xs
xsm
sm
md
lg

“ของเล่นพื้นบ้าน” วันวานยังหวานอยู่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สารพัดของเล่นพื้นบ้านที่ได้รับอนุรักษ์สืบสานไว้
“แม่ครับ...ผมอยากได้เกมส์บอย หุ่นยนต์”

“แม่คะ...หนูอยากได้ตุ๊กตาบาร์บี้ ทามากอตจิ”

เด็กๆ สมัยนี้ในโลกยุคไซเบอร์ต่างรู้จักแต่ของเล่นไฮเทคโนโลยีแบบนี้ทั้งนั้น ที่มีขายอยู่ตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ที่นำเข้าของเล่นจากต่างประเทศมาขายให้เด็กสมัยใหม่ได้ซื้อหาไปเล่นกันเพื่อความเพลิดเพลิน

หากย้อนเวลากลับไปสมัยรุ่นคุณพ่อคุณแม่ยังเยาว์วัย คงจะไม่มีของเล่นไฮเทคเหล่านี้ให้ได้เล่นกัน จะมีก็แต่ของเล่นพื้นบ้านๆ อย่างจักจั่น ป๋องแป๋ง กังหันลม ลูกข่าง ว่าว และอีกสารพัดของเล่นแบบไทยๆ ที่ทำมาจากวัสดุธรรมชาติ ซึ่งต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ของเล่นพื้นบ้านเหล่านี้ แทบจะเรียกว่าได้หายไปจากโลกแห่งของเล่นไปแล้ว เพราะด้วยยุคสมัยและกาลเวลาที่ผันผ่านไป ของเล่นพื้นบ้านเหล่านี้กลับกลายเป็นของเล่นโบราณที่ถูกหลงลืมไปแล้วจากสังคมไทย และนับวันก็ยิ่งจะหาของเล่นพื้นบ้านที่สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนรุ่นก่อนมาเล่นได้ยากเต็มที

แต่ก็ยังถือว่าเป็นความโชคดี เมื่อมีกลุ่มคนเล็กๆ รวมตัวกันขึ้นจัดตั้งเป็น “กลุ่มรุ่งอรุณ” ที่รักและเห็นคุณค่าของของเล่นพื้นบ้านเหล่านี้ และได้ทำการอนุรักษ์และสืบสานของเล่นพื้นบ้านเหล่านี้ไว้ให้เด็กรุ่นใหม่ได้รู้จัก และได้สัมผัสกับความน่าเล่น น่าชื่นชมของเล่นพื้นบ้านแบบไทยๆ ที่ไม่มีพิษภัย แถมยังเป็นของเล่นที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กได้เป็นอย่างดี

“กลุ่มรุ่งอรุณ” ผู้สืบสานและอนุรักษ์ของเล่นพื้นบ้านให้ยังคงอยู่

“เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลเมื่อประมาณปี พ.ศ.2530 มีการพูดเสมอว่าให้คนไทยรวมกลุ่มกัน สามัคคีกัน เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชน มีนโยบายให้นิยมไทย ภูมิใจในความเป็นไทยให้คนไทยช่วยเหลือกัน ผมเลยคิดว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยรู้จักของเล่นพื้นบ้าน และเมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามามากก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องการเรียนรู้ของเด็ก และภูมิปัญญาไทยจะถูกละเลย ผมเองเป็นเด็กชนบท ผมเล่นของเล่นเยอะมาก ก็เลยลองทำของเล่นจากวัสดุพื้นบ้านที่ผู้ใหญ่ในสมัยก่อนเคยเล่นมาฟื้นความทรงจำว่ามีอะไรบ้าง แล้วลองให้เด็กๆ ในชุมชนเล่น ก็เห็นว่าเด็กๆ สนใจ ก็เลยเริ่มทำของเล่นขึ้นมา และรวบรวมหาของเล่นพื้นบ้านจากหลายๆ กลุ่มคนที่ทำขาย มารวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อช่วยกันฟื้นให้ของเล่นพื้นบ้านกลับมา”

ทวีทรัพย์ นามขจรโรจน์ ผู้ประสานงานกลุ่มรุ่งอรุณของเล่นพื้นบ้าน เล่าถึงที่มาที่ไปกลุ่มรุ่งอรุณที่สืบสานและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของเล่นพื้นบ้านไม่ให้หายไปจากสังคมเมืองไทย พร้อมกับบอกต่อว่า การที่กลุ่มรุ่งอรุณได้ทำการรื้อฟื้นของเล่นพื้นบ้านตรงนี้ เสมือนกับว่าเป็นความต้องการให้เด็กสมัยใหม่ได้รู้ว่าคนสมัยก่อนนั้นมีของเล่นอะไรบ้าง และมีประโยชน์ต่อตัวเด็กมากน้อยแค่ไหน

“ผมคิดว่าพอตระหนักถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับเรื่องของเล่น มันมีของสมัยใหม่มาเยอะแล้วเริ่มรู้สึกกลัว ผมมองว่าของเล่นพื้นบ้านเป็นเรื่องของธรรมชาติ ใช้เงินน้อยซื้อได้ ทำของเล่นเองก็ได้เป็นการเรียนรู้ที่ไม่ยากมันทำง่ายๆ ถ้าเด็กเขาไปทำของเล่นแบบสมัยใหม่นั้น ทำไม่ได้มันเข้าใจยาก เลยกลายเป็นว่ามีหน้าที่เล่นอย่างเดียว ผมอยากให้เด็กรู้สึกว่าของเล่นมีการถ่ายทอดให้เป็นระบบได้ คือเหมือนเป็นเรื่องของการศึกษา เพราะมันก็เป็นสื่อชนิดหนึ่งที่สามารถพัฒนาการเรื่องการเรียนรู้ของเด็กๆ ได้” ทวีทรัพย์อธิบาย พร้อมกับพาไปดูบรรดาของเล่นพื้นบ้านต่างๆ ที่ทางกลุ่มได้ทำการอนุรักษ์ไว้ว่ามีอะไรบ้าง

ทำความรู้จักกับของเล่นพื้นบ้าน

สำหรับของเล่นพื้นบ้านที่ทางกลุ่มรุ่งอรุณทำการอนุรักษ์ไว้นั้นมีมากมายหลากหลายรูปแบบ โดยแบ่งของเล่นออกเป็น 2 พื้นที่ ถ้าเป็นของเล่นพื้นบ้านก็จะเป็นของเล่นที่ทำจากไม้เป็นส่วนใหญ่ ถ้าเป็นของเล่นที่อยู่ในเมืองจะเป็นของเล่นที่เป็นวัสดุร่วมสมัย มีสีสัน และของเล่นก็สามารถแบ่งตามหลักการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ เพราะของเล่นมันก็คือสื่อการเรียนรู้

โดยจัดแบ่งของเล่นออกเป็นกลุ่มได้ดังนี้ 1.กลุ่มดันอากาศและแรงยก ได้แก่ กังหันใบลาน กังหันเสียง กังหันไม้ไผ่เครื่องบินร่อน บั้งโพ๊ละอัดลม จานบินจีน จานบินญี่ปุ่น จานบินไทย กังหันบิน ปืนอัดลมจุกก๊อก ว่าว เรือป๊อกแป๊ก 2.กลุ่มคาน/ล้อ/เพลา/กลุ่มจุดศูนย์ถ่วง ได้แก่ รถไม้ สามล้อ ตำข้าว เรือสาน งูไม้ไผ่ เรือเวียดนาม นกจูง สามล้อ คนเลื่อนไม้ ม้าโยก หมุนถ่วง บาร์มือ 3.กลุ่มเสียง ได้แก่ ปี่เสียงนก ขลุ่ยเล็ก นกหวีด จักจั่น ป๋องแป๋ง ลูกข่างเสียง โหวดเล็ก แคนเสียง 4.กลุ่มแรง ธงสะบัด ลูกข่างตะปู หุ่นชัก กังหันมือ/กำหมุน ปืนหนังยาง งูกินนิ้ว ควายกะลาวง

“ของเล่นพื้นบ้านที่ทำอยู่น่าจะมีไม่น้อยกว่า 30 อย่าง มันมีการเคลื่อนไหวอยู่ 2 รูปแบบด้วยกัน รูปแบบแรกเราทำไว้เพื่อเป็นการศึกษา หรือในเรื่องการอนุรักษ์ต่างๆ ก็ทำเก็บไว้เฉยๆ ในทางเศรษฐกิจมันไม่สามารถขายได้ แบบที่ 2 เป็นกลุ่มของเล่นที่ผลิตเฉพาะตัวขึ้นมา ขายได้และได้รับการสนใจดี เป็นของเล่นที่มันมีสีสัน เคลื่อนไหวได้ หมุนได้ วิ่งได้ต่างๆ ถ้าเกิดเสียงได้ก็ดีอย่างกังหันเสียงสะบัดแล้วมีลมมาปะทะ จักจั่นมีเสียงก็ยังขายได้อยู่สม่ำเสมอ หุ่นเชิดเคลื่อนไหวได้มันมีลีลา ไม้มายาก็ขายดีเหมือนกัน ผู้ใหญ่มักจะซื้อของแนวไม้ ซื้อเพื่อรำลึกความทรงจำต่างๆ แล้วก็เอาไปเชื่อมโยงกับลูกๆ หลานๆ ว่าอันนี้ตอนเด็กๆ พ่อเคยเล่นแล้วก็ทดลองเล่นให้ลูกดู” ทวีทรัพย์ บอก

ของเล่นพื้นบ้านมีเสน่ห์ที่ทำมือ เสริมสร้างการเรียนรู้ให้เด็กๆ

เมื่อถามว่าคุณทวีทรัพย์มีความรู้สึกอย่างไรต่อของเล่นพื้นบ้านเหล่านี้ที่ได้ทำ คุณทวีทรัพย์ตอบด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มว่า

“ผมว่าอย่างน้อยมันเป็นของที่ทุกคนทำได้ มีของเล่นหลายอย่างเหมาะสมที่ผู้ใหญ่ทำได้ด้วยตัวเอง และในกรณีที่เป็นพ่อแม่พี่หรือญาติผู้ใหญ่ทำของให้ลูกหลานของตัวเองได้ ผมว่ามันมีเสน่ห์อยู่ตรงที่ทำด้วยมือ ทำด้วยความรักด้วยจิตใจ ทำให้มันเป็นของที่มีคุณค่า และสะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญา

“ถ้าพูดถึงของเล่นสมัยใหม่ทันสมัยในทุกวันนี้มันก็มาจากของเล่นที่ทำด้วยมือในอดีต จากนั้นก็มีการพัฒนาตามความรู้ทางวิทยาศาสตร์ก็กลายเป็นของเล่นที่ทันสมัยตามเทคโนโลยี ผมว่าไม่ว่าของเล่นสมัยใหม่หรือของเล่นพื้นบ้านสมัยเก่า มันก็มีความเหมือนกันตรงที่ทำให้เด็กอยากเรียนรู้ มีความสุขกับการได้เล่นซึ่งเป็นธรรมชาติของเด็ก และของเล่นพื้นบ้านก็ยังสามารถสอดแทรกเรื่องความรู้หลักการทางวิทยาศาสตร์เข้าไปให้แก่เด็กได้ด้วย อย่างไม้ต่อขาสูง มันเป็นเรื่องการจัดระเบียบร่างกาย เป็นเรื่องของจุดศูนย์ถ่วงการทรงตัว ถ้าจุดศูนย์ถ่วงดีตัวเรากับไม้ต่อขาสูงไม่เสียก็จะทำให้เราเดินง่าย ซึ่งจะโยงไปถึงเรื่องอุบัติเหตุได้ ของเล่นสามารถเชื่อมโยงให้ทันสมัยได้ เราสามารถทำให้เด็กเห็นเป็นเรื่องที่ควรจะระวัง อาจจะเชื่อมโยงกับเรื่องที่เขาจะไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วย”

อนาคตของเล่นพื้นบ้านยังคงอยู่ หากทุกคนร่วมใจกันอนุรักษ์

ทวีทรัพย์ได้ให้ความคิดเห็นต่อเรื่องของการที่ของเล่นพื้นบ้านได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากผู้คนที่ยังเห็นคุณค่าของเล่นพื้นบ้านโบราณเหล่านี้ รวมถึงเด็กสมัยใหม่ก็ให้ความสนใจชื่นชอบเล่นของเล่นพื้นบ้านเหล่านี้ไม่น้อยเลย จึงทำให้มองเห็นได้ว่าในอนาคตของเล่นพื้นบ้านเหล่านี้น่าจะยังคงอยู่กับสังคมไทยไปได้ หากทุกคนช่วยกันส่งเสริม และอนุรักษ์ไว้

“ผมว่ามันเป็นการดีมาก หากมีหลายๆ หน่วยงาน รวมทั้งชุมชนด้วย เห็นความสำคัญของของเล่นพื้นบ้าน ในแง่ของนักวิชาการเขาก็มองว่าของเล่นพวกนี้มีความอ่อนโยนดี มันเป็นของที่ทำจากธรรมชาติและสามารถเอาของเล่นพวกนี้ไปเชื่อมโยงเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องสังคมก็เป็นเรื่องการมีสายใยร่วมกัน เพราะเล่นคนเดียวมันก็ไม่สนุก ของเล่นหลายอย่างบางทีมันต้องเล่นเป็นทีม ถึงช่วงเทศกาลเล่นว่าวเล่นลูกข่างหรืออะไรต่างๆ บางคนก็จะเล่นเป็นกลุ่มเป็นทีม จึงเกิดเป็นเครือข่ายทางสังคม และถ้าหากผู้ใหญ่อยากจะสอนเรื่องความเมตตา ความมีน้ำใจต่อกัน ของเล่นพวกนี้มันสามารถสอนกันได้หมด เรื่องคุณธรรมต่างๆ สอดแทรกตั้งแต่ช่วงในวัยเด็กที่เล่นด้วยกัน การแย่งกัน การหวงของเล่นอะไรต่างๆ ของเล่นพื้นบ้านพวกนี้มันทำได้ไม่อั้น มันไม่ต้องใช้งบประมาณมาก เพราะฉะนั้นสอนตั้งแต่เด็กๆ ได้เลยว่าสามารถค่อยๆ ช่วยกันทำขึ้นมาทำได้เยอะแยะ เผื่อแผ่คนอื่นได้ด้วย”

“ผมว่าในภาวะปัจจุบันนี้ การใช้ของเล่นพื้นบ้านเพื่อเอามาเชื่อมโยงเด็กๆ ในช่วงตั้งแต่เด็กเล็กจนถึง 5-8 ปีขึ้นไป เป็นสื่อที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้หลายๆ เรื่องได้ จะทำให้เด็กมีรากเหง้าของความเป็นไทยตั้งแต่ในวัยเด็ก เพราะเนื่องจากว่าโตขึ้นมามีเทคโนโลยีรออยู่เยอะแยะไปหมด และในช่วงวัยเด็กเล็กควรจะให้เขาได้เรียนรู้เรื่องของเล่นที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ถ้าสนใจก็สามารถมาเลือกซื้อ เล่น หรือศึกษาหาความรู้ได้ที่นี่ กลุ่มรุ่งอรุณของเรายินดีต้อนรับ” ทวีทรัพย์กล่าวทิ้งท้าย

*************

สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะซื้อหาของเล่นพื้นบ้าน หรืออยากจะติดต่อให้กลุ่มรุ่งอรุณไปออกงานเผยแพร่ความรู้เรื่องของเล่นพื้นบ้าน สามารถติดต่อมาได้ที่คุณทวีทรัพย์ ที่อยู่ 21/20 หมู่บ้านพาราไดส์วิลล์ ถนนศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา โทร. 0-2885-2067, 08-1653-5267
คุณทวีทรัพย์ นามขจรโรจน์ ผู้ประสานงานกลุ่มรุ่งอรุณของเล่นพื้นบ้าน
ป๋องแป๋งหลากสีสัน
หุ่นเชิดตัวการ์ตูนขวัญใจของเด็กๆ
จั๊กจั่นของเล่นพื้นบ้านกลุ่มเสียง
กังหันลมสีสวยของเล่นที่เด็กๆ ชื่นชอบ
ว่าวของเล่นพื้นบ้านไทยๆ
ของเล่นพื้นบ้านสารพัดอย่างที่ทำมามาจากวัสดุจากธรรมชาติ
ลูกข่างของเล่นพื้นบ้านในกลุ่มแรง
ไม้มายาหรือไม้กายสิทธิ์ของเล่นพื้นบ้านที่ได้รับความนิยมจากเด็กๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น