xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเหี้ยๆที่คลองด่าน(1) -ตอน : ย้อนอดีต“บางเหี้ย”/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี

ไม่น่าเชื่อว่าเรื่องเหี้ยๆในกรณีเหี้ย 2 ตัว เสพสังวาสกันบริเวณบ่อน้ำทำเนียบรัฐบาลจนกลายเป็นข่าวโด่งดัง ชนิดที่สื่อมวลชนหลายสำนักให้ความสนใจกันเป็นพิเศษ

เหี้ยสมสู่ ดูไม่แปลกสำหรับผมเพราะเป็นธรรมชาติของมัน(แต่ว่าก็หาชมไม่ได้ง่ายๆ)

แต่ที่น่าแปลกก็คือการที่หลายๆคนเมื่อพูดถึงพฤติกรรมของเหี้ยแล้ว มักจะวิจารณ์พาดพิงไปถึงพฤติกรรมของนักการเมืองไทย

เอ...เหี้ยกับนักการเมืองไทยเกี่ยวข้องกันตรงไหน ???

เรื่องนี้ใครอยากรู้คงต้องไปถามผู้วิจารณ์เอาเอง ส่วนผมเท่าที่สังเกตพบว่าพักหลังๆ เหี้ยมักปรากฏเป็นข่าวบ่อยครั้ง ซึ่งบางทีอาจเป็นเพราะสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศที่เปลี่ยนไป ทำให้เหี้ยมักโผล่ขึ้นมาให้ยลโฉมกันอยู่บ่อยๆ ที่สำคัญก็คือมันมักไปโผล่ตรงที่ที่ไม่สมควรเสียด้วยสิ อย่างเช่น แถวๆทำเนียบรัฐบาล เป็นต้น

ช่วงแรกๆสื่อที่นำเสนอข่าวก็ดูจะเขินๆในการเรียกขาน จึงเรียกอ้อมๆว่าตัวเงินตัวทองบ้าง ตะกวดบ้าง แต่หลังจากที่มีนักวิชาการด้านสัตว์ออกมาบอกว่าให้เรียกมันว่า“เหี้ย”ไปเถอะ เพราะหากพูดถึงเหี้ยที่เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่ไม่ใช่คำด่าทอแล้วก็ไม่ถือว่าเป็นคำหยาบคายแต่อย่างใด

และนั่นจึงเป็นเหตุให้ตอนนี้ผมขออนุญาตคุณผู้อ่านเรียกขาน“เหี้ย”ว่า“เหี้ย”ตามศัพท์ดั้งเดิมของมัน โดยมิได้มีเจตนาเกี่ยวพันถึงนักการเมืองไทย(ตามคำวิจารณ์พาดพิงของบางคน)แต่อย่างใด

เหี้ย(Water Monitor) เป็นสัตว์เลื้อยคลานชนิดหนึ่ง ตระกูลเดียวกับ ตะกวด แลน เห่าช้าง ตุ๊ดตู่ อาศัยและหากินตามแหล่งน้ำ นิยมกินของเน่า ซากเน่า และสัตว์เล็กๆพวก ปลา กบ คางคก ปัจจุบันเหี้ยเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าคุ้มครอง

คนไทยถือว่าเหี้ยเป็นสัตว์อัปมงคล เป็นตัวซวย อันเนื่องมาจากพฤติกรรมการกินของเน่าและรูปร่างหน้าตาของมัน จึงแก้เคล็ดเมื่อมันเข้าบ้านหรือยามพบเห็นมันด้วยการขนานนามชื่อเหี้ยเสียใหม่ว่า“ตัวเงินตัวทอง”

แต่ในทางระบบนิเวศแล้วเหี้ยจัดเป็นสัตว์เทศบาล คือช่วยกำจัดสิ่งเน่าเสียสร้างความสมดุล อีกทั้งเหี้ยจะกลัวคน แต่คนกลับเกลียดเหี้ยและมักไปทำร้ายมันหากพบเห็น จนทำให้บางครั้งเมื่อเหี้ยจนตรอก เข้าตาจน มันก็ต้องต่อสู่ป้องกันตัวเหมือนกัน

เหี้ย แม้จะดูเป็นตัวซวยตามความเชื่อของคนไทย แต่เชื้อมั้ยว่า ตามความเชื่อในศาสนาพุทธได้กล่าวไว้ว่า ชาติหนึ่งพระพุทธเจ้าเคยเสวยชาติเป็นเหี้ยมาแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ปรากฏอยู่ใน “โคธชาดก”ฤาษีกินเหี้ย ที่เป็นชาดกสอนใจให้รู้ว่า คนประเภทมือถือสากปากคัมภีร์ ฤาษีทุศีลวิญญูชนจอมปลอม คนดีฉากหน้าชั่วช้าลับหลังนั้นมีอยู่เยอะในสังคม

เหี้ยถือเป็น 1 ใน 3 ของสัตว์ที่ถูกเอื้อยเอ่ย สบถ,ด่าทอ คู่กับ(ปาก)คนไทยอย่างกว้างขวางและบ่อยมากในแทบทุกระดับชั้นเพราะตั้งแต่เด็กเริ่มด่าเป็น จนถึงเติบโต ไปจนตาย หากใครจะสบถหรือจะด่าคนอื่น ชื่อของเหี้ยมักจะถูกเอ่ย(ดังๆ)มาก่อนเป็นลำดับแรก(สัตว์อีก 2 ชนิด คือหมา ควาย และแถมด้วยสาด...) หรือไม่ในกลุ่มเพื่อนสนิท(รวมกลุ่มผมด้วย)เวลาจะเรียกขานชื่อกันตามประสา ก็มักจะให้เกียรติมันด้วยการเรียก“เหี้ย”นำหน้าชื่อ ถ้ายิ่งสนิทมากก็จะเพิ่ม“ไอ้”เข้าไปข้างหน้าอีกชั้นหนึ่ง

ใครที่มีโอกาสใช้ชีวิตวัยเด็กในยุคแฟนฉันขึ้นไป ผมว่าหลายคนคงจะมีโอกาสได้ลิ้มลองขนม“ไข่เหี้ย”มาบ้าง(หรือบางคนอาจชอบกินเป็นของโปรด) ซึ่งยุคนี้ขนมไข่เหี้ยหรือที่เรียกเสียใหม่ว่าขนม“ไข่หงส์”นั้น หากินไม่ง่ายเลย ส่วนไข่เหี้ยจริงๆที่บางคนกินแล้วบอกว่าอร่อยนักอร่อยหนาผมยังไม่เคยกิน และก็ไม่คิดจะกินด้วย แต่ถ้าเป็นเนื้อเหี้ยผมขอสารภาพว่าเคยกินมาแล้ว(โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์) อันเนื่องจากความเมา เมื่อเห็นกับแกล้มวางอยู่ตรงหน้า(ทั้งๆที่ไม่รู้ว่าเป็นอะไร)แต่ยังไงๆขอฟาดเอาไว้ก่อน(แถมยังรู้สึกว่ามันอร่อยเสียด้วยสิ แฮ่ๆ)

สำหรับเรื่องของเหี้ยยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่หลายคนคิดไม่ถึงนั่นก็คือ เมืองไทยเคยมีชุมชน“บางเหี้ย” ต.บางเหี้ย อ.บางเหี้ย อยู่ที่ จ.สมุทรปราการ

บางเหี้ย เป็นชุมชนเก่าแก่อายุกว่า 250 ปี สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งว่ากันว่าบรรพบุรุษของชาวชุมชนนี้ส่วนหนึ่งเป็นชาวมอญที่อพยพมาจากพม่าเมื่อคราวเสียงกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2

เหตุที่ชุมชนนี้เรียกขานกันว่าบางเหี้ย หากดูกันตามตำนานพื้นบ้านก็มีเรื่องเล่าอยู่ว่า...ครั้งหนึ่งที่บ้านบางเหี้ยมียายแก่คนหนึ่งชื่อ ยายหอม มีฐานะร่ำรวย มีทรัพย์สมบัติมากมายจนไม่รู้จะเอาไปทำอะไร จึงนำทองที่สะสมไว้มาหล่อหลอมเป็นรูปเหี้ยให้ลูกๆหลานๆเล่น แล้ววันหนึ่งเหี้ยทองคำตัวนี้ก็วิ่งหนีเด็กๆลงน้ำไป ชาวบ้านจึงเรียกบ้านนี้ว่า “บางเหี้ย”...(จาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ ฆ่าควายสังเวยผีปู่ตา เซ่นตะกวดบูชาบรรพบุรุษ)

แต่หากดูกันตามข้อเท็จจริงมันก็สมควรอยู่เนื่องจากบริเวณนี้ มีป่าชายเลนขนาดใหญ่ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยกุ้ง หอย ปู ปลา จึงเปรียบดังสวรรค์ของเหี้ย เพราะมีทั้งที่อยู่อาศัยอันกว้างใหญ่ร่มรื่น มีอาหารอันโอชะ ที่นี่จึงเต็มไปด้วยเหี้ยมากมาย

ไม่เพียงเท่านั้นในชุมชนแถบนี้หลายอย่างยังมีความเกี่ยวกันกับเหี้ยอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น

คลองบางเหี้ย ที่แยกออกมาจากคลองสำโรง ในอดีตคลองบางเหี้ยเป็นเส้นทางสัญจรสายหลักของชาวบางบ่อ บางเพรียง บางเหี้ย จนในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการสร้างประตูน้ำกั้นคลองบางเหี้ย ชื่อประตูคลองด่าน เพื่อป้องกันน้ำเค็มล้นเข้ามาทำลายพืชผลทางการเกษตร คลองบางเหี้ยจึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า“คลองด่าน”

วัดบางเหี้ย เป็นดังศูนย์กลางของชุมชนบางเหี้ย มีอยู่ 2 วัดคือ วัดบางเหี้ยบนหรือวัดบางเหี้ยใน(ปัจจุบันคือวัดโคธาราม)เป็นวัดน้ำจืดเพราะอยู่เหนือประตูน้ำ และวัดบางเหี้ยล่างหรือวัดบางเหี้ยนอก(ปัจจุบันคือวัดมงคลโคธาวาส) เป็นวัดน้ำเค็มเพราะอยู่ใต้ประตูน้ำ วัดนี้มีหลวงพ่อปานเป็นเกจิอาจารย์ชื่อดัง ทั้ง 2 วัด แม้เปลี่ยนชื่อใหม่ ฟังดูเพราะพริ้ง แต่ก็ยังหนีไม่พ้นแนวทางของเหี้ยอยู่ดี เพราะ โคธา แปลว่า เหี้ย นั่นเอง

แต่อย่างที่ผมเล่ามาว่า เหี้ย เป็นสัตว์ที่ไม่ถูกโฉลกกับคนไทย ชื่อเหี้ยไม่เพียงฟังอัปมงคลยังเป็นชื่อที่ฟังหยาบคายใน พ.ศ. 2483 สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงเปลี่ยนชื่ออำเภอบางเหี้ยเป็นอำเภอบางบ่อ ส่วนชุมชนบางเหี้ยหรือตำบลบางเหี้ย จอมพล ป. ก็เปลี่ยนชื่อใหม่ เป็นตำบลคลองด่าน ที่เพิ่งเปิดตัวเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ในสมุทรปราการไปไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งในตอนหน้าผมจะพาคุณผู้อ่านไปล่องเรือเที่ยวชมชุมชนคลองด่านกัน

ส่วนตอนนี้จากข้อมูลที่ผมได้พูดคุยกับเพื่อนรุ่นพี่ที่ชุมชนคลองด่าน เขาบอกว่าประชากรเหี้ยในปัจจุบันลดจำนวนลงไปมาก ซึ่งนั่นคงเป็นเพราะสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ส่วนเหี้ยที่หายไปจากคลองด่านจะอพยพไปรวมตัวกับเหี้ยแถวทำเนียบตามที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้งหรือเปล่า เรื่องนี้ผมมิอาจทราบได้ แต่เท่าที่รู้มาก็คือ

เหี้ยกับทำเนียบนั้นอยู่คู่กันมานานแล้ว...(อ่านต่อตอนหน้า)
กำลังโหลดความคิดเห็น