เป็นที่รู้กันดีว่าวันที่ 1 มกราคม ของทุกปี เป็นวันขึ้นปีใหม่แบบสากลที่ทุกประเทศทั่วโลกจะเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่กันอย่างสนุกสนาน ในขณะที่ตามประเพณีไทยโบราณจะถือเอา วันสงกรานต์ เป็นวันขึ้นปีใหม่แบบไทยๆ
แต่สำหรับชาวจังหวัดสุรินทร์โบราณแล้ว กลับมีวันขึ้นปีใหม่ที่ค่อนข้างแตกต่าง โดยพวกเขาจะถือ "วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5" เป็นวันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติ เนื่องจากวันดังกล่าวถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติของขอม ที่เดิมนั้นจังหวัดสุรินทร์เคยเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชาวขอมมาก่อน เมื่อขอมเสื่อมอำนาจลง เมืองสุรินทร์ก็ได้ถูกทิ้งร้างลง
กระทั่งปี พ.ศ.2306 หลวงสุรินทรภักดี (เชียงปุม) หัวหน้าหมู่บ้านเมืองที ได้ขอให้เจ้าเมืองพิมาย กราบบังคมทูลขอพระกรุณาโปรดเกล้าฯจากพระเจ้าอยู่หัว อพยพโยกย้ายจากเมืองทีมาอยู่ที่บริเวณบ้านคูประทาย บริเวณที่ตั้งของเมืองสุรินทร์ในปัจจุบัน เนื่องจากมีชัยภูมิที่เหมาะสม ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนชื่อเป็น "เมืองสุรินทร์" ตามสร้อยบรรดาศักดิ์ของเจ้าเมืองสุรินทร์
จากประวัติความเป็นมาที่ผูกพันกันมายาวนาน ทำให้วัฒนธรรมประเพณีของชามขอมได้หลอมรวมจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของชาวสุรินทร์ โดยในทุกๆวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 ของทุกปี(ในปีนี้ ตรงกับวันที่ 6 เมษายน) ประชาชนชาวสุรินทร์จะพากันเดินขึ้น "เขาพนมสวาย" หรือ "เขาสวาย" ภายใน "วนอุทยานพนมสวาย" เพื่อสักการะ 9 สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง คือ พระใหญ่หรือพระพุทธสุรินทรมงคล, รอยพระพุทธบาทจำลอง, อัฐิหลวงปู่ดุล อตุโล, พระพุทธรูปองค์ดำ, หลวงปู่สวน, ปราสาทหินพนมสวาย, ศาลเจ้าแม่กวนอิม, เต่าศักดิ์สิทธิ์, และสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ โดยเชื่อกันว่าการได้ไปขึ้นเขาพนมสวายเป็นการเสริมสิริมงคลชีวิตแก่ตนและครอบครัว
สำหรับ"เขาพนมสวาย" ตั้งอยู่ในพื้นที่ "วนอุทยานพนมสวาย" ต.นาบัว อ.เมือง ต.เชื้อเพลิง อ.ปราสาท อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาสวาย ประกาศเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2527 นับเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดสุรินทร์ เขาพนมสวายมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์และศาสนสถานต่างๆ ที่ประชาชนให้ความเคารพศรัทธา โดยเขาพนมสวายจะเป็นภูเขาเตี้ยๆ มี 3 ยอด คือเขาชาย หรือ เขาพนมเปราะ, เขาหญิง หรือ เขาพนมสรัย, และเขาคอก หรือ เขาพนมกรอล
สำหรับเขาชาย หรือเขาพนมเปราะ มีบันไดก่ออิฐถือปูนยาวเหยียดขึ้นไปถึงด้านบนยอดเขา แต่ระหว่างทางซึ่งเป็นบันไดนั้นมีระฆัง 1,080 ใบ แขวนอยู่ตลอดสองข้างทาง ซึ่งเมื่อปี พ.ศ.2550 ซึ่งเป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทางจังหวัดสุรินทร์และคณะสงฆ์จังหวัดสุรินทร์ ได้ร่วมกันจัดหาระฆังจากทุกวัดในจังหวัดสุรินทร์ จำนวน 1,070 ใบ และได้รับมอบระฆังจากวัดสำคัญอีก 10 ใบ รวมเป็น 1,080 ใบ
นอกจากนั้นยังได้รับมอบระฆังเอกจากวัดระฆังโฆสิตาราม ซึ่งทางจังหวัดได้จัดทำขึ้นเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ติดตั้ง ณ วนอุทยานพนมสวายบริเวณทางขึ้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่ไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวนอุทยานพนมสวายได้มีโอกาสเคาะระฆังเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
เนื่องจากวิถีชีวิตของคนไทยและพุทธสาสนิกชนมีความเชื่อและศรัทธาเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลายอย่าง เชื่อกันว่า บุคคลใดทำบุญสร้างระฆังถือเป็นยอดกุศล จะได้เป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่รู้จักและมีความก้าวหน้าในชีวิต ทั้งการงาน ทรัพย์สิน เงินทอง พร้อมทั้งเกียรติยศ และเมื่อมีการเคาะระฆังเสียงก็จะก้องกังวานดังไปถึงเทพยดาชั้นเบื้องบน ประกาศให้รู้ว่าเป็นการเคารพเลื่อมใสบูชาในพระพุทธศาสนา
เมื่อขึ้นบันไดพร้อมเคาะระฆังขึ้นไปถึงด้านบนยอดเขาชายแล้ว ด้านบนเป็นที่ประดิษฐาน "พระพุทธสุรินทรมงคล" พระพุทธรูปประจำเมืองสุรินทร์ สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2518 โดย พล.ต.ต.วิเชียร ศรีมันตร ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ในขณะนั้น ได้จัดสร้างพระกริ่งจอมสุรินทร์ให้เช่า และมีรายได้ประมาณหนึ่งล้านห้าแสนบาท มีความประสงค์จะสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ประดิษฐานไว้บนเขาพนมสวายบริเวณยอดเขาชาย จึงมอบให้พุทธสมาคมจังหวัดสุรินทร์เป็นผู้ดำเนินการ โดยกรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบ การสร้างพระพุทธรูปองค์นี้จึงได้เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2518 แล้วเสร็จในวันที่ 30 มกราคม 2520
ต่อมาในปี พ.ศ.2523 ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ในขณะนั้นได้ขอพระราชทานนามและได้รับพระราชทานนามพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดและอยู่สูงที่สุดในจังหวัดสุรินทร์ว่า "พระพุทธสุรินทรมงคล" และในปี พ.ศ.2527 ได้ประกอบพิธีเบิกพระเนตรองค์พระพุทธสุรินทรมงคลพร้อมทั้งได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปบรรจุที่บริเวณพระนาภี
พุทธลักษณะของพระพุทธสุรินทรมงคล เป็นพระพุทธรูปปางประทานพรขนาดหน้าตักกว้าง 15 เมตร สูง 21.50 เมตร องค์พระเป็นโครงคอนกรีตเสริมเหล็กองค์สีขาวบริสุทธิ์ พระเนตรขาวประดับด้วยเปลือกหอยมุก พระเนตรดำทำด้วยโลหะทองเหลืองผสมทองแดงหล่อรมดำ ประทับนั่งขัดสมาธิบนฐานที่ประทับที่มีบัวคว่ำบัวหงาย ซึ่งมีลักษณะแบบเดียวกับพระพุทธรูป ภ.ป.ร.
ส่วนอีกยอดเขาหนึ่งของเขาพนมสวาย คือ ยอดเขาหญิง เป็นที่ตั้งของวัดพนมศิลาราม ทางวัดได้จัดสร้างพระพุทธรูปองค์ขนาดกลางประดิษฐานบนยอดเขา และยังมี "สระน้ำโบราณ" 2 สระที่เชื่อว่าเป็นที่อยู่ของ "เต่าศักดิ์สิทธิ์" 2 ตัว ต่อมาภายหลังเกิดภัยอันตรายเต่าทั้งสองจึงได้อพยพเพื่อลงจากเขา แต่ขณะที่เดินทางถึงเพียงไหล่เขาก็เกิดอาการแข็งตัว กลายเป็นเต่าหินขนาดใหญ่ 2 ตัว ซึ่งถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ
และอีกยอดหนึ่งคือเขาคอก หรือพนมกรอล พุทธสมาคมจังหวัดสุรินทร์ได้จัดสร้าง "ศาลาอัฏมุข" เป็นอนุสรณ์ฉลองครบรอบ 200 ปี แห่งการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อประดิษฐาน "รอยพระพุทธบาทจำลอง" ซึ่งย้ายมาจากบนยอดเขาชาย โดยเริ่มทำการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2524 และสำเร็จบริบูรณ์ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2525 ใกล้กันนั้นมีสถูปสถานที่เก็บอัฐิธาตุพระราชวุฒาจารย์ หรือหลวงปู่ดูลย์ อตุโล พระเกจิสายวิปัสสนา วัดพนมศิลาราม และศาลเจ้าแม่กวนอิม ให้ประชาชนได้เคารพบูชา
และในปีนี้ทางจังหวัดสุรินทร์ยังได้ประกาศให้เป็น "ปีท่องเที่ยวสุรินทร์" เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของสุรินทร์ให้เป็นรูปธรรม และมีความเชื่อมโยงทุกๆมิติ เพื่อส่งเสริมการสร้างรายได้ให้ประชาชน โดยกำหนดให้ทุกภาคส่วนจัดกิจกรรมในด้านการท่องเที่ยว ทั้งในด้านการพัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์ ยกย่องเชิดชู ภูมิปัญญาชาวบ้าน ส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ให้เป็นรูปธรรม
โดยในปี 2551 จังหวัดสุรินทร์ได้จัดทำตารางท่องเที่ยวไว้อย่างหลากหลาย และน่าสนใจ อาทิ งานประเพณีขึ้นเขาสวาย ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ งานช้างสุรินทร์ เป็นการแสดงภาคสนามที่มีความยิ่งใหญ่ เกรียงไกร งานเลี้ยงช้าง ซึ่งจะได้พบกับช้างมากมายกว่า 300 เชือก และงานแต่งงานบนหลังช้าง ที่เป็นหนึ่งเดียวในโลก เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆที่ขึ้นชื่อมากมาย อาทิ หมู่บ้านที่ใช้ศาสตร์และศิลปะบรรจงถ่ายทอดผ่านไยไหมที่ละเอียดฝีมือชาวบ้าน ออกมาเป็นผ้าไหมยกทองโบราณที่สวยงามอ่อนช้อย วิจิตรงดงามสุดจะบรรยาย หมู่บ้านช้างแห่งเดียวในโลก ที่รวมวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่ผูกพันมานานนับร้อยปี ระหว่างชาวกูยกับช้างที่เลี้ยงเสมือนเพื่อนคู่บ้าน
ในด้านของสินค้าและบริการ จังหวัดสุรินทร์ มุ่งที่จะส่งเสริมให้สินค้าขงจังหวัดได้รับการกล่าวขวัญและเป็นที่นิยมที่นักท่องเที่ยวซื้อและฝากซึ่งกันและกัน สินค้าที่น่าสนใจ เช่น ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ หนึ่งเดียวในโลก เป็นข้าวที่ผู้ใดได้ชิมรสต้องชมเป็นเสียงเดียวกัน เป็นต้น
นอกจากนี้สุรินทร์ยังมีแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังอีกมากมายที่ชักจูงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศให้เดินทางมาเยี่ยมชม อาทิ หมู่บ้านช้าง ปราสาทหินบ้านพลวง ปราสาทศีขรภูมิ ปราสาทภูมิโปน ปราสาทตาเมือนโต๊ด ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทยายเหงา ห้วยเสนงซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำชลประทานที่มีทิวทัศน์สวยงาม พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสุรินทร์ วนอุทยานป่าสนหนองคู เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ ด่านช่องจอมและตลาดชายแดนไทย-กัมพูชา เป็นต้น
หรือจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวสินค้าหัตถกรรมก็มีมากมายเช่นกัน อาทิ หมู่บ้านทอผ้าไหมท่าสว่าง ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ใช้ศาสตร์และศิลปะบรรจงถ่ายทอดผ่านไยไหมที่ละเอียดฝีมือชาวบ้าน ออกมาเป็นผ้าไหมยกทองโบราณที่สวยงามอ่อนช้อย ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ หมู่บ้านหัตถกรรมเขวาสินรินทร์ เป็นต้น
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเดินทางไปร่วมงานขึ้นปีใหม่สุรินทร์ได้ตั้งแต่วันที่ 5-7 เมษายน 2551 และยังสามารถเที่ยวสถานที่ต่างๆในเมืองสุรินทร์ พร้อมเลือกชมเลือกซื้อสินค้าขึ้นชื่อต่างๆ มากมายได้ที่จังหวัดสุรินทร์
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ผู้ที่สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ โทร.0-4452-1358, สำนักงานเทศบาลเมืองสุรินทร์ โทร.0-4451-1117, ศูนย์การท่องเที่ยว กีฬาและนันทนาการ 0-4452-0979 หรือที่ สำนักงาน ททท. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเขต 1 โทร.0-4421-3666 , 0-4421-3030