xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมดัน “พระบรมธาตุฯ” เมืองคอน ขึ้นเป็นมรดกโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นครศรีธรรมราช – จังหวัดนครศรีธรรมราช เตรียมดัน “พระบรมธาตุนครศรีธรรมราชสู่มรดกโลก” เร่งสืบค้น “พระเขี้ยวแก้วเบื้องซ้าย” เชื่อสถิตในองค์พระบรมธาตุเจดีห์ ตำนานหลักฐานชัด ด้านเจ้าอาวาสยืนยันร่วมมือเต็มที่ รุกเตรียมรวบรวมข้อมูลให้ทันเสนอเข้าที่ประชุม มิ.ย.นี้ ที่ประเทศสเปน


จังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งทีมดันพระบรมธาตุเจดีห์นครศรีธรรมราช สู่การเป็นมรดกโลก เหตุแห่งทรงคุณค่า และเป็นที่สักการะของอาณาจักรโบราณแห่งภูมิภาคเอเชีย และถือเป็นโบราณสถานที่ทรงคุณค่าต่อมวลมนุษยชาติ ซึ่งในเรื่องนี้ นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการศึกษาและผลักดันวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช เป็น “มรดกโลก”

โดยมีคณะกรรมการที่ปรึกษา มี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธาน และประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายท่าน เช่น พระเทพวินยาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นายสวัสดิ์ กฤตรัชตนันต์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช นายวิชม ทองสงค์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช

ส่วนคณะกรรมการหัวหน้าคณะทำงาน มี รศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช เป็นประธาน ซึ่งเป็นนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของนครศรีธรรมราช นำทีมในการศึกษาค้นคว้า โดยเฉพาะตามหลักฐานในคัมภีร์ต่างๆ รวมทั้งตำนานมีความสอดคล้องกัน ว่า “พระเขี้ยวแก้วเบื้องซ้าย” ถูกอัญเชิญมาสถิตบนหาดทรายแก้ว หรือในองค์พระบรมธาตุเจดีห์ตั้งแต่โบราณกาลจนถึงในปัจจุบัน

รศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ ในฐานะประธานคณะทำงาน เปิดเผยว่า ลำดับของการเริ่มต้นเพื่อการผลักดันองค์พระบรมธาตุเจดีห์สู่มรดกโลก ที่ประชุมได้กำหนดกรอบในการทำงานในเบื้องต้น 5 ประเด็น ประกอบด้วย 1.การนำเสนอและผลักดันวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ขึ้นทะเบียนมรดกโลกเฉพาะเขตพุทธาวาส (ตัวองค์พระบรมธาตุเจดีย์) 2.การทำงานด้านวิชาการ โดยจัดทำเอกสารฉบับร่างที่ครอบคลุมในด้านต่างๆ ที่เข้าหลักเกณฑ์การพิจารณามรดกโลก

3.การระดมความคิดและแนวร่วมจากประชาชนทั้งจังหวัด ในรูปแบบของการประชุมสัมมนา 4.เชิญผู้รู้ ผู้เข้าใจเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ในการทำงานมรดกโลกในเมืองไทย มาให้ความรู้และเป็นที่ปรึกษาของคณะทำงาน 5.การประชาสัมพันธ์ความเคลื่อนไหว ความคืบหน้าของการทำงาน เพื่อปลุกกระแสสร้างความเข้าใจและมีส่วนร่วมของประชาชน

“ในวันที่ 23 เม.ย.2552 จะมีการจัดประชุมสัมมนาที่พุทธสมาคม โดยเชิญ นายเขมชาติ เทพชัย รองอธิบดีกรมศิลปากร และผู้ทรงคุณวุฒิจากส่วนกลางมาร่วมในการสัมมนา และต่อไปจะมีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องและมีประสบการณ์ในเรื่องนี้ เช่น นายปองพล อดิเรกสาร นายพิศิษฐ์ เจริญวงศ์ รวมทั้งผู้แทนจากยูเนสโกประจำประเทศไทย มาร่วมให้ความรู้ความเข้าใจด้วย”

พระเทพวินยาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร กล่าวว่า อาตมาให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เพราะถือเป็นเกียรติยศศักดิ์ศรีและเกียรติประวัติของบ้านเมือง สำหรับในส่วนที่เป็นปัญหาเป็นสิ่งแปลกปลอม ซึ่งอุปสรรคในการพิจารณา เช่น สิ่งปลูกสร้างที่สร้างขึ้นใหม่ก็คงจะต้องอธิบายสร้างความเข้าใจกับผู้ที่ปลูกสร้างด้วยความศรัทธาให้เข้าใจถึงความจำเป็นและเหตุผลที่ต้องรื้อออกไป ซึ่งบางสิ่งบางอย่างมันเป็นอำนาจของกรมศิลปากร

นายสุรโรจน์ นวลมังสอ กรรมการคณะทำงาน เปิดเผยว่า โจทย์อีกส่วนหนึ่งในการเข้าสู่การเป็นมรดกโลกเราเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยว่า “พระเขี้ยวแก้วเบื้องซ้าย” ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถูกอัญเชิญมาสถิตอยู่ที่นี่โดยเจ้าชายทนทกุมารและเจ้าหญิงเหมชาลา ซึ่งค่อนข้างสอดคล้องกับประเด็นความเชื่อและหลักฐานหลายอย่าง เช่น ตามหลักฐานของจีนพบว่าพระเขี้ยวแก้วเบื้องขวานั้นสถิตอยู่ที่จีน ส่วนพระเขี้ยวแก้วเบื้องซ้ายนั้นอยู่ที่นครศรีธรรมราช

“ก่อนหน้านี้ ที่ศรีลังกาได้มีข้อมูลว่า พระเขี้ยวแก้วเบื้องซ้ายนั้น อยู่ที่ศรีลังกา แต่เมื่อมีการพิสูจน์กันอย่างชัดเจนแล้วพบว่าไม่ใช่ ขณะที่พื้นเพของความศรัทธาและความเชื่อที่มีมาตั้งแต่โบราณนั้น เชื่อว่า พระเขี้ยวแก้วเบื้องซ้ายอยู่ที่องค์พระบรมธาตุแห่งนี้มาช้านานแล้ว จนเป็นแหล่งศูนย์รวมศรัทธาของพระพุทธศาสนาในภูมิภาคแถบนี้อย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่โบราณมา รวมทั้งเมื่อการบูรณครั้งใหญ่เมื่อราว 20 ปีก่อน หลักฐานหลายอย่างที่ปรากฏยิ่งทำให้มีน้ำหนักอย่างยิ่ง” กรรมการคณะทำงาน กล่าว

ในขณะที่ นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อดำเนินการไปตามขั้นตอนต่างๆ ระยะหนึ่งแล้วก็จะต้องมาพิจารณาหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่จะต้องดำเนินการต่อไป อะไรที่เป็นปัญหาและอุปสรรคก็จะต้องรีบแก้ไข เพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์การพิจารณาของยูเนสโก โดยอาจจะพิจารณากันอีกครั้งว่า จะเสนอเป็นมรดกโลกในภาพรวมทั้งเขตพุทธาวาส หรือเฉพาะองค์พระบรมธาตุเจดีย์อย่างเดียว

“ประเด็นที่สำคัญ และเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุด คือ การเป็นจุดศูนย์กลางในพระพุทธศาสนาที่สามารถนำธรรมะมาใช้ในการปกครองโดยไม่ต้องใช้อำนาจหรือการสู้รบอาวุธ เพราะนครศรีธรรมราชในอดีตมีหัวเมืองหรือเมืองขึ้นมากถึง 12 เมือง โดยไม่ต้องใช้กำลัง อำนาจหรือการสู้รบกันด้วยอาวุธใด ๆ แต่เพราะองค์พระบรมธาตุเจดีย์ เมืองทั้ง 12 เมืองต่างยินยอมเข้ามาเป็นเมืองขึ้นของนครศรีธรรมราชด้วยความสมัครใจ ไม่ต้องเสียเลือดเสียเนื้อเลย เพราะต้องการได้ชื่อว่าเป็นเมืองใต้พระบารมีของพระบรมธาตุเจดีย์ จนทำให้นครศรีธรรมราชได้ชื่อว่า”เมือง 12 นักษัตร”ซึ่งถือว่าไม่มีที่ไหนในโลกเป็นอย่างนี้” ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าว

นายภาณุ กล่าวต่อว่า การทำงานของคณะกรรมการจะทำงานเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกให้ทันในการประชุมเพื่อพิจารณามรดกโลกที่เมืองเซบีญา ประเทศสเปน ในระหว่างวันที่ 22-30 มิถุนายน 2552 โดยเท่าที่ทราบในปีนี้ประเทศไทยจะไม่มีการเสนอที่อื่นๆ เข้าสู่การพิจารณา จึงมีเพียงเรื่องวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เพียงแห่งเดียว แม้อาจจะยังไม่ผ่านหลักเกณฑ์การพิจารณาเป็นมรดกโลก แต่ได้ชื่อว่าได้เข้าสู่ทำเนียบการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกแล้ว และเราจะได้แก้ไขในจุดที่มีปัญหาและขัดกับหลักเกณฑ์การพิจารณาก่อนนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาในปีต่อๆ ไป
กำลังโหลดความคิดเห็น