xs
xsm
sm
md
lg

ขึ้น“ภูลังกา”ย่ำขุนเขา-แหวกเมฆา เสาะหาเทวดา...บน “ฟินจาเบาะ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภูนม ขุนเขาที่เป็นดังสัญลักษณ์แห่งภูลังกา
พะเยา จังหวัดเล็กๆอันสงบงาม อาจจะดูเป็นเมืองผ่านในสายตาของคนทั่วไป แต่ถ้าหากว่ามองกันแบบเจาะลึกแล้วละก็ พะเยามีทรัพยากรท่องเที่ยวที่น่าสัมผัสเที่ยวชมไม่น้อยเลย ทั้งธรรมชาติ วัดวาอาราม และศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะวิถีแบบไทลื้อนั้น พะเยาถือเป็นจังหวัดที่มีชาวไทลื้ออาศัยอยู่เป็นจำนวนมากในอันดับต้นๆของเมืองไทย

ในขณะที่แหล่งท่องเที่ยวประเภทอันซีนไทยแลนด์นั้น เมืองนี้ก็มีให้เที่ยวชม 2 จุดด้วยกันคือ พระเจ้านั่งดิน (วัดพระเจ้านั่งดิน ต.เวียง อ.เชียงคำ) พระพุทธรูป(พระประธาน)ที่ไม่มีฐานชุกชีรองรับเหมือนพระประธานทั่วไป และ น้ำตกภูซาง(ในอุทยานแห่งชาติภูซาง กิ่ง อ.ภูซาง)น้ำตกอุ่นอุณหภูมิประมาณ 35 องศาเซลเซียส ที่สำรวจพบแห่งเดียวในเมืองไทย

นอกจากนี้พะเยายังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่กำลังมาแรงในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา อย่าง “ภูลังกา” ในวนอุทยานภูลังกา ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” ในทริปนี้

ภูลังกา ตั้งอยู่ที่ ต.ผาช้างน้อย อ.ปง เป็นภูเขาสูงสุดในเทือกเขาสันปันน้ำเขตแดนไทย-ลาว ต้นกำเนิดแม่น้ำยม มีพื้นที่ประมาณ 7,800 ไร่ สภาพพื้นส่วนใหญ่เป็นป่าดิบเขาที่มากไปด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่

แม้ภูลังกาจะมีพื้นที่ขนาดเล็กเมื่อเทียบกับผืนป่าอื่นๆ แต่ว่าก็เป็นประเภทเล็กพริกขี้หนู หรือประเภทเล็กดีรสโต ที่เต็มไปด้วยของดีซ่อนกายอยู่มากมายไม่ว่าจะเป็น พืชพันธุ์ไม้หายาก สัตว์ป่ากว่า 100 ชนิด รวมถึงนกประจำถิ่นและนกอพยพกว่า 200 ชนิด

นอกจากนี้ในพื้นที่วนอุทยานภูลังกายังมีสิ่งที่น่าสนใจให้เที่ยวชมอีกมากมายอย่าง “ห้องเรียนธรรมชาติ”ที่มีการจัดแสดงพันธ์ไม้หายาก สมุนไพร กล้วยไม้ป่า และไม้ที่น่าสนใจไว้ให้ชมกัน รวมถึงยังมีเส้นทางเดินป่าระยะทางประมาณ 3 กม. 2 เส้นทาง ไว้ให้ผู้สนใจเดินศึกษาธรรมชาติ "น้ำตกภูลังกา"เป็นน้ำตก 2 ชั้น มีน้ำใสไหลเย็นตลอดทั้งปี แต่จะสวยงามเป็นพิเศษในช่วงหน้าฝน "ป่าก่อโบราณ" เป็นป่าต้นก่อขนาดใหญ่ ที่สามารถเดินดูนก ดอกไม้ป่า และกล้วยไม้ป่า ได้ด้วย

ในขณะที่เชิงภูบริเวณบ้านสิบสองพัฒนา ก็มี “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า” บนพื้นที่สวยงามเต็มไปด้วยแปลงไม้ดอกเมืองหนาว ไม้ประดับ ผักสดปลอดสารพิษ ให้ชมและเลือกซื้อเป็นของฝากกลับบ้าน ส่วนที่หมู่บ้านด้านล่างก็มีศูนย์วัฒนธรรมชาวเมี่ยน(เย้า) และวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม ชาวเมี่ยนให้ได้สัมผัสกัน

หรือใครจะไปชมวิวสวยๆของแอ่งกระทะธรรมชาติ ที่เป็นจุดชมทะเลหมอกยามเช้าทะเลหมอกที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง พร้อมสัมผัสกับพาสสปอร์ตโบราณที่(ว่ากันว่า)ยาวที่สุดในโลก และจิบกาแฟ ชาร้อนๆ เลือกซื้อสินค้าพื้นเมือง และเข้าพักในบรรยากาศบ้านชาวเมี่ยนที่ภูลังการีสอร์ท ก็น่าสนใจไม่น้อย ด้านใครอยากสัมผัสวิถีชุมชนและเข้าพักแบบโฮมสเตย์ที่นี่ก็มีโฮมสเตย์บ้านน้ำคะเป็นหนึ่งในทางเลือกที่น่าสนใจ

ส่วนที่ถือเป็นพระเอกระดับรางวัลออสการ์ของภูลังกาก็เห็นจะเป็นสภาพของขุนเขาที่มีลักษณะเป็นสันเป็นแนวสวยงาม สามารถเดินขึ้นไปชมอาทิตย์อัสดงและชมวิวทิวทัศน์บนนั้นได้สวยงามกว้างไกล โดยสิ่งที่ถือเป็นไฮไลท์ก็คือ การชมพระอาทิตย์ขึ้นและทะเลหมอกบนยอดภูลังกา ซึ่งนี่คือสิ่งกระตุ้นให้เราเดินทางมุ่งหน้าขึ้นสู่ภูลังกาในเย็นวันหนึ่ง บริเวณลานกางเต็นท์(เหนือห้องเรียนธรรมชาติขึ้นไปหน่อย) เพื่อไปตั้งแคมป์เล็กๆ กางเต็นท์ ปรุงอาหาร(สำเร็จรูป) นั่ง กิน-ดื่ม ข้างๆกองไฟ แล้วต่อด้วยการจิบกาแฟ-ร่ำสุราไปตามประสาคนไกลบ้าน ก่อนนอนโต้ลมหนาว ดูดาวที่สุกสกาวพราวพร่างฟ้า พร้อมฮึมฮัมเพลง “มีแต่คิดถึง” ของน้าเบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ กล่อมอารมณ์ ก่อนมุดเต็นท์เข้านอนท่ามกลางอากาศด้านนอกที่ยะเยือกหนาวเหน็บ...

...เหม่อมองไกล ไปถึงดาว
ที่เคยจองเป็นดาวของเรา
ก็ยังคงอยู่ที่เดิมให้พบเจอ
อยู่ตรงนี้มองเห็นดาว
และดวงดาวคงมองเห็นเธอ
อย่างน้อยเราอยู่ใต้ดาวดวงเก่าเดียวกัน...

...เช้าวันใหม่

เราถูกตื่นแต่เช้ามืดราวตี 4 ครึ่ง เพื่อนั่งรถโฟร์วีลของทางวนอุทยานฯขึ้นไปชมตะวันเบิกฟ้า ทะเลหมอก และวิวทิวทัศน์ ยามเช้าตรู่บนยอดสูงสุดของภูลังกา

งานนี้ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” โชคดีไม่น้อยที่ได้พี่สมชาติ “สมชาติ พวงพยอม" หัวหน้าวนอุทยานภูลังกา เป็นไกด์กิตติมศักดิ์มานำเที่ยวชม ซึ่งพี่สมชาติเล่าเรื่องราวของภูลังกาให้เราฟังคร่าวๆว่า ครั้งหนึ่งที่นี่เคยเป็นดินแดน ของผกค.ที่มีอดีตสหายบางคน พอออกไปก็ได้ดิบได้ดีเป็นถึงรัฐมนตรีเลยทีเดียว ส่วนปัจจุบัน ภูลังกาเป็นพื้นที่ที่มีชาวเมี่ยนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
บริเวณพื้นที่กางเต็นท์ในวนอุทยานภูลังกา
หลังจากฟังพี่สมชาติให้ข้อมูลระหว่างทางไปเพลินๆ ราว 20 นาทีจากจุดกางเต็นท์ รถก็มาจอดยังจุดสิ้นสุดเส้นทางรถยนต์ ที่มีศาลาชมวิวตั้งเด่นให้นักท่องเที่ยวยืนชมวิวและถ่ายรูปตามอัธยาศัย

แต่ประทานโทษ ที่นี่ไม่ใช่เป้าหมายของเราในเช้านี้ เพราะพี่สมชาติบอกว่าจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นของเราอยู่บนยอดสูงสุดของภูลังกานู้นนนน...(ลากเสียงยาวมากเพื่อเน้นถึงความไกล) ที่ต้องเดินขึ้นเขาไปอีกราวๆ 800 เมตร

ระยะทางแค่นี้หากเดินตามทางปกติ มันก็เดะๆ(เด็กๆ) สำหรับเรา แต่หากต้องเดินขึ้นไปบนเส้นทางที่สูงชันอย่างทางขึ้นยอดภูลังกานี่ ถือเป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสไม่น้อย แต่จนแล้วจนรอดเราก็ค่อยๆลากสังขารเดินขึ้นไปถึงยังยอดสูงสุดของภูลังกาจนได้

บนยอดสูงสุดนี้ตั้งอยู่บนความสูง 1,720 เมตร ชาวเมี่ยนเรียกว่าแท่นฟินจาเบาะ หรือแท่นเทวดา ซึ่งชาวเมี่ยนเชื่อว่า บนนี้เป็นสิงสถิตของเทพ เทวดา ทุกๆปีจะต้องทำพิธีเซ่นไหว้ เพื่อให้ท่านช่วยปกปักรักษา

นอกจากนี้พี่สมชาติขยายความเพิ่มเติมว่า แต่ก่อนทุกวันพระ ขึ้น 15 ค่ำ ชาวเขาด้านล่างจะมองเห็นแสงสว่างขาวนวลส่องเป็นประกายเหมือนแท่งหน่อไม้คู่บนยอดภูลังกา โดยเชื่อว่าเป็นการชุมนุมของเทวดา แต่เมื่อปีนขึ้นมาก็ไม่พบอะไร

“บางคนถึงขนาดมานอนค้างบนนี้ก็ไม่พบอะไร แต่พอกลับลงไปก็พบแสงสว่างที่ว่านั้นในวันพระ ขึ้น 15 ค่ำอีก”
ผู้พิชิตยอดภูลังกาถ่ายรูปคู่กับป้ายไว้เป็นที่ระลึก
เราฟังพี่สมชาติเล่าแล้วก็พยายามสอดส่ายสายตาดู เผื่อจะพบเทวดาหรือบางฟ้าบ้าง แต่ปรากฏว่าเจอะเจอแต่ผู้คนที่มายืนโต้ลมหนาวเฝ้าดูพระอาทิตย์ขึ้นจนเกือบจะเต็มพื้นที่ชมวิวแคบๆบนนั้น ซึ่ง ณ จุดนี้เราขอเตือนผู้ที่ขึ้นไปว่า ต้องระมัดระวังตัวให้ดี ห้ามประมาท!!! ห้ามเล่นพิเรนใดๆ เพราะพลั้งเผลอ อาจตกยอดภู จบชีวิตเอาได้ง่ายๆ แถมดีไม่ดีอาจจะไม่ได้ไปหาเทวดาดังชื่อภู แต่หากจะได้ไปพบยมบาลในปรโลกแทนนะสิ

ส่วนใครที่ไม่ประมาทก็สามารถยืนรับลมชมวิวบนนี้ได้ตามปกติ โดยหลังจากนั้นไม่นานดวงอาทิตย์ลูกกลมโตค่อยแย้มกลีบเมฆผ่านม่านหมอกขาวโพลน ส่งสีแดงเรื่อแรงให้พวกเราได้ยลกันเป็นขวัญตา

จากนั้นไม่นานสายหมอกที่ขาวโพลนก็ค่อยๆลอยเลื่อน เปิดทัศนียภาพเบื้องหน้าให้ปรากฏเห็นทิวทัศน์ของแนวทะเลภูเขากว้างไกลสุดสายตา

วันนั้นแม้ไม่เห็นทะเลหมอกลอยเป็นสายปุยสวยอย่างชัดเจนแต่เราก็ได้เห็นทะเลภูเขาอันกว้างไกลอย่างชัดเจน แต่ก็เป็นเพียงชั่วขณะอีกเช่นกัน เพราะหลังจากนั้นเมฆหมอกกลุ่มใหม่ได้ค่อยๆลอยเคลื่อนเข้าปกคลุมยอดภูลังกาอีกครั้ง ทำให้พี่สมชาติชวนเดินแหวกม่านเมฆหมอกลงจากยอดภู เพื่อไปชมจุดน่าสนใจอื่นๆกันบ้าง

จากยอดภูพอเดินลงมาได้สักหน่อยจะมีทางแยกขวา เดินไปยัง“ลานหินล้านปี”ที่อยู่ห่างออกไปราว 100 เมตร

ลานหินล้านปี เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยลานหินโบราณ มอส ไลเคน และพันธุ์ไม้แปลกๆหายาก อาทิ ชมพูภูพาน ประทัดดอย หยาดคำหลวง โคลงเคลง(เอนอ้า)ที่หากใครไปถูกจังหวะ ถูกเวลา ตรงกับช่วงที่ดอกไม้ป่าเบ่งบาน ก็จะได้พบกับสีสันประดับภูลังกาในอีกมิติหนึ่งที่สวยงามน่ายลไม่น้อยเลย

หลังชมหินโบราณ(ล้านปี)และเดินเสาะหาพืชพันธุ์ไม้แปลกๆในบริเวณนี้กันพอเป็นกระสัยให้เหงื่อซึม พี่สมชาติก็พาเดินย้อนกลับมายังทางหลัก แล้วพาเราเดินดุ่มๆไปต่อยังยอด“ภูนม” ที่มองเห็นเป็นยอดแหลมลิบๆอยู่เบื้องหน้า
นักท่องเที่ยวบรรจงถ่ายรูปภูนมอย่างพิถีพิถัน
ยอดภูนม อยู่ห่างจากยอดภูลังการาวๆ 600 เมตร เป็นดังขุนเขาสัญลักษณ์แห่งภูลังกามีความสูงประมาณ 1,600 เมตร บนนั้นสามารถชมวิวได้รอบตัว 360 องศา และสามารถชมได้ทั้งพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก
อยู่ห่างจากยอดภูลังการาวๆ 600 เมตร ถือเป็นส่วนหนึ่งของภูลังกา มีความสูงประมาณ 1,600 เมตร บนนั้นสามารถชมวิวได้รอบตัว 360 องศา และสามารถชมได้ทั้งพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก

“เขาลูกนี้(ยอดภูนม)แล้วแต่ใครจะมองเห็นเป็นรูปอะไร บางคนมองเป็นกำแพงเมืองจีน เป็นกอริลลา และเป็นนมสาว” พี่สมชาติอธิบายระหว่างทางเดินสู่ยอดภูนม

ก็ยังดีที่มีคนมองเห็นเป็นนมสาว เพราะหากเกิดใครมองแล้วจินตนาการเป็น “ภูนมยาย”อาจจะทำให้คนตั้งชื่อภูนมเซ็งเป็ดเอาได้ง่ายๆ

บนยอดภูนม ไม่เพียงมองเห็นทิวทัศน์ของขุนเขาที่สวยงามเท่านั้น แต่หากมองย้อนกลับไปในเส้นทางที่เราเพิ่งเดินผ่านมาก็จะเห็นวิวของยอดภูลังกาที่สวยงามไปอีกแบบ

“ฟ้าใสๆอย่างนี้ต้องรีบถ่ายรูปเก็บเอาไว้ก่อน เพราะบนนี้อากาศเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เดี๋ยวฟ้าใส เดี๋ยวหม่น เดี๋ยวหมอกแน่นทึบ เอาแน่เอานอนไม่ได้” พี่สมชาติบอกจากประสบการณ์ที่เคยขึ้นมาบนนี้บ่อยครั้ง
มุมมองจากภูนมย้อนกลับไปยังยอดภูลังกา
นั่นคงเป็นเพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ธรรมชาติสุดหยั่งคะเน แต่นี่ไยไม่ใช่เสน่ห์อย่างหนึ่งของธรรมชาติที่เหล่านักเดินทางแสวงหาและดั้นด้นไปสุดหล้าเพื่อชื่นชมในความงามและความมหัศจรรย์

สำหรับภูลังกาแล้วนี่คือหนึ่งในความงามท่ามกลางธรรมชาติอันพิสุทธิ์ ที่รอให้ใครหลายคนเดินทางขึ้นไปค้นหา ซึ่งเมื่อดั้นด้นผ่านเส้นทางอันยากลำบากขึ้นไปยังยอดสูงสุด ความเหนื่อยล้า ความท้อถอยทั้งหลายที่เกิดขึ้นจะหายไปเป็นปลิดทิ้ง

และนี่ไยไม่ใช่บทเรียนชีวิตที่ธรรมชาติ(แอบ)สอนให้กับเราอย่างแนบเนียนว่า

...บนเส้นทางของชีวิตที่เต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามนั้น หากสามารถฟันฝ่าก้าวข้ามไปได้ ที่เบื้องหน้านั้นย่อมมีความสำเร็จ ความสวยงาม และความวิจิตรเพริศแพร้ว รอคอยอยู่...

...ขอเพียงชีวิตยังมีหวังและไม่ย่นย่อท้อต่ออุปสรรคเท่านั้น...

*****************************************

ภูลังกา ตั้งอยู่ในวนอุทนยานภูลังกา ต.ผาช้างน้อย อ.ปง จ.พะเยา การเดินทางสามารถไปได้ 2 เส้นทางหลัก คือ จาก จ.พะเยามาตามเส้นทาง 1021 ผ่าน อ.ดอกคำใต้ อ.จุน ถึง อ.เชียงคำ เปลี่ยนเส้นทางไป อ.ปง สาย 1148 ระยะทางรวม 120 กิโลเมตร หรือจาก จ.เชียงราย ใช้เส้นทาง 1020 ผ่าน อ.เทิง ถึง อ.เชียงคำ เปลี่ยนเส้นทางไป อ.ปง สาย 1148 ถึงภูลังกา ระยะทางรวม 140 กิโลเมตร

สำหรับผู้ที่จะพักค้างบนภูลังกา เนื่องจากบนนั้นไม่มีไฟฟ้าใช้ ให้เตรียมไฟฉายหรืออุปกรณ์ส่องสว่าง อาหารและอุปกรณ์พักแรมขึ้นไปเอง ส่วนรถยนต์ธรรมดาสามารถขึ้นได้ถึงห้องเรียนธรรมชาติ สูงกว่านั้นต้องใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อ จากทางวนอุทยานฯ หรือจากชุมชนในพื้นที่

โดยผู้สนใจเที่ยวจังหวัดพะเยาและภูลังกา สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดพะเยา โทร.0-5441-2699,05441-4003(มีการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวแบบเป็นแพ็คเกจ) วนอุทยานภูลังกา โทร.08-1883-0307 อบต.ผาช้างน้อย โทร.0-5440-1100 , ภูลังกา รีสอร์ท โทร.0-5441-5570, โครงการหลวงปังค่า โทร.0-5440-1023

การเดินทางไปจังหวัดพะเยา ที่พัก ร้านอาหาร

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

แอ่ววัดงามเมืองพะเยา เคล้าสายน้ำตกอุ่น
ไหว้พระวัดเก่า เยือนขุนเขาในม่านหมอก ที่เมือง“พะเยา”
“พระเจ้านั่งดิน”พะเยา อัศจรรย์อันซีนไทยแลนด์
กำลังโหลดความคิดเห็น