โดย : ปิ่น บุตรี
...ตี 5 พอดีเป๊ะ...เปิดบันทึกนอกโน้ตบุ๊ก(บันทึกในใจ)
...ตึ๊ดๆๆๆๆๆ...
เสียงนาฬิกาปลุกโทรศัพท์มือถือ ปลุกผมให้ตื่นขึ้นมายามรุ่งสาง ณ ที่พักกลางเมืองแม่ฮ่องสอน
เช้าตรู่วันใหม่นี้ไม่มีเสียงไก่ขัน เพราะคนแถวนี้ไม่ได้เลี้ยงไก่แบบชาวบ้านตามชนบท หากแต่มีเสียงหมาเห่าเป็นระยะๆ เพราะชาวบ้านแถวนี้เลี้ยงหมากันหลายบ้าน
ปกติถ้าอยู่ที่บ้านช่วงเวลาอย่างนี้ คนด้อยสมรรถภาพทางการตื่นเช้าอย่างผมคงนอนหลับอุตุ ส่วนถ้าจะตื่นขึ้นมาในเวลานี้ก็ด้วยเหตุผลประการเดียว คือ“ลุกขึ้นมาฉี่”ก่อนจะกลับเข้าไปนอนต่อ
แต่สำหรับเช้านี้ถือเป็นอีกครั้งที่ไม่ปกติ เพราะเมื่ออุตส่าห์ดั้นด้นฝ่าฟัน พันกว่าโค้งไปสู่เมืองแม่ฮ่องสอนแล้ว หากมัวนอนหลับใหลแบบไม่สนใจฟ้าดินมันก็ดูกระไรอยู่ ยิ่งรู้ทั้งรู้ว่าบรรยากาศยามเช้าในตัวเมืองแม่ฮ่องสอนนั้นน่ายล น่าสัมผัสเหลือหลาย ยิ่งพลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง แถมเช้านี้ผมยังมีนัดกับพี่โหน่ง(ภานุเดช ไชยสกูล) ผู้สื่อข่าวพิเศษประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน ว่าจะมารับตอนตี 5 ครึ่ง เพื่อพาไปใส่บาตร และเดินชมสีสันตลาดเช้าแห่งเมืองสามหมอก
...ราวตี 5 ครึ่ง...ไปกาดเช้า
พี่โหน่งมาเคาะประตูห้องพัก บอกถึงเวลาอันควรแก่การเดินทางแล้ว เพราะเวลาไม่คอยท่า ฟ้าไม่คอยคน หากชักช้าโปรแกรมที่พี่แกวางไว้คลาดเคลื่อนได้
“ครับเพ่ จะออกไปเดี๋ยวนี้แหละ”
ผมตะโกนบอกพี่โหน่ง พร้อมคว้ากล้อง สวมเสื้อกันหนาว เดินออกจากห้องไปสู้กับอากาศยามเช้าอันหนาวเหน็บแห่งเมืองสามหมอก ก่อนออกเดินทางมุ่งสู่กาดเช้า(ตลาดเช้า)หรือตลาดสายหยุด บนถนนสิงหนาทบำรุง ที่อยู่ห่างออกไปไม่กี่ช่วงตึก
...ตี 5 ปลายๆ...ใส่บาตร
อากาศหนาวเหน็บ ฟ้ามืดตื้อ
ตลาดเช้ายามนี้หรือตลาดสายหยุด(บนถนนสิงหนาทบำรุง) เริ่มมีผู้คนทยอยเดินทางมาจับจ่ายมากขึ้น ในขณะที่บรรดาร้านรวงรอบข้างที่ยังคงปิดเงียบเนื่องจากยังเช้ามือตึ๊ดตื๋อ สวนทางกับเหล่าแม่ค้าพ่อค้าในตลาดเช้าที่มาเปิดร้านเปิดแผงคอยท่าอยู่นานแล้ว ส่วนที่ริมถนนพระ-เณร หลายรูปออกบิณฑบาต แต่ไม่มีเป็นแถวยาวเหมือนที่หลวงพระบาง หากแต่มาเดี่ยว มาคู่ หรือมาเป็นกลุ่มเล็กๆ 3-4 รูป
จังหวะเวลานี้ พี่โหน่งมีข้อเสนอว่าจะไปเดินชมตลาดเช้าก่อนเพื่อซื้อของมาใส่บาตร หรือจะซื้อชุดสำรับสำเร็จใส่บาตรที่หน้าทางเข้าตลาด
งานนี้ผมเลือกอย่างหลังเพราะไม่อยากย้อนไป ย้อนกลับ และอีกอย่างคือต้องการ ใส่บาตร รับศีล รับพร เอกฤกษ์เอาชัย เปิดประเดิมเช้าแรกของวันเพื่อความเป็นสิริมงคล ว่าแล้วเราก็ไปซื้อชุดสำรับสำเร็จสำหรับใส่บาตรที่แม่ค้าหน้าตลาดจัดเตรียมไว้ ยืนดักรอพระ-เณร ที่เดินบิณฑบาตผ่านไป-มา
โบราณว่าไว้ใส่บาตรอย่าถามพระ เมื่อพระ-เณร เดินบิณฑบาตมาถึง ผมจึงค่อยๆหยิบอาหารในสำรับใส่ไปทีละรูป 2 รูป 3 รูป...จนคิดว่าอิ่มบุญเต็มเปี่ยมแล้ว จึงสวมรองเท้าออกเดินต่อไปยังตลาดเช้าที่อยู่ห่างออกไปไม่กี่สิบก้าว
...6 โมงนิดๆ...ชมตลาด
ฟ้าเริ่มสาง
ผมเดินตามพี่โหน่งเข้าในตลาดเช้า ซึ่งเมื่อเดิน 2 มือล้วงกระเป๋า 2 เท้าก้าวเข้าเขตตลาด ก็ได้พบกับสีสันบรรยากาศการซื้อ-ขาย อันเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของตลาดแห่งนี้ ที่มีชาวไทยใหญ่ โดยเฉพาะพ่ออุ๊ย แม่อุ๊ย ใส่ชุดพื้นเมืองมาเดินจับจ่ายใช้สอย ด้านคนรุ่นใหม่ก็จะใส่เสื้อผ้าตามสมัยนิยมมาเดินตลาด
ส่วนในเรื่องของสินค้านั้น ที่ตลาดเช้าก็มีของแปลกตา(สำหรับผม แต่เป็นของปกติชินตาสำหรับชาวแม่ฮ่องสอน) ให้ชม ชิม ช้อป กันเพียบไปหมด ไม่ว่าจะเป็นพืชผักพื้นบ้าน ผลไม้ ดอกไม้สีสันสดใส อาหารคาว-หวาน อาหารแห้ง ฯลฯ แต่ที่สะดุดตาโดนใจผมเป็นพิเศษจนต้องหยุดซื้อหรือขอแม่ค้าชิมดื้อๆ(เฉยเลย) เพื่อลิ้มลองรสแห่งความแปลกใหม่ก็คือบรรดาอาหารพื้นเมืองไทยใหญ่ ทั้งคาว-หวาน ที่วางขายอยู่หลากหลายเจ้า
นอกจากจะดูแปลกตาแล้วอาหารหลายอย่างยังมีชื่อฟังแปลกหู(ผม)อีกด้วย
ผมขอเริ่มจากอาหารคาวก่อน ซึ่งเท่าที่จำชื่อได้ก็มี จิ๊นลุง(หมูสับปั้นเป็นก้อนๆใส่เครื่องปรุงหลายอย่าง ทอดจนสุก รสคล้ายไส้อั่ว)ที่เห็นทีแรกนึกว่าเป็นลูกชิ้นสูตรไทยใหญ่ไปซะนี่ ชุดอาหารอุ๊บ(ไม่ใช่ชื่อหนังสือบันเทิง แต่เป็นการทำอาหารแบบไทยใหญ่ด้วยน้ำแกงขลุกขลิก เคี่ยวจนงวด) ที่วันนั้นเห็นมีปลาอุ๊บ ไข่อุ๊บ ไก่อุ๊บ น้ำพริกอุ๊บ เครื่องในหมูอุ๊บ...แหม หลังทดลองชิมแล้ว ต้องขอบอกแบบไม่อุ๊บไต๋(อุบไต๋)ว่า รสเด็ดๆจริง ยิ่งกินกับข้าวเหนียวร้อนๆยิ่งสุดยอดจริง พับผ่าสิ
นั่นเป็นแค่ตัวอย่างเบาะๆของอาหารคาวชื่อแปลกๆที่ผมได้คุณป้าแม่ค้าผู้ใจดีช่วยอธิบายถึงลักษณะวิธีการปรุงให้ฟัง ซึ่งนอกจากนี้ก็ยังมีอาหารคาวอื่นๆอีกเพียบ อย่าง ข้าวส้ม (ข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อนกลมสีเหลืองๆเนื่องจากผสมมะเขือเทศและขมิ้น) แกงฮังเล ผักกาดจอเจ็ม น้ำพริกโข้(น้ำพริกคั่ว เป็นผงป่นๆ(สีคล้ายน้ำพริกเผาแห้งป่น) เก็บไว้ได้นาน : พี่โหน่งบอกว่าคลุกกินกับข้าวพร้อมหรือกินกับจิ้งกุ้งทอดอร่อยมาก) น้ำพริกอ่อง น้ำพริกหนุ่ม ตำหมากหนุน(ตำขนุน) ชุดสะนาบ(เป็นการยำประเภทหนึ่งเน้นไปทางยำผลไม้) อย่าง มะม่วงสะนาบ มะเฟืองสะนาบ ชุดโก้(ไม่ใช่ชุดอาหารที่หน้าตาดูโก้หรู หากแต่เป็นการยำอย่างหนึ่ง มีใส่น้ำพริกถั่วเน่าด้วย) วันนั้นเท่าที่เห็นก็มีส้มแกงโก้(ยำยอดมะขาม) หนังโก้(หนังวัวยำ : รสแซ่บจริงๆ) และ ฯลฯ
จากอาหารคาว ต่ออารมณ์กันด้วยอาหารหวานหรือขนมแบบชาวไทยใหญ่กันบ้าง
ขนมบางอย่างนี่แรกได้ยินชื่อก็ถึงกับทึ่ง อึ้งไปเลย อย่าง ส่วยทะมิน (ทำจากข้าวเหนียว น้ำตาลอ้อย กะทิ กวนให้สุกแล้วใส่ถาดผิง) ที่ฟังชื่อแล้วออกแนวดุดัน+คอร์รัปชั่น แต่กับเป็นขนมหน้าตาเหมือนขนมหม้อแกง(หน้าไหม้นิดๆ)มีรสชาติกลมกล่อม หวานกำลังดี
ตามต่อกันด้วยอาหารแนวเดียวกันอย่าง อาละหว่า และ เปงม้ง ที่หน้าตา วิธีทำ และส่วนผสมคล้ายกัน (ออกแนวหม้อแกงไทยใหญ่เหมือนกัน) แต่อาละหว่า ทำจากแป้งข้าวเจ้า ส่วนเปงม้งทำจากแป้งข้าวเจ้าแต่ใส่ผงฟูเพิ่ม
ของกินอีกอย่างที่พบมากในตลาดเช้าก็คือถั่วเหลืองคั่วที่ขายเป็นถุงๆ ซึ่งนี่ถือเป็นของฝากชื่อดังของแม่ฮ่องสอน ขบเคี้ยวเล่นๆกรุบกรอบออกเค็มนิดๆ เพลินปากดี หรือถ้าจะกินแกล้มเหล้า เบียร์ ผมก็ว่าเด็ดไม่แพ้ถั่วราคาแพงจากเมืองนอกเลย
และไหนๆก็พูดถึงถั่วแล้ว พี่โหน่งบอกกับผมว่า ถั่วที่เป็นของกินหลักคู่ปากท้องชาวแม่ฮ่องสอนก็คือ “ถั่วเน่า” ที่ทำจากถั่วเหลืองต้มจนเปื่อย หมักทิ้งไว้ราว 2 คืน สีออกคล้ำๆ คนที่นี่นิยมใช้ถั่วเน่ามาปรุงร่วมกับอาหารหลายอย่าง ทั้งผัด แกง ยำ ตำน้ำพริก
“เราไปดูแผ่นซีดีกินได้กันดีกว่า”
หะแรก ผมยังงงๆว่า แผ่นซีดีกินได้มันเป็นยังไง แต่พอพี่โหน่งพาไปดูก็ถึงบางอ้อทันที
สำหรับแผ่นซีดีกินได้ มันก็คือถั่วเน่าตากแห้งสีออกเทาๆดำๆ เป็นแผ่นๆขนาดประมาณแผ่นซีดี
“มันคือ“ถั่วเน่าแข็บ”แต่หลายๆคนมักจะเรียกเล่นๆว่าแผ่นซีดี”พี่โหน่งบอก
ครับและนี่ก็คือเสน่ห์เพียงบางส่วนของตลาดเช้าเมืองแม่ฮ่องสอน ซึ่งในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา(จากการมาเดินสัมผัสด้วยตัวเองทุกครั้งที่มาพัก ณ เมืองแม่ฮ่องสอน)ผมว่าตลาดแห่งนี้ยังคงเต็มเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์แห่งบรรยากาศการซื้อ-ขาย อันเป็นเอกลักษณ์อยู่ไม่สร่างซา จะมีที่ลดน้อยไปบ้างก็เห็นจะเป็นภาชนะบรรจุอาหาร ขนม ที่หลายร้านหันมาใช้ถุงพลาสติกแทนใบตอง ใบบัว และใบตองตึงแบบดั้งเดิม(แต่ก็ยังก็ยังมีหลายร้านที่ยังห่อของด้วยใบตอง ใบบัว และใบตองตึงอยู่)
แต่นั่นก็เป็นความเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยตามยุคสมัย ซึ่งเพื่อนหลายคนมักจะถามผมว่า
“ตลาดแม่ฮ่องสอนมีเสน่ห์ตรงไหน?”
“ไม่รู้สิ มึงลองไปเดินเอง มันมีอะไรที่ห้างใหญ่ๆไม่มี โดยเฉพาะรอยยิ้ม เสียงบ่น เสียงต่อรองราคา และบรรยากาศการซื้อขายที่ไม่เสแสร้ง”
ผมบอกกับเพื่อนทุกคน(ที่ถาม)อย่างนั้น เพราะเรื่องแบบนี้เป็นความชอบส่วนบุคคลที่ยากจะลอกเลียนแบบ บางคนอาจชอบ และบางคนอาจไม่ชอบ ยิ่งต้องตื่นแต่เช้ามืดมาเดินด้วยยิ่งอาจเป็นของแสลงสำหรับเขา
แต่สำหรับผมถือว่าเสน่ห์แบบนี้ มันหาชมกันไม่ได้ง่ายๆ ยิ่งในยุคที่ห้างค้าปลีกต่างชาติบุกยึดหัวหาดไปทั่วเมืองไทย บรรยากาศการซื้อ-ขายแบบเรียบง่ายแต่จริงใจเช่นนี้ ดูนับวันยิ่งมายิ่งเหลือน้อยเต็มที...(อ่านบันทึกนอกโน้ตบุ๊กต่อตอนหน้า)
*****************************************
ตลาดสายหยุดหรือตลาดเช้า ตั้งอยู่กลางเมืองแม่ฮ่องสอน ระหว่าง ถ. สิงหนาทบำรุง กับ ถ. พาณิชย์วัฒนา เปิดขายทุกวัน
...ตี 5 พอดีเป๊ะ...เปิดบันทึกนอกโน้ตบุ๊ก(บันทึกในใจ)
...ตึ๊ดๆๆๆๆๆ...
เสียงนาฬิกาปลุกโทรศัพท์มือถือ ปลุกผมให้ตื่นขึ้นมายามรุ่งสาง ณ ที่พักกลางเมืองแม่ฮ่องสอน
เช้าตรู่วันใหม่นี้ไม่มีเสียงไก่ขัน เพราะคนแถวนี้ไม่ได้เลี้ยงไก่แบบชาวบ้านตามชนบท หากแต่มีเสียงหมาเห่าเป็นระยะๆ เพราะชาวบ้านแถวนี้เลี้ยงหมากันหลายบ้าน
ปกติถ้าอยู่ที่บ้านช่วงเวลาอย่างนี้ คนด้อยสมรรถภาพทางการตื่นเช้าอย่างผมคงนอนหลับอุตุ ส่วนถ้าจะตื่นขึ้นมาในเวลานี้ก็ด้วยเหตุผลประการเดียว คือ“ลุกขึ้นมาฉี่”ก่อนจะกลับเข้าไปนอนต่อ
แต่สำหรับเช้านี้ถือเป็นอีกครั้งที่ไม่ปกติ เพราะเมื่ออุตส่าห์ดั้นด้นฝ่าฟัน พันกว่าโค้งไปสู่เมืองแม่ฮ่องสอนแล้ว หากมัวนอนหลับใหลแบบไม่สนใจฟ้าดินมันก็ดูกระไรอยู่ ยิ่งรู้ทั้งรู้ว่าบรรยากาศยามเช้าในตัวเมืองแม่ฮ่องสอนนั้นน่ายล น่าสัมผัสเหลือหลาย ยิ่งพลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง แถมเช้านี้ผมยังมีนัดกับพี่โหน่ง(ภานุเดช ไชยสกูล) ผู้สื่อข่าวพิเศษประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน ว่าจะมารับตอนตี 5 ครึ่ง เพื่อพาไปใส่บาตร และเดินชมสีสันตลาดเช้าแห่งเมืองสามหมอก
...ราวตี 5 ครึ่ง...ไปกาดเช้า
พี่โหน่งมาเคาะประตูห้องพัก บอกถึงเวลาอันควรแก่การเดินทางแล้ว เพราะเวลาไม่คอยท่า ฟ้าไม่คอยคน หากชักช้าโปรแกรมที่พี่แกวางไว้คลาดเคลื่อนได้
“ครับเพ่ จะออกไปเดี๋ยวนี้แหละ”
ผมตะโกนบอกพี่โหน่ง พร้อมคว้ากล้อง สวมเสื้อกันหนาว เดินออกจากห้องไปสู้กับอากาศยามเช้าอันหนาวเหน็บแห่งเมืองสามหมอก ก่อนออกเดินทางมุ่งสู่กาดเช้า(ตลาดเช้า)หรือตลาดสายหยุด บนถนนสิงหนาทบำรุง ที่อยู่ห่างออกไปไม่กี่ช่วงตึก
...ตี 5 ปลายๆ...ใส่บาตร
อากาศหนาวเหน็บ ฟ้ามืดตื้อ
ตลาดเช้ายามนี้หรือตลาดสายหยุด(บนถนนสิงหนาทบำรุง) เริ่มมีผู้คนทยอยเดินทางมาจับจ่ายมากขึ้น ในขณะที่บรรดาร้านรวงรอบข้างที่ยังคงปิดเงียบเนื่องจากยังเช้ามือตึ๊ดตื๋อ สวนทางกับเหล่าแม่ค้าพ่อค้าในตลาดเช้าที่มาเปิดร้านเปิดแผงคอยท่าอยู่นานแล้ว ส่วนที่ริมถนนพระ-เณร หลายรูปออกบิณฑบาต แต่ไม่มีเป็นแถวยาวเหมือนที่หลวงพระบาง หากแต่มาเดี่ยว มาคู่ หรือมาเป็นกลุ่มเล็กๆ 3-4 รูป
จังหวะเวลานี้ พี่โหน่งมีข้อเสนอว่าจะไปเดินชมตลาดเช้าก่อนเพื่อซื้อของมาใส่บาตร หรือจะซื้อชุดสำรับสำเร็จใส่บาตรที่หน้าทางเข้าตลาด
งานนี้ผมเลือกอย่างหลังเพราะไม่อยากย้อนไป ย้อนกลับ และอีกอย่างคือต้องการ ใส่บาตร รับศีล รับพร เอกฤกษ์เอาชัย เปิดประเดิมเช้าแรกของวันเพื่อความเป็นสิริมงคล ว่าแล้วเราก็ไปซื้อชุดสำรับสำเร็จสำหรับใส่บาตรที่แม่ค้าหน้าตลาดจัดเตรียมไว้ ยืนดักรอพระ-เณร ที่เดินบิณฑบาตผ่านไป-มา
โบราณว่าไว้ใส่บาตรอย่าถามพระ เมื่อพระ-เณร เดินบิณฑบาตมาถึง ผมจึงค่อยๆหยิบอาหารในสำรับใส่ไปทีละรูป 2 รูป 3 รูป...จนคิดว่าอิ่มบุญเต็มเปี่ยมแล้ว จึงสวมรองเท้าออกเดินต่อไปยังตลาดเช้าที่อยู่ห่างออกไปไม่กี่สิบก้าว
...6 โมงนิดๆ...ชมตลาด
ฟ้าเริ่มสาง
ผมเดินตามพี่โหน่งเข้าในตลาดเช้า ซึ่งเมื่อเดิน 2 มือล้วงกระเป๋า 2 เท้าก้าวเข้าเขตตลาด ก็ได้พบกับสีสันบรรยากาศการซื้อ-ขาย อันเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของตลาดแห่งนี้ ที่มีชาวไทยใหญ่ โดยเฉพาะพ่ออุ๊ย แม่อุ๊ย ใส่ชุดพื้นเมืองมาเดินจับจ่ายใช้สอย ด้านคนรุ่นใหม่ก็จะใส่เสื้อผ้าตามสมัยนิยมมาเดินตลาด
ส่วนในเรื่องของสินค้านั้น ที่ตลาดเช้าก็มีของแปลกตา(สำหรับผม แต่เป็นของปกติชินตาสำหรับชาวแม่ฮ่องสอน) ให้ชม ชิม ช้อป กันเพียบไปหมด ไม่ว่าจะเป็นพืชผักพื้นบ้าน ผลไม้ ดอกไม้สีสันสดใส อาหารคาว-หวาน อาหารแห้ง ฯลฯ แต่ที่สะดุดตาโดนใจผมเป็นพิเศษจนต้องหยุดซื้อหรือขอแม่ค้าชิมดื้อๆ(เฉยเลย) เพื่อลิ้มลองรสแห่งความแปลกใหม่ก็คือบรรดาอาหารพื้นเมืองไทยใหญ่ ทั้งคาว-หวาน ที่วางขายอยู่หลากหลายเจ้า
นอกจากจะดูแปลกตาแล้วอาหารหลายอย่างยังมีชื่อฟังแปลกหู(ผม)อีกด้วย
ผมขอเริ่มจากอาหารคาวก่อน ซึ่งเท่าที่จำชื่อได้ก็มี จิ๊นลุง(หมูสับปั้นเป็นก้อนๆใส่เครื่องปรุงหลายอย่าง ทอดจนสุก รสคล้ายไส้อั่ว)ที่เห็นทีแรกนึกว่าเป็นลูกชิ้นสูตรไทยใหญ่ไปซะนี่ ชุดอาหารอุ๊บ(ไม่ใช่ชื่อหนังสือบันเทิง แต่เป็นการทำอาหารแบบไทยใหญ่ด้วยน้ำแกงขลุกขลิก เคี่ยวจนงวด) ที่วันนั้นเห็นมีปลาอุ๊บ ไข่อุ๊บ ไก่อุ๊บ น้ำพริกอุ๊บ เครื่องในหมูอุ๊บ...แหม หลังทดลองชิมแล้ว ต้องขอบอกแบบไม่อุ๊บไต๋(อุบไต๋)ว่า รสเด็ดๆจริง ยิ่งกินกับข้าวเหนียวร้อนๆยิ่งสุดยอดจริง พับผ่าสิ
นั่นเป็นแค่ตัวอย่างเบาะๆของอาหารคาวชื่อแปลกๆที่ผมได้คุณป้าแม่ค้าผู้ใจดีช่วยอธิบายถึงลักษณะวิธีการปรุงให้ฟัง ซึ่งนอกจากนี้ก็ยังมีอาหารคาวอื่นๆอีกเพียบ อย่าง ข้าวส้ม (ข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อนกลมสีเหลืองๆเนื่องจากผสมมะเขือเทศและขมิ้น) แกงฮังเล ผักกาดจอเจ็ม น้ำพริกโข้(น้ำพริกคั่ว เป็นผงป่นๆ(สีคล้ายน้ำพริกเผาแห้งป่น) เก็บไว้ได้นาน : พี่โหน่งบอกว่าคลุกกินกับข้าวพร้อมหรือกินกับจิ้งกุ้งทอดอร่อยมาก) น้ำพริกอ่อง น้ำพริกหนุ่ม ตำหมากหนุน(ตำขนุน) ชุดสะนาบ(เป็นการยำประเภทหนึ่งเน้นไปทางยำผลไม้) อย่าง มะม่วงสะนาบ มะเฟืองสะนาบ ชุดโก้(ไม่ใช่ชุดอาหารที่หน้าตาดูโก้หรู หากแต่เป็นการยำอย่างหนึ่ง มีใส่น้ำพริกถั่วเน่าด้วย) วันนั้นเท่าที่เห็นก็มีส้มแกงโก้(ยำยอดมะขาม) หนังโก้(หนังวัวยำ : รสแซ่บจริงๆ) และ ฯลฯ
จากอาหารคาว ต่ออารมณ์กันด้วยอาหารหวานหรือขนมแบบชาวไทยใหญ่กันบ้าง
ขนมบางอย่างนี่แรกได้ยินชื่อก็ถึงกับทึ่ง อึ้งไปเลย อย่าง ส่วยทะมิน (ทำจากข้าวเหนียว น้ำตาลอ้อย กะทิ กวนให้สุกแล้วใส่ถาดผิง) ที่ฟังชื่อแล้วออกแนวดุดัน+คอร์รัปชั่น แต่กับเป็นขนมหน้าตาเหมือนขนมหม้อแกง(หน้าไหม้นิดๆ)มีรสชาติกลมกล่อม หวานกำลังดี
ตามต่อกันด้วยอาหารแนวเดียวกันอย่าง อาละหว่า และ เปงม้ง ที่หน้าตา วิธีทำ และส่วนผสมคล้ายกัน (ออกแนวหม้อแกงไทยใหญ่เหมือนกัน) แต่อาละหว่า ทำจากแป้งข้าวเจ้า ส่วนเปงม้งทำจากแป้งข้าวเจ้าแต่ใส่ผงฟูเพิ่ม
ของกินอีกอย่างที่พบมากในตลาดเช้าก็คือถั่วเหลืองคั่วที่ขายเป็นถุงๆ ซึ่งนี่ถือเป็นของฝากชื่อดังของแม่ฮ่องสอน ขบเคี้ยวเล่นๆกรุบกรอบออกเค็มนิดๆ เพลินปากดี หรือถ้าจะกินแกล้มเหล้า เบียร์ ผมก็ว่าเด็ดไม่แพ้ถั่วราคาแพงจากเมืองนอกเลย
และไหนๆก็พูดถึงถั่วแล้ว พี่โหน่งบอกกับผมว่า ถั่วที่เป็นของกินหลักคู่ปากท้องชาวแม่ฮ่องสอนก็คือ “ถั่วเน่า” ที่ทำจากถั่วเหลืองต้มจนเปื่อย หมักทิ้งไว้ราว 2 คืน สีออกคล้ำๆ คนที่นี่นิยมใช้ถั่วเน่ามาปรุงร่วมกับอาหารหลายอย่าง ทั้งผัด แกง ยำ ตำน้ำพริก
“เราไปดูแผ่นซีดีกินได้กันดีกว่า”
หะแรก ผมยังงงๆว่า แผ่นซีดีกินได้มันเป็นยังไง แต่พอพี่โหน่งพาไปดูก็ถึงบางอ้อทันที
สำหรับแผ่นซีดีกินได้ มันก็คือถั่วเน่าตากแห้งสีออกเทาๆดำๆ เป็นแผ่นๆขนาดประมาณแผ่นซีดี
“มันคือ“ถั่วเน่าแข็บ”แต่หลายๆคนมักจะเรียกเล่นๆว่าแผ่นซีดี”พี่โหน่งบอก
ครับและนี่ก็คือเสน่ห์เพียงบางส่วนของตลาดเช้าเมืองแม่ฮ่องสอน ซึ่งในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา(จากการมาเดินสัมผัสด้วยตัวเองทุกครั้งที่มาพัก ณ เมืองแม่ฮ่องสอน)ผมว่าตลาดแห่งนี้ยังคงเต็มเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์แห่งบรรยากาศการซื้อ-ขาย อันเป็นเอกลักษณ์อยู่ไม่สร่างซา จะมีที่ลดน้อยไปบ้างก็เห็นจะเป็นภาชนะบรรจุอาหาร ขนม ที่หลายร้านหันมาใช้ถุงพลาสติกแทนใบตอง ใบบัว และใบตองตึงแบบดั้งเดิม(แต่ก็ยังก็ยังมีหลายร้านที่ยังห่อของด้วยใบตอง ใบบัว และใบตองตึงอยู่)
แต่นั่นก็เป็นความเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยตามยุคสมัย ซึ่งเพื่อนหลายคนมักจะถามผมว่า
“ตลาดแม่ฮ่องสอนมีเสน่ห์ตรงไหน?”
“ไม่รู้สิ มึงลองไปเดินเอง มันมีอะไรที่ห้างใหญ่ๆไม่มี โดยเฉพาะรอยยิ้ม เสียงบ่น เสียงต่อรองราคา และบรรยากาศการซื้อขายที่ไม่เสแสร้ง”
ผมบอกกับเพื่อนทุกคน(ที่ถาม)อย่างนั้น เพราะเรื่องแบบนี้เป็นความชอบส่วนบุคคลที่ยากจะลอกเลียนแบบ บางคนอาจชอบ และบางคนอาจไม่ชอบ ยิ่งต้องตื่นแต่เช้ามืดมาเดินด้วยยิ่งอาจเป็นของแสลงสำหรับเขา
แต่สำหรับผมถือว่าเสน่ห์แบบนี้ มันหาชมกันไม่ได้ง่ายๆ ยิ่งในยุคที่ห้างค้าปลีกต่างชาติบุกยึดหัวหาดไปทั่วเมืองไทย บรรยากาศการซื้อ-ขายแบบเรียบง่ายแต่จริงใจเช่นนี้ ดูนับวันยิ่งมายิ่งเหลือน้อยเต็มที...(อ่านบันทึกนอกโน้ตบุ๊กต่อตอนหน้า)
*****************************************
ตลาดสายหยุดหรือตลาดเช้า ตั้งอยู่กลางเมืองแม่ฮ่องสอน ระหว่าง ถ. สิงหนาทบำรุง กับ ถ. พาณิชย์วัฒนา เปิดขายทุกวัน