xs
xsm
sm
md
lg

มรดกโลกไทย ไหงทำงี้(ฟะ)/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี
วัดไชยวัฒนารามแห่งเมืองมรดกโลกอยุธยา
ปรากฏการณ์พระวิหาร ทำให้ผมได้เห็นธาตุแท้ของนักการเมืองสามานย์อย่างชัดเจน กับคนพวกนี้มันทำได้ทุกอย่างแม้ขายชาติเพื่อแลกกับผลประโยชน์ส่วนตัว

ไม่เพียงเท่านั้นปรากฏการณ์พระวิหาร ยังเผยให้เห็นว่าองค์การยูเนสโกที่ภายนอกดูดีนั้น แท้จริงก็เต็มไปด้วยผลประโยชน์

เรื่องนี้ใครและใครหลายคนจึงพากันเสนอว่า เมื่อยูเนสโกไม่เป็นธรรมกับไทยในเรื่องมรดกโลกปราสาทพระวิหารก็ให้ถอน(แม๋ง)ออกมาจากยูเนสโกเสียเลย

แต่ประทานโทษ!!! เรื่องนี้ผมว่าคงเป็นไปได้ยากมากๆ เพราะผู้ที่เอี่ยวผลประโยชน์กับยูเนสโกในบ้านเราคงไม่ยอม แถมยังกลัวเสียผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวในแหล่งมรดกโลกบ้านเราด้วย ซึ่ง ณ วันนี้เมืองไทยมีมรดกโลก อยู่ 5 แห่งด้วยกัน คือ มรดกโลกทางวัฒนธรรม 3 แห่ง ได้แก่ แหล่งมรดกโลกสุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร,อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา,แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง มรดกโลกทางธรรมชาติ 2 แห่ง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง และป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่

ส่วนว่าที่มรดกโลกที่ได้รับการเสนอชื่อไปแล้วและอยู่ในขั้นพิจารณาตอนนี้มีอยู่ 2 แห่งด้วยกัน คือ เส้นทางปราสาทหิน(ราชมรรคา) ปราสาทหินพิมาย-พนมรุ้ง-เมืองต่ำ และอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท นอกจากนี้ยังมีอีกหลายสถานที่ที่มีโครงการเสนอเป็นมรดกโลก ไม่ว่าจะเป็น เมืองน่าน เมืองเก่าลำพูน ทะเลไทยฝั่งอันดามัน

แต่ประทานโทษ!!!(อีกครั้ง) ขณะที่เราวาดหวังไปไกลถึงมรดกโลกแห่งใหม่ แต่ไม่น่าเชื่อว่ามรดกโลกเดิมๆบางแห่งนั้น กลับถูกคุกคามอย่างไม่น่าเชื่อ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ที่ประสบปัญหาจนเป็นข่าวโด่งดัง

อุทยานฯอยุธยาถือเป็นมรดกโลกมีชีวิต คือชุมชนอยู่ร่วมกับโบราณสถานเก่าแก่ที่มีคุณค่าสำคัญทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม แต่ดูเหมือนความมีชีวิตที่น่าจะเสริมเสน่ห์ให้กับมรดกโลกอยุธยากับกลายเป็นตรงกันข้าม เนื่องเพราะการเติบโตของเมืองที่ขาดการวางแผน การพัฒนาการท่องเที่ยวที่สวนทางกับการอนุรักษ์ และการบริหารจัดการที่ไม่เป็นระบบ ทำให้มรดกโลกอยุธยาประสบกับปัญหาในเรื่องของภูมิทัศน์ สิ่งแวดล้อม การจัดการ และอื่นๆ จนมีข่าวว่าถ้าไม่แก้ไขปรับปรุงอาจถึงขึ้นถูกถอดถอนออกจากมรดกโลกได้

โดยปัญหาที่เห็นเด่นชัดมากก็คือการรุกเขตโบราณสถานวิหารมงคลบพิตร เพื่อขายของแก่นักท่องเที่ยว จนเกิดทัศนะอุจาดดูระเกะระกะไม่น่ามอง ซึ่งแม้ปัญหานี้จะคลี่คลายไปได้เปลาะหนึ่งเมื่อเร็วๆนี้ที่พ่อค้าแม่ค้าส่วนหนึ่งยอมย้ายร้านรวงไปตั้งขายของกันด้านหลังวิหารแทน

แต่ปัญหาเหล่านี้มันก็พร้อมจะปะทุขึ้นมาอีกเมื่อไหร่ก็ได้เมื่อขาดการบริหารจัดการที่ดี รวมถึงสิ่งสำคัญนั่นก็คือขาดการสร้างจิตสำนึกต่อสาธารณะในการดูแล ปกป้องทรัพยากรท้องถิ่น ทรัพยากรศิลปวัฒนธรรมชุมชน ไม่ว่าจะเป็นป่าเขา แม่น้ำ วัดวาอาราม และสิ่งสำคัญต่างๆในท้องถิ่น ซึ่งถ้าเราสามารถจิตสำนึกสาธารณะในเรื่องนี้ขึ้นมาได้ ผมว่าบางทีกรณี ทุบปราสาทพนมรุ้ง ขโมยปี่พระอภัย ขโมยป้ายวัดมงคลบพิตร ลอกทองพระไปขาย การลักลอบขโมยโบราณวัตถุจากแหล่งต่างๆ อาทิ อยุธยา สุโขทัย หรือแม้แต่ที่บ้านเชียง คงไม่เกิด เนื่องจากจิตสำนึกสาธารณะต่อท้องถิ่นถือเป็นส่วนสำคัญที่ประชาชนในท้องถิ่นต้องเข้ามาช่วยกันดูแล ยิ่งเมื่อมีมรดกโลกอยู่ในถิ่นฐานของตน ยิ่งต้องควรภาคภูมิใจ ไม่ใช่ปล่อยให้ใครมาหยิบฉวย ทำลาย มาหาผลประโยชน์ หรือมาสร้างสิ่งแปลกปลอม(ทัศนะอุจาด)ขึ้นได้ง่ายๆ

อีกตัวอย่างหนึ่งที่ผมขอยกขึ้นมาก็คือ กรณีของมรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ที่เมื่อ 2-3 วันนี้มีข่าวให้ชวนตกใจออกมาว่า“กรมชลประทานเสนอถอด ‘ดงพญาเย็น’จากมรดกโลก” (ข่าวจากกรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 14 ก.ค. 51 หน้า 7)

เรื่องนี้ในเนื้อข่าวระบุว่า กรมชลประทานได้เตรียมเสนอคณะกรรมการมรดกโลกไทยให้เพิกถอนพื้นที่ป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เพื่อสร้างเขื่อนห้วยโสมง โดยนายธีวัฒน์ ตั้งพานิช รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้างกรมชลประทาน ได้กล่าวว่า โครงการดังกล่าวได้เสนอเข้า ครม.หลายครั้ง แต่เนื่องจากยังติดปัญหาเรื่องพื้นที่จำนวน 2,000 ไร่ ที่อยู่ในเขตพื้นที่ป่ามรดกโลก จึงต้องเสนอขอเพิกถอนพื้นที่ดังกล่าวออกก่อนเพื่อให้ทำโครงการนี้ได้ ซึ่งนายธีวัฒน์ได้อ้างว่า ถ้าคณะกรรมการมรดกโลกของไทยไม่อนุมัติก็คงจะเดินหน้าโครงการนี้ไม่ได้ และยังจะกระทบกับปัญหาการจัดการน้ำในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกงตอนล่างอีกด้วย เนื่องจากผืนป่ามรดกโลกได้มาประกาศทีหลังให้ทับรวมกับพื้นที่ที่โครงการที่เคยมีแผนดำเนินโครงการเอาไว้ก่อน

ขณะเดียวกันเนื้อข่าวก็ได้นำความเห็นแย้งของ ศ.ดร.อดุล วิเชียรเจริญ อดีตประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก มานำเสนอว่า เคยมีการเสนอคัดค้านว่าไม่ควรก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่นี้เลย เพราะในแง่การอนุรักษ์นั้นบริเวณที่มีน้ำท่วมจะทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนและกระทบต่อพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และถ้ากินบริเวณกว้างมากเข้าไปก็จะถือเป็นการคุกคามต่อพื้นที่ป่ามรดกโลก ซึ่งอาจทำให้ไทยถูกขึ้นบัญชีมรดกโลกที่อยู่ในภาวะอันตรายก็ได้

“ค่อนข้างตกใจที่ได้ยินว่า ยังมีความพยายามเสนอเพิกถอนพื้นที่ป่ามรดกโลกไปทำเขื่อนเก็บน้ำแห่งนี้ ซึ่งการดำเนินโครงการแบบนี้ต้องรายงานคณะกรรมการมรดกโลกระหว่างรัฐบาลด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาตินั้น ไอยูซีเอ็นจะประเมินและติดตามอย่างใกล้ชิด และกรณีพื้นที่ป่าดงพญาเย็นกว่าจะขึ้นทะเบียนได้ต้องใช้เวลา 10 กว่าปี จึงไม่ควรมีอะไรที่ทำให้เกิดปัญหาจนถูกถอดถอน” ศ.ดร.อดุล กล่าวไว้ในเนื้อข่าว

สำหรับป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ดูเหมือนว่าความวัวยังไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรกอีก เพราะความวัวในการเชื่อมผืนป่าให้ติดกันจากการถูกถนนสาย 304 ตัดผ่าแบ่งผืนป่านั้นยังไม่ไปถึงไหน แต่ว่าความควายในเรื่องการสร้างเขื่อนก็เข้ามาแทรกอีก

เฮ้อ...ถ้าบางคนยังคิดกันอยู่แบบนี้ ผมว่าไม่ต้องไปขอมันหรอกมรดกโลก เพราะกว่าจะขอได้นั้นไม่ใช่ง่ายๆ แต่ว่าพอได้มากลับไม่ดูแลรักษา แถมยังจะให้ถอดบางจุดออกจากมรดกโลกเสียอีกแน่ะ ซึ่งเรื่องนี้หากสังคมไทยได้รับการปลูกฝังจิตสำนึกสาธารณะในการปกป้องทรัพยากรเพื่อท้องถิ่น เพื่อส่วนรวม เพื่อประเทศชาติ เพื่อมวลมนุษยชาติ และเพื่อโลก บางทีแนวคิดนี้อาจไม่เกิดขึ้นมาก็ได้

“ถ้าสร้างจิตสำนึกให้เกิดขึ้นในท้องถิ่นได้ พวกเขาจะรู้จักอนุรักษ์เองและจะเกิดความภูมิใจที่มีสมบัติของโลกอยู่ในบ้านเขา” มานิตย์ ศิริวรรณ ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกให้ทัศนะไว้

แต่ประทานโทษ!!!(ครั้งที่ 3) ผมว่าการปลูกอะไรปลูกได้ สร้างอะไรสร้างได้ แต่การสร้างจิตสำนึก ปลูกจิตสำนึกให้กับใครบางคนนี่ถือเป็นเรื่องที่ยากที่สุด โดยเฉพาะกับนักการเมืองชั่ว ข้าราชการเลว นายทุน-นักธุรกิจสามานย์ คนพวกนี้ผมว่าอย่าไปเสียเวลาสร้างจิตสำนึกกันเลย สู้สร้างหลุมฝังศพให้พวกเขาอยู่ดูจะง่ายกว่ากันเยอะเลย
กำลังโหลดความคิดเห็น