การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คิดแผนการตลาดปี 2551 เสนอ “7 แนวทางสร้างความสุข” หรือ “7 Amazing Wonders” ขายตลาดต่างประเทศ โดย“7 แนวทางสร้างความสุข” นั้น ได้แก่ วิถีไทยหัวใจแผ่นดิน (The Worlds Friendliness Culture) เป็นการนำเสนอเสน่ห์ของไทย ที่ทำให้ประเทศไทยมีความต่างที่เหนือชั้นกว่าคู่แข่งอื่นๆ กลุ่มสินค้าที่สะท้อนแนวคิดนี้ ได้แก่แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม อาหารไทย เทศกาลประเพณีและแหล่งท่องเที่ยววิถีชีวิตต่างๆ เช่น รำไทย มวยไทย แกะสลักผัก เกษตรกรรมดำนา เทศกาลลอยกระทง เทศกาลสงกรานต์ เทศกาลร่มบ่อสร้างและเทศกาลแข่งเรือยาว เป็นต้น
มรดกแห่งแผ่นดิน (Land of Heritage and History) นำเสนอสินค้าวัฒนธรรมไทย ได้แก่ สถานที่ที่เป็นมรดกโลก แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ สถานที่ท่องเที่ยวทางศาสนา รวมถึงพิพิธภัณฑ์ต่างๆ เช่น วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง วัดพระธาตุพนม
หลากหลายทะเลไทย (Sun Surf and Serenity) ที่เป็นจุดขายหลักของประเทศ เพราะทะเลไทยแต่ละแห่งมีบุคลิกไม่เหมือนกัน สามารถตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวได้ทุกรูปแบบ
ชีวิตร่วมสมัยความสุขใจที่แตกต่าง (Your Senses with Unique Trends) นำเสนอกลุ่มสินค้าบริการที่สอดคล้องกระแสนิยม เป็นจุดขายด้วยรูปแบบที่ทันสมัย แปลกตาในแนว Chic, Hip, Modern ทั้งร้านอาหาร แหล่งช็อปปิ้ง บูติก โฮเต็ล เป็นต้น
รักษ์ ห่วงใย ใส่ใจธรรมชาติ (The Beauty of Natural Wonders) ในรูปแบบของกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การท่องเที่ยวแบบประหยัดพลังงาน เพื่อให้นักท่องเที่ยวยอมรับประเทศไทยในฐานะผู้ห่วงใยธรรมชาติและเกิดความเข้าใจคุณค่าของการเป็นผู้ห่วงใยสิ่งแวดล้อม เช่น ดำน้ำเก็บขยะ ปลูกปะการังใต้น้ำ ผจญภัยหัวใจสีเขียว เยาวชนรุ่นใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม กิจกรรมจักยานเสือภูเขานานาชาติ
สุขภาพนิยม (The Beauty of Wellness and Wellbeing) ให้ความสำคัญต่อสุขภาพทั้งทางกายและใจ เช่น สปา สมาธิ บริการทางการแพทย์และเสริมความงามที่ทันสมัย
และ เทศกาลความสุข สีสันหรรษา (The land of Year Round Festivities) กิจกรรมท่องเที่ยวที่ควบคู่ไปกับความสนุกสานร่าเริง และความบันเทิง โดยนำเอางานเทศกาลระดับโลกและระดับนานาชาติ เชิญชวนนักท่องเที่ยวและสื่อมวลชนต่างชาติเข้ามาจัดในไทย เช่น กอล์ฟจอห์นนี่ วอล์คเกอร์ คลาสสิค, กอล์ฟรอยัล โทรฟี่, การแข่งขันเรือใบ ภูเก็ต รีกัตต้า เป็นต้น