xs
xsm
sm
md
lg

สุขใจไหว้พระธาตุเชียงใหม่-เชียงราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

องค์พระธาตุศรีจอมทองสีทองอร่าม
สำหรับประเทศไทยของเรา สถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ถือเป็นสถาบันสูงสุดดังเช่นที่เราเคยร่ำเรียนมาตั้งแต่วัยเยาว์ถึงความหมายของสีทั้ง 3 สีที่ปรากฏอยู่บนผืนธงชาติไทย ทริปนี้ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” ก็ขอพาเข้าวัดไหว้พระธาตุ ถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ และประเทศชาติไทยของเรา เพื่อความเป็นสิริมงคล

ครั้งนี้ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” เดินทางมายังจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายเพื่อร่วมไหว้สาชุธาตุในโครงการ “เที่ยวทั่วไทย สุขใจเสริมมงคล” โดยมีอาจารย์คฑา ชินบัญชร มาเป็นวิทยากรนำชม เราเริ่มเสริมมงคลกันที่จังหวัดเชียงใหม่ก่อน พวกเรามุ่งหน้าสู่ “วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร” อ.จอมทอง ซึ่งเป็นพระธาตุประจำปีนักษัตรชวด หรือ ปีหนู นั้นเอง

วัดพระธาตุศรีจอมทอง มีฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตามประวัติสันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 20 แต่จากลักษณะทางศิลปกรรมของสิ่งก่อสร้างต่างๆภายในวัดปรากฏเป็นลักษณะขอองศิลปกรรมในสมัยหลังพุทธศตวรรษที่ 24 ซึ่งเป็นยุคที่เมืองเชียงใหม่ฟื้นฟู
ประชาชนร่วมกันสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุที่วัดพระธาตุศรีจอมทอง
อ.คฑา เล่าให้พวกเราฟังว่า พระธาตุศรีจอมทองเป็นพระธาตุเดียวใน 12 พระธาตุปีนักษัตรที่พระบรมสารีริกธาตุไม่ได้บรรจุอยู่ในพระเจดีย์อย่างเดียว แต่บรรจุอยู่ภายในพระวิหารจัตุรมุขด้วย โดยพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุอยู่เป็นส่วนของพระทักษิณโมลีธาตุ หรือพระธาตุส่วนพระเศียรเบื้องขวาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีขนาดโตประมาณเมล็ดข้าวโพด สัณฐานกลมเกลี้ยง สีขาวนวลเหมือนดอกบวบหรือสีดอกพิกุลแห้ง ตามประวัติเล่ากันว่า พระเจ้าอโศกมหาราชเป็นผู้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่ดอยจอมทองตั้งแต่ปี พ.ศ.218

สำหรับองค์พระธาตุภายในพระวิหารจัตุรมุขนี้ก่ออิฐถือปูนทั้งองค์ มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส คล้ายพระเจดีย์สร้างเลียนแบบเขาพระสุเมรุ กว้าง 4 เมตร สูง 8 เมตร เชื่อกันว่าสร้างขึ้นโดยพระเจ้าดิลกปนัดดาธิราช หรือ พระเมืองแก้ว กษัตริย์ในราชวงศ์มังราย เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่เมื่อปี พ.ศ.2060

ในครั้งนี้ถือว่าเป็นที่โชคดีเป็นอย่างยิ่งที่นอกจากชาวคณะของเราจะได้ไว้ขอพรพระธาตุแล้ว ยังได้มีโอกาสสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุที่ทางวัดได้อัญเชิญออกมาจากพระธาตุอีกด้วย นานทีปีหนจะมีโอกาสเช่นนี้ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” และผองเพื่อนก็รีบต่อคิวรับบุญอันเป็นมงคลนี้ทันที
องค์พระธาตุเจดีย์ภายในพระอุโบสถวัดพระธาตุศรีจอมทอง
อ.คฑา แนะพวกเราว่า เวลาอธิษฐานจิตให้เอ่ยชื่อ นามสกุล และคุณความดีที่เราเคยทำมา จากนั้นจึงอธิษฐานขอพรพระบรมสารีริกธาตุให้กับตัวเรา ซึ่งการอธิษฐานแบบนี้มิได้เป็นสูตรอภินิหารอะไร แต่หากการอธิษฐานเช่นนี้ทำให้เรามีสติ รู้ตัว ให้รู้ว่าเรากำลังขออะไรอยู่และจะได้ขอแต่ในสิ่งที่ดี

หลังจากที่อิ่มบุญหน้าบานจากการสรงน้ำพระทักษิณโมลีธาตุ และเดินชมทั่วบริเวณวัดแล้ว พวกเราก็มุ่งตรงสู่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง เพื่อไปสักการะขอพร 2 พระมหาธาตุ อันได้แก่ พระมหาธาตุนภเมทนีดล และพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ ที่สร้างขึ้นโดยกองทัพอากาศร่วมกับพสกนิกรชาวไทย

สำหรับ “พระมหาธาตุนภเมทนีดล” นี้สร้างขึ้นเพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ เมื่อ พ.ศ.2530 โดยชื่อนี้เป็นนามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ พระราชทานให้ มีความหมายว่า “พระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ยิ่งใหญ่เพียงฟ้าจดดิน”
พระมหาธาตุนภเมทนีดล สร้างถวายในวโรกาสที่ในหลวงทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ
พระมหาธาตุนภเมทนีดล หรือ พระธาตุองค์พ่อ นี้ สร้างด้วยหินแกรนิตสีน้ำตาลทองแสดงถึงความแข็งแกร่ง มีรูปลักษณ์ที่แสดงถึงการบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เริ่มด้วยรูปทรงเจดีย์เป็นรูปแปดเหลี่ยมอันหมายถึงมรรค 8 ซึ่งเป็นทางปฏิบัติไปสู่การหลุดพ้น มีบัวรัดรอบแบ่งองค์พระเจดีย์เป็น 3 ชั้น หมายถึง การบำเพ็ญบารมี 3 ชั้น ส่วนบนสุดขององค์พระเจดีย์เป็นยอดปลีสีทองรองรับด้วยดอกบัวบาน 8 กลีบ หมายถึง การตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณและเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานในที่สุด

ในส่วนบนสุดของพระเจดีย์หรือยอดปลี เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ได้อัญเชิญมาจาก 3 ที่คือ ส่วนหนึ่งจากพระวิหารพระเขี้ยวแก้ว เมืองแคนดี้ ประเทศศรีลังกา ส่วนหนึ่งจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทาน และจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก เหนือยอดปลีสีทองกั้นด้วยฉัตรโลหะสีเงิน 9 ขั้น

พื้นผิวภายนอกองค์เจดีย์ประดับด้วยโมเสกแก้วสีน้ำตาลแสดงถึงความหนักแน่นมั่นคง และสง่างามอย่างนักรบ พระเจดีย์มีความสูงจากชานพักชั้นล่างถึงยอดปลี 60 เมตร เพื่อเป็นนิมิตหมายถึงการสร้างเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบหรือ 60 พรรษานั่นเอง
พระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ สร้างถวายในวโรกาสที่พระราชินีทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ
หลังจากที่ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” และชาวคณะเดินขึ้นบันไดสูงหลายต่อหลายขั้นจนเข่าอ่อนแทบก้าวขาไม่ออกแล้วก็ขึ้นมาถึงยังพระธาตุองค์พ่อ แม้จะเหนื่อยแต่ต้องบอกเลยว่าคุ้มจริงๆ เพราะวิวด้านบนนี้สวยงามมาก และเมื่อเข้าไปภายในห้องโถง เราจะเจอกับพระพุทธรูปปางประทานพร แกะสลักด้วยหินแกรนิตสีเขียวจากประเทศอินโดนีเซีย

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามว่า “พระพุทธบรมศาสดานวมินทรมหาจักรีราชานุสรณ์ สัฐพรรษาสถาพรพิพัฒน์” อันมีความหมายว่า “พระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดา สร้างเป็นอนุสรณ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 แห่งพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ พระชนมายุ 60 พรรษา”

จากตรงนี้หากเรามองกลับหลังไปจะเจอกับพระธาตุองค์แม่ หรือ “พระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ” ซึ่งสร้างถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ เมื่อ พ.ศ.2535 สำหรับนามของพระมหาธาตุนี้ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ โปรดเกล้า ฯ พระราชทานให้มีความหมายว่า “เป็นกำลังแห่งฟ้า เป็นสิริแห่งดิน”
บันไดนาคนำไปสู่พระอุโบสถสีทองสุกใสสวยงามภายในวัดพระพุทธบาทสี่รอย
รูปลักษณ์ขององค์พระธาตุแสดงถึงองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้มีพุทธศาสนาเกิดขึ้นในโลก ประกอบด้วยรูปทรงเจดีย์เป็น 12 เหลี่ยม แสดงความหมายถึงอัจฉริยธรรม 12 ประการ ของพระพุทธมารดา มียอดปลีสีเหลืองทองภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้จากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานให้ส่วนหนึ่ง สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายกประทานให้ส่วนหนึ่ง และรัฐบาลศรีลังกาประกอบพิธีมอบให้ส่วนหนึ่ง เหนือยอดปลีสีทองกั้นด้วยฉัตรโลหะสีเงิน 9 ชั้น

พื้นผิวภายนอกองค์เจดีย์ประดับด้วยโมเสกแก้วสีม่วง เพื่อให้มีความอ่อนหวานงดงามตามลักษณะความงามของกุลสตรีไทย พระเจดีย์มีความสูงจากชานพักชั้นล่างถึงยอดปลี 55 เมตร ซึ่งต่ำกว่าพระมหาธาตุนภเมทนีดล 5 เมตร เพื่อแสดงความหมายถึง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงอ่อนพระชันษากว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 5 พรรษา

เมื่อเข้าไปภายในจะเจอกับพระพุทธรูปปางรำพึง ซึ่งเป็นพระประจำวันศุกร์ อันเป็นวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ แกะสลักด้วยหินหยกสีขาวจากประเทศจีน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถพระราชทานนามว่า “พระพุทธสิริกิติทีฑายุมงคล” มีความหมายว่า “พระพุทธเจ้าทรงเป็นสิริมงคลและทรงเจริญพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” ภายในพระเกศลีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายกประทานให้และทรงบรรจุให้ด้วยพระองค์เอง
รอยพระพุทธบาททั้ง 4 รอยซ้อนทับกันอยู่ในรอยเดียว
หลังจากที่ชาวคณะได้กราบไหว้ขอพรพระมหาธาตุทั้ง 2 องค์แล้ว พวกเราได้เดินทางไปสะสมบุญกันต่อที่ “วัดพระพุทธบาทสี่รอย” ตั้งอยู่ในหุบเขาป่าลึก อ.แม่ริม วัดแห่งนี้มีความพิเศษตรงที่เป็นสถานที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทถึง 4 รอย ด้วยกัน ซึ่งรอยพระพุทธบาททั้ง 4 รอยนี้ เป็นรอยพระพุทธบาทเบื้องขวาแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง 4 พระองค์ที่ล่วงเลยมาในภัทรกัป

ประกอบด้วยรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้ากกุสันโธ ขนาดใหญ่ที่สุดยาว 12 ศอก รอยที่2 เป็นรอยพระพุทธบาทของพระเจ้าโกนาคมโน ยาว 9 ศอก รอยที่ 3 เป็นรอยพระพุทธบาทของพระเจ้ากัสสโป ยาว 7 ศอก และรอยสุดท้ายเป็นรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าโคตโม (องค์ปัจจุบัน) มีขนาดเล็กที่สุด คือ 4 ศอก โดยได้ทรงประทับรอยพระบาทไว้บนก้อนหินใหญ่ หรือที่เรียกว่า หินมหาศิลา จำนวน 4 รอยซ้อนทับกัน

หากเดินออกมามองตรงไปจะเห็นอุโบสถจัตุรมุขสีทองอร่ามสวยงามมากอยู่ไม่ไกล พวกเราจึงเดินตามความสวยงามนั้นไปถึงอุโบสถที่ยิ่งดูใกล้ๆก็ยิ่งสวยตระการตาสีทองของอุโบสถสะท้อนกับแสงอาทิตย์เป็นเงาประกาย โอบล้อมด้วยพญานาคใหญ่ที่คอยพิทักษ์รักษาอุโบสถ เมื่อพวกเราเข้าไปกราบไหว้พระประธานในอุโบสถเรียบร้อยแล้ว ก็ออกมาเก็บรูปสวยๆด้านนอกกันยกใหญ่ ก่อนที่จะเดินทางไกลไปยังจังหวัดเชียงราย
พระอุโบสถอันเก่าแก่ที่วัดพระบรมธาตุดอยตุงด้านหลังมองเห็นองค์พระบรมธาตุเจดีย์คู่
สำหรับที่จังหวัดเชียงรายนี้ ชาวคณะของเรามาถึงยังจุดหมายปลายทางสุดท้ายที่ “วัดพระบรมธาตุดอยตุง” อ.แม่ฟ้าหลวง พวกเราเดินขึ้นบันไดนาคมาจนถึงบริเวณวัดด้านบนตลอดทางจากบันไดนาคสู่วัดมีระฆังมากมายแขวนเรียงรายอยู่ตลอด 2 ฝั่งทาง

ด้านบนยอดดอยตุงนี้มีองค์พระบรมธาตุอยู่ 2 องค์ด้วยกัน ตามตำนานเล่าว่า ในสมัยพระเจ้าอุชุตะราช แห่งราชวงศ์สิงหนวัต ผู้ครองนครโยนกนาคนคร พระมหากัสสปได้นำพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระรากขวัญเบื้องซ้าย หรือ ส่วนไหปลาร้าด้านซ้ายของพระพุทธเจ้ามาถวาย พระเจ้าอุชุตะราชมีพระราชศรัทธาจึงโปรดให้สร้างพระสถูปขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

ต่อมาในสมัยพระเจ้าเม็งรายมหาราช ได้มีพระมหาวชิระโพธิเถระได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาถวายจำนวน 50 องค์ พระเจ้าเม็งรายจึงโปรดห้าร้างสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขึ้นอีกองค์หนึ่งเหมือนสถูปองค์เดิมทุกประการตั้งคู่กันดังที่เห็นในปัจจุบัน
พระบรมธาตุดอยตุงนี้ถือเป็นพระธาตุประจำปีกุนหรือปีหมูนั่นเอง ผู้ใดที่เกิดในปีหมูก็อย่าลืมที่จะหาเวลามากราบสักการะสักครั้งจะเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตเป็นอย่างมาก หลังจากที่พวกเรากราบไหว้พระบรมธาตุและเข้าไปไหว้พระประธานในพระอุโบสถเรียบร้อย ก็เป็นอันว่าจบทริปอิ่มบุญในครั้งนี้อย่างสุขใจเสริมมงคลจริงๆ

*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) call center 1672
กำลังโหลดความคิดเห็น