อยู่ดีๆ เพื่อนขี้สงสัยก็ตั้งคำถามขึ้นมาเมื่อรู้ว่า "ผู้จัดการท่องเที่ยว" กำลังจะไปเยือนเมืองแปดริ้ว หรือจังหวัดฉะเชิงเทรา ว่า ทำไมต้องเป็น "แปดริ้ว" ทำไมไม่เป็นห้าริ้ว หกริ้ว แล้วริ้วที่ว่านั้นคือริ้วอะไร??
จึงเป็นหน้าที่ของเพื่อนที่ดีที่ต้องอธิบายว่า แปดริ้วนั้น เป็นชื่อที่เรียกขานต่อๆกันมาถึงเมืองแห่งนี้ว่ามีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก ในแม่น้ำมีปลานานาชนิดอยู่กันชุกชุม และปลาช่อนที่จับขึ้นมาได้นั้น เมื่อนำมาบั้งแล้วก็สามารถบั้งได้ถึง 8 ริ้วด้วยกัน แสดงว่าปลาช่อนสมัยนั้นตัวโตมาก ท่าทางน่าอร่อย ส่วนฉะเชิงเทราที่เป็นชื่อทางการนั้น ก็มาจากภาษาเขมร แปลว่าคลองลึก สรุปได้ว่าเมืองนี้ทั้งมีคลองลึกทั้งมีปลาตัวใหญ่อยู่ในคลองเลยทีเดียว
ไหนๆ เพื่อนก็แสดงความสงสัยออกมาแล้ว "ผู้จัดการท่องเที่ยว" ก็เลยจัดการชักชวนให้มาเที่ยวเมืองแปดริ้วด้วยกันเสียเลย โดยแน่นอนว่าหากได้ไปเยือนฉะเชิงเทรา สถานที่ที่ต้องไม่พลาดที่จะไปเยือนก็คือ "วัดโสธรวราราม วรวิหาร" หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ "วัดหลวงพ่อโสธร" ที่ตอนนี้มีพระอุโบสถหลังใหม่เอี่ยมงดงามเป็นที่ชื่นชมของผู้ที่ได้พบเห็นเป็นอย่างมาก
องค์หลวงพ่อโสธรนั้นถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองฉะเชิงเทรามานานแล้ว หากใครเคยอ่านตำนานประวัติของท่านก็คงจะทราบว่า องค์หลวงพ่อโสธรนั้นลอยน้ำมาจากทางเหนือพร้อมกับพระพี่น้องอีก 3 องค์ (บางตำนานก็ว่า 5 องค์) แล้วได้แสดงอภินิหารลอยขึ้นให้ประชาชนได้เห็นในหลายๆ คุ้งน้ำ แต่ก็ไม่มีใครสามารถนำพระพุทธรูปขึ้นมาจากน้ำได้ จากนั้นพระพุทธรูป 3 องค์ก็ได้ลอยแยกทางกันไป องค์หลวงพ่อโสธรนั้นได้ลอยมาที่หน้าวัดหงส์ หรือวัดโสธรวรารามฯ ในปัจจุบัน ชาวบ้านจึงทำพิธีอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานที่วัด กลายเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองแปดริ้วมาตั้งแต่บัดนั้น
มาว่ากันถึงเรื่องพระอุโบสถของวัดโสธรฯ ที่กล่าวไปในตอนต้นแล้วว่างดงามนัก ก็เป็นพระอุโบสถหลังใหม่ที่เพิ่งสร้างเสร็จเมื่อไม่กี่ปีมานี้ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริให้สร้างขึ้น หลังจากที่พระองค์ได้เสด็จมาทรงทำพิธีเวียนเทียนในวันวิสาขบูชาเมื่อปี พ.ศ.2509 และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้เป็นองค์ประธานในการก่อสร้าง
ส่วนรูปแบบของพระอุโบสถวัดโสธรวรารามฯ นั้นก็เป็นแบบปราสาททรงไทยทำด้วยหินอ่อนจากอิตาลีทั้งหลัง มีหลังคาจตุรมุข ส่วนกลางพระอุโบสถมียอดมณฑป เป็นฉัตรทองคำแท้ 5 ชั้นด้วยกัน เฉพาะยอดมณฑปนี้ก็มีมูลค่าถึง 44 ล้านบาทเข้าไปแล้ว และมูลค่าโดยรวมของพระอุโบสถหลังนี้ก็ประมาณ 2,500 ล้านบาทเลยทีเดียว
และศูนย์รวมความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนก็อยู่ภายในพระอุโบสถ ซึ่งก็คือหลวงพ่อโสธรนั่นเอง แต่พระพุทธรูปในพระอุโบสถนี้จะมีอยู่หลายองค์ด้วยกัน ก็ให้สังเกตองค์ที่อยู่ตรงกลาง และมีจีวรคลุมองค์ไว้ นั่นแหละคือองค์หลวงพ่อโสธร
เมื่อได้สักการะหลวงพ่อโสธรเสร็จเรียบร้อย เก็บภาพมุมสวยๆ ในวัดเก็บไว้เป็นที่ระลึกแล้วก็อย่าเพิ่งรีบกลับ ลองเดินมาทางด้านหลังพระอุโบสถซึ่งจะมีท่าเรืออยู่ริมแม่น้ำบางปะกง เราจะลงเรือกันต่อเพื่อล่องชมวิวแม่น้ำบางปะกง และยังเป็นการเดินทางเชื่อมโยงไปยังแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆต่อไปได้ด้วย โดยเรือจะออกเป็นรอบๆ ในวันเสาร์อาทิตย์หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์นี้ก็มีเรือออกทุกชั่วโมง ตั้งแต่สายๆ จนบ่ายๆ เลยทีเดียว
บนเรือนอกจากจะได้รับลมเย็นๆ พร้อมชมวิวสองฝั่งแม่น้ำแล้ว ก็ยังมีมัคุเทศก์คอยชี้ชวนสิ่งต่างๆ ที่น่าสนใจให้เราฟังตลอดเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็นอาคารไม้สักหลังใหญ่ที่สุดในฉะเชิงเทราที่ภายในมีพิพิธภัณฑ์เล็กๆ เก็บข้าวของเครื่องใช้ในสมัยรัชกาลที่ 5 ไว้ หรือจะเป็นตำหนักกรมขุนมรุพงษ์ศิริพัฒน์ หรือปัจจุบันคือจวนผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งรัชกาลที่ 5 เคยเสด็จมาประทับแรมที่ตำหนักแห่งนี้ เรือยังแล่นผ่านศาลเจ้าพ่อหลักเมืองและศาลหลักเมืองฉะเชิงเทรา ที่ภายในศาลมีเสาหลักเมืองอยู่ 2 เสาด้วยกัน
เรือแล่นผ่านย่านการค้าเก่าแก่ในเมืองแปดริ้ว ผ่านวัด และผ่านโบสถ์ในศาสนาคริสต์ และผ่านเรือนแพซึ่งแสดงให้เห็นว่าในบริเวณนี้เคยเป็นแหล่งชุมชนในการค้าขายทางน้ำมาก่อน และเมื่อเรือลอดผ่านใต้ทางรถไฟ ก็เป็นสัญญาณว่าเรากำลังจะได้ลงไปยืดเส้นยืดสายและเดินเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่ง นั่นก็คือที่ “ตลาดบ้านใหม่” นั่นเอง
แม้จะมีชื่อว่าตลาดบ้านใหม่ แต่หากนับอายุแล้วก็ถือเป็นตลาดห้องแถวริมน้ำที่เก่าแก่อายุกว่าร้อยปีมาแล้ว ในอดีตมีชุมชนชาวจีนมาอาศัยอยู่ที่นี่เป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่มีอาชีพค้าขาย และเนื่องจากทำเลที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสายใหญ่ เป็นจุดศูนย์กลางของการเดินทางทางน้ำ จึงทำให้เกิดเป็นตลาดบ้านใหม่ขึ้น
แต่หลังจากที่มีถนนตัดผ่าน การคมนาคมทางน้ำลดความนิยมลงไป ลูกหลานในตลาดเติบโตขึ้นและออกไปทำงานต่างเมืองกันหมด ทำให้ตลาดบ้านใหม่กลายเป็นตลาดร้างอยู่กว่า 50 ปี จนได้มีการตั้งชมรมรักษ์ตลาดบ้านใหม่ขึ้นเพื่อฟื้นฟูตลาดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว รื้อฟื้นภาพตลาดห้องแถวริมน้ำเก่าๆ ที่เคยมีร้านกาแฟโบราณ ร้านอาหารอร่อยๆ ร้านขายขนมขายของเล่นสารพัดอย่าง ร้านขายของงานฝีมือของที่ระลึกน่ารักๆ จนทุกวันนี้ตลาดบ้านใหม่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวต้องมาแวะชมเมื่อได้มาไหว้พระที่วัดหลวงพ่อโสธรฯ
เท่าที่ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" เห็น ตลาดบ้านใหม่ในวันนี้ยังคงมีกลิ่นอายของอดีตอยู่ค่อนข้างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นห้องแถวไม้ริมน้ำที่แม้จะเก่าแต่ก็ดูคลาสสิค มีศาลเจ้าเก่าแก่ที่อยู่คู่ตลาด ด้วยบรรยากาศเหล่านี้ ตลาดบ้านใหม่จึงถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำละครหลายเรื่อง เช่นละครเรื่องอยู่กับก๋ง เจ้าสัวสยาม นางนาค เป็นต้น แต่ข้าวของที่ขายกันวันนี้อาจถูกปรับเปลี่ยนให้ทันยุคทันสมัย โดยเน้นเป็นสินค้าประเภทอาหารและขนมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านกาแฟโบราณ ของกินเล่นอย่างขนมกุยช่ายแป้งบางแต่ไส้ในเพียบ ลูกชิ้นปลาแท้เคี้ยวเด้งในปาก น้ำตาลสดหวานหอมดื่มแก้กระหาย และอีกหลากหลายอาหารน่ากินสารพัด
ร้านขายของเล่นโบราณก็ยังได้รับความนิยมจากลูกค้าที่หาซื้อไปสะสมหรือนำไปตกแต่งบ้านในมุมเก๋ๆ ร้านขายของที่ระลึก โปสการ์ด เสื้อยืดที่พิมพ์ลายหรือข้อความเกี่ยวกับตลาดบ้านใหม่ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน
"ผู้จัดการท่องเที่ยว" ก็ได้ทั้งชม ชิม ช้อป จนหนำใจ ถ่ายรูปบรรยากาศเก่าๆ ที่ยังหลงเหลือให้เห็นในตลาดมาเป็นที่ระลึกเรียบร้อยแล้ว ก็ได้เวลาเดินทางไปยังอีกหนึ่งจุดหมายสุดท้ายของเส้นทางท่องเที่ยวในวันนี้ นั่นก็คือการไปไหว้พระกันที่ "วัดจีนประชาสโมสร" หรือ "วัดเล่งฮกยี่" ที่สามารถเดินเท้าจากตลาดบ้านใหม่ไปยังตัววัดได้เลย
วัดเล่งฮกยี่นี้เป็นวัดในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ผู้สร้างคือหลวงจีนชกเฮ็ง ซึ่งเป็นศิษย์ของวัดมังกรกมลาวาสหรือวัดเล่งเน่ยยี่ในเยาวราช จึงถือว่าวัดเล่งฮกยี่เป็นวัดสาขาของวัดเล่งเน่ยยี่ก็ว่าได้ ส่วนชื่อวัดจีนประชาสโมสรนั้นก็เป็นชื่อพระราชทานจากรัชกาลที่ 5 เมื่อพระองค์ได้เสด็จประพาสมณฑลปราจีนบุรี ความโดดเด่นของวัดแห่งนี้ก็อยู่ที่พระประธานองค์ใหญ่ 3 องค์ที่ตั้งอยู่ด้านใน และพระอรหันต์ 18 องค์ตั้งเป็นสองแถวด้านข้างพระประธาน มองเผินๆ อาจจะไม่เห็นความพิเศษ แต่ที่น่าทึ่งก็คือทั้งพระประธานและพระอรหันต์ที่เห็นอยู่นี้ ล้วนแล้วแต่ทำขึ้นจากกระดาษ หรือที่เรียกว่าเปเปอร์มาเช่ และมีอายุกว่า 100 ปีมาแล้ว
ควันธูปตลบอบอวลด้านในทำให้รู้ว่ามีผู้ที่ศรัทธามากราบไหว้กันเป็นจำนวนมาก โดยภายในนั้นยังมีพระพุทธรูปและเทพเจ้าในนิกายมหายานอีกมากมาย รวมไปถึงยังมีระฆังใบใหญ่ น้ำหนักกว่า 1 ตัน ซึ่งมีเพียง 1 ใน 3 ใบของโลกที่รอบระฆังมีอักษรมหาปรัชญาปารมิตราสูตรถือกันว่าผู้ได้ใดตีระฆังก็เหมือนกับการได้สวดมนต์ แต่ที่ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" เห็นว่าทุกคนต้องมากราบไหว้แถมยังต้องทำท่าทางเหมือนทำพิธีอะไรสักอย่างก็คือที่หน้าองค์เทพเจ้าไฉ่เซ่งเอี้ย หรือเทพเจ้าแห่งโชคลาภ ซึ่งคนที่มาไหว้จะต้องใช้มือตบถุงเงินถุงทองขององค์เทพเจ้า แล้วลูบจากก้นถุงนั้นมาสู่กระเป๋าสตางค์ของตนเองที่เปิดอ้ารอไว้ จึงถึงบางอ้อว่านั่นเป็นการทำพิธีโกยเงินโกยทอง จึงไม่รีรอที่จะไปต่อแถวทำพิธีกับเขาบ้าง
เมื่อได้ท่องเที่ยวตามเส้นทางเรียบร้อยแล้ว เรือก็พาเราย้อนกลับมาขึ้นฝั่งยังวัดหลวงพ่อโสธรฯ อีกครั้ง เป็นอันครบถ้วนตรงคอนเซ็ปต์เส้นทางสุขใจ เพราะได้ทั้งไหว้พระอิ่มใจ เที่ยวตลาดอิ่มท้อง และได้ของฝากคนทางบ้านอีกเพียบเลย
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
การล่องเรือแม่น้ำบางปะกงนี้ มีเส้นทางจากวัดโสธรฯ-ตลาดบ้านใหม่-วัดจีนประชาสโมสร ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง มีมัคคุเทศก์บรรยายตลอดเส้นทาง ค่าบริการคนละ 100 บาท เด็กส่วนสูงต่ำกว่า 120 ซ.ม.ไม่เสียค่าใช้จ่าย ในวันจันทร์-ศุกร์มีเรือให้บริการสองรอบคือเวลา 12.00 และ 14.00 น. ส่วนวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์จะมีให้บริการเวลา 09.00, 10.00, 11.00, 12.00, 13.00, 14.00 และ 15.00 น. สอบถามรายละเอียดโทร.0-3851-4333, 08-9668-1726