xs
xsm
sm
md
lg

กระต่ายอีโรติก จอมขโมยซีนแห่ง “สถาบันทักษิณคดีศึกษา” / ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี

“ทักษิณ” คำๆนี้ แปลว่า“ใต้” แต่ก็ไม่ผิดหากคนเหนือหรือคนในภาคอื่นๆจะใช้ชื่อนี้เป็นชื่อจริง ชื่อเล่น หรือชื่อในบัตรประชาชน

และก็ไม่ผิดเช่นกัน ถ้าใครจะหลงเข้าใจผิดคิดไปว่า“สถาบันทักษิณคดีศึกษา”เป็นสถาบันที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อตรวจสอบ-ติดตาม และป้องกันการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ในคดีของผู้ต้องหาชื่อทักษิณที่ตอนนี้เป็นคดีความอยู่ในศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง

แต่“สถาบันทักษิณคดีศึกษา”ที่ผมจะเล่าถึงในที่นี่ หาได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาทักษิณแต่อย่างใดไม่ หากแต่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่รวบรวมองค์ความรู้ทางภูมิปัญญา ประเพณี วิถีชีวิตวัฒนธรรม ตลอดจนปรัชญาคติความเชื่อต่างๆ เกี่ยวกับชาวใต้ไว้เป็นอย่างดี ดูค่อนข้างสมบูรณ์แบบครบถ้วนกระบวนความ

สถาบันทักษิณคดีศึกษา ตั้งอยู่ที่บ้านอ่าวทราย ต. เกาะยอ อ. เมือง จ.สงขลา บนขุนเขาเกาะยอทางฝั่งทิศเหนือ ที่เมื่อเดินเข้าไป ผมสัมผัสได้ถึงสีสันและบรรยากาศแห่งความเป็นใต้อยู่เต็มเปี่ยม โดยเฉพาะอาคารของสถาบันที่สร้างเป็นกลุ่มลดหลั่นกันไปตามไหล่เขานั้น ดูแล้วมีเอกลักษณ์ต้องใจเตะตา ชวนให้อยากรู้อยากเห็นว่าในนั้นมีอะไร

เมื่ออยากรู้ก็ต้องเข้าไปดูกัน ซึ่งไฮไลท์ของที่นี่อยู่ที่ “พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา” ที่ในโบชัวร์ระบุว่า ภายในพิพิธภัณฑ์ฯ ได้ทำการรวบรวมวัตถุจริงๆทั้ง โบราณวัตถุ ศิลปะวัตถุ และข้าวของเครื่องใช้หายาก กว่า 50,000 ชิ้น มาจัดแสดงให้ชมกัน ในอารมณ์ของจริง โชว์จริง

อีกทั้งยังใช้เทคนิคการจัดแสดงอีกหลากหลายผสมผสานกันไป ไม่ว่าจะเป็น ภาพ เสียง วีดีโอ หุ่นจำลอง ซึ่งแบ่งเป็น 4 อาคารจัดแสดงหลักด้วยกัน

เริ่มจาก“อาคารนวมภูมินทร์” ที่ปูพื้นความรู้ด้วยห้องประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ จัดแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของภาคใต้ ต่อด้วยห้องลูกปัดและเครื่องประดับ
ห้องมีดและศาสตราวุธ ที่ผมชอบมากเพราะมีอาวุธโบราณสวย-เก๋-เท่-แปลกให้ชมกันเพียบ ทั้งมีด พร้า ขวาน ปืน หน้าไม้ รวมไปถึงไม้ตะพดของนักเลงโบราณที่สลักเสลาหัวไม้อย่างสวยงาม สามารถสื่อถึงคำว่า “ลูกผู้ชายไม้ตะพด”ของคนรุ่นเก่าได้เป็นอย่างดี

จากนั้นก็เป็น ส่วนห้องอาชีพหลักที่นำเสนอเครื่องมือเครื่องใช้ในอาชีพต่างๆและจัดแสดงการทำอาชีพเด่นของชาวใต้ อาทิ การทำเหมืองแร่ การทำสวนยางพารา ถัดไปเป็นโซนห้องเครื่องมือจับสัตว์ ที่มีเครื่องมือจับสัตว์ทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ แล้วต่อด้วยห้องเครื่องปั้นดินเผา ก่อนจะปิดท้ายอาคารแรกด้วย ห้องผ้าทอพื้นเมือง ที่เต็มไปด้วยผ้าทอสวยๆงามๆมากมาย ทั้งในไทยและต่างประเทศ โดย 1 ในนั้นก็คือผ้าทอเกาะยออันเลื่องชื่อ

โซนจัดแสดงจุดที่สองเป็นกลุ่มอาคารหลังคาบลา ที่สันนิษฐานว่าชาวใต้น่าจะได้แบบหลังคามาจากชาวไทยมุสลิมที่ได้มาจากอินโดนีเซียอีกทอดหนึ่ง หลังคาบลา เป็นหลังคาปั้นหยามีจั่วตัดอยู่ด้านบนสุด

ในอาคารกลุ่มนี้จัดเรื่องราวเกี่ยวกับ เครื่องมือช่างไม้และงานศิลปหัตถกรรม-ส่วนแสดงงานหัตถกรรมเด่นๆของภาคใต้ อาทิ จักสาน เสื่อกระจูด ย่านลิเพา เรือกอและ รวมถึงเครื่องมือหัตถกรรมและวัสดุที่ใช้, ส่วนการศึกษา-แสดงเกี่ยวกับการศึกษาตามประเพณีโบราณของชาวใต้ที่มีวัดเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเมื่อผมชมแล้วอดนึกถึงการศึกษาสมัยนี้ไม่ได้ว่า ศูนย์กลางการศึกษาบ้านเรามันคืออะไร??? รมต.ศึกษา ห้างสรรพสินค้า โรงหนัง เธค มือถือ กูเกิ้ล Hi-5 หรือ MSN

นอกจากนี้ในกลุ่มอาคารหลังคาบลายังจัดแสดง เกี่ยวกับการนันทนาการ-เครื่องประทีป(เครื่องไฟและเครื่องกำเนิดไฟต่างๆของชาวใต้)-เครื่องแก้ว และห้องกระต่ายขูดมะพร้าวและเหล็กขูด ที่ผมชอบมากๆ เพราะเป็นการรวบรวมกระต่ายขูดมะพร้าวสวยงาม แปลกๆ และประหลาดเอาไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นกระต่ายรูปสัตว์ ช้าง เต่า งู ปลา หมู กระต่ายรูปคน หญิง-ชาย นอนหงายมาให้เลือกนั่งขูดมะพร้าว

ส่วนที่ถือเป็นจอมขโมยซีนของข้าวเครื่องเครื่องใช้อื่นๆ เพราะสามารถเรียกเสียงฮือฮาและเสียงกรี๊ดจากสาวๆบางคนได้เป็นอย่างดี แถมยังได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวชาย-หญิงเป็นพิเศษ ก็เห็นจะเป็น กระต่ายอีโรติก ที่ทำเป็นรูปผู้หญิงเปลือยโชว์ถันเด่นหราหรือกระต่ายรูปอวัยละเพศชาย ที่ผมไม่รู้ว่า คุณฮันนี่-คุณมะหมี่ แห่งแม่เบี้ย 2 ทั้งเวอร์ชั่น ถ้ามาเจอกระต่ายขูดมะพร้าวแบบนี้ เธอจะกล้านั่งยั่วยวนขูดมะพร้าวหรือเปล่า!?! แต่ที่รู้ก็คือนี่ถือเป็นงานศิลปะพื้นบ้านที่ผสานประโยชน์กับการใช้สอยได้อย่างลงตัว หมดจด นับภูมิปัญญาพื้นบ้านคนสมัยก่อนที่น่าทึ่งไม่น้อยเลย

ออกจากกลุ่มอาคารหลังคาบลาก็เป็น กลุ่มอาคารบ้านหลังคาปั้นหยา ในนี้เป็นห้องวัฒนธรรมโลหะและโลหัช-จัดแสดงเครื่องใช้ที่ทำด้วยโลหะและโลหะผสมต่างๆรวมถึงภาชนะใช้สอยๆต่างๆ
,ห้องอิสลามศึกษา-จัดแสดงเกี่ยวกับประวัติพัฒนาการ และการแพร่กระจายของศาสนาอิสลามในภาคใต้ รวมทั้งวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของชาวใต้ที่นับถือศาสนาอิสลาม ส่วนการจัดแสดงอื่นๆในอาคารกลุ่มนี้ก็มีห้องการละเล่นพื้นเมือง-ห้องเหรียญและเงินตรา-ห้องศาสนา

มาถึงโซนจัดแสดงสุดท้ายเป็นกลุ่มบ้านหลังคาจั่ว ในนี้จัดแสดงเกี่ยวกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีของชาวใต้ อาทิ ประเพณีการเกิด ประเพณีการขึ้นเบญจารดน้ำ ความเชื่อเรื่องโชคชะตาราศี การละเล่นของเด็กๆ เป็นต้น

หลังเดินชมสิ่งน่าสนใจในพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยาทั้ง 4 กลุ่มอาคารไปได้ตามที่ใจต้องการแล้ว ผมก็ออกมาเดินชมสิ่งน่าสนใจที่ด้านนอก ณ บริเวณอุทยานวัฒนธรรมที่สร้างเป็นสวนร่มรื่นลัดเลาะไปตามเนินเขา

ที่นี่มีไฮไลท์อยู่ที่ประติมากรรมมโนราห์ขนาดใหญ่กว่าคนประมาณ 1.5 เท่า สร้างอย่างสวยเนี๊ยบ อ่อนช้อย มีชีวิตชีวา ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวไปยืนโพสต์ท่าถ่ายรูปคู่ด้วยเป็นยิ่งนัก แถมบางคน ไม่เพียงยืนเก็กเฉยๆ แต่ยังทำท่าดัดตัวเลียนแบบหุ่นมโนราห์เหล่านั้น

เข้าทำนองเล่นจริง เจ็บจริง และเคล็ดขัดยอกจริงๆ เพราะผู้ใหญ่บางคนที่ตัวแข็งทื่อเป็นสากกะเบือ แต่ยังไปลองยืนดัดตัวแบบมโนราห์โดยไม่มีพื้นฐานมาก่อน รับรองว่ากลับบ้านไป ตื่นเช้ามาคงได้ปวดเมื่อเคล็ดขัดยอกกันบ้างแหละน่า แต่หากใครทำท่าดัดตัวแบบดีๆ ผมว่ามันก็ช่วยยืดเส้นยืดสายได้ไม่น้อยเลย

นอกจากประติมากรรมหุ่นมโนราห์แล้ว อุทยานวัฒนธรรมนี้ยังเป็นจุดชมวิว สามารถมองลงไปเห็นทะเลสาบสงขลาและสะพานติณสูลานนท์ที่สร้างเชื่อมแผ่นดินของเกาะยอกับ อ.สิงหนคร ได้อย่างสวยงาม

ส่วนจุดชมวิวอีกจุดหนึ่ง ที่ผมว่าสวยมากก็คือบนดาดฟ้าของอาคารอาศรมศิลปกรรมทักษิณ ที่เมื่อมองลงไปจะเห็นทะเลสาบสงขลาและขนำน้อยกลางทะเลที่ปลูกอยู่เรียงรายดูประทับใจไม่น้อย ยิ่งในยามเย็นที่ตะวันจะลับลา ทะเลสาบแห่งนี้จะถูกฉาบทอด้วยแสงสีทองดูสวยงามจับใจ

และทั้งหมดที่กล่าวมานั้นถือเป็นบางส่วนของเสน่ห์แห่งสถาบันทักษิณคดีศึกษา พิพิธภัณฑ์ฯดีๆคู่เกาะยอ ซึ่งผมว่านี่คือหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่ดีเยี่ยมในอันดับต้นๆของเมืองไทยเลยทีเดียว แต่ก็อย่างว่าแหละ ต่อให้พิพิธภัณฑ์ดีแค่ไหนก็ดูจะไม่เป็นที่นิยมในสายตาของคนส่วนใหญ่เพราะเดินพิพิธภัณฑ์ฤาจะสู้เดินห้างสรรพสินค้า ทั้งที่ๆพิพิธภัณฑ์คือแหล่งศึกษาหาความรู้ชั้นดี

ในขณะที่รับการศึกษาบ้านเราก็ไม่ให้ความสำคัญกับการหาความรู้จากพิพิธภัณฑ์เท่าไหร่ ส่วนภาครัฐนั้นยิ่งไม่ต้องพูดถึง ไม่เคยสนใจเลย นั่นคงเพราะมันหาเสียงไม่ได้-และได้รับผลประโยชน์น้อย สู้สร้างบ่อนกาสิโนไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พิพิธภัณฑ์ดีๆในบ้านเราหลายแห่งถูกทอดทิ้งอย่างน่าเสียดาย
*****************************************

สถาบันทักษิณคดีศึกษา เปิดให้เข้าชมทุกวัน สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0-7433-1184-9

กำลังโหลดความคิดเห็น