ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 2568 ลงเหลือโต 1.8% จากเดิมคาด 2.8% พร้อมปรับลดประมาณการ GDP ปี 2569 ของไทย เหลือโต 1.6% จากเดิมคาด 2.9% อันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา, ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์, ความตึงเครียดทางการค้า, การท่องเที่ยวหดตัว และหนี้ครัวเรือนที่สูง
อย่างไรก็ดี ADB คาดว่า การลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐ ประกอบกับแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เน้นภาคการขนส่ง จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของประเทศให้เดินหน้าไปได้
ทั้งนี้ ADB ได้เปิดเผยในรายงานวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียของเอดีบี (Asian Development Outlook: ADO) เดือนกรกฎาคม 2568 โดยคาดว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียในปีนี้ จะเติบโตที่ 4.7% ลดลง 0.2% จากที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนเม.ย.ปีก่อน และคาดว่าเศรษฐกิจเอเชีย ปี 69 จะเติบโตที่ 4.6% ลดลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 4.7% ก่อน
ADB ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียและแปซิฟิก อาจย่ำแย่ลงไปกว่าเดิมจากภาษีสหรัฐฯ ที่เพิ่มมากและความตึงเครียดทางการค้า ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่ ความขัดแย้งและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของโลก ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น และการถดถอยของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจีนเกินกว่าที่คาดไว้
"เอเชียและแปซิฟิก เผชิญความท้าทายจากสภาพแวดล้อมภายนอกเพิ่มมากขึ้นในปีนี้ ในขณะที่แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจอ่อนแอลงท่ามกล่าวปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ และความไม่แน่นอนของโลก" นายอัลเบิร์ด ปาร์ค หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำเอดีบี กล่าว
พร้อมระบุว่า เศรษฐกิจในภูมิภาค ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการสร้างพื้นฐานให้แข็งแกร่ง และสนับสนุนการเปิดเสรีการค้าและการบูรณาการในภูมิภาคเพื่อสนับสนุนการลงทุน การจ้างงาน และการเติบโต
ขณะเดียวกัน ADB ยังการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ว่ายังคงอัตราเดิมที่ 4.7% ในปีนี้ และ 4.3% ในปี 69 โดยคาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการบริโภค และภาคอุตสาหกรรม จะช่วยชดเชยความอ่อนแอของตลาดอสังหาริมทรัพย์และการส่งออกที่ชะลอตัวลง
สำหรับอินเดีย ซึ่งเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของภูมิภาค คาดว่าจะเติบโตที่ 6.5% ในปีนี้ และ 6.7% ในปี 69 ลดลงจากการคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 0.2% และ 0.1% ตามลำดับ เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการค้า และอัตราภาษีนำเข้าที่สูงขึ้นของสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการลงทุน
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียและแปซิฟิกนั้น คาดว่าจะชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางราคาน้ำมันที่ปรับลดลงและผลผลิตทางการเกษตรที่แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งช่วยลดแรงกดดันด้านราคาสินค้าอาหาร โดยเอดีบี คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อในระดับภูมิภาคจะอยู่ที่ 2.0% ในปีนี้ และ 2.1% ในปี 69 ลดลงจากการคาดการณ์ครั้งก่อน ซึ่งอยู่ที่ 2.3% และ 2.2%