เคยคิดเล่นๆกันบ้างไหมว่าเมื่อแก่แล้วเราจะดำเนินชีวิตในบั้นปลายกันอย่างไร?
จะอยู่ให้ลูกหลานเลี้ยงดู จะนอนเล่นอยู่กับบ้าน จะออกไปร่วมแสดงพลังขับไล่รัฐบาลโจรกับพันธมิตรฯ หรือว่าอาจต้องระเห็จไปอยู่บ้านพักคนชรา เพราะปัญหาเศรษฐกิจยุคข้าวยากหมากแพง ผู้คนนิยมอยู่แบบสังคมเดี่ยวมากขึ้น ทำให้มีพ่อแก่แม่เฒ่าจำนวนไม่น้อยที่ต้องกลายเป็นภาระสังคม
แต่ปัญหาเหล่านี้คงไม่มีทางเกิดขึ้นกับ กลุ่มคนเฒ่าคนแก่ ของ "บ้านป่าแดด" อ.แม่สรวย จ.เชียงราย อย่างแน่นอน เพราะผู้เฒ่าผู้แก่ที่นี่ไม่ปล่อยให้สังขารอันร่วงโรยมาเป็นอุปสรรค ไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยผ่านไปรอเพียงวันสุดท้ายมาถึง ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงได้ร่วมมือกันใช้ความรู้ควบคู่ไปกับภูมิปัญญาพื้นบ้านผนวกประสบการณ์ที่สั่งสมมาทั้งชีวิต สร้างของเล่นในสมัยคุณตาคุณยายยังเด็ก ให้กับลูกหลานและอนุชนคนรุ่นหลังได้เล่น ได้เรียนรู้ จนเกิดเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิตนาม "พิพิธภัณฑ์เล่นได้" ขึ้นมา
พิพิธภัณฑ์เล่นได้ เกิดจากการรวมตัวของ กลุ่มคนเฒ่าคนแก่ในบ้านป่าแดดราว 6-10 คน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2540 ที่ให้ใช้พื้นดินสาธารณะในการดำเนินงานตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดป่าแดด จุดริเริ่มอยู่ที่ความสุขใจ จากการพูดคุยเรื่องราวในอดีตของแต่ละคน และค้นพบว่าความสุขสนุกสนานจากการเล่นของเล่นในวัยเยาว์ มีเรื่องราวที่งดงาม และความประทับใจมากมาย จึงเป็นที่มาของการเริ่มดึงความสุขจากใจคนเฒ่าคนแก่ออกมาเล่าขานผ่านของเล่นเด็กอันเปี่ยมด้วยคุณค่า
ในปีพ.ศ. 2542 ถือเป็นปีแห่งการเริ่มต้นอย่างแท้จริงของพิพิธภัณฑ์เล่นได้ เนื่องจากได้รับ เงินพระราชทานเป็นขวัญถุงจากสมเด็จพระราชินีฯ และบรรจบกับองค์การสหประชาชาติที่ประกาศให้ปีนี้เป็นปีผู้สูงอายุสากล ทำให้การผลิตของเล่นออกสู่สายตาของสังคมมีมากขึ้น จนเกิดเป็นกระแสในขณะนั้น
และในปีถัดมาทาง "มูลนิธิอโชก้า" ผู้ริเริ่มสร้างสรรค์เพื่อสังคม ต่อยอดความฝันโดยการมอบรางวัลผู้ประกอบการทางสังคมและสนับสนุนการทำงานจนพัฒนาสู่การ สร้างความยั่งยืนในระยะยาวเป็นศูนย์การศึกษาพัฒนาตลาดทางเลือกชุมชนที่บริหารโดยคนในชุมชนและรวมตัวกันในรูปแบบของสมาชิก ดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 จนถึงปัจจุบัน เรียนรู้ถูกผิดกันไปมาจน บริหารจัดการองค์กร และการพึ่งพาตนเองในปัจจุบัน ทำให้คนเฒ่าคนแก่ มีรายได้เฉลี่ยต่อคนเดือนละ 500 - 3,000 บาท ซึ่งจะได้มากได้น้อยก็ขึ้นอยู่กับความขยันของผู้เฒ่าผู้แก่แต่ละคน
"คนแก่ที่นี่เราทำกันตามกำลัง ใครมีแรงเท่าไหร่ก็ทำไป เราต้องการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้คนแก่ว่างงานมีชีวิตชีวา เวลาหลานๆเด็กๆในชุมชนเห็นก็อยากลองทำเราก็สอนให้ สมัยนี้ความสุขบางอย่างได้หายไปจากสังคมบ้านเราป้ออุ้ย แม่อุ้ย ที่นี่เลยอยากคืนความสุขที่ไม่ต้องตามหาให้สังคมบ้าง"
ป้อ(พ่อ)อุ้ยใย สุภาวะ อายุ 70 ปีประธานชมรมพิพิธภัณฑ์ของเล่น เล่าด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม เผยให้เห็นริ้วรอยยับย่นบนใบหน้า ที่บ่งบอกถึงประสบการณ์อันคร่ำโชนแห่งการเวลา
ที่พิพิธภัณฑ์เล่นได้ถือเป็นการฟื้นฟูวิถีชีวิต โดยการฟื้นการผลิตของเล่นพื้นบ้านขึ้นเป็นตัวแทนของการฟื้นฟูวิถีชีวิตท้องถิ่น กระตุ้นให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ก่อให้เกิดการรวมตัวเป็นกลุ่มอาชีพผลิตของเล่น ของเล่นพื้นบ้านจากป่าแดดกลายเป็นที่รู้จักและส่งขายไปยังที่ต่าง ๆ ที่พิพิธภัณฑ์เล่นได้ใครที่เข้ามาสามารถจับต้องสิ่งของที่นี่ได้ทุกอย่าง จะลองเล่น ลองทำเองก็ยังได้ มีผู้เฒ่าผู้แก่คอยสอนให้ด้วยรอยยิ้มและความเต็มใจ
ภายในพิพิธภัณฑ์มีของเล่นพื้นบ้านและของเล่นที่คิดประดิษฐ์ใหม่มากมายจัดแสดง และสามารถหยิบจับทดลองเล่นได้ทุกชิ้น พร้อมชื่อเรียกและคำอธิบายแบบง่าย อ่านสนุก บอกที่มาที่ไป วิธีการใช้ และแฝงความหมายที่มากกว่าของเล่น ที่ล้วนสะท้อนถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม และการเปลี่ยนแปลงในสังคม อาทิ ลูกข่างสตางค์ ที่มีคำอธิบายว่า "สมัยที่สตางค์มีรู ปู่ย่านำเหรียญมามัดกันทำเป็นลูกข่าง สมัยนี้ไม่มีสตางค์รู ก็เหลาไม้ใส่แทน…"
ป้ออุ้ยใย เล่าให้ฟังว่า ของเล่นภายในพิพิธภัณฑ์เล็กๆแห่งนี้หากจะจำแนกก็คงแบ่งได้ทั้งหมด 4 ประเภท คือ ของเล่นฤดูกาล ของเล่นกลางแจ้ง ของเล่นที่เน้นภูมิปัญญาวิถีชีวิต และของเล่นในร่ม
ตัวอย่างของของเล่นที่เน้นภูมิปัญญาวิถีชีวิต ก็อย่างเช่น คนเลื่อยไม้ หรือ สล่าเลื่อยไม้ เป็นของเล่นที่จำลองมาจากการตัดไม้ของสล่าไม้(สล่าเป็นภาษาพื้นเมืองในภาคเหนือซึ่งแปลว่าช่าง)ในอดีตเพื่อนำไม้มาสร้างบ้าน ทำจากไม้ไผ่ ไผ่ซาง ไผ่บงป่า "คนเลื่อยไม้" มีวิธีการเล่นคือการโยกคันโยกขึ้นลง ช่วยส่งเสริมการพัฒนากล้ามเนื้อเล็ก เพราะเด็กได้ออกกำลังนิ้ว ข้อมือ ทำให้กล้ามเนื้อนิ้ว มือ แข็งแรงขึ้น หยิบจับสิ่งต่าง ๆ ได้มั่นคง ฝึกควบคุมจังหวะการเคลื่อนไหว
นอกจากนี้ก็ยังมีของเล่นต่างๆอย่าง ลูกข่างโว้ ลูกข่างสะบ้า สัตว์ล้อต่าง ๆ สัตว์ชัก พญาลืมแลง พญาลืมงาย เต่ากระต่ายวิ่ง กำหมุน จานบิน โหวด อมรเทพ ครกมอง ควายกินหญ้า งูดูด คนตำข้าว กังหันลม เป็นต้น ส่วนของเล่นแต่ละอย่างจะเป็นอย่างแนะนำให้ลองไปหามาเล่นเอง
"ไม้ไผ่ ไม้รวกเศษไม้เหลือใช้ มะพร้าวราคาถูก ป้ออุ้ย แม่อุ้ย เอามาแปรรูปเป็นของเล่นได้หมด ลุงใยอายุ 70 ปี แต่ถ้าเทียบกับคนเฒ่าคนแก่อื่นๆที่อยู่ที่นี่ลุงใยเป็นละอ่อนไปเลย ผู้อาวุโสที่อายุมากที่สุดของกลุ่มอายุยืนถึง 98 ปีทุกวันจะส่งของเล่นให้ทางพิพิธภัณฑ์อย่างไม่ขาดสาย" ป้ออุ้ยใยเล่าไปหัวเราะไป
นอกจากนี้พื้นที่ส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ได้ถูกนำมาจัดแบ่งเป็นร้านขายของผลิตภัณฑ์จากชุมชนอีกด้วย อาทิ ของเล่นของกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ ผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ ผ้าพันคอ ผ้าขาวม้า กระเป๋า เสื้อยืด โปสการ์ด พวงกุญแจ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เป็นต้น
ซึ่งการได้รายได้ส่วนหนึ่งยังแบ่งมาเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ภายในพิพิธภัณฑ์อีกด้วย ราคาก็แสนถูก คุ้มค่าแก่การครอบครอง เพราะงานแต่ละชิ้นสรรค์สร้างจากฝีมือที่โอบอุ้มประสบการณ์เหนือการเวลาเอาไว้
ที่ "พิพิธภัณฑ์เล่นได้" เราจึงเห็นว่าผู้เฒ่าผู้แก่ ไม่ใช่ไม้ใกล้ฝั่งที่ไม่มีประโยชน์ แต่เป็นคนแก่ที่ยังมีไฟและพร้อมถ่ายทอดภูมิปัญญาที่มีให้แก่ลูกหลานอยู่เสมอ และแม้วันหนึ่งวันใดหากพวกท่านไม่เหลือกายหยาบอยู่บนโลกนี้แล้วไซร้ ของเล่นที่พวกท่านได้สั่งสอนจะเป็นการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมิให้สูญหายไป
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
พิพิธภัณฑ์เล่นได้ กลุ่มคนเฒ่าคนแก่ ตั้งอยู่ที่ 268 หมู่ 3 ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย 57180 เปิดทุกวัน 09.00 - 16.00 น. โดยไม่เก็บค่าเข้าชม ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-5370-8070, 0-5370-8500, 08-9999-8537