xs
xsm
sm
md
lg

“พระพุทธรูปพี่-น้อง” ศรัทธาแห่งพระพุทธศาสนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระพุทธชินราช
พระพุทธศาสนาได้หยั่งรากลึกลงในดินแดนสุวรรณภูมิมานานนับพันปี ก่อให้เกิดศิลปวัตถุและโบราณสถานอันทรงคุณค่าเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนามากมาย สืบทอดกันมาจากอดีตถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอารามเก่าแก่ รวมไปถึงพระพุทธรูปงดงามหลายยุคหลายสมัย ที่หลายๆองค์ได้กลายเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของไทยเรา

นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปสำคัญๆอีกหลายองค์ที่มีความพิเศษออกไป ดังเช่น “พระพุทธรูปพี่-น้อง”ที่หลายๆคนรู้จักกันดี
แล้วทำไมพระพุทธรูปจึงต้องมีพี่น้อง? แล้วพระพุทธรูปองค์ใดบ้างที่มีพี่น้อง?


จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา ประธานชมรมสยามทัศน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ กล่าวถึงพระพุทธรูปพี่น้องให้ฟังว่า ลักษณะที่เรียกว่าเป็นพระพุทธรูปพี่น้องนั้น ก็มักจะเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นเกี่ยวเนื่องกัน หรือสร้างขึ้นในคราวเดียวกัน คนก็มักจะเรียกว่าเป็นพระพี่น้องกันหรืออีกลักษณะหนึ่งก็น่าจะเกิดจากการผูกเรื่องขึ้นเป็นตำนานเป็นที่มา เช่นเรื่องราวของพระพุทธรูปที่ลอยน้ำมา โดยตำนานที่เล่ากันมานั้นก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์ และอภินิหารของพระพุทธรูปเหล่านั้น อีกทั้งยังเป็นการแสดงความนับถือในพระพุทธรูปองค์นั้นๆด้วย

พระพุทธรูปพี่น้องแห่งลุ่มน้ำภาคกลาง
พระพุทธรูป 5 พี่น้องแห่งลุ่มน้ำภาคกลาง ล้วนแล้วแต่เป็นพระพุทธรูปที่มีผู้คนเคารพศรัทธามากมาย ได้แก่ “หลวงพ่อโสธร” วัดโสธรวรารามวรวิหาร จ.ฉะเชิงเทรา “หลวงพ่อโต” วัดบางพลีใหญ่ใน จ.สมุทรปราการ “หลวงพ่อวัดไร่ขิง” วัดไร่ขิง จ.นครปฐม “หลวงพ่อบ้านแหลม” วัดเพชรสมุทรวรวิหาร จ.สมุทรสงคราม และ “หลวงพ่อเขาตะเครา” วัดเขาตะเครา จ.เพชรบุรี

ตำนานของพระพุทธรูปพี่น้องทั้ง 5 องค์นี้ มีกล่าวไว้ว่า พี่น้องชาวเหนือ 5 คน ได้บวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา และสำเร็จเป็นพระอริยบุคคลมีฤทธิ์อำนาจทางจิตมาก ได้พร้อมใจกันตั้งสัจอธิษฐานว่าจะขอบำเพ็ญบารมีช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์จนกว่าจะถึงซึ่งนิพพาน และเมื่อพระอริยบุคคลทั้งห้าองค์นี้ดับขันธ์ไปแล้ว ก็เข้าสถิตอยู่ในพระพุทธรูปห้าองค์ และแสดงฤทธิ์ปาฏิหาริย์ให้พระพุทธรูปทั้งห้าองค์นี้ลอยน้ำล่องมาทางใต้ตามแม่น้ำสายหลักของภาคกลางทั้ง 5 สาย

ในการล่องแม่น้ำลงมาทางใต้นี้ ทำให้เกิดตำนานซึ่งเป็นที่มาของชื่อเรียกสถานที่หลายแห่งที่มีความเกี่ยวข้องกับกับตำนานพระพุทธรูปที่ลอยน้ำมา ไม่ว่าจะเป็น “สามเสน” ที่พระพุทธรูปได้แสดงอภินิหารลอยขึ้นมาให้คนได้เห็น ชาวบ้านเป็นแสนๆจึงได้ช่วยกันฉุดพระพุทธรูปเหล่านั้นขึ้นจากน้ำแต่ก็ไม่สำเร็จ บริเวณนั้นจึงได้ชื่อว่า “สามแสน” ต่อมาจึงเพี้ยนเป็น “สามเสน”

และจากนั้นพระพุทธรูปก็ลอยลัดเลาะเข้าไปในลำคลองต่างๆ และได้ลอยขึ้นให้ชาวบ้านเห็น ชาวบ้านจึงช่วยกันชักพระขึ้นจากน้ำ แต่ไม่สำเร็จ คลองนี้จึงได้ชื่อว่า “คลองชักพระ” ส่วนบริเวณที่พระพุทธรูปสามองค์ก็ได้ลอยทวนน้ำขึ้นไปบริเวณหน้าวัด วัดแห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า “วัดสามพระทวน” และเพี้ยนมาเป็น “วัดสัมปทวน” นอกจากนั้นก็ยังมีหมู่บ้านและคลอง “บางพระ” คุ้งน้ำที่เรียกว่า “แหลมหัววน” ซึ่งมีที่มาเกี่ยวกับกับพระพุทธรูปลอยน้ำทั้งสิ้น

“หลวงพ่อโสธร” หนึ่งในห้าพระพุทธรูปพี่น้อง ได้ลอยเข้าสู่แม่น้ำบางปะกง และแสดงอภินิหารลอยมาขึ้นที่หน้าวัดหงษ์ ชาวบ้านช่วยกันยกและฉุดขึ้นจากน้ำ แต่ไม่สามารถนำขึ้นได้ จนมีผู้ทำพิธีอัญเชิญโดยตั้งพิธีบวงสรวงใช้สายสิญจน์คล้องกับพระหัตถ์ จนสามารถอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานในวัดได้สำเร็จ

ทางด้านวัดหงษ์ ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งตามเสาหงส์ที่ตั้งอยู่ในวัดนั้น ต่อมาได้เกิดพายุพัดเสาหงส์หักลง ทางวัดจึงได้เปลี่ยนเสาหงส์เป็นเสาธง แต่ต่อมาเสาธงก็หักลงมาอีก ชาวบ้านจึงเรียกวัดนี้ว่าวัดเสาทอน และได้เปลี่ยนให้ไพเราะและเป็นมงคลอีกครั้งว่า “วัดโสธร” และเรียกนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “หลวงพ่อโสธร” จนในปัจจุบัน วัดโสธรได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอารามหลวง จึงได้ชื่อว่า “วัดโสธรวรารามวรวิหาร” และขนานนามหลวงพ่ออย่างเป็นทางการว่า “หลวงพ่อพุทธโสธร”

พระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งลอยเข้าไปในคลองสำโรง คลองที่แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยา ชาวบ้านขนานนามตามพุทธลักษณะของพระพุทธรูปว่า “หลวงพ่อโต” เพราะมีขนาดใหญ่โตเป็นพิเศษ โดยพระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานอยู่ที่วัดบางพลีใหญ่ใน อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

เช่นเดียวกับหลวงพ่อโสธร แม้ชาวบ้านจะฉุดดึงอย่างไรพระพุทธรูปก็ไม่ขยับเขยื้อนขึ้นจากน้ำ ชาวบ้านจึงใช้วิธีการเสี่ยงทายต่อแพผูกชะลอกับองค์ท่าน แล้วใช้เรือพายฉุดท่านให้ลอยมาตามลำน้ำสำโรง และอธิษฐานว่า หากท่านประสงค์จะขึ้นสถิตอยู่ที่ใด ก็ขอแสดงอภินิหารให้แพที่ลอยมาจงหยุด ณ ที่นั้น

เมื่อแพลอยมาถึงบริเวณหน้าวัดพลับพลาชัยชนะสงคราม หรือปัจจุบันคือวัดบางพลีใหญ่ใน แพที่ผูกชะลอองค์หลวงพ่อโตก็หยุดนิ่ง แม้จะพายกันอย่างเต็มกำลังแพนั้นก็ไม่ขยับ ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันอาราธนาหลวงพ่อโตขึ้นประดิษฐานในพระวิหาร

พระพุทธรูปอีกสององค์ที่ลอยน้ำมา ก็มีผู้พบเจอในเวลาใกล้เคียงกัน ก็คือ “หลวงพ่อบ้านแหลม” พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร และ “หลวงพ่อทองวัดเขาตะเครา” พระพุทธรูปปางมารวิชัย โดยชาวประมงจากบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี กำลังลากอวนหาปลาอยู่ปากอ่าว อวนก็ได้ลากเอาพระพุทธรูปปางมารวิชัยติดขึ้นมาองค์หนึ่ง จึงรีบอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นบนเรือ แล้วล่องกลับเข้าฝั่ง แต่ระหว่างทางก็ได้พบพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งลอยปริ่มน้ำอยู่ไม่ไกลกันนัก เป็นพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตร ทุกคนต่างอัศจรรย์ใจยิ่งที่พบพระพุทธรูปในคราวเดียวกันถึงสององค์ จึงอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้นบนเรืออีกลำหนึ่ง

แต่เมื่อเรือแล่นมาถึงแม่น้ำแม่กลองบริเวณหน้าวัดศรีจำปา ก็ได้เกิดพายุฝนตกหนักจนเรือลำที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนนั้นเอียงวูบ พระพุทธรูปตกจากเรือหายลงน้ำไป ดำน้ำค้นหาอย่างไรก็ไม่พบ ชาวบ้านแหลมจึงนำพระพุทธรูปที่พบเป็นองค์แรกกลับไปประดิษฐานไว้ที่วัดเขาตะเครา อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งองค์หลวงพ่อนั้นมีทองปิดทับจนหนาไปทั้งองค์ ทำให้ทุกคนต่างเรียกขานท่านว่า “หลวงพ่อทองวัดเขาตะเครา”

ส่วนพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งที่ถูกพายุพัดจนจมน้ำลงไป ชาวบ้านวัดศรีจำปาริมแม่น้ำแม่กลองต่างก็ช่วยกันลงดำน้ำค้นหาพระพุทธรูปจนพบ จึงได้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่วัดศรีจำปา แต่เมื่อชาวประมงบ้านแหลมซึ่งเป็นผู้พบพระพุทธรูปองค์นี้ก่อนรู้ข่าวว่าชาวบ้านศรีจำปาพบพระพุทธรูปของตนที่จมน้ำ จึงยกขบวนกันมาทวงพระคืน แต่ชาวบ้านศรีจำปาไม่ยอมคืนให้ ภายหลังจึงตกลงกันว่าชาวประมงบ้านแหลมยอมยกพระพุทธรูปให้แก่ชาวบ้านศรีจำปาไป แต่มีข้อแม้ว่าต้องเปลี่ยนชื่อวัดใหม่จากวัดศรีจำปาเป็น “วัดบ้านแหลม” เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่ชาวบ้านแหลมได้พระพุทธรูปมาแต่แรก

ดังนั้น ปัจจุบันผู้คนจึงรู้จักวัดศรีจำปาในชื่อวัดบ้านแหลม หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า “วัดเพชรสมุทรวรวิหาร” จังหวัดสมุทรสงคราม และรู้จัก “หลวงพ่อวัดบ้านแหลม” ว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองแม่กลองมานับแต่นั้น โดยชาวประมงก่อนจะออกเรือหาปลาก็จะกราบไหว้และขอพรหลวงพ่อบ้านแหลมให้ช่วยคุ้มครองให้ปลอดภัย ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนปัจจุบัน

พระพุทธรูปองค์สุดท้าย “หลวงพ่อวัดไร่ขิง” ลอยเข้ามาสู่ลุ่มน้ำนครชัยศรี อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ความเป็นมาของหลวงพ่อวัดไร่ขิงนั้นมีหลายที่มา แต่ตำนานที่แพร่หลายที่สุดก็คือ พระพุทธรูปองค์นี้ลอยน้ำมาตามแม่น้ำนครชัยศรี และมาปรากฏที่หน้าวัดในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 5 ซึ่งตรงกับวันพระและเป็นเทศกาลสงกรานต์พอดี ผู้คนที่ชุมนุมกันอยู่ในวัดจึงช่วยกันอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นจากน้ำ และในขณะที่กำลังอัญเชิญนั้นเอง แสงแดดก็กลับร่มลง และเกิดฝนตกโปรยปรายลงมาจนเย็นฉ่ำ เหมือนกับเป็นสัญญาณว่าหลวงพ่อองค์นี้จะช่วยดับร้อนให้แก่ผู้ตกทุกข์ได้ยาก

พระพุทธรูปพี่น้องจากดินแดนล้านช้าง
“พระเสริม” “พระสุก” และ “พระใส” เป็นพระพุทธรูปที่พระราชธิดา 3 พี่น้องของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์แห่งเมืองล้านช้าง พระนามว่า เสริม สุก และใส โปรดให้ช่างลาวหล่อพระพุทธรูปประจำพระองค์ขึ้น

ในการหล่อพระพุทธรูปทั้งสามองค์นี้ก็มีเหตุอัศจรรย์ เมื่อภิกษุช่างหล่อช่วยกันสูบเตาหลอมทองอยู่ถึง 7 วันแต่ทองก็ยังไม่ละลาย จนวันที่ 8 ก็มีชีปะขาวคนหนึ่งอาสามาสูบเตาแทนให้ และเมื่อช่างจะกลับมาทำต่อก็ปรากฏว่ามีผู้เททองลงเบ้าทั้ง 3 เรียบร้อยแล้ว ส่วนชีปะขาวที่มาอาสาช่วยก็หายตัวไป

จนเมื่อการสร้างพระพุทธรูปเสร็จสิ้น พระราชธิดาทั้งสามจึงถวายนามของตนเองให้เป็นนามของพระพุทธรูป โดยพระเสริมเป็นพระพุทธรูปประจำพระราชธิดาองค์พี่ พระสุกเป็นพระพุทธรูปประจำพระราชธิดาองค์กลาง และพระใสเป็นพระพุทธรูปประจำพระราชธิดาองค์สุดท้อง ประดิษฐานไว้ที่เมืองล้านช้าง

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เจ้าอนุวงศ์ เจ้าผู้ครองอาณาจักรล้านช้างก่อกบฏ พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ เป็นแม่ทัพยกทัพไปปราบจนสำเร็จ ในครั้งนั้นจึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปมาจากเมืองเวียงจันทน์จำนวนหนึ่งกลับมายังฝั่งไทย และในจำนวนนั้นก็มีพระเสริม พระสุก และพระใสรวมอยู่ด้วย

การเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปสามองค์นี้มายังฝั่งไทย ก็ได้นำขึ้นประดิษฐานบนแพไม้ไผ่แล้วอัญเชิญมาทางลำน้ำงึมออกลำน้ำโขง เมื่อแพล่องมาถึงบริเวณปากน้ำงึมเยื้องกับบ้านหนองกุ้งเมืองหนองคาย ( ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอโพนพิสัย) ก็ได้เกิดพายุฝนตกหนักพัดแท่นที่ประดิษฐานพระสุกจมน้ำหายไป สถานที่นั้นต่อมาจึงเรียกว่า “เวินแท่น” ส่วนองค์พระสุกจมก็หายไปในแม่น้ำโขง สถานที่นั้นต่อมาจึงเรียกว่า “เวินพระสุก” หรือ “เวินสุก”

ส่วนพระเสริมและพระใสนั้น ก็สามารถล่องแพข้ามมายังฝั่งไทยที่เมืองหนองคายได้อย่างปลอดภัย โดยได้ประดิษฐานพระเสริมไว้ที่วัดโพธิ์ชัย เมืองหนองคาย ส่วนพระใสประดิษฐานอยู่ที่วัดหอก่อง หรือปัจจุบันคือวัดประดิษฐ์ธรรมคุณ เมืองหนองคายเช่นกัน แต่ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว วังหน้าในรัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชประสงค์จะอัญเชิญพระเสริมมาประดิษฐานยังพระบวรราชวัง หรือวังหน้า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงโปรดเกล้าฯ ให้คนไปอัญเชิญพระเสริมและพระใสมายังพระนคร

ในการอัญเชิญครั้งนั้นปรากฏว่า เกวียนที่ประดิษฐานพระใสมานั้นได้หักลงขณะกำลังเดินมาหยุดอยู่ตรงหน้าวัดโพธิ์ชัย เมื่อซ่อมแล้วก็หักอีก วัวลากเกวียนก็ไม่ยอมเดิน แม้จะทำพิธีบวงสรวงแล้วก็ไม่สามารถเดินทางต่อได้ ดังนั้นจึงอัญเชิญพระใสขึ้นประดิษฐานที่วัดโพธิ์ชัยแทน และหลวงพ่อพระใสก็กลายเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองหนองคายมานับแต่นั้น เป็นที่เคารพนับถือของทั้งชาวอีสานและชาวลาว

ส่วนเกวียนที่ประดิษฐานพระเสริมนั้นไม่มีปัญหาใดๆ จึงสามารถอัญเชิญไปจนถึงพระนคร ไปประดิษฐานอยู่ในพระบวรราชวัง แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระเสริมจากพระบวรราชวัง ไปประดิษฐานยังพระวิหารวัดปทุมวนาราม และประดิษฐานอยู่ ณ ที่นั้นจนมาถึงปัจจุบัน

3 พระพุทธรูปชื่อดังแห่งเมืองสองแคว
หลายๆ คนยกย่องให้ “พระพุทธชินราช” แห่งวัดพระศรีมหาธาตุ จ.พิษณุโลก เป็นพระพุทธรูปที่งดงามที่สุดองค์หนึ่ง และยังมีพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในคราวเดียวและประดิษฐานอยู่ด้วยกันอีก 3 องค์

แม้จะไม่ใช่พระพุทธรูปพี่น้องอย่างเป็นทางการเหมือนกับพระพุทธรูป 2 ชุดที่กล่าวมาข้างต้น แต่ว่า 3 องค์พระพุทธรูปเมืองสองแคว ถือเป็นพระพุทธรูปชุดเดียวกันที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อหลายร้อยปีก่อน พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก แห่งเมืองเชียงแสน ทรงเกิดพระราชศรัทธาต้องการจะสร้างพระพุทธรูปขึ้น จึงให้ช่างเมืองศรีสัชนาลัย สวรรคโลก ร่วมกับช่างชาวเชียงแสน และช่างชาวหริภุญชัย ปั้นหุ่นพระพุทธรูปสามองค์ มีทรวดทรงลักษณะคล้ายกัน แต่ขนาดต่างกัน และตั้งพระนามว่า “พระพุทธชินราช” “พระพุทธชินสีห์” และ “พระศรีศาสดา”

เมื่อได้ฤกษ์เททอง ก็มีการทำพิธีบวงสรวงตามประเพณี แล้วประกอบพิธีเททองหล่อ เมื่อแกะพิมพ์ออกมาปรากฏว่าองค์พระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดาสำเร็จเป็นองค์สมบูรณ์เนื้อทองแล่นเสมอกัน แต่พระพุทธชินราชนั้นทองไม่แล่นบริบูรณ์ ช่างจึงได้ปั้นหุ่นเททองหล่อใหม่อีกถึงสามครั้งก็ไม่สำเร็จ พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฏกจึงทรงตั้งสัตย์อธิษฐานขอให้การเททองหล่อในครั้งนี้สำเร็จ ในการหล่อครั้งนี้มีชีปะขาวคนหนึ่งมาช่วยปั้นหุ่นทั้งกลางวันกลางคืนอย่างแข็งขัน และเมื่อได้ฤกษ์เททองก็ปรากฏว่าเททองได้เต็มองค์บริบูรณ์ แต่ชีปะขาวที่มาช่วยนั้นหายไปแล้ว พระพุทธรูปทั้งสามองค์ที่สร้างขึ้นพร้อมๆ กันนี้ได้ประดิษฐานไว้ในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุสืบต่อมา

นอกจากพระพุทธรูปสามองค์นี้แล้ว ก็ยังมีพระพุทธรูปเล็กๆ อีกองค์หนึ่ง มีชื่อว่า “พระเหลือ” ซึ่งอาจนับเนื่องได้ว่าเป็นพระพุทธรูปพี่น้องกับอีกสามองค์ข้างต้น เนื่องจากเมื่อหล่อพระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดาเรียบร้อยแล้ว ก็ยังเหลือทองสัมฤทธิ์อยู่ จึงได้รวบรวมมาหลอมหล่อในองค์พระพุทธชินราช และเมื่อหล่อองค์พระพุทธชินราชเสร็จก็ยังคงเหลือทองอยู่อีก พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกจึงให้ช่างปั้นหุ่นพระพุทธรูปเล็กๆ แล้วเอาทองที่เหลือนั้นเทหล่อพระองค์นี้ ดังนั้นจึงได้ชื่อว่า “พระเหลือ” และทองที่เหลือก็ยังสามารถหล่อเป็นรูปสาวกของพระเหลือได้อีกสององค์

มาจนปัจจุบัน พระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดาได้ย้ายมาประดิษฐานอยู่ที่วัดบวรนิเวศ กรุงเทพมหานคร โดยในสมัยรัชกาลที่ 3 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ วังหน้าในรัชกาลที่ 3 ได้เสด็จไปเยือนวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ก็ทรงเห็นว่าวิหารมีความชำรุดทรุดโทรม จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธชินสีห์มาประดิษฐานไว้ในพระนคร โดยได้อัญเชิญมาไว้ภายในมุขหลังพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์จะสร้างเจดีย์ขึ้นด้านหลังพระอุโบสถ จึงต้องรื้อมุขด้านหลังออก ดังนั้นจึงอัญเชิญพระพุทธชินสีห์มาประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถคู่กับพระสุวรรณเขต พระประธานองค์เดิมในพระอุโบสถ ทำให้พระอุโบสถในวัดบวรมงคลมีพระพุทธรูปสององค์มาจนถึงปัจจุบันนี้

ด้านพระศรีศาสดาก็ถูกอัญเชิญมาที่พระนครเช่นกัน โดยเจ้าอาวาสวัดบางอ้อยช้าง (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดนนทบุรี) ในสมัยนั้นได้อัญเชิญพระศรีศาสดาลงแพล่องไปที่วัดบางอ้อยช้าง ต่อมาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติได้อัญเชิญพระศรีศาสดาไปประดิษฐานที่ถัดประดู่ฉิมพลี แต่รัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่า พระศรีศาสดาเป็นพระสำคัญเคยอยู่ในพระอารามหลวง ไม่ควรอยู่ในวัดราษฎร์ อีกทั้งเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในคราวเดียวกันกับพระพุทธชินสีห์ พระองค์จึงทรงให้อัญเชิญพระศรีศาสดามาไว้ที่พระวิหารวัดบวรนิเวศฯที่สร้างใหม่

ชาวพิษณุโลกเศร้าเสียใจยิ่งนักที่พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองถึงสององค์ได้ถูกนำไปไว้ที่อื่น เหลืออยู่เพียงพระพุทธชินราชเพียงองค์เดียว แต่พระพุทธชินราชเองก็เกือบจะถูกย้ายมาไว้ที่พระนครเช่นกัน โดยในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อพระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดเบญจมบพิตรเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ทรงมอบหมายให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ ไปเสาะหาพระพุทธรูปที่งดงามมาไว้เป็นพระประธานในพระอุโบสถ

พระเจ้าน้องยาเธอฯกลับมากราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 ว่า พระพุทธชินราชประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก มีความงดงามเป็นอย่างยิ่ง แต่รัชกาลที่ 5 รงมีพระราชดำริว่า พระพุทธชินราชนั้นเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวเมืองพิษณุโลกมานาน หากจะอัญเชิญมาก็จะเป็นการทำร้ายจิตใจเกินไป จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธชินราชจำลองเป็นพระประธานในประอุโบสถแทน ส่วนพระพุทธชินราชองค์จริงก็ยังคงประดิษฐานเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองสองแควอยู่ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเช่นเดิมจนปัจจุบัน

         ****************************
หลวงพ่อโสธร
หลวงพ่อพระใส
หลวงพ่อวัดบ้านแหลม
พระพุทธชินสีห์
หลวงพ่อโตวัดบางพลีใหญ่ใน
พระเสริม
หลวงพ่อวัดไร่ขิง
พระศรีศาสดา
หลวงพ่อทองวัดเขาตะเครา
พระเหลือ
กำลังโหลดความคิดเห็น