xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยวต่างแดนแห่งโลกสวนอักษร ใน"พระนิพนธ์"สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระนิพนธ์สารคดีท่องเที่ยวใน สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ
พระอัจฉริยภาพด้านอักษรศาสตร์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ไม่เพียงเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของประชาชนชาวไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นที่รับทราบของชาวต่างชาติด้วย ซึ่งในปี พ.ศ. 2535 องค์การยูเนสโกได้มอบเหรียญวิกเตอร์ อูโก (Victor Hugo) ในฐานะที่ทรงปรีชาสามารถทางด้านอักษรศาสตร์ฝรั่งเศสให้แก่พระองค์ท่าน

โดยพระนิพนธ์พระองค์ได้ทรงนิพนธ์ไว้ในโอกาสต่างๆกัน นั้นมี อาทิ จุฬาลงกรณ์ราชสันตติวงศ์ พระนามราชโอรส ธิดา และพระราชนัดดา , แม่เล่าให้ฟัง , พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 , เวลาเป็นของมีค่า Busy Fingers , เจ้านายเล็กๆ – ยุวกษัตริย์ , ไปรษณียบัตรเจ้าฟ้า Postcard Games ฯลฯ

นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงรักการเดินทางท่องเที่ยว โดยทรงบันทึกการเดินทางไว้ทุกครั้ง ซึ่งภายหลังได้รวบรวมเป็นผลงานหนังสือสารคดีท่องเที่ยวมี 10 เล่มดังนี้

1 โหลในเมืองจีน, ยูนนาน,สายธารอารยธรรมจีน : 7 ธานีแห่งอาณาจักรกลาง, จากโคริโอสู่โคเรีย 8 วันในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี, ภูฐาน(ภูฏาน) เกาะเขียวบนแผ่นดิน, ที่ไซบีเรียหนาวไหม, ตุรกี ดินแดนจักรพรรดิโรมันและสุลต่านออตโตมัน, ซินเจียงและกานซู ภาพจากดินแดนสุดหล้าฟ้าเขียว, จีนตะวันออก ขึ้นเขา ลงทะเลสาบ เข้าวัด, และ จีนอีสานและเสฉวน จากแดนแมนจูสู่ภูง่อไบ๊

สำหรับพระนิพนธ์สารคดีท่องเที่ยวทั้ง 10 เล่มนี้ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงนำข้อมูลมาจากประสบการณ์ตรงทั้งจากการเสด็จต่างประเทศตามคำกราบทูลเชิญของประเทศต่างๆ การเสด็จทัศนศึกษาด้วยพระองค์เอง แล้วนำมาหลอมรวมเข้ากับข้อมูลเอกสาร ออกมาเป็นสารคดีอันทรงคุณค่ามีภาพประกอบชัดเจนสวยงาม อ่านแล้วได้ทั้งความรื่นรมย์ ได้รู้ทางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ โบราณคดี วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และงานศิลปะต่างๆ

ในงานพระนิพนธ์ส่วนใหญ่ พระองค์ทรงเป็นบรรณาธิการ โดยทรงมอบแบบสอบถามให้แก่คณะผู้ตามเสด็จแต่ละคน ตอบแบบสอบถามในแต่ละวัน ซึ่งทรงเรียกว่า“ใบกรอกการบ้าน” และทรงนำคำตอบ ข้อสังเกต ความคิดเห็นของแต่ละคนมาประมวลไว้ เพื่อให้ผู้อ่านจะได้ทราบเรื่องราวจากสายตาและความชอบ ไม่ชอบจากหลายๆคน หลายๆอาชีพ หลายๆวัย

พระนิพนธ์สารคดีท่องเที่ยวเหล่านี้จะมีแผนที่ ภาพถ่ายจำนวนมาก พร้อมคำอธิบายประกอบ ซึ่งให้ความรู้และความเพลิดเพลิน ส่วนภาษาที่ทรงใช้ก็จะเรียบง่าย ชัดเจนสมบูรณ์ แต่กระนั้นในบางตอนก็มีการใช้ภาษาที่มีรสชาติ อาทิ บทนำตอนหนึ่งในพระนิพนธ์เรื่อง “ยูนนาน”ที่กล่าวว่า

“...เป็นสิ่งที่ล่ำลือว่าสิบสองปันนานี้คล้ายเมืองไทยเหลือเกิน ภาษาก็คล้ายกันมาก พูดกันตอนแรกรู้สึกว่าเข้าใจกันดีเหลือเกิน แทบจะอยากไล่ให้ล่ามไปพักผ่อนเสีย แต่สักประเดี๋ยวให้พูดซ้ำหลายครั้งก็ไม่เข้าใจ ต้องไปตามให้ล่ามเข้ามาใหม่...”

นอกจากนี้ในส่วนโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยที่ได้ตามเสด็จ เพื่อบันทึกเทปโทรทัศน์นำมาเผยแพร่ พระองค์ทรงตรวจบทโทรทัศน์ด้วยพระองค์เองทุกครั้งก่อนที่จะนำออกอากาศ เพื่อให้ทุกคนได้ความรู้และเข้าใจในเรื่องต่างๆอย่างถูกต้อง

และนี่ก็คือหนึ่งในพระอัจฉริยภาพด้านอักษรศาสตร์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ซึ่งหลังพระองค์สิ้นพระชนม์เสด็จสู่สวรรคาลัย ท่ามกลางความโศกเศร้าของพสกนิกรชาวไทย ทางหอสมุดแห่งชาติได้จัดทำมุมหนังสือพระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เพื่อให้ผู้สนใจได้ชื่นชมพระอัจฉริยภาพด้านอักษรศาสตร์ของพระองค์ รวมทั้งหมด 25 เรื่อง อาทิ แม่เล่าให้ฟัง เจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์ จุฬาลงกรณ์ราชสันตติวงศ์ มหามกุฎราชสันตติวงศ์ โดยมีพระนิพนธ์ด้านสารคดีท่องเที่ยวรวมอยู่ในนั้นด้วย

สำหรับผู้สนใจพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ สามารถเข้าชมได้ที่ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี ถ.สามเสน เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2551 เป็นต้นไป
กำลังโหลดความคิดเห็น