นครสวรรค์ เมืองสี่แคว หรือที่รู้จักกันดีในนาม “ปากน้ำโพ” ต้นกำเนิดของแม่น้ำเจ้าพระยา ศูนย์กลางการคมนาคมของภาคเหนือตอนล่าง นครสวรรค์แม้จะเป็นเมืองผ่านแต่กระนั้นเมืองนี้ก็มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจให้เที่ยวชมกัน อาทิ บึงบอระเพ็ด อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา
นอกจากนี้นครสวรรค์ยังมีวัดวาอารามขึ้นชื่อให้เที่ยวชมกันอีกมากมายหลายวัด ซึ่งในทริป“ผู้จัดการท่องเที่ยว”ขอออกท่องเที่ยวเชิงธรรมะ ไหว้พระเสริมสิริมงคลในเมืองนครสวรรค์ เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศวันวิสาขบูชาที่จะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
วัดแรกที่เรามุ่งหน้าเดินทางไปก็คือ “วัดจันเสน” ที่ตั้งอยู่ ต.จันเสน อ.ตาคลี วัดนี้นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า เคยเป็นส่วนหนึ่งของเมืองโบราณมาตั้งแต่สมัยทวาราวดี มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 11-13 โดยสิ่งชวนมองเป็นอย่างยิ่งในวัดจันเสนก็คือมณฑปที่สร้างโดยหลวงพ่อโอดหนึ่งในพระเกจิชื่อดังของนครสวรรค์
มณฑปหลังนี้สร้างอย่างสมส่วนสวยงาม บนยอดมีเจดีย์สีทองเหลืองอร่ามตั้งตระหง่านโดดเด่น ชั้นล่างของมณฑปเป็นพิพิธภัณฑ์จันเสน แหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชนจันเสนตั้งแต่สมัยทวาราวดี ภายในพิพิธภัณฑ์ได้รวบรวมโบราณวัตถุเอาไว้หลายอย่าง อาทิ โครงกระดูกมนุษย์ ธรรมจักร พระพิมพ์รุ่นต่างๆ และข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่ อีกทั้งยังมีรูปเคารพของหลวงพ่อโอดประดิษฐานไว้ให้พุทธศาสนิกชนได้สักการบูชากันด้วย
ในขณะที่พระพุทธรูปที่น่าสนใจชวนกราบไหว้อีกกลุ่มหนึ่งในวัดจันเสนก็คือ"หลวงพ่อนาค"ที่มีอยู่ 3 องค์ด้วยกัน 2 องค์แรกเป็นพระพุทธรูปนาคปรกใหญ่ที่ประดิษฐานอยู่ภายในอุโบสถวัดจันเสน องค์ขวามีนามว่า "หลวงพ่อนาคปัตถวี" ส่วนองค์ซ้ายชาวบ้านเรียกกันว่า"หลวงพ่อนาค" และหลวงพ่อนาคน้อยที่ประดิษฐานอยู่บนตึกนิสิตสามัคคี(ตึกหลวงพ่อโอดจำพรรษา)
ว่ากันว่าหลวงพ่อนาคมีความศักดิ์สิทธิ์มาก ชาวบ้านชอบมาบนบานศาลกล่าวกัน เชื่อกันว่าหลวงพ่อชอบขนมปากริมไข่เต่า เมื่อได้สิ่งที่ตนปรารถนาชาวบ้านจะนำขนมปากริมไข่เต่าและดอกไม้ธูปเทียนทองมาถวาย
จากวัดจันเสน“ผู้จัดการท่องเที่ยว”ออกเดินทางไปต่อยัง“วัดช่องแค” ต.พรหมนิมิต ซึ่งตั้งอยู่ใน อ.ตาคลีเหมือนกัน ทันทีที่มาถึงยังวัดช่องแค เรารีบเข้าไปกราบนมัสการ “หลวงพ่อพรหม” พระเกจิชื่อดังอย่างไม่รีรอ
หลวงพ่อพรหม เป็นพระเกจิที่เล่ากันว่า มีวิชาป้องกันตัว ท่านเคยเดินธุดงค์ไปยังประเทศพม่าแล้วเห็นพระเจดีย์ชะเวดากอง เห็นระฆังใบใหญ่คล้ายขันข้าวใส่บาตร หลวงพ่อท่านประทับใจมาก ดังนั้นวัตถุมงคลของท่านหลายๆรุ่นจึงเป็นรูประฆัง
นอกจากนี้หลวงพ่อยังมีความรู้เรื่องของยาสมุนไพร ชาวบ้านเจ็บไข้ได้ป่วยหลวงพ่อก็รักษาพร้อมกับเสกคาถากำกับไปด้วย จนเกิดเป็นงานประเพณีต้มยาขึ้น งานนี้จะจัดขึ้นทุกปีในวันคล้ายวันเกิดของท่าน ซึ่งตรงกับวันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี
ปัจจุบันหลวงพ่อพรหมได้มรณภาพไปแล้ว แต่ศพของท่านไม่เน่าไม่เปื่อย สังขารยังคงมีสภาพเหมือนเดิม และมีสิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นคือ เส้นผม ขนคิ้ว ขนตา เล็บมือ นวดใต้คาง และเล็บเท้า งอกยาวออกมา นับเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ไม่น้อยเลย ซึ่งสิบปากว่าคงไม่เท่ากับการไปเห็นด้วยตาตัวเอง
เมื่อสักการะหลวงพ่อพรหมกันแล้ว “ผู้จัดการท่องเที่ยว”ก็ไม่รอช้า รีบออกเดินทางไปต่อที่ “วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์”ซึ่งตั้งอยู่บนเขา ที่ ต.ทำนบ อ.ท่าตะโก (หากคุณๆทั้งหลายเดินทางมาโดยรถบัส ไม่สามารถนำรถขึ้นไปได้ ต้องเดินขึ้นไปหรือต้องใช้รถเล็กเท่านั้น แต่มันก็คงไม่ใช่อุปสรรคสักเท่าไหร่)
วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ เป็นวัดแรกและวัดเดียวที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงรับไว้เป็นวัดประจำพระองค์ ในวัดแห่งนี้มีบรรยากาศสบายๆ บริเวณวัดดูร่มรื่นและร่มเย็นเนื่องจากถูกโอบล้อมไปด้วยทุ่งนาของชาวบ้าน
เมื่อเราก้าวไปบริเวณวัดสิ่งที่สะดุดตาแรกพบเห็นคือ รูปลักษณ์ของวัดที่สร้างเป็นรูปเรือหลวง และเจดีย์ศรีพุทธคยาที่สูงถึง 28 เมตร ดูโดดเด่นเป็นสง่า ยอดเจดีย์เป็นทรงระฆังคว่ำ ประดับลวดลายปูนปั้นอันวิจิตรงดงาม เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพบูชาของชาวพุทธ ด้านบนเป็นฉัตรสำริด 7 ชั้น มียอดดอกบัวตูม หมายถึง ภาวะพุทธและการหลุดพ้น ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อรองรับในวันวิสาขบูชานั่นเอง
ส่วนเมื่อเดินไปทางด้านหน้า จะพบกับเจดีย์ศรีมหาราช เป็นสถานที่ให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดี และถ้าเดินไปเรื่อยๆก็จะพบกับ“พระภควัมบดี” (พระอยู่เย็นเป็นสุข พระไม่มีหน้า) เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะเหมือนพระสังกัจจายน์ แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ เป็นปางขัดสมาธิบนกลีบบัว 3 ชั้น ไม่มีหน้าไม่มีหลัง ซึ่งหมายถึง ปริศนาธรรม มีหน้าตักกว้าง 4 เมตร สูง 10 เมตร
ต่อจากนั้นเราเดินไปไหว้ “พระพุทธรัชมงคลอุบลบพิตร” พระพุทธรูปสมัยอู่ทอง ปางสมาธิ ซึ่งเป็นพระประธานในวัดนี้
ครั้นเมื่อเดินชมและสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์กันเรียบร้อยแล้ว เราก็ออกเดินทางต่อเพื่อไปไหว้“หลวงพ่อเดิม”กันต่อที่ “วัดหนองกลับ” หรือว่าวัดหนองบัว ต.หนองกลับ อ.หนองบัว
หลวงพ่อเดิม ถือเป็นหนึ่งในสุดยอดพระเกจิชื่อดังแห่งเมืองปากน้ำโพ ซึ่งท่านโด่งดังในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นตะกรุด เหรียญพิมพ์และอื่นๆอีก จนชาวบ้านยกย่องว่าเป็น “เทพเจ้าแห่งเมืองสี่แคว”
เดิมทีหลวงพ่อเดิมไม่ได้จำวัดอยู่ที่วัดหนองกลับ แต่หลวงพ่ออ๋อยซึ่งเป็นศิษย์หลวงพ่อเดิม ได้นิมนต์ท่านมาสร้างศาลาการเปรียญ ทำให้ท่านเดินทางมาที่นี่บ่อยครั้ง จนเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านละแวกนี้
ด้วยเหตุนี้หลวงพ่ออ๋อยจึงสร้างรูปเคารพ(รูปหล่อ)ของหลวงพ่อเดิมขนาดเท่าองค์จริงไว้ให้ชาวบ้านสักการะบูชา
นอกจากรูปเคารพหลวงพ่อเดิมแล้ว ภายในวัดหนองกลับยังมีพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมของเก่าแก่เอาไว้ให้ชมมากมาย อาทิ ของใช้-ของขลังของหลวงพ่อเดิม พระพุทธรูปสมัยต่างๆ ที่มีการจัดเก็บไว้อย่างเป็นหมวดหมู่และน่าชม
หลังเที่ยวชมวัดหนองกลับกันอย่างจุใจ เราก็เดินทางต่อไปยัง“วัดศรีอุทุมพร” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดวังเดื่อ”ซึ่งตั้งอยู่ ต.หนองกรด อ.เมืองนครสวรรค์
วัดแห่งนี้มี“หลวงพ่อจ้อย”เป็นพระเกจิขึ้นชื่อ โดยเมื่อก้าวเข้ามาจะเห็นพระอุโบสถของวัดทรงสมส่วนตั้งโดดเด่นชวนมอง โบสถ์ของวัดนี้งามทั้งภายนอกและภายใน ภายนอกนั้นงดงามด้วยลวดลายประดับกระจกสีที่สะท้อนแสงแวววับ ส่วนภายในก็ดูงดงามไปด้วยงานจิตรกรรมฝาผนัง องค์พระประธาน(พระพุทธชินสีห์) และลวดลายประดับตกแต่งต่างๆ นอกจากนี้ภายในโบสถ์ยังมีโรงแก้วบรรจุพระศพของหลวงพ่อจ้อย เมื่อได้เข้ามานมัสการท่านแล้ว ทำให้รู้สึกอิ่มบุญอย่างบอกไม่ถูกไม่รู้ว่าเป็นเพราะเหตุใดกัน
สำหรับหลวงพ่อจ้อยเป็นเกจิอาจารย์ ที่มิใช่แต่ปลุกเสกวัตถุมงคล เครื่องรางของขลังเพียงอย่างเดียว แต่ท่านยัง“ปลุกพระ ปลุกคน”อีกด้วย เพราะหลวงพ่อท่านชอบปลุกจิตใจของพระสงฆ์ สามเณร และพุทธศาสนิกชนที่เข้าวัดมาฟังธรรมให้ตั้งอยู่ในศีลธรรมอันดีมาโดยตลอด นอกจากนี้ยังท่านชอบช่วยเหลือชาวบ้านในทุกๆเรื่องที่เดือดร้อน ถึงแม้ว่าวันนี้ท่านจะมรณภาพไปแล้วก็ตาม แต่ความดีของท่านยังคงฝังอยู่ในใจชาวบ้านและผู้ที่ศรัทธาเสมอ
อนึ่งการได้มาไหว้พระขอพรตามวัดต่างๆในเมืองปากน้ำโพในทริปนี้ ทำให้เรารู้สึกอิ่มบุญและอิ่มใจไม่น้อยเลย ซึ่งหากใครสนใจและมีความศรัทธาก็ลองแวะเวียนเดินทางไปเที่ยวชมศิลปะ และไหว้พระที่เมืองปากน้ำโพกันได้....สาธุ
*****************************************
ผู้สนใจสามารถสอบถามเส้นทางและข้อมูลท่องเที่ยวเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงาน ททท. ภาคเหนือ เขต 4 โทร. 0-5551-4341-3
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
10 ปีแห่งความสำเร็จ “พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจันเสน”