลาถึงฐานทับเกษตร (ฐานที่รองรับพระพุทธรูป) 7 ศอก 1 คืบ 9 นิ้ว หรือประมาณ 3.04 เมตร 10 ฟุต น้ำหนักประมาณ 5.5 ตัน และที่สำคัญคือสร้างด้วยทองคำแท้ มีมูลค่าสูงกว่า 21 ล้านปอนด์ ตามที่ถูกบันทึกไว้ในหนังสือกินเนสส์บุ๊ค เมื่อปี พ.ศ.2533 มาจนถึงตอนนี้เมื่อราคาทองพุ่งกระฉูด ฉันเชื่อว่ามูลค่าย่อมสูงขึ้นกว่าเดิมอีกหลายสิบเท่า
เชื่อกันว่าหลวงพ่อทองคำเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และเคยประดิษฐานอยู่ที่วัดมหาธาตุกลางเมืองสุโขทัย แต่เมื่ออาณาจักรเสื่อมอำนาจลง ชาวเมืองจึงได้ลงรักและพอกปูนทับเนื้อทองคำขององค์พระพุทธรูปไว้ให้รอดพ้นจากข้าศึกศัตรู ทำให้ไม่มีใครรู้เลยว่าพระพุทธรูปองค์นี้มีเนื้อแท้เป็นทองคำ
เวลาผ่านมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ชะลอพระพุทธรูปจากหัวเมืองมาประดิษฐานยังกรุงเทพมหานคร หลวงพ่อทองคำที่ถูกปูนพอกไว้ทั้งองค์ก็ถูกอัญเชิญมาด้วยเช่นกัน โดยตอนแรกได้ไปประดิษฐานอยู่ที่วัดพระยาไกรอยู่นาน จนเมื่อปี พ.ศ.2478 จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดไตรมิตรวิทยารามซึ่งในขณะนั้นชื่อว่าวัดสามจีน
กว่าที่คนทั่วไปจะได้รู้ว่าพระพุทธรูปองค์นี้เป็นทองคำก็ต่อมาอีก 20 ปี เมื่อมีการประกอบพิธีอัญเชิญพระพุทธรูปมาประดิษฐานบนพระวิหาร ก็ได้เกิดอุบัติเหตุเชือกที่ยกองค์พระขาดลง ทำให้พระพุทธรูปตกลงมากระแทกพื้นอย่างแรงจนปูนที่พอกไว้กะเทาะออกบางส่วน และเมื่อกะเทาะปูนและล้างรักออก ทุกคนจึงได้ทราบว่าพระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปทองคำสุกปลั่ง อีกทั้งที่ใต้ฐานพระยังพบกุญแจที่ใช้ไของค์พระแยกออกเป็นส่วนๆ รวม 9 ส่วน ทำให้สามารถเคลื่อนย้ายองค์พระได้อย่างสะดวกราบรื่นขึ้น
และจากเหตุการณ์นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระพุทธรูปทองคำองค์นี้ว่า "พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร" ตามลักษณะของพระพุทธรูป แต่ประชาชนทั่วไปนิยมเรียกพระองค์นี้ว่า "หลวงพ่อทองคำ" มาจนปัจจุบัน
หากใครได้เคยมีโอกาสเข้าไปกราบหลวงพ่อทองคำในวิหารอาจจะมีคนรู้สึกเหมือนกับฉันว่า วิหารหลังนี้คับแคบเกินไปเสียแล้ว เพราะนอกจากพุทธศาสนิกชนไทยที่ศรัทธาจะมากราบไหว้หลวงพ่อทองแล้ว ก็ยังมีพุทธศาสนิกชนต่างชาติ และนักท่องเที่ยวอีกหลากหลายเชื้อชาติให้ความสนใจมากราบไหว้และเยี่ยมชมที่วัดไตรมิตรกันมากมาย เมื่อคนมากแต่พื้นที่แคบทำให้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จึงพากันยืนออถ่ายภาพอยู่หน้าพระพุทธรูปกันเต็มไปหมด คนเข้ามาทีหลังแทบจะมองไม่เห็นอะไร เป็นภาพที่ไม่น่าดูเท่าไรนัก ส่วนคนไทยอย่างฉันแทบจะหาที่กราบพระไม่ได้ ต้องรอจนคนซาเสียก่อนจึงจะมีพื้นที่
แต่ในขณะนี้หลวงพ่อทองก็กำลังจะได้ประดิษฐานอยู่ในสถานที่ใหม่ที่สมเกียรติของท่าน เพราะประชาคมนักธุรกิจเขตสัมพันธวงศ์ ชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีน และพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ร่วมกับวัดไตรมิตรฯ กำลังสร้างพระมหามณฑปองค์ใหม่เพื่อประดิษฐานหลวงพ่อทองคำ เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในปี พ.ศ.2549 และทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษาในปี พ.ศ.2550 และในขณะนี้การก่อสร้างก็กำลังรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยมีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม หรือปลายปีนี้นั่นเอง
ฉันได้เห็นแบบจำลองพระมหามณฑปหลังใหม่นี้แล้ว ต้องบอกว่าดูงดงามเป็นอย่างมาก โดยรูปแบบสถาปัตยกรรมนั้นก็เป็นแบบไทยประยุกต์สมัยรัตนโกสินทร์ ส่วนยอดพระมณฑปเป็นรูปทรงจตุรมุข ประดับด้วยตราสัญลักษณ์เฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ตัวอาคารพระมหามณฑปเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนบุด้วยหินอ่อน มีขนาดความกว้าง 30 เมตร สูง 60 เมตร ภายในแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ชั้นด้วยกัน ชั้นบนสุดเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อทองคำ และเป็นลานประทักษิณไว้สำหรับประกอบศาสนกิจต่างๆ ส่วนชั้นที่ 2 และ 3 จะใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชน จัดแสดงเรื่องราวต่างๆ ในย่านเยาวราช เช่นเรื่องของชาวจีนที่เดินทางเข้ามาในเมืองไทยแบบเสื่อผืนหมอนใบ แต่ภายหลังกลายเป็นเจ้าสัว ส่วนพื้นที่ชั้นล่างสุดก็จะใช้เป็นลานจอดรถ
ตอนนี้หลายคนก็กำลังรอให้พระมหามณฑปองค์นี้สร้างเสร็จไวๆ เพื่อจะได้ชื่นชมความงามอันเหมาะเจาะกับหลวงพ่อทองคำ พระพุทธรูปสำคัญของไทย และมีความสำคัญระดับโลกองค์นี้ ซึ่งอีกไม่นานเกินรอพระมหามณฑปก็จะเสร็จสมบูรณ์ เป็นสง่าราศีบนถนนสายมังกรนี้ต่อไป
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
วัดไตรมิตรวิทยาราม ตั้งอยู่ที่ 661 ถนนตรีมิตร แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ 10100 ใกล้กับวงเวียนโอเดียน การเดินทาง สามารถมาทางรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) ไปยังสถานีหัวลำโพง แล้วเดินต่อมาทางถนนตรีมิตร หรือจะขึ้นรถประจำทางสาย 4, 53 มาลงที่วัดไตรมิตรวิทยารามก็ได้ หากนำรถยนต์ไปเอง สามารถจอดรถได้ที่บริเวณวัด สอบถามรายละเอียดได้ที่โทรศัพท์ 0-2222-7470