xs
xsm
sm
md
lg

สัญลักษณ์จังหวัดช้าง อีกหนึ่งความสำคัญของช้างไทย/ ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี

ช่วงนี้เรื่องราวเกี่ยวกับช้าง ดูจะปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง แถมส่วนใหญ่ยังเป็นข่าวที่ชวนให้สะทกสะท้อนใจไม่น้อยเลย โดยเฉพาะกรณีคนฆ่าช้าง ช้างฆ่าคน

เช่นเดียวกับสถานการณ์ช้างในเมืองไทยที่ในระยะหลังๆดูแล้วชวนให้สะทกสะท้อนใจไม่แพ้กัน เพราะเมื่อพื้นที่ป่านับวันยิ่งมายิ่งหดหาย พื้นที่หากิน ที่อยู่อาศัยของช้างป่าก็พลอยหายไปด้วย ช้างป่าส่วนหนึ่งจึงออกมาหากินตามไร่สับปะรด ไร่อ้อย หรือตามสวนของชาวบ้าน เกิดเป็นกรณีปะทะของชาวไร่ชาวสวนกับช้างป่าอยู่บ่อยครั้ง

ในขณะที่ช้างเลี้ยงช้างบ้านก็ไม่ค่อยมีที่อยู่ที่กินเช่นเดียวกัน จนควาญต้องพาช้างออกมาเร่ร่อนหากินในเมืองใหญ่ เกิดเป็นปัญหาตามมา ส่วนเหตุการณ์ ช้างถูกทารุณ ช้างถูกใช้งานหนัก ช้างถูกมอมยา ก็ยังคงปรากฏเป็นข่าวอยู่เสมอ

นี่คือสถานการณ์ช้างไทยในปัจจุบันที่น่าเป็นห่วง ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ทำงานเกี่ยวกับช้างบ้านเราบอกว่า ข้อเสียอีกประการหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ช้างไทยอยู่ในสภาพ ยักตื้นติดกึกยักลึกติดกั๊ก ก็คือการที่หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน NGO ที่เกี่ยวกับช้างยังขาดเอกภาพในการทำงานร่วมกัน รัฐไปทาง เอกชนไปทาง ด้าน NGO นั้นก็ไปกันคนละทิศละทาง NGOบางคนมีอีโก้ล้นเหลือยากที่จะทำงานกับใครได้ NGOบางคนก็อาศัยภาพการเป็นคนรักช้างสร้างชื่อโปรโมทตัวเอง ส่วน NGOบางคนที่อาศัยภาพคนรักช้างทำมาหากินกับช้าง นี่ถือว่าแย่มากๆ

กลับมาที่เรื่องของช้างกันต่อ สำหรับเรื่องราวของช้างกับคนไทยนั้น ต้องยอมกันว่านับแต่อดีตกาลนานมาถึงปัจจุบัน ช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองที่คุ้นเคยผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทยเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น ยามสยามประเทศสงบ ช้างจะเป็นพาหนะสำคัญในชักลากซุง ลากไม้ ใช้ในการลำเลียงและขนส่งสิ่งของต่างๆ แต่ครั้นยามถึงคราวรบทัพจับศึก ช้างก็ถือเป็นผู้ร่วมรบแนวหน้าที่ยอมเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายร่วมกับนักรบไทย

ส่วนถ้าหากมองในทางศาสนา มีวัดหลายแห่งในบ้านเราที่ใช้ชื่อช้างมาตั้งเป็นชื่อวัด และนำช้างมาเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของวัด เนื่องจากเชื่อกันว่าช้างเป็นสัตว์ที่ช่วยค้ำจุนโลกไม่ให้ล่มสลายและเป็นหนึ่งในทศชาติของพระพุทธเจ้า

นอกจากนี้เรื่องราวของคนไทยที่เกี่ยวข้องกับช้างก็ยังมีอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ชื่อสถานที่ อย่าง อำเภอด่านช้าง ถนนช้างคลาน หรือชื่อของช้างที่ถูกนำไปใช้ในสำนวนไทย อย่างเช่น เห็นช้างขี้อย่าขี้ตามช้าง ขี่ช้างจับตั๊กแตน รวมไปถึงบางจังหวัดที่มีช้างปรากฏอยู่ในคำขวัญ

ส่วนเรื่องของช้างที่หลายคนไม่ค่อยรู้กันนั่นก็คือ หลายจังหวัดในบ้านเราต่างมีช้างเป็นสัญลักษณ์ของตราจังหวัด ซึ่งเมื่อทอดตาทั่วฟ้าเมืองไทยจนลูกตาไหม้เกรียมพบว่ามีอยู่ 8 จังหวัดที่มีช้างเป็นสัญลักษณ์จังหวัด

โดยผมจะขอไล่เรียงไปตามลำดับอักษรเริ่มจาก "กรุงเทพมหานคร"หรือกทม. เมืองหลวงของไทยที่แม้จะถูกยกให้เป็นเขตปกครองพิเศษ แต่ก็คงเป็นจังหวัดที่สำคัญที่สุดในเมืองไทยอยู่นั่นเอง

สำหรับสัญลักษณ์จังหวัดของกรุงเทพฯคงเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ 4 งา พระหัตถ์ขวาพระอินทร์ถือวชิราวุธ พระหัตถ์ซ้ายถือขอช้าง ถือเป็นสัญลักษณ์จังหวัดที่มาจากตราเครื่องหมายเดิมของเทศบาลนครกรุงเทพ ซึ่งนายกเทศมนตรีกรุงเทพคนแรก พลเอกเจ้าพระยารามราฆพ ได้ระบุว่า ตราสัญลักษณ์นี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ เป็นผู้ทรงคิดและทรงประทานตราสัญลักษณ์นี้ ที่สื่อความหมายว่า พระอินทร์เป็นตำแหน่งของผู้ปกครองดูแลเทวดาทั้งหลาย เปรียบดังนายกเทศมนตรี ดูแลประชาชน ให้ได้รับความสุขความเจริญนั่นเอง

จังหวัดต่อมาคือ “เชียงราย” ที่มีรูปช้างเป็นตราสัญลักษณ์จังหวัด อันหมายถึงนิมิตของความรุ่งเรืองในอดีต เนื่องจากเคยใช้ช้างเป็นกำลังสำคัญในการออกศึกปราบศัตรูจนแพ้พ่าย นำชัยชนะมาสู่เชียงรายในอดีต

ในขณะที่จังหวัดติดกันอย่าง“เชียงใหม่” ก็มีช้างเป็นตราสัญลักษณ์จังหวัดเช่นกัน โดยเป็นรูปช้างเผือกในเรือนแก้วที่หมายถึงความสำคัญของประการ นั่นก็คือ ช้างเผือกคือช้างที่เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่นำขึ้นทูลเกล้าถวายแด่สมเด็จพระพุทธเลิศล้านภาลัย และขึ้นระวางเป็นช้างเผือกเอกในรัชกาล ส่วนเรือนแก้วหมายถึงดินแดนที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองสูงสุด จนมีการทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ขึ้นในเมืองเชียงใหม่

หันมาดูคราสัญลักษณ์จังหวัด“นครนายก” กันบ้าง ตราจังหวัดนี้เป็นรูปช้างชูงวงเกี่ยวรวงข้าว ท่ามกลางฉากหลังรูปกองฟาง ที่สื่อถึงว่า ครั้งหนึ่งนครนายกเคยเป็นเมืองที่มีช้างมาก โดยปัจจุบันมีสถานที่และชื่อวัดที่เกี่ยวกับช้างอยู่หลายแห่ง อาทิ ตำบลท่าช้าง วัดท่าช้าง ในขณะที่ อำเภอเมืองนครนายกก็เคยเป็นท่าข้ามของโขลงช้างมาก่อน ส่วนรวงข้างและกองฟางนั้นหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธ์ธัญญาหาร

อีกจังหวัดที่มีช้างเป็นตราสัญลักษณ์จังหวัดก็คือ “ตาก” จังหวัดนี้เป็นรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงช้างศึก ซึ่งตามหลักฐานระบุว่า เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรฯยกกองทัพไปช่วยพระเจ้าหงสาวดีรบกับอังวะ พระมหาอุปราชาเมืองพม่าได้สั่งให้ทหารคู่ใจคอยตีขนาบข้างและปลงพระชนม์สมเด็จพระนเรศวรฯเสีย แต่ว่าความแตกรู้ถึงพระกรรณของสมเด็จพระนเรศวรฯที่เมืองแครง พระองค์จึงทรงประชุมชาวเมืองและบรรดาแม่ทัพนายกอง และทรงหลั่งน้ำทักษิโณทกเหนือแผ่นดิน พร้อมประกาศอิสรภาพไม่ยอมขึ้นกับอังวะ นอกจากนี้ตากยังเป็นด่านแรกที่สมเด็จพระนเรศวรทรงฯช้าง ยกกองทัพกลับเข้ามายังราชอาณาจักรไทย

ขึ้นเหนืออีกครั้งไปยังจังหวัด “แม่ฮ่องสอน” ตราจังหวัดนี้เป็นรูปช้างเล่นน้ำซึ่งหลายๆคนอาจไม่รู้ แต่สำหรับแม่ฮ่องสอนในอดีต เมืองนี้เป็นหนึ่งในเมืองฝึกช้างป่าเพื่อให้รู้จักการบังคับบัญชาจากคนและใช้งานการรบ การใช้งานต่างๆ โดยมีเรื่องเล่าว่า เจ้าแก้วเมืองได้ออกมาจับช้างป่าให้พระเจ้าเชียงใหม่ (ราว พ.ศ. 2368-2389) แล้วรวบรวมชาวไทยใหญ่ตั้งเมืองเป็นหลักแหล่ง มีหัวหน้าขึ้นเป็นผู้ปกครอง 2 แห่ง คือบ้างปางหมู และบ้านแม่ฮ่องสอน โดยมีการฝึกซ้อมช้างป่าขึ้นที่ลำห้วยในบ้านแม่ฮ่องสอน

อีกจังหวัดหนึ่งที่มีช้างเป็นตราสัญลักษณ์ นั่นก็คือ“สุพรรณบุรี” ที่มีช้างถึง 2 ตัวทีเดียว เพราะนี่เป็นภาพการทำยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชาแห่งพม่า สำหรับเหตุที่สุพรรณฯใช้รูปนี้เป็นตราสัญลักษณ์จังหวัดก็เนื่องมาจาก มีความเชื่อว่า อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี เป็นสถานที่ทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรฯ(เป็นความเชื่อของนักประวัติศาสตร์สายหนึ่ง) ก่อนที่ไทยจะได้รับชัยชนะและประกาศเป็นอิสรภาพใน ปี พ.ศ. 2135

มาถึงจังหวัดสุดท้ายที่มีช้างเป็นตราสัญลักษณ์ นั่นก็คือ“สุรินทร์” เมืองช้างที่คนทั่วไปรู้จักกันดี สุรินทร์มีช้างมากมาตั้งแต่โบราณ เป็นเมืองที่มีการจับช้างป่ามาเลี้ยงเสมอ โดยตราจังหวัดเป็นรูป พระอินทร์ประทับบนเศียรช้าง และภาพของสิ่งก่อสร้างแบบขอมที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของอิทธิพลขอมโบราณในดินแดนแถบนี้

และนั่นคือเรื่องราวของ 8 จังหวัดที่มีช้างปรากฏเป็นตราสัญลักษณ์ ที่แม้สถานการณ์ช้างไทยในปัจจุบันจะดูน่าเป็นห่วง แต่หากผู้เกี่ยวข้องและคนไทยร่วมแรงร่วมใจกันช่วยเหลือช้าง เจ้าสัตว์บกตัวใหญ่ตัวนี้ก็ยังคงจะอยู่คู่บ้านเมืองไทยไปอีกนานเท่านาน
กำลังโหลดความคิดเห็น