xs
xsm
sm
md
lg

พระวิหาร จากปราสาทสมานฉันท์สู่ปราสาทแห่งผลประโยชน์/ ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี

ผมเกิดไม่ทันปี พ.ศ. 2505 แต่ก็รับทราบเรื่องราวของการสูญเสียปราสาท(เขา)พระวิหารในปีนั้นผ่านคำบอกเล่าและเอกสารต่างๆ

การตัดสินครั้งนั้นในความรู้สึกผมคิดว่า ศาลโลกไม่ได้ตัดสินให้ตัวปราสาทพระวิหาร(ไม่รวมทางขึ้น)เป็นของกัมพูชาอย่างเดียวแต่ยังตัดสินให้เป็นของฝรั่งเศสด้วย

แต่ก็เอาเถอะเมื่อศาลโลกตัดสินไปแล้ว ถึงเราจะไม่ยอมรับแต่ก็มิอาจปฏิเสธ

แต่ที่ไม่ยอมรับด้วยประการทั้งปวงก็คือการที่นายติ๊งเหล่ ไปเซ็นยินยอมต่อกัมพูชากรณีการขอขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทเขาพระวิหารให้เป็นมรดกโลกจากยูเนสโก อย่างเร่งรีบร้อนรนและน่าเคลือบแคลงสงสัย ทั้งๆที่รัฐบาลที่ผ่านมาได้ยื่นประท้วงต่อยูเนสโก เพื่อขอให้เขาพระวิหารเป็นมรดกโลกร่วมกันระหว่างไทย-กัมพูชา เพราะศาสนสถานเขาพระวิหารจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อมีส่วนอื่นๆ อาทิ สระตราว สถูปคู่ ปราสาทโดนตวล ที่อยู่ในฝั่งไทยเป็นองค์ประกอบด้วย
 
และนั่นทำให้เรื่องราวเขาพระวิหารกลายเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ขึ้นมาอีกครั้ง อีกทั้งยังทำให้ใครและใครหลายคนหันมาสนใจประวัติศาสตร์ของเขาพระวิหารมากขึ้น

โดยจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่า ศาสนสถานเขาพระวิหาร สร้างโดยชาวขอมโบราณขึ้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 9-คริสต์ศตวรรษที่ 12 ในรัชสมัยของกษัตริย์หลายพระองค์ เพื่อถวายแด่พระศิวะที่เปรียบดังเทพสถิตบนขุนเขา(ดงรัก)หรือ ศิขเรศวร ซึ่งในหนังสือ เมืองประวัติศาสตร์ : เมืองพิมาย เขาพระวิหาร เมืองอุบล เมืองศรีสัชนาลัย ที่เขียนโดย รศ.ดร.ธิดา สาระยา ได้เขียนถึงเหตุผลถึงการสร้างศาสนสถานแห่งนี้ไว้ในตอนเขา“พระวิหารและปราสาทเขาพระวิหาร”อย่างน่าสนใจว่า

...ปราสาทพระวิหารบนทิวเขาดงรัก คือประจักษ์พยานของความพยายามที่จะสร้างสมานฉันท์ทางวัฒนธรรมและการเมืองแต่ครั้งอดีตของผู้คนในบริเวณที่ราบสูงโคราชซึ่งอยู่ในดินแดนประเทศไทย และบริเวณที่ราบต่ำของขอมซึ่งอยู่ในบริเวณประเทศกัมพูชาปัจจุบัน...(น.141)

ดังนั้นปราสาทสมานฉันท์หลังนี้ จึงเป็นดังสถาปัตยกรรมศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้คนในละแวกนี้ได้สักการะบูชาพระอิศวร โดยไม่มีการแบ่งแยกในเชื้อชาติหากแต่มีศรัทธาเป็นที่ตั้ง ซึ่งแม้ว่าในบริเวณนี้(อินโดจีน)จะมีรบพุ่งแก่งแย่งอำนาจของชนชั้นผู้นำอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่กับชนนั้นถูกปกครองก็ยังมีการไปมาหาสู่คบค้าสมาคมฉันท์คนบ้านใกล้เรือนเคียงกันตามอัตภาพ โดยไม่ได้เกิดความรู้สึกแบ่งแยกเขาและเราชนิดที่ต้องตายตกกันไปข้างหนึ่ง

กระทั่งในยุคล่าอาณานิคมต้น ค.ศ. 19 ที่ฝรั่งเศสได้เข้ามาแผ่ขยายอิทธิพลในอินโดจีนจนสามารถยึดลาว เวียดนาม และกัมพูชา ได้ในเวลาไม่นาน

และนั่นทำให้เกิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่และบันทึกหน้าใหม่ขึ้นในภูมิภาคแห่งนี้ ซึ่งอำนาจนอกพื้นที่จากชาติตะวันตกเข้าได้มายุแหย่ เสี้ยม และหนุนส่ง ให้อำนาจรัฐภายในรบราฆ่าฟันกันเอง ทั้งนี้ก็เพื่อการเข้ามายึดดินแดนและกอบโกยทรัพยากรออกไป

จากที่เคยอยู่กันฉันท์มิตรเริ่มแปรเปลี่ยน เป็นขัดแย้ง แบ่งแยก

เท่านั้นยังไม่พอชาติตะวันตกยังได้ใช้แผนที่กำหนดเขตแดนใหม่ เพื่อคนในแต่ละอาณาจักรออกจากกัน และนำมาสู่ความขัดแย้งเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

แน่นอนว่ากรณีปราสาทเขาพระวิหารคือหนึ่งในนั้น ซึ่งชนวนเหตุที่สำคัญถูกจุดโดยฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2492 โดยมีการประท้วงในเรื่องที่รัฐบาลไทยเข้าครอบครองเขาพระวิหาร

นั่นเป็นเหตุให้ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา เสื่อมทรุดลงเป็นลำดับ จนในที่สุดศาลโลกได้ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา ในวันที่ 15 มิ.ย. พ.ศ. 2505 ท่ามกลางความโศกเศร้าของชาวไทย

จากนั้นสถานการณ์เขาพระวิหารระหว่างชายแดนไทย-กัมพูชาก็ลุ่มดอนๆดีบ้าง แย่บ้าง สลับกันไป

จนในปี พ.ศ. 2547 คณะรัฐมนตรีไทย-กัมพูชา มีมติเห็นชอบให้ร่วมกันพัฒนาพื้นที่เขาพระวิหารเพื่อประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว ศึกษาประวัติศาสตร์ และการเสนอขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก แต่เป็นมรดกโลกที่ครอบคลุมทั้งตัวปราสาทในกัมพูชา และองค์ประกอบอื่นๆที่ส่วนใหญ่อยู่ในเมืองไทย ซึ่งรศ.ดร.ธิดา ได้กล่าวถึงปราสาทพระวิหารไว้อย่างหน้าสนใจในหนังสือและบทความเรื่องเดียวกันกับข้างต้นว่า

...เพียงแต่ทัศนคติที่ว่า ศิลปกรรมแบบขอมคือเขมร ศิลปกรรมแบบไทยคือของคนไทยคงไม่ใช่คำตอบที่พอเพียง หรือการพบจารึกภาษาขอมที่นี่ ตรงนี้ภาษาถิ่นมีคำเขมรปะปนก็คงไม่ใช่เครื่องชี้ขาดอีกเช่นกัน

วิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของมนุษยชาตินั้นยาวนัก เป็นไปไม่ได้เชียวหรือที่ในบางจังหวะเวลา เราได้สร้างมรดกโลกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติขึ้นมาเพื่อที่จะรักษาไว้ร่วมกัน ?...(น.140)

แต่ดูเหมือนว่าทางรัฐบาลกัมพูชากลับพยายามที่ยื่นจะเสนอขอขึ้นทะเบียนตัวปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่สนใจองค์ประกอบอื่นๆ และไม่สนใจต่อการยื่นเป็นมรดกโลกร่วมไทย-กัมพูชา ซึ่งเมื่อรัฐบาลไทยประท้วงไปทางยูเนสโกก็ได้เลื่อนการพิจารณาออกไป โดยให้ 2 ประเทศ(ไทย-กัมพูชา)ไปตกลงหาข้อยุติแล้วค่อยนำเสนอที่ประชุมใหม่ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2551

แต่คงเป็นกรรมของประเทศไทยที่มีบางคนเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัวของนายใหญ่มากกว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติ ไปยินยอมกับกัมพูชาต่อการขอขึ้นเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกดังที่ปรากฏเป็นข่าว

หลังการกระทำอันน่าเคลือบแคลงสงสัยของนายติ๊งเหล่ ทำให้เขาพระวิหารกลายเป็นประเด็นร้อนฉ่าขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งจากข้อมูลข่าวสารที่พรั่งพรูออกมา ไม่น่าเชื่อว่าการขอตัวปราสาทพระวิหารให้เป็นมรดกโลกนั้นจะแอบแฝงไปด้วยผลประโยชน์มากมาย

ทั้งผลประโยชน์ทางการท่องเที่ยว ที่วันนี้มีการสร้างเมืองใหม่ เมืองกาสิโน รองรับว่าที่มรดกโลกพระวิหารไว้แล้ว

ทั้งผลประโยชน์จากยูเนสโก ที่ทางบริษัทที่รับสัมปทานบูรณะและจัดการการท่องเที่ยวตามปราสาทต่างๆในเขมร(บริษัทที่ขายตั๋วเที่ยวนครวัด-นครธม) จะได้เงินช่วยเหลือจากยูเนสโกในการจัดการมรดกโลกหลายพันล้านบาท ซึ่งนักวิชาการบางคนเชื่อว่านี่อาจจะเป็นหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังในการไม่ยินยอมให้ไทยเข้าถือครองเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกร่วมกับกัมพูชา

ทั้งผลประโยชน์ทางการเมือง ที่มีข่าวว่านักการเมืองใหญ่ระดับผู้นำในกัมพูชาได้ใช้ประเด็นเรื่องเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกหาเสียง ชูความเป็นชาตินิยมในการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะมาถึงอีกไม่นาน ซึ่งบังเอิญสอดคล้องอย่างร้ายกาจกับการที่รมว.ตาเหล่หลุดคำพูดออกมาทำนองว่า การจะเปิดเผยข้อมูลอะไรให้คนไทยรับรู้นั้น ต้องรอให้การเลือกตั้งในเขมรผ่านพ้นไปก่อน

ทั้งผลประโยชน์ทางธุรกิจ ของนักการเมืองหน้าเหลี่ยมกับนักการเมืองผู้นิยมการใส่เสื้อซาฟารี ที่มีข่าวว่างานนี้เป็นการแลกเปลี่ยนกันระหว่างการยอมให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก กับธุรกิจสัมปทานก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนที่อ่าวไทย และการทำธุรกิจในเกาะกง โดยมีนายตาเหล่คอยประสานผลประโยชน์ให้

โอ...ไม่น่าเชื่อจากปราสาทแห่งศรัทธาในอดีตจะแปรเปลี่ยนกลายมาเป็นปราสาทแห่งผลประโยชน์ในทุกวันนี้

โอ...ไม่น่าเชื่อว่ามันจะเป็นไปได้ถึงเพียงนี้

อา...แต่ที่มันเป็นไปแล้วก็เพราะว่าทุกวันนี้ คนบางคนได้ละทิ้งศรัทธา หันไปบูชาผลประโยชน์และเงินตราแทนนั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น