xs
xsm
sm
md
lg

สะบายดีเมืองลาว(2) : สะบายดีหลวงพระบาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อุโบสถวัดเชียงทอง โดดเด่นด้วยหลังคาอันอ่อนช้อย
หลังจากนั่งเรือหลวงทรายจากท่าเรือบ้านห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว มาแล้ว 2 วัน ก็มาถึงยังจุดหมายเมืองมรดกโลก"หลวงพระบาง" แห่งสปป.ลาว ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกในปี พ.ศ.2538

สำหรับเช้าวันแรกที่หลวงพระบางพวกเราตื่นกันแต่ไก่โห่ เพื่อที่จะร่วมเปิดวันใหม่นี้ด้วยการตักบาตรข้าวเหนียว หนึ่งในเอกลักษณ์ของชาวลาว จากนั้นก็แอบแว้บไปเดินสำรวจตลาดเช้าอันคึกคักและเติมพลังให้ร่างกายกันอย่างเอร็ดอร่อย
 พิพิธภัณฑ์พระราชวังหลวงพระบางดูเด่นตระหง่านด้วยทางเดินต้นตาล
จากนั้นก็ประเดิมเริ่มแรกวันอิ่มบุญกันที่ "วัดเชียงทอง" วัดอันเป็นเหมือนสัญลักษณ์คู่เมืองหลวงพระบาง พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชโปรดให้สร้างขึ้นในราว พ.ศ.2102-2103 ก่อนที่จะทรงย้ายราชธานีไปยังนครหลวงเวียงจันทน์

ไกด์ของเราบอกว่า สิ่งที่โดดเด่นของวัดแห่งนี้ได้แก่หลังคาโบสถ์ที่โค้งงุ้ม 3 ชั้นลดหลั่นลงมาเกือบจรดฐาน ด้านบนมีช่อฟ้า 17 ช่อ อันบ่งบอกว่าเป็นวัดที่กษัตริย์สร้าง พวกเราได้ฟังก็ชี้นิ้วนับกันยกใหญ่ ปรากฏว่านับได้ 17 ช่อจริงๆอย่างที่ไกด์ว่า จากนั้นเราก็เข้าไปด้านในโบสถ์เพื่อกราบไหว้ขอพร "พระพุทธทองสุก" พระประธานปางมารวิชัยอายุโบราณกว่า 400 ปี
พระธาตุหมากโม รูปทรงคล้ายแตงโมผ่าซีกแล้วคว่ำลง
ทางด้านข้างของโบสถ์มีหอเล็กๆ 2 หลัง หอด้านหน้า หรือ "หอไหว้" เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามญาติ ที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ของเรานี่เอง อีกหอได้แก่ "หอพระม่าน" ภายในประดิษฐานพระม่านที่นำมาจากพม่าในราว ศตวรรษที่ 16 ซึ่งหอเล็กๆทั้งสองหลังนี้ ผนังทาสีชมพูตกแต่งด้วยกระจกสีเล่าเรื่องราววิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวลาวในอดีตดูสวยงามสดชื่นมากทีเดียว

นอกจากนี้ยังมีโรงพระราชรถ ใช้เป็นที่เก็บราชรถและพระโกศของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ กษัตริย์ของชาวลาว ภายในยังใช้เป็นที่เก็บพระพุทธรูปมากมายหลายอิริยบท หากใครได้เดินดูรอบๆภายในบริเวณวัดอาจจะเห็นบางมุมบางแห่งของวัดมีก้อนข้าวเหนียววางอยู่ก็ไม่ต้องสงสัย เพราะชาวลาวเขาถือว่าการถวายข้าวเหนียวถือเป็นการได้บุญเป็นอย่างมาก หลังจากใส่บาตรข้าวเหนียวในตอนเช้าแล้ว หากข้าวเหนียวเหลือก็จะนำไปวางไว้ตามเจดีย์หรือตามมุมต่างๆในวัดเพื่อเป็นพุทธบูชา หรืออาจจะนำไปวางไว้ตามเจดีย์คนตายเพื่อให้ดวงวิญญาณกินก็ได้ไม่ว่ากัน
พระธาตุพูสีทรงดอกบัวสีทองอร่ามตา
จากวัดเชียงทอง คณะของเราไปอิ่มบุญกันต่อที่ "วัดใหม่สุวันนะพูมาราม" หรือที่ชาวบ้านเรียกกันสั้นๆว่า "วัดใหม่" สันนิษฐานว่าสร้างในปี พ.ศ.2337 วัดใหม่แห่งนี้มีโบสถ์งดงามด้วยศิลปะเครื่องไม้แบบหลวงพระบางเรื่องรามายณะและพระเวสสันดรชาดก ฝีมือการแกะสลักไม้ของเพียตัน หนึ่งในสุดยอดช่างของลาวอันสวยงาม

ถัดจากวัดใหม่ไกด์พาพวกเราไปยัง "วัดวิชุนราช" ซึ่งสร้างในรัชสมัยเจ้ามหาชีวิตวิชุนราช ช่วง พ.ศ.2046 ต่อมาในปี พ.ศ.2057 พระนางพันตีเชียงพระอัครมเหสีเจ้ามหาชีวิตวิชุนราชโปรดให้สร้างพระเจดีย์ที่มีลักษณะรูปทรงคล้ายผลแตงโมผ่าครึ่งกลางแล้วคว่ำลง ชาวบ้านจึงเรียกวัดแห่งนี้ว่า "วัดหมากโม" หรือ "วัดพระธาตุหมากโม" แต่น่าแปลกที่ภายในพระธาตุเจดีย์ไม่ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเหมือนเช่นพระธาตุอื่นๆ

เมื่อเข้าไปภายในวัด สิ่งที่ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" เห็นเป็นสง่าก็คือพระธาตุหมากโม เป็นพระธาตุที่มีลักษณะสูงใหญ่และแตกต่างจากพระธาตุองค์อื่นๆ อุโบสถของวัดก็แปลกตากว่าวัดอื่นๆในหลวงพระบางเนื่องจากได้รับอิทธิพลมาจากวิหารแบบไทลื้อสิบสองปันนา วัดแห่งนี้ยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทะรูปสำคัญหลายองค์อีกด้วย

ติดกับวัดพระธาตุหมากโม เราสามารถเดินทะลุซุ้มประตูเล็กๆด้านข้างของพระธาตุไปยัง "วัดอาฮาม" สร้างในปี พ.ศ.2322 แม้จะเป็นเพียงวัดเล็กๆแต่มีตำนานที่สำคัญเกี่ยวกับปู่เยอ ย่าเยอ และสิงแก้ว ซึ่งชาวลาวให้ความเคารพนับถือ ปู่เยอ ย่าเยอ เป็นอย่างมากในฐานะเทวดารักษาเมือง ส่วนสิงแก้วนั้นเป็นสัตว์เลี้ยง ภายในวัดอาฮามแห่งนี้เป็นสถานที่เก็บรักษาชุดปู่เยอ ย่าเยอ และสิงแก้วซึ่งจะนำออกมาใช้สวมใส่ทำพิธีในช่วงเทศกาลสงกรานต์เท่านั้น ไกด์บอกกับพวกเราว่าถ้าอยากเห็นก็ต้องมาเที่ยวหลวงพระบางอีกครั้งในช่วงสงกรานต์หน้า รับรองได้ชมของจริงและร่วมเทศกาลอย่างสนุกสนานชัวร์
ปู่เยอ ย่าเยอและสิงแก้ว เป็นที่เคารพนับถือในฐานะเทวดารักษาเมือง
จากวัดอาฮามพวกเราไปซึมซับประวัติศาสตร์อันน่ารู้ของลาวกันต่อที่ "พิพิธภัณฑ์พระราชวังหลวงพระบาง" สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2447 โดยสถาปนิกชาวฝรั่งเศส เป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะแบบฝรั่งเศสและลาว แต่เดิมเป็นพระราชวังของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์จนเสด็จสวรรคต กระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2518 พระราชวังหลวงพระบางแห่งนี้ก็ได้ถูกเปลี่ยนมาเป็นพิพิธภัณฑ์เช่นทุกวันนี้

เมื่อมาถึงยังพิพิธภัณฑ์ ไกด์ชาวลาวของเราบอกว่าที่แห่งนี้ห้ามถ่ายรูป ห้ามสวมรองเท้าและห้ามนำกระเป๋าหรือสิ่งของเข้าไป หรือหากใครนำกล้องหรือกระเป๋ามาเขาก็มีตู้ให้เก็บของแต่จะวุ่นวายหากบังเอิญมาเจอะกับทัวร์ใหญ่ๆ ดังนั้นหากผู้ใดมีของมีค่า "ผู้จัดการท่องเที่ยว"ขอแนะนำให้เก็บไว้ในรถเพื่อความปลอดภัยจะดีกว่า

เมื่อถอดเกิบ เก็บสัมภารกกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไกด์นำขบวนพวกเราไปยังจุดชมแรกทางด้านปีกขวาก็คือ "พระบาง" หนึ่งในพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองลาว

ภายในพิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งนี้จัดส่วนแสดงเป็นห้องต่างๆมากมาย อาทิ ห้องบรรทมที่ดูเรียบง่าย ห้องรับแขกของเจ้ามหาชีวิต ห้องรับแขกของพระมเหสี

จากนั้นพวกเราปิดท้ายวันกันด้วย การเดินขึ้นบันได 328 ขั้น เพื่อสักการะ"พระธาตุพูสี" หนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญคู่บ้านคู่เมืองหลวงพระบาง ที่ระหว่างทางขึ้นจะมีพระพุทธรูปปางประจำวัดต่างๆ ให้พวกเราได้เดินบ้างยกมือไหว้บ้างตลอดทางแล้วยังร่มรื่น และ อบอวนไปด้วยกลิ่นดอกจำปาลาว หรือดอกลั่นทมบ้านเรา ดอกไม้ประจำชาติของลาวตลอดสองข้างทาง ก่อนที่จะมาถึงยังตัวองค์ "พระธาตุพูสี" ซึ่งมีลักษณะเป็นพระธาตุทรงดอกบัวทาสีทองอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม ยอดประดับด้วยเศวตฉัตรทองสำริด 7 ชั้น สูงประมาณ 21 เมตร พวกเราถึงขึ้นต้องเงยหน้าคอตั้งฉากมองกันเลยทีเดียว
แม้ฝนพรำแต่ชาวหลวงพระบางก็ยังคงออกมากางร่มออกมาตักบาตรข้าวเหนียวในยามเช้า
หลังจากที่กราบไหว้สักการะขอพรกันจนอิ่มบุญแล้ว ก็ได้เวลาของการโพสท่าแบบมืออาชีพถ่ายมุมนู้นทีมุมนี้ที ด้านบนนี้นอกจากจะมองเห็นวิว 2 แม่น้ำสายสำคัญของหลวงพระบางทั้งลำน้ำโขง และลำน้ำคานแล้ว ยังถือเป็นจุดชมพระอาทิตย์อัสดงที่สวยงามยอดฮิตอีกด้วย แต่พวกเราไม่ได้อยู่ชมพระอาทิตย์ลาลับฟ้าเนื่องจากในคณะของเรามีผู้ใหญ่วัยอาวุโส เกรงว่าหากแสงมืดลงท่านจะลงเขาพูสีไม่สะดวกจึงได้พากันลงเขาก่อนพระอาทิตย์ตก

แต่ก็ได้รับการชดเชยโดยการเดินชมตลาดถนนคนเดินกันแทน ซึ่งที่ตลาดแห่งนี้ก็ขายของที่ระลึกมากมายทั้งเสื้อยืดเพ้นท์ลายสัญลักษณ์ของลาวต่างๆ ผ้าทอ กระเป๋า พวงกุญแจ สารพัด อีกทั้งอาหารพื้นเมืองมากมายเราก็สามารถหาได้ที่ตลาดแห่งนี้ พวกเราขาช้อปทั้งหลายเพลิดเพลินเดินจับจ่ายกันจนแทบจะลืมว่าในวันรุ่งขึ้น ชาวคณะของเราจะต้องลาเมืองมรดกโลกหลวงพระบางแห่งนี้ เพื่อไปลุยเมือง"วังเวียง : กุ้ยหลินเมืองลาว"กันต่อ... (โปรดติดตามตอนต่อไป)

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ที่หลวงพระบาง มีเวลาตรงกับประเทศไทยและสามารถใช้เงินบาทได้ ซึ่งสำหรับผู้ที่สนใจทริปท่องเที่ยวลาวเป็นวงรอบ เชียงของ(เชียงราย)-ปากเบ็ง-หลวงพระบาง-วังเวียง-เวียงจันทน์-หนองคาย สามารถสอบเพิ่มเติมได้ที่ บริษัททรอปิคอล สตาร์ ทราเวล โทร.0-2513-4913 ต่อ 2513,4996
ชมรูปจากเรื่อง สะบายดีเมืองลาว(2) : สะบายดีหลวงพระบาง ต่อได้ที่นี่
 
อ่านเรื่องสะบายดีเมืองลาวเพิ่มเติมได้ที่นี่
 
สะบายดีเมืองลาว(1) : ล่องโขงจากเชียงของสู่หลวงพระบาง
สะบายดีเมืองลาว(จบ) : ยลเสน่ห์วังเวียง-เลาะเลียบเคียงเวียงจันทน์
 
กำลังโหลดความคิดเห็น