xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ไฟเขียวกู้เงิน”เอดีบี” 2,440 ล้านบาท สร้าง มอเตอร์เวย์ M7 เชื่อมเข้า”สนามบินอู่ตะเภา”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ครม.อนุมัติกู้เงิน”เอดีบี” 2,440 ล้านบาท สร้าง มอเตอร์เวย์ M7 ต่อขยาย เชื่อมเข้าสนามบินอู่ตะเภา ส่วนค่าเวนคืน 108 ล้านบาท ให้ใช้ประมาณรายจ่ายประจำปี คาดก่อสร้างเสร็จปี 2572

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 22 เม.ย.2568 มติ มีมติอนุมัติและเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอการกู้เงินจากธนาคารพัฒนาเอเชียสำหรับโครงการพัฒนาโครงข่ายทางหลวง เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข 7 ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ดังนี้

1. อนุมัติให้ กระทรวงการคลัง กู้เงินในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) สำหรับโครงการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหลวงหมายเลข 7 ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา (โครงการฯ) กรอบวงเงิน จำนวน 68.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2,440.19 ล้านบาท)

2. เห็นชอบร่างสัญญาเงินกู้โครงการฯ และเห็นชอบในการใช้อนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทตามเงื่อนไขที่กำหนดในข้อบังคับเงินกู้สำหรับการดำเนินงานตามปกติของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank Ordinary Operations Loan Regulations) (ข้อบังคับเงินกู้ฯ ADB) ลงวันที่ 1 มกราคม 2565 ของ ADB

3. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมอบหมาย เป็นผู้ลงนามในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยในสัญญาเงินกู้โครงการฯ

4. มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) จัดเตรียมทำคำรับรองทางกฎหมาย (Legal Opinion) สำหรับสัญญาเงินกู้โครงการฯ ภายหลังจากที่ได้มีการลงนามในสัญญาเงินกู้ดังกล่าวแล้ว

5. มอบหมายให้กรมทางหลวงปฏิบัติตามหน้าที่ความรับผิดชอบที่ถูกระบุไว้ในคู่มือปฏิบัติงาน (Project Administration Manual: PAM) (คู่มือปฏิบัติงานของ ADB) สัญญาเงินกู้โครงการฯ รวมทั้งกฎเกณฑ์และระเบียบที่เกี่ยวข้องของ ADB และเอกสารแนบท้ายสัญญาที่เกี่ยวข้อง ตามข้อสังเกตของสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ขอให้กรมทางหลวงบริหารสัญญาและกำกับดูแลผู้รับจ้างให้ดำเนินโครงการฯ อย่างมีประสิทธิภาพ และดำเนินการเบิกจ่ายเงินกู้ตามระยะเวลาที่กำหนด


ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2565 อนุมัติโครงการพัฒนาโครงข่ายทางหลวง เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา (โครงการฯ) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อก่อสร้างทางยกระดับแนวใหม่ขนาด 4 ช่องทางจราจร เชื่อมต่อทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ช่วงพัทยา - มาบตาพุด สู่สนามบินนานาชาติอู่ตะเภาและปรับปรุงขยายช่องทางจราจรของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) จากเดิม 4 ช่องทางจราจรเป็น 8 ช่องทางจราจร โดยมีกรอบวงเงิน จำนวน 4,508 ล้านบาท

โดยให้กระทรวงการคลัง จัดหาแหล่งเงินกู้ต่างประเทศสำหรับค่าดำเนินการก่อสร้าง ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงาน และเงินเผื่อเหลือเผื่อขาด และให้กระทรวงคมนาคม (กรมทางหลวง) ขอรับการจัดสรรงบประมาณสมทบ ซึ่งรวมค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพื่อดำเนินโครงการฯ ตามที่ กค. จะทำความตกลงกับแหล่งเงินกู้ สำหรับค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 108 ล้านบาท ให้ใช้จ่ายจากจบประมาณรายจ่ายประจำปี จากนั้น กค. ได้ขอรับการสนับสนุนเงินกู้อย่างเป็นทางการ สำหรับดำเนินโครงการฯ จากธนาคารเพื่อพัฒนาเอเชีย (ADB)

ต่อมากรมทางหลวงในฐานะผู้ดำเนินโครงการฯ ได้เสนอขอปรับเปลี่ยนแบบก่อสร้างใหม่ เป็นผลให้วงเงินโครงการฯ ลดลงเหลือ จำนวน 3,092.90 ล้านบาท คิดเป็นวงเงินกู้จาก ADB จำนวน 2,440.19 ล้านบาท หรือจำนวน 68.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 78.90 ของวงเงินโครงการ (อีกร้อยละ 21.10 ใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีของกรมทางหลวงจำนวน 652.71 ล้านบาท) โดย ADB ตกลงที่จะให้กรมทางหลวงเริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างไปพลางก่อนได้ และจะลงนามในสัญญาจ้างและเบิกจ่ายเงินกู้ได้ทันทีเมื่อสัญญาเงินกู้มีผลบังคับใช้

จากนั้น กระทรวงการคลัง ได้ส่งร่างสัญญาเงินกู้โครงการฯ ที่ได้เจรจากับ ADB จนได้ข้อยุติแล้วให้สำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) ตรวจพิจารณา ซึ่ง อส. ได้ให้ข้อสังเกตบางประการ ซึ่ง กค. (สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ) ได้ชี้แจงและรายงานผลการปฏิบัติตามข้อสังเกตของ อส. แล้ว กค. จึงขอเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างสัญญาเงินกู้โครงการฯ ระหว่างรัฐบาลไทยอนุมัติให้ กค. กู้เงินจาก ADB และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมอบหมาย เป็นผู้ลงนามในสัญญาเงินกู้โครงการฯ รวมทั้งการใช้อนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาท ซึ่งถูกกำหนดอยู่ในข้อบังคับเงินกู้สำหรับการดำเนินงานตามปกติของ ADB (ข้อบังคับเงินกู้ฯ ADB) ลงวันที่ 1 มกราคม 2565 ทั้งนี้ โครงการฯ มีกำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 30 มิถุนายน 2572


กำลังโหลดความคิดเห็น