โดย : ปิ่น บุตรี
...ฮะจ๊าก!!! โตะใจโหมะเลย(ตกใจหมดเลย)...
แม้ตัวผมจะอุ่นเครื่องนวดอารมณ์ให้รอยหยักของสมองซึมซับรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับไดโนเสาร์ในเมืองไทยที่หลุมขุดค้นวัดสักกะวัน พร้อมเดินชมหุ่นจำลองไดโนเสาร์หลายตัวจากหลายพันธุ์ที่สนามหน้า“พิพิธภัณฑ์สิรินธร”(ภูกุ้มข้าว จ.กาฬสินธุ์)ไปพอหอมปากหอมคอ
แต่เมื่อ 1 มือ ล้วงกระเป๋า(กล้อง) 2 เท้าก้าวย่างเข้าสู่ภายในโถงห้องแรกของพิพิธภัณฑ์สิรินธร แล้วเจอ(หุ่น)เจ้า“สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส” ยืนอ้าปากแยกเขี้ยวทำหน้าถมึงทึงต้อนรับเหล่านักท่องเที่ยวที่เข้าไปเยือนในพิพิธภัณฑ์ฯแห่งนี้มันก็ทำให้ผมอดสะดุ้งโหยงไม่ได้
เพราะเจ้าตัวที่ยืนแยกเขี้ยวอยู่นี้ ว่ากันว่ามันเป็นบรรพบุรุษของ“ไทรันโนซอรัส เร็กซ์” หรือ เจ้า“ที-เร็กซ์”จอมโหดแห่งเรื่อง“จูราสสิกพาร์ก”ที่หากว่าจู่ๆมีองค์ลง มันเกิดมีชีวิตขึ้นมา วิ่งเพ่นพ่านแบบในหนัง มันคงมิยุ่ง-วุ่นวายป่วงกันหรอกหรือ??? นี่แค่มีพวกส.ส.พันธุ์ไดโนเสาร์ไปนั่งชูคอร่วมรัฐบาลก็เล่นเอาวุ่นวายมากพออยู่แล้ว
แต่นั่นมันเป็นเพียงจินตนาการในโลกภาพยนตร์ ส่วนของจริงพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถือว่าจัดได้เจ๋งไม่หยอก ใช้เทคนิคการจัดพิพิธภัณฑ์ยุคใหม่ที่ไม่ใช่แค่การนำของเก่าตากซากมาตั้งวางไว้เฉยๆ แต่เน้นที่การจัดแบบมีคอนเซ็ปต์ มีเรื่องราว มีจุดดึงดูด นับเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิตที่ชวนให้ติดตามในแทบทุกฝีก้าว จนพิพิธภัณฑ์สิรินธรได้รับการยกย่องว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับไดโนเสาร์ที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลยทีเดียว
ในพิพิธภัณฑ์ แบ่งเป็น 8 โซนหลัก โดยก่อนเข้าสู่โซนแรกจะมีข้อความติดไว้ให้อ่านว่า...ผู้อยู่รอด คือผู้ที่รู้จักปรับตัวเข้าหาสภาพแวดล้อม ไม่ใช่ปรับสภาพแวดล้อมไปตามความต้องการที่ไม่สิ้นสุด...
ทางเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์บอกผมว่า นี่คือข้อความเตือนสติที่เกี่ยวพันกับแนวคิดหลักในการจัดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ซึ่งเชื่อมโยงกันตั้งแต่ต้นจนจบ เพียงแต่เท่าที่ผมเห็นดูจะไม่ค่อยมีคนสนใจอ่านข้อความกันสักเท่าไหร่
จากนั้นเส้นทางได้พาเข้าสู่โซน 1 กำเนิดจักรวาลและโลก ที่อุ่นเครื่องด้วยเรื่องราวการระเบิดครั้งใหญ่หรือ“บิ๊กแบง” อันนำมาสู่กำเนิดจักรวาล ระบบสุริยะ และโลกของเรา โซน 2 กำเนิดสิ่งมีชีวิต ที่ไม่น่าเชื่อว่าผู้ครองโลกในยุคแรกเมื่อราว 3,400 ล้านปีก่อนคือ สิ่งมีชีวิตจำพวกสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียว ที่มีบุญคุณต่อโลกอย่างใหญ่หลวง เพราะพวกมันได้เปลี่ยนแปลงบรรยากาศของโลกให้เต็มไปด้วยออกซิเจนอันเป็นประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตในยุคต่อๆมา
โซนที่ 3 เป็นมหายุคพาลีโอโซอิก(590-250 ล้านปี) : มหายุคแห่งวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตโบราณ ที่มีการแบ่งย่อยเป็นยุคต่างๆ พร้อมแสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตโบราณที่ถือกำเนิดขึ้นบนโลกนี้ ไล่ไปตั้งแต่ การเกิดของสัตว์ที่มีเปลือกแข็งหุ้มตัว สัตว์ต้นตระกูลปลา ยุคของปลา เฟิน และเริ่มมีแมลงปีกแข็ง
โซนนี้จะมีฟอสซิลจากแหล่งต่างๆ ให้ชมกันเป็นการเรียกน้ำย่อย ซึ่งผมว่ารัฐบาลชุดที่กำลังจะผ่านพ้นไปดูจะได้รับอิทธิพลจากยุคนี้ไม่น้อยเลย เพราะหลายๆคนได้ขนามนามพวกท่านว่ารัฐบาลฟอสซิลนั่นเอง
ต่อมาเป็นยังโถงไดโนเสาร์อันเป็นโถงไฮไลท์ที่จัดแสดงเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับไดโนเสาร์(โซน4-5)
ไล่ไปตั้งแต่ยุคกำเนิดสัตว์เลื้อยคลานและกำเนิดไดโนเสาร์(ยุคไทรแอสซิก 250-203 ล้านปี ในโซน 4.1)อันเป็นส่วนหนึ่งของมหายุคมีโซโซอิก(250-65 ล้านปี)ที่หลังจากนี้ไปไดโนเสาร์หรือเจ้า“กะปอมยักษ์”(คำเรียกขานของชาวอีสานและชาวลาว)ได้เริ่มเข้าครอบครองโลกและนำมาสู่ยุคทองของมันในยุคจูแรสสิก(203-135 ล้านปี) ก่อนไปถึงยุคสุดท้ายของมันในช่วงปลายของยุคครีเทเซียส(135-65 ล้านปี)
สำหรับดาวเด่นจุดสนใจหลักในบริเวณโถงไดโนเสาร์ที่ดูอลังการงานสร้างแห่งนี้ ก็คงจะหนีไม่พ้นบรรดา(หุ่นจำลองกระดูก)ไดโนเสาร์ที่พบในเมืองไทย(โซน 4.2) 16 สายพันธุ์(ตัวเลขล่าสุดจากพิพิธภัณฑ์สิรินธร)โดยมีไดโนเสาร์ 8 สายพันธุ์ที่พบว่าพบเฉพาะในเมืองไทย ซึ่งผมขอไล่เรียงลำดับตามยุคไป
เริ่มจากยุคไทรแอสสิก ได้แก่ "อีสานโนซอรัส อรรถวิภัชชิ" ไดโนเสาร์กินพืชที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
ยุคจูแรสสิก ได้แก่ "สเตโกซอร์” ไดโนเสาร์กินพืช มีแผ่นกระดูกขนาดใหญ่เรียงเป็นแถวอยู่บนหลัง ดูต่างจากชนิดอื่นๆ "ฮิปซิโลโฟดอน"ไดโนเสาร์กินพืชขนาดเล็กของไทย
ยุคครีเทเซียส ได้แก่ "ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน" ไดโนเสาร์กินพืชชนิดแรกที่พบในไทย มีขนาดความยาวประมาณ 15 เมตร ความสูงประมาณ 3 เมตร "กินรีมิมัส" ไดโนเสาร์นกกระจอกเทศ มีขนาดราว 1-2 เมตร "สยามโมซอรัส สุธีธรนี" ไดโนเสาร์ที่มีการศึกษาวิจัยเป็นชนิดแรกของไทย "สยามโมไทรันนัส อีสานเอนซิส" ไดโนเสาร์วงศ์ไทรันโนซอริเดที่เก่าแก่ที่สุดในโลก บรรพบุรุษเจ้าที-เร็กซ์ "ซิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กิ" ไดโนเสาร์ปากนกแก้วชนิดแรกที่พบในไทย
ทั้ง 8 สายพันธุ์นั้นรูปร่างหน้าตาบุคลิกเป็นอย่างไร คงต้องไปดูกันเอาเองอย่างใกล้ชิด ซึ่งในบริเวณนี้ยังเป็นที่ที่รวบรวมฟอสซิลและหุ่นจำลอง(กระดูก)ไดโนเสาร์จำนวนมาก ทั้งที่เดินดินและบินได้ อีกทั้งยังมีเรื่องราวของไดโนเสาร์อีกมากมายให้ชมให้ศึกษากัน ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตของไดโนเสาร์ การจำแนกประเภทไดโนเสาร์ เรื่องราวของเทอโรพอด-ไดโนเสาร์กินเนื้อ และซอโรพอด-ไดโนเสาร์กินพืช ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมีการแสดงเกี่ยวกับไดโนเสาร์พันธ์แปลกๆ(สำหรับผม) อย่างไดโนเสาร์ตัวจิ๋ว ไดโนเสาร์นักวิ่ง ไดโนเสาร์ปากจะงอย ไดโนเสาร์ปากนกแก้ว ไดโนเสาร์หัวเกราะ ไดโนเสาร์ปากและอีกเยอะแยะ
แต่ที่ชวนให้หัวร่อมิได้ ร่ำไห้มิออก ก็เห็นจะเป็นไข่ไดเสาร์จำลองที่จัดแสดงไว้ พร้อมบอกป้ายเด่นหราว่า “ห้ามจับ” ซึ่งดูเหมือนว่าจะเข้าทางนักท่องเที่ยวคนหลายๆคนเป็นอย่างดี เพราะผมเห็นมีคนไปจับลูบคลำกันเพียบเลย (ยังดีนะที่ไม่มีใครไปเคาะดูว่ามันมีตัวเป็นๆอยู่ข้างในหรือเปล่า??? หรือพยายามแกะเปลือกจิ้มน้ำปลากิน)
นี่เลยกลายเป็นว่ายิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุไปเสียฉิบ
หลังได้เห็นฟอสซิลและหุ่นจำลองของไดโนเสาร์ในบริเวณโถงไฮไลท์จนทั่วแล้ว จู่ๆไอเดียผมก็เกิดบรรเจิดขึ้นมาฉับพลันว่า ในอนาคต(นานมาก)บ้านเราอาจจะมีไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ที่ขุดค้นพบเจอเพิ่มขึ้น เป็นไดโนเสาร์พันธุ์พิเศษที่พบเฉพาะในบ้านเรานั่นก็คือ ไดโนเสาร์พันธุ์ส.ส.หรือพันธุ์นักการเมือง ซึ่งเท่าที่ผมนึกได้ตอนนี้มีอยู่ 6 พันธุ์หลักๆ
ตัวแรกไดโนเสาร์ปลาไหล ตัวนี้ดูสั้นมู่ทู่ไปหมด สามารถผสมพันธุ์กับไดโนเสาร์พันธุ์ไหนก็ได้
ไดโนเสาร์รถบรรทุก หนักราวๆ 28 ตัน มีบุคลิกดูคล้ายไดโนเสาร์นักเลง แต่จากการขุดค้นกลับพบว่ามันกลืนน้ำลายตัวเองจนน้ำท่วมปอดตายเสี่ยนี่
ไดโนเสาร์ชมพู่ เป็นไดโนเสาร์นอมินี มีจมูกบาน ปากคล้ายหมา หน้าเอียงขวาจัด นิยมการเห่าและสำรากเวลาไปไหนมาไหน
ไดโนเสาร์ชาละวัน มีหูกาง หน้าตาแดงไปหมดเหมือนเมาๆอะไรสักอย่าง
ไดโนเสาร์ดาวเทียม ตัวนี้เก่งมาก อ่านกฎไดโนเสาร์รู้ ดูกฎไดโนเสาร์เป็น แถมรักรู้มาก ในหลุมขุดค้นจึงพบว่าไดโนเสาร์ดาวเทียมนอนตายกับลูก(ตัวผู้)อีก 3 ตัว
ส่วนตัวนี้พิเศษหน่อย นอกจากจะขุดพบในเมืองไทยแถวบางพลัดแล้ว ยังขุดพบแถวลอนดอนและที่ฮ่องกงอีกต่างหาก(ไม่รู้ไปโผล่ที่นั่นได้ยังไง) เจ้าตัวนี้ในการจัดแสดงต้องใช้เกราะเหล็กสีดำหุ้มไว้หมดทั้งตัวเหมือนดาร์ท เวเดอร์(สตาร์ วอร์ส)เนื่องจากมีรังสีชั่วร้ายเต็มไปหมด สำหรับไดโนเสาร์พันธุ์นี้ผมยังนึกหาชื่อให้มันไม่ได้ แต่มันมีลักษณะเด่นอยู่บนใบหน้าที่ดูเป็น(สี่)เหลี่ยมโดดเด่นเป็นพิเศษ
ทั้ง 6 พันธุ์นี้แม้จะดูแตกต่าง แต่ก็มีส่วนหนึ่งที่เหมือนกันนั่นก็คือ เขี้ยวของพวกมันล้วนต่างยาวจรดพื้นจมลึกลงไปในดินทุกตัว
อ้อ!!! ยังมีอีกตัวหนึ่งซึ่งแตกกลุ่มออกมา ฟอสซิลของมันขุดพบแถวเขายายเที่ยง เป็นไดโนเสาร์ฤาษี(พันธุ์พิเศษ) เปลือกนอกดูดีแต่เปลือกในกลับไร้สมรรถภาพในการทำงาน มีลักษณะเด่นตรงมีวิชาตัวเบาเป็นเลิศ ไปมาไร้ร่องรอย สามารถลอยตัวได้ทุกสถานการณ์ จนการนำมาโชว์ต้องใช้ลวดขึงตรึงสลิงไว้ระโยงระยางเพื่อกันฟอสซิลของมันลอยตัวหนีไป
เฮ้อ...จินตนาการเพลินไปนิด เลยเดินมาถึงโซนไดโนเสาร์สูญพันธุ์(โซน 6 : คืนชีวิตให้ไดโนเสาร์)โดยไม่รู้ตัว บริเวณนี้ได้กล่าวถึงว่า เหตุใดไดโนเสาร์จึงสูญพันธุ์ไปจากโลก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้สันนิษฐานไว้หลายแนวทาง อาทิ ภูเขาไฟระเบิด การคุกคามของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สนามแม่เหล็กโลกเปลี่ยนทิศทาง และที่มีน้ำหนักและได้รับการยอมรับมากที่สุดก็คือความเชื่อที่ว่า มีอุกกาบาตขนาดใหญ่พุ่งชนโลกจนเป็นเหตุนำมาสู่การสิ้นยุคไดโนเสาร์ และนำมาการสู่ขุคค้นเพื่อคืนชีวิตให้กับไดโนเสาร์ในยุคปัจจุบัน ซึ่งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เขาทำเก๋ไม่เบาด้วยการเผยให้เห็นห้องวิจัยของเหล่านักโบราณคดี ที่ทำงานให้เห็นกันแบบจะจะ
นับเป็นเรียลลิตี้โชว์วิจัยไดโนเสาร์ที่น่าสนใจไม่น้อยเลย
หลังสิ้นยุคไดโนเสาร์ เส้นทางได้พาผมเข้าสู่ โซน 7 มหายุคซีโนโซอิก หรือมหายุคแห่งชีวิตใหม่อันเป็นยุคของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่ยึดครองโลกมาราว 65 ล้านปีที่แล้วจนถึงยุคปัจจุบัน
ต่อจากนั้นเป็นโซนสุดท้าย(โซน 8)ที่เกี่ยวข้องกับเรานั่นก็คือ โซนเรื่องของมนุษย์ที่แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของมนุษย์ เริ่มจาก“ไพรเมต” หรือสัตว์ในตระกูลลิงที่อาศัยบนต้นไม้ ก่อนพัฒนาเป็นผู้เดิน 2 ขา ไล่มาจนถึงมนุษย์อย่างเราๆท่านๆในปัจจุบัน(โฮโมเซเปียนส์) ที่มนุษย์ในแต่ละยุคจะมีกะโหลกจัดแสดงควบคู่ไปด้วย และเจ้าหัวกะโหลกก็สามารถดึงดูดความสนใจได้เป็นอย่างดี
ระหว่างยืนชมอยู่ที่ช่วงโซนมนุษย์นี้ ผมได้พบกับน้องลูกหมี เจ้าหน้าที่สาวหน้าแฉล้ม กำลังเดินอธิบายให้ข้อมูลกับนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ ด้วยความเกรงใจอย่างร้ายกาจ ผมจึงถามแทรกกลางวงไปว่า
“แล้วมนุษย์ยุคต่อไปหลังจากโฮโมเซเปียนส์ล่ะ คือยุคไหน คงไม่ใช่โฮโมเซ็กชวลนะ??”
“โปรดติดตามในตอนท้ายของทางออก เขามีเฉลยไว้ค่ะ”น้องลูกหมีตอบ(แบบงงๆว่าไอ้นี่มันมาโผล่จากไหน)
หลังจากนั้นผมจึงขอแจมด้วยคนด้วยการเดินตามดู เอ้ย!!! ตามฟังน้องลูกหมีเธอบรรยายไปจนถึงทางออก ซึ่งเธอบอกว่าให้สังเกตที่ผนังมืดๆด้านหน้าให้ดีๆ
“จุดนี้คนมักไม่สนใจ เดินผ่านเลยไป แต่นี่คือจุดสำคัญที่จะบอกถึงคอนเซ็ปต์ของการสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้”
น้องลูกหมีบอกยังงั้น ก่อนที่บนผนังมืดๆจะปรากฏภาพเรื่องราวสิ่งแวดล้อมในยุคสมัยนี้ที่ถูกมนุษย์ทำลายล้างลงอย่างน่าใจหาย จนโลกทุกวันนี้ต้องประสบกับภาวะโลกร้อนดังที่รู้กันทั่วไป ก่อนที่วีดีโอจะทิ้งท้ายกันด้วยข้อความชวนคิดว่า
...ผู้อยู่รอด คือผู้ที่รู้จักปรับตัวเข้าหาสภาพแวดล้อม ไม่ใช่ปรับสภาพแวดล้อมไปตามความต้องการที่ไม่สิ้นสุด...
อืม...มันคือข้อความเดียวกับช่วงแรกก่อนที่ผมจะเดินเข้าสู่ในโซนจัดแสดงต่างๆ ซึ่งดูเหมือนว่าคำเฉลยของน้องลูกหมีจะชัดเจนอยู่ในตัวอยู่แล้ว
หลังออกจากจุดสิ้นสุดเดินมาสู่จุดเริ่มต้นที่โถงห้องแรกอีกครั้ง ผมอดนึกในใจไม่ได้ว่าทำไมมนุษย์หลายๆคนมักจะเปรียบไดโนเสาร์เป็นเต่าล้านปี โง่เง่า ล้าหลัง ไม่พัฒนา ไม่รู้จักปรับตัว จนเป็นเหตุให้ต้องสูญพันธุ์ไปจากโลก ทั้งๆที่หากพิเคราะห์พิจารณาดูให้ดีจะพบว่ายุคที่ไดโนเสาร์ถือกำเนิดและครองโลกนั้นยาวนานเกือบ 200 ล้านปี ในขณะที่ยุคมนุษย์ครองโลกนั้นมีอายุเพียงประมาณ 4 ล้านปีที่ผ่านมา นับเป็น 1 ในพันของกระบวนการวิวัฒนาการโลก (กว่าจะมีมนุษย์ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกใช้เวลากว่า 4,000 ล้านปี)
และหากนับมนุษย์ในช่วงที่มีจิตสำนึก มีพัฒนาการทางสมอง และมีลักษณะต่างไปจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆในโลกนี้ก็เมื่อประมาณ 40,000 ปี หรือเพียง 1 ในแสนของวิวัฒนาการทั้งระบบ
แต่จากการพยากรณ์ทางวิทยาศาสตร์ ทางศาสนา (หรือทางอื่นๆ)ที่อ้างอิงจากสภาพปัจจุบัน ต่างทำนานไปทางทิศทางเดียวกันว่า ยุคของมนุษย์จะยุติลง ภายในอีกไม่กี่พันปีข้างหน้า
สำหรับสาเหตุของการสิ้นสูญมวลมนุษยชาตินั้นก็ไม่ได้มาจากใครที่ไหน แต่หากมาจากการทำลายโลก-ธรรมชาติ-สภาพแวดล้อม และการทำลายล้างมนุษย์จากน้ำมือมนุษย์ด้วยกันเอง
อา...นี่นะหรือเผ่าพันธุ์ที่อวดอ้างตัวว่าเป็นสัตว์โลกผู้เจริญและมีความศิวิไลซ์???
*****************************************
พิพิธภัณฑ์สิรินธร และวัดสักกะวัน ตั้งอยู่ที่ ภูกุ้มข้าว ต.โนนบุรี อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่ 6.00-17.00 น. สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 0-4387-1014,0-4387-1394
หมายเหตุ : ชื่อมหายุค ยุค และระยะเวลาของยุคต่างๆ อ้างอิงจากข้อมูลของกรมทรัพยากรธรณี
ชมภาพชุดท่องโลกไดโนเสาร์ ที่ พิพิธภัณฑ์สิรินธร
...ฮะจ๊าก!!! โตะใจโหมะเลย(ตกใจหมดเลย)...
แม้ตัวผมจะอุ่นเครื่องนวดอารมณ์ให้รอยหยักของสมองซึมซับรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับไดโนเสาร์ในเมืองไทยที่หลุมขุดค้นวัดสักกะวัน พร้อมเดินชมหุ่นจำลองไดโนเสาร์หลายตัวจากหลายพันธุ์ที่สนามหน้า“พิพิธภัณฑ์สิรินธร”(ภูกุ้มข้าว จ.กาฬสินธุ์)ไปพอหอมปากหอมคอ
แต่เมื่อ 1 มือ ล้วงกระเป๋า(กล้อง) 2 เท้าก้าวย่างเข้าสู่ภายในโถงห้องแรกของพิพิธภัณฑ์สิรินธร แล้วเจอ(หุ่น)เจ้า“สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส” ยืนอ้าปากแยกเขี้ยวทำหน้าถมึงทึงต้อนรับเหล่านักท่องเที่ยวที่เข้าไปเยือนในพิพิธภัณฑ์ฯแห่งนี้มันก็ทำให้ผมอดสะดุ้งโหยงไม่ได้
เพราะเจ้าตัวที่ยืนแยกเขี้ยวอยู่นี้ ว่ากันว่ามันเป็นบรรพบุรุษของ“ไทรันโนซอรัส เร็กซ์” หรือ เจ้า“ที-เร็กซ์”จอมโหดแห่งเรื่อง“จูราสสิกพาร์ก”ที่หากว่าจู่ๆมีองค์ลง มันเกิดมีชีวิตขึ้นมา วิ่งเพ่นพ่านแบบในหนัง มันคงมิยุ่ง-วุ่นวายป่วงกันหรอกหรือ??? นี่แค่มีพวกส.ส.พันธุ์ไดโนเสาร์ไปนั่งชูคอร่วมรัฐบาลก็เล่นเอาวุ่นวายมากพออยู่แล้ว
แต่นั่นมันเป็นเพียงจินตนาการในโลกภาพยนตร์ ส่วนของจริงพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถือว่าจัดได้เจ๋งไม่หยอก ใช้เทคนิคการจัดพิพิธภัณฑ์ยุคใหม่ที่ไม่ใช่แค่การนำของเก่าตากซากมาตั้งวางไว้เฉยๆ แต่เน้นที่การจัดแบบมีคอนเซ็ปต์ มีเรื่องราว มีจุดดึงดูด นับเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิตที่ชวนให้ติดตามในแทบทุกฝีก้าว จนพิพิธภัณฑ์สิรินธรได้รับการยกย่องว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับไดโนเสาร์ที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลยทีเดียว
ในพิพิธภัณฑ์ แบ่งเป็น 8 โซนหลัก โดยก่อนเข้าสู่โซนแรกจะมีข้อความติดไว้ให้อ่านว่า...ผู้อยู่รอด คือผู้ที่รู้จักปรับตัวเข้าหาสภาพแวดล้อม ไม่ใช่ปรับสภาพแวดล้อมไปตามความต้องการที่ไม่สิ้นสุด...
ทางเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์บอกผมว่า นี่คือข้อความเตือนสติที่เกี่ยวพันกับแนวคิดหลักในการจัดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ซึ่งเชื่อมโยงกันตั้งแต่ต้นจนจบ เพียงแต่เท่าที่ผมเห็นดูจะไม่ค่อยมีคนสนใจอ่านข้อความกันสักเท่าไหร่
จากนั้นเส้นทางได้พาเข้าสู่โซน 1 กำเนิดจักรวาลและโลก ที่อุ่นเครื่องด้วยเรื่องราวการระเบิดครั้งใหญ่หรือ“บิ๊กแบง” อันนำมาสู่กำเนิดจักรวาล ระบบสุริยะ และโลกของเรา โซน 2 กำเนิดสิ่งมีชีวิต ที่ไม่น่าเชื่อว่าผู้ครองโลกในยุคแรกเมื่อราว 3,400 ล้านปีก่อนคือ สิ่งมีชีวิตจำพวกสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียว ที่มีบุญคุณต่อโลกอย่างใหญ่หลวง เพราะพวกมันได้เปลี่ยนแปลงบรรยากาศของโลกให้เต็มไปด้วยออกซิเจนอันเป็นประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตในยุคต่อๆมา
โซนที่ 3 เป็นมหายุคพาลีโอโซอิก(590-250 ล้านปี) : มหายุคแห่งวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตโบราณ ที่มีการแบ่งย่อยเป็นยุคต่างๆ พร้อมแสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตโบราณที่ถือกำเนิดขึ้นบนโลกนี้ ไล่ไปตั้งแต่ การเกิดของสัตว์ที่มีเปลือกแข็งหุ้มตัว สัตว์ต้นตระกูลปลา ยุคของปลา เฟิน และเริ่มมีแมลงปีกแข็ง
โซนนี้จะมีฟอสซิลจากแหล่งต่างๆ ให้ชมกันเป็นการเรียกน้ำย่อย ซึ่งผมว่ารัฐบาลชุดที่กำลังจะผ่านพ้นไปดูจะได้รับอิทธิพลจากยุคนี้ไม่น้อยเลย เพราะหลายๆคนได้ขนามนามพวกท่านว่ารัฐบาลฟอสซิลนั่นเอง
ต่อมาเป็นยังโถงไดโนเสาร์อันเป็นโถงไฮไลท์ที่จัดแสดงเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับไดโนเสาร์(โซน4-5)
ไล่ไปตั้งแต่ยุคกำเนิดสัตว์เลื้อยคลานและกำเนิดไดโนเสาร์(ยุคไทรแอสซิก 250-203 ล้านปี ในโซน 4.1)อันเป็นส่วนหนึ่งของมหายุคมีโซโซอิก(250-65 ล้านปี)ที่หลังจากนี้ไปไดโนเสาร์หรือเจ้า“กะปอมยักษ์”(คำเรียกขานของชาวอีสานและชาวลาว)ได้เริ่มเข้าครอบครองโลกและนำมาสู่ยุคทองของมันในยุคจูแรสสิก(203-135 ล้านปี) ก่อนไปถึงยุคสุดท้ายของมันในช่วงปลายของยุคครีเทเซียส(135-65 ล้านปี)
สำหรับดาวเด่นจุดสนใจหลักในบริเวณโถงไดโนเสาร์ที่ดูอลังการงานสร้างแห่งนี้ ก็คงจะหนีไม่พ้นบรรดา(หุ่นจำลองกระดูก)ไดโนเสาร์ที่พบในเมืองไทย(โซน 4.2) 16 สายพันธุ์(ตัวเลขล่าสุดจากพิพิธภัณฑ์สิรินธร)โดยมีไดโนเสาร์ 8 สายพันธุ์ที่พบว่าพบเฉพาะในเมืองไทย ซึ่งผมขอไล่เรียงลำดับตามยุคไป
เริ่มจากยุคไทรแอสสิก ได้แก่ "อีสานโนซอรัส อรรถวิภัชชิ" ไดโนเสาร์กินพืชที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
ยุคจูแรสสิก ได้แก่ "สเตโกซอร์” ไดโนเสาร์กินพืช มีแผ่นกระดูกขนาดใหญ่เรียงเป็นแถวอยู่บนหลัง ดูต่างจากชนิดอื่นๆ "ฮิปซิโลโฟดอน"ไดโนเสาร์กินพืชขนาดเล็กของไทย
ยุคครีเทเซียส ได้แก่ "ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน" ไดโนเสาร์กินพืชชนิดแรกที่พบในไทย มีขนาดความยาวประมาณ 15 เมตร ความสูงประมาณ 3 เมตร "กินรีมิมัส" ไดโนเสาร์นกกระจอกเทศ มีขนาดราว 1-2 เมตร "สยามโมซอรัส สุธีธรนี" ไดโนเสาร์ที่มีการศึกษาวิจัยเป็นชนิดแรกของไทย "สยามโมไทรันนัส อีสานเอนซิส" ไดโนเสาร์วงศ์ไทรันโนซอริเดที่เก่าแก่ที่สุดในโลก บรรพบุรุษเจ้าที-เร็กซ์ "ซิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กิ" ไดโนเสาร์ปากนกแก้วชนิดแรกที่พบในไทย
ทั้ง 8 สายพันธุ์นั้นรูปร่างหน้าตาบุคลิกเป็นอย่างไร คงต้องไปดูกันเอาเองอย่างใกล้ชิด ซึ่งในบริเวณนี้ยังเป็นที่ที่รวบรวมฟอสซิลและหุ่นจำลอง(กระดูก)ไดโนเสาร์จำนวนมาก ทั้งที่เดินดินและบินได้ อีกทั้งยังมีเรื่องราวของไดโนเสาร์อีกมากมายให้ชมให้ศึกษากัน ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตของไดโนเสาร์ การจำแนกประเภทไดโนเสาร์ เรื่องราวของเทอโรพอด-ไดโนเสาร์กินเนื้อ และซอโรพอด-ไดโนเสาร์กินพืช ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมีการแสดงเกี่ยวกับไดโนเสาร์พันธ์แปลกๆ(สำหรับผม) อย่างไดโนเสาร์ตัวจิ๋ว ไดโนเสาร์นักวิ่ง ไดโนเสาร์ปากจะงอย ไดโนเสาร์ปากนกแก้ว ไดโนเสาร์หัวเกราะ ไดโนเสาร์ปากและอีกเยอะแยะ
แต่ที่ชวนให้หัวร่อมิได้ ร่ำไห้มิออก ก็เห็นจะเป็นไข่ไดเสาร์จำลองที่จัดแสดงไว้ พร้อมบอกป้ายเด่นหราว่า “ห้ามจับ” ซึ่งดูเหมือนว่าจะเข้าทางนักท่องเที่ยวคนหลายๆคนเป็นอย่างดี เพราะผมเห็นมีคนไปจับลูบคลำกันเพียบเลย (ยังดีนะที่ไม่มีใครไปเคาะดูว่ามันมีตัวเป็นๆอยู่ข้างในหรือเปล่า??? หรือพยายามแกะเปลือกจิ้มน้ำปลากิน)
นี่เลยกลายเป็นว่ายิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุไปเสียฉิบ
หลังได้เห็นฟอสซิลและหุ่นจำลองของไดโนเสาร์ในบริเวณโถงไฮไลท์จนทั่วแล้ว จู่ๆไอเดียผมก็เกิดบรรเจิดขึ้นมาฉับพลันว่า ในอนาคต(นานมาก)บ้านเราอาจจะมีไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ที่ขุดค้นพบเจอเพิ่มขึ้น เป็นไดโนเสาร์พันธุ์พิเศษที่พบเฉพาะในบ้านเรานั่นก็คือ ไดโนเสาร์พันธุ์ส.ส.หรือพันธุ์นักการเมือง ซึ่งเท่าที่ผมนึกได้ตอนนี้มีอยู่ 6 พันธุ์หลักๆ
ตัวแรกไดโนเสาร์ปลาไหล ตัวนี้ดูสั้นมู่ทู่ไปหมด สามารถผสมพันธุ์กับไดโนเสาร์พันธุ์ไหนก็ได้
ไดโนเสาร์รถบรรทุก หนักราวๆ 28 ตัน มีบุคลิกดูคล้ายไดโนเสาร์นักเลง แต่จากการขุดค้นกลับพบว่ามันกลืนน้ำลายตัวเองจนน้ำท่วมปอดตายเสี่ยนี่
ไดโนเสาร์ชมพู่ เป็นไดโนเสาร์นอมินี มีจมูกบาน ปากคล้ายหมา หน้าเอียงขวาจัด นิยมการเห่าและสำรากเวลาไปไหนมาไหน
ไดโนเสาร์ชาละวัน มีหูกาง หน้าตาแดงไปหมดเหมือนเมาๆอะไรสักอย่าง
ไดโนเสาร์ดาวเทียม ตัวนี้เก่งมาก อ่านกฎไดโนเสาร์รู้ ดูกฎไดโนเสาร์เป็น แถมรักรู้มาก ในหลุมขุดค้นจึงพบว่าไดโนเสาร์ดาวเทียมนอนตายกับลูก(ตัวผู้)อีก 3 ตัว
ส่วนตัวนี้พิเศษหน่อย นอกจากจะขุดพบในเมืองไทยแถวบางพลัดแล้ว ยังขุดพบแถวลอนดอนและที่ฮ่องกงอีกต่างหาก(ไม่รู้ไปโผล่ที่นั่นได้ยังไง) เจ้าตัวนี้ในการจัดแสดงต้องใช้เกราะเหล็กสีดำหุ้มไว้หมดทั้งตัวเหมือนดาร์ท เวเดอร์(สตาร์ วอร์ส)เนื่องจากมีรังสีชั่วร้ายเต็มไปหมด สำหรับไดโนเสาร์พันธุ์นี้ผมยังนึกหาชื่อให้มันไม่ได้ แต่มันมีลักษณะเด่นอยู่บนใบหน้าที่ดูเป็น(สี่)เหลี่ยมโดดเด่นเป็นพิเศษ
ทั้ง 6 พันธุ์นี้แม้จะดูแตกต่าง แต่ก็มีส่วนหนึ่งที่เหมือนกันนั่นก็คือ เขี้ยวของพวกมันล้วนต่างยาวจรดพื้นจมลึกลงไปในดินทุกตัว
อ้อ!!! ยังมีอีกตัวหนึ่งซึ่งแตกกลุ่มออกมา ฟอสซิลของมันขุดพบแถวเขายายเที่ยง เป็นไดโนเสาร์ฤาษี(พันธุ์พิเศษ) เปลือกนอกดูดีแต่เปลือกในกลับไร้สมรรถภาพในการทำงาน มีลักษณะเด่นตรงมีวิชาตัวเบาเป็นเลิศ ไปมาไร้ร่องรอย สามารถลอยตัวได้ทุกสถานการณ์ จนการนำมาโชว์ต้องใช้ลวดขึงตรึงสลิงไว้ระโยงระยางเพื่อกันฟอสซิลของมันลอยตัวหนีไป
เฮ้อ...จินตนาการเพลินไปนิด เลยเดินมาถึงโซนไดโนเสาร์สูญพันธุ์(โซน 6 : คืนชีวิตให้ไดโนเสาร์)โดยไม่รู้ตัว บริเวณนี้ได้กล่าวถึงว่า เหตุใดไดโนเสาร์จึงสูญพันธุ์ไปจากโลก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้สันนิษฐานไว้หลายแนวทาง อาทิ ภูเขาไฟระเบิด การคุกคามของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สนามแม่เหล็กโลกเปลี่ยนทิศทาง และที่มีน้ำหนักและได้รับการยอมรับมากที่สุดก็คือความเชื่อที่ว่า มีอุกกาบาตขนาดใหญ่พุ่งชนโลกจนเป็นเหตุนำมาสู่การสิ้นยุคไดโนเสาร์ และนำมาการสู่ขุคค้นเพื่อคืนชีวิตให้กับไดโนเสาร์ในยุคปัจจุบัน ซึ่งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เขาทำเก๋ไม่เบาด้วยการเผยให้เห็นห้องวิจัยของเหล่านักโบราณคดี ที่ทำงานให้เห็นกันแบบจะจะ
นับเป็นเรียลลิตี้โชว์วิจัยไดโนเสาร์ที่น่าสนใจไม่น้อยเลย
หลังสิ้นยุคไดโนเสาร์ เส้นทางได้พาผมเข้าสู่ โซน 7 มหายุคซีโนโซอิก หรือมหายุคแห่งชีวิตใหม่อันเป็นยุคของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่ยึดครองโลกมาราว 65 ล้านปีที่แล้วจนถึงยุคปัจจุบัน
ต่อจากนั้นเป็นโซนสุดท้าย(โซน 8)ที่เกี่ยวข้องกับเรานั่นก็คือ โซนเรื่องของมนุษย์ที่แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของมนุษย์ เริ่มจาก“ไพรเมต” หรือสัตว์ในตระกูลลิงที่อาศัยบนต้นไม้ ก่อนพัฒนาเป็นผู้เดิน 2 ขา ไล่มาจนถึงมนุษย์อย่างเราๆท่านๆในปัจจุบัน(โฮโมเซเปียนส์) ที่มนุษย์ในแต่ละยุคจะมีกะโหลกจัดแสดงควบคู่ไปด้วย และเจ้าหัวกะโหลกก็สามารถดึงดูดความสนใจได้เป็นอย่างดี
ระหว่างยืนชมอยู่ที่ช่วงโซนมนุษย์นี้ ผมได้พบกับน้องลูกหมี เจ้าหน้าที่สาวหน้าแฉล้ม กำลังเดินอธิบายให้ข้อมูลกับนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ ด้วยความเกรงใจอย่างร้ายกาจ ผมจึงถามแทรกกลางวงไปว่า
“แล้วมนุษย์ยุคต่อไปหลังจากโฮโมเซเปียนส์ล่ะ คือยุคไหน คงไม่ใช่โฮโมเซ็กชวลนะ??”
“โปรดติดตามในตอนท้ายของทางออก เขามีเฉลยไว้ค่ะ”น้องลูกหมีตอบ(แบบงงๆว่าไอ้นี่มันมาโผล่จากไหน)
หลังจากนั้นผมจึงขอแจมด้วยคนด้วยการเดินตามดู เอ้ย!!! ตามฟังน้องลูกหมีเธอบรรยายไปจนถึงทางออก ซึ่งเธอบอกว่าให้สังเกตที่ผนังมืดๆด้านหน้าให้ดีๆ
“จุดนี้คนมักไม่สนใจ เดินผ่านเลยไป แต่นี่คือจุดสำคัญที่จะบอกถึงคอนเซ็ปต์ของการสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้”
น้องลูกหมีบอกยังงั้น ก่อนที่บนผนังมืดๆจะปรากฏภาพเรื่องราวสิ่งแวดล้อมในยุคสมัยนี้ที่ถูกมนุษย์ทำลายล้างลงอย่างน่าใจหาย จนโลกทุกวันนี้ต้องประสบกับภาวะโลกร้อนดังที่รู้กันทั่วไป ก่อนที่วีดีโอจะทิ้งท้ายกันด้วยข้อความชวนคิดว่า
...ผู้อยู่รอด คือผู้ที่รู้จักปรับตัวเข้าหาสภาพแวดล้อม ไม่ใช่ปรับสภาพแวดล้อมไปตามความต้องการที่ไม่สิ้นสุด...
อืม...มันคือข้อความเดียวกับช่วงแรกก่อนที่ผมจะเดินเข้าสู่ในโซนจัดแสดงต่างๆ ซึ่งดูเหมือนว่าคำเฉลยของน้องลูกหมีจะชัดเจนอยู่ในตัวอยู่แล้ว
หลังออกจากจุดสิ้นสุดเดินมาสู่จุดเริ่มต้นที่โถงห้องแรกอีกครั้ง ผมอดนึกในใจไม่ได้ว่าทำไมมนุษย์หลายๆคนมักจะเปรียบไดโนเสาร์เป็นเต่าล้านปี โง่เง่า ล้าหลัง ไม่พัฒนา ไม่รู้จักปรับตัว จนเป็นเหตุให้ต้องสูญพันธุ์ไปจากโลก ทั้งๆที่หากพิเคราะห์พิจารณาดูให้ดีจะพบว่ายุคที่ไดโนเสาร์ถือกำเนิดและครองโลกนั้นยาวนานเกือบ 200 ล้านปี ในขณะที่ยุคมนุษย์ครองโลกนั้นมีอายุเพียงประมาณ 4 ล้านปีที่ผ่านมา นับเป็น 1 ในพันของกระบวนการวิวัฒนาการโลก (กว่าจะมีมนุษย์ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกใช้เวลากว่า 4,000 ล้านปี)
และหากนับมนุษย์ในช่วงที่มีจิตสำนึก มีพัฒนาการทางสมอง และมีลักษณะต่างไปจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆในโลกนี้ก็เมื่อประมาณ 40,000 ปี หรือเพียง 1 ในแสนของวิวัฒนาการทั้งระบบ
แต่จากการพยากรณ์ทางวิทยาศาสตร์ ทางศาสนา (หรือทางอื่นๆ)ที่อ้างอิงจากสภาพปัจจุบัน ต่างทำนานไปทางทิศทางเดียวกันว่า ยุคของมนุษย์จะยุติลง ภายในอีกไม่กี่พันปีข้างหน้า
สำหรับสาเหตุของการสิ้นสูญมวลมนุษยชาตินั้นก็ไม่ได้มาจากใครที่ไหน แต่หากมาจากการทำลายโลก-ธรรมชาติ-สภาพแวดล้อม และการทำลายล้างมนุษย์จากน้ำมือมนุษย์ด้วยกันเอง
อา...นี่นะหรือเผ่าพันธุ์ที่อวดอ้างตัวว่าเป็นสัตว์โลกผู้เจริญและมีความศิวิไลซ์???
*****************************************
พิพิธภัณฑ์สิรินธร และวัดสักกะวัน ตั้งอยู่ที่ ภูกุ้มข้าว ต.โนนบุรี อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่ 6.00-17.00 น. สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 0-4387-1014,0-4387-1394
หมายเหตุ : ชื่อมหายุค ยุค และระยะเวลาของยุคต่างๆ อ้างอิงจากข้อมูลของกรมทรัพยากรธรณี
ชมภาพชุดท่องโลกไดโนเสาร์ ที่ พิพิธภัณฑ์สิรินธร