ภาพรวมปี 2568 หุ้น “เอ็มเค สุกี้” ทำได้แค่ประครองตัว จากกำลังซื้อผู้บริโภคที่อ่อนตัว แถมการแข่งขันรุนแรง แม้จะส่ง Bonus Suki ลุยตลาด “บุฟเฟ่ต์ สุกี้” ราคาต่ำ เชื่อยังต้องใช้ระยะเวลาอีกพักใหญ่ถึงจะเห็นผลจากการลงทุน อีกทั้งให้มาร์จิ้นต่ำ รวมถึงอาจขาดทุนช่วงแรกจากการโหมลงทุน แต่ระยะยาวน่าสนใจ เนื่องจากเป็นหุ้นปันผลที่ดีและมีศักยภาพในการฟื้นตัว
ช่วงที่ผ่านมานอกจากการฟื้นตัวของดัชนีหลักทรัพย์ที่พุ่งทะยานแรงจากความเชื่อมั่นว่าไทยจะสามารถเจรจากับสหรัฐฯในเรื่องภาษีนำเข้าและได้ผลที่ดีกว่า 36% ก็ต้องยกให้กับการเข้ามาร่วมเล่นในตลาดสุกี้บุฟเฟ่ต์ของ บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (M) โดยการลงทุนจัดตั้งบริษัทย่อยเพื่อเข้ามาลุยตลาดสุกี้บุฟเฟ่ต์ ภายใต้ชื่อ “Bonus Suki” นั่นเอง
“เอ็มเค สุกี้” ภายใต้การบริหารของ M ถูกยกให้เป็นเต้ยครองตลาดสุกี้หม้อร้อนในประเทศยาวนานอย่างไม่ต้องสงสัย แม้จะมีแบรนด์เก่าแก่ แบรนด์อื่นมาร่วมแชร์ส่วนแบ่งการตลาดแต่ก็มีสัดส่วนที่น้อยมาก รวมไปถึงตลาด “ชาบูหม้อร้อน” ที่มาในรูปแบบราคาบุฟเฟ่ต์ก็ตามแบรนด์ไหนก็ตาม ก็ไม่สามารถสั่นสะเทือนความแข็งแกร่งของ M ได้ นั่นเพราะ M มีจุดแข็งที่โดดเด่นในการดำเนินธุรกิจ คือ นอกจากเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งและการเป็นที่รู้จัก มีความน่าเชื่อถือ ยังมีจุดแข็งด้านคุณภาพอาหารและการคัดสรรวัตถุดิบ การบริการที่เป็นเลิศ การใช้นวัตกรรมและการใช้เทคโนโลยี รวมถึงความหลากหลายของรูปแบบร้านและผลิตภัณฑ์ , ระบบการจัดการและซัพพลายเชนที่มีประสิทธิภาพ
สิ่งสำคัญ MK มีกำลังการผลิตจากครัวกลางที่ไม่มีใครไม่กล้ายอมรับ และถือเป็นจุดเด่นที่สูงมากสำหรับธุรกิจร้านอาหาร รวมถึงมีศูนย์ฝึกอบรมพนักงานที่พร้อมช่วยให้การขยายสาขาเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว และจุดที่เด่นสุดนั่นคือน้ำจิ้มที่คุ้นปากและเป็นที่ยอมรับ
คู่แข่งใหม่เติบโตรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม พอมีแบรนด์สุกกี้ บุฟเฟต์ที่เพิ่งเปิดใหม่มาไม่นานอย่าง “ตี๋น้อยสุกี้” และ “ลัคกี้ สุกี้”เกิดขึ้น ต้องยอมรับว่า ส่งผลต่อฐานลูกค้าของ “สุกี้ เอ็มเค” อย่างมีนัยยะสำคัญ เริ่มที่ใกล้ตัวอย่างผลประกอบการปี 2567 ที่ผ่านมา M มีรายได้ 1.54 พันล้านบาท ลดลง 7.5% และมีกำไรสุทธิ 1.44 พันล้านบาทลดลง 14.3% โดยยอดขายร้านเดิมลดลง 10%
ขณะที่ “ตี๋น้อย สุกี้” ปีที่ผ่านมามีรายได้ 7.07 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% และมีกำไรสุทธิ 1.16 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.8% ส่วน “ลัคกี้ สุกี้”มีรายได้รวม 1.01 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 148% และมีกำไรสุทธิ 108 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 134% และยิ่งเด่นชัดมากไปกว่านี้ มีรายงานว่า “ตี๋น้อย สุกี้” สามารถทำกำไรไตรมาส1/68 แซงหน้า “สุกี้ เอ็มเค” ไปแล้ว โดยมีกำไร 271 ล้านบาท ขณะที่ M ตั้งแต่แบรนด์สุกี้ รายได้หลัก รวมถึงแบรนด์อาหารอื่นๆในมือมีกำไร 234 ล้านบาท แม้บอกว่าคนละตลาด รูปแบบการขายคนละรูปแบบ ลูกค้าคนละกลุ่ม แต่สุดท้ายก็คือ “สุกี้”เหมือนกัน ถึงแม้วัตถุดิบที่ใช้อาจจะคนละเกรดและมีคุณภาพต่างกัน แต่ถือว่าเป็นคู่แข่งขันทางธุรกิจที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจเช่นนี้ เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่เลือกจะหันไปรับประทานในสินค้าที่มีราคาย่อมเยาว์มากกว่า
พลิกเกมส์กลับมาได้เปรียบ
ในที่สุด M ก็ร้าน “สุกี้ บุฟเฟ่ต์”ในเครือออกมาอย่างชัดเจนในชื่อ Bonus Suki หลังจากเพิ่งปล่อยโปรโมชั่นแบบบุฟเฟ่ต์ให้หลายสาขาของ “เอ็มเค สุกี้”ออกมาชิมรางแบบมีวันหมดอายุ จนได้รับเสียงตอบรับและเสียงวิจารณ์ควบคู่กันออกมาผ่านโลกโซเชียล โดยมีจุเด่นในราคาที่จับต้องได้มากกว่าโปรโมชั่นบุฟเฟ่ต์ “เอ็มเค สุกี้” และใกล้เคียงร้านสุกี้ บุฟเฟ่ต์เจ้าอื่นที่กำลังความนิยม แถมให้เวลาในการทานมากกว่า ท่ามกลางเมนูอาหารที่ไม่น้อยหน้าฝ่ายตรงข้าม เรียกว่าเกมส์นี้ M ได้รับการตอบรับจากนักการตลาด และนักวิเคราะห์ในตลาดหุ้นเป็นอย่างดี
นั่นเพราะทุกฝ่ายเชื่อมั่นในศักยภาพของบริษัท เชื่อมั่นในฐานการผลิต วัตถุดับ คุณภาพและบริการต่างๆ ที่บริษัทสะสมมายาวนาน ดังนั้นการขยับลงตลาดสุกี้ บุฟเฟต์ แม้จะเพิ่งก้าวลงมาเต็มตัว แต่หลายฝ่ายเชื่อว่า “สุกี้ บุฟเฟต์”ในนาม Bonus Suki น่าจะประสบความสำเร็จ ดึงรายได้ที่เคยหดหายไปกลับคืนมาได้แน่
ปัจจุบันตลาดสุกี้ยากี้ที่มีมูลค่าสูงถึง 2.5 หมื่นล้านบาท ดังนั้น M จะกลับมาครองความยิ่งใหญ่ได้อีกทั้งในรูปแบบสุกี้ อะลาคาร์ท และสุกี้ บุฟเฟ่ต์ หลังปล่อยให้รายเล็กเข้ามาแย่งส่วนแบ่งไปหลายปี
ล่าสุดมีการคาดการณ์ว่า นับตั้งแต่ไตรมาส3/68 ทุกอย่างจะเริ่มปรับเปลี่ยนไปทาง M มากขึ้น และนั่นน่าจะทำให้ส่วนแบ่งตลาดสุกี้ของ M ปัจจุบันที่ระดับ 60% น่าจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะในปี 2569 หลัง Bonus Suki มีการขยายสาขาอย่างมีนัยสำคัญ
มีรายงานว่า M มีสัดส่วนรายได้จาก “เอ็มเค สุกี้”ถึง 71% ถัดจากนั้นมาจาก ยาโยอิ (Yayoi) ประมาณ 19% ,แหลมเจริญซีฟู้ด 6% และอื่นๆประมาณ 4% ข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างธุรกิจของ M ที่พึ่งพารายได้จากแบรนด์เรือธงอย่าง “เอ็มเค สุกี้”เป็นหลัก ขณะเดียวกันก็พยายามขยายพอร์ตโฟลิโอและสร้างแหล่งรายได้ใหม่ๆ จากแบรนด์อื่นๆ และธุรกิจค้าปลีกเพิ่มเติม
หุ้น M ในตลาดหุ้น
ส่วนหุ้น M ในตลาดหุ้น บริษัทเคยเข้าซื้อขายด้วยราคาไอพีโอที่ระดับ 49.00 บาท/หุ้น กับปัจจุบันที่ยังไม่สามารถทะลุเกิน21.00 บาท/หุ้นได้ ประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งที่ชวนน่าคิดสำหรับผู้ที่ถือหุ้น M อยู่ในมือว่าจะถือต่อไปเพื่อรอการฟื้นตัวของราคาหุ้น หรือผู้ที่ต้องการเข้ามาลงทุนในหุ้น M หลังจากที่บริษัทเปิดตัว Bonus Suki เพราะเชื่อมั่นว่าธุรกิจใหม่ของบริษัทจะนำพาให้ราคาหุ้นทะยานขึ้นนั้นจะต้องพิจารณาจากสิ่งใดบ้าง
แต่นั่นเพราะ แม้การเปิดตัว Bonus Suki จะเป็นกลยุทธ์ที่ดีในการขยายตลาดและเป็นสัญญาณเชิงบวกในระยะยาว แต่นักลงทุนยังคงรอดูความชัดเจนของผลลัพธ์ที่จะสะท้อนในตัวเลขผลประกอบการ โดยเฉพาะในไตรมาสถัดๆ ไป รวมถึงต้องพิจารณาปัจจัยกดดันอื่นๆ ด้วย
ฐานะการเงินของ M
โดยในปีที่ผ่านมา(2567) M มีรายได้จากการขายและบริการ 1.54 หมื่นล้านบาท ลดลง 7.5% จากปี 2566 ซึ่งมีรายได้ 1.66 หมื่นล้านบาท ทำให้กำไรสุทธิอยู่ที่ 1.44 พันล้านบาท ลดลง 14.3% จาก 1.68 พันล้านบาทในปีก่อนหน้า เป็นผลให้กำไรต่อหุ้นเหลือ 1.57 บาทต่อหุ้น จาก 1.83 บาทต่อหุ้น
สาเหตุหลักที่ผลประกอบการลดลงในปี 2567 มาจากยอดขายสาขาเดิมที่ลดลง (Same Store Sales Growth - SSSG) ลดลง ซึ่งคาดว่าเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ขณะที่การแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น สวนทางกับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนตัวลง จากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น รวมถึงบริษัทมีการปิดสาขาลงเล็กน้อยในปี 2567 (จาก 703 สาขาในปี 2566 เหลือ 692 สาขา ณ สิ้นปี 2567)
อย่างไรก็ตามแม้ผลประกอบการโดยรวมจะลดลง แต่บริษัทฯ ยังคงรักษาการจ่ายเงินปันผลได้ดี โดยมีการเสนอจ่ายปันผลสำหรับปี 2567 ที่ 1.50 บาทต่อหุ้น (ปี 2566 จ่าย 1.60 บาทต่อหุ้น) ทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคงแนะนำ "ถือ" หุ้น M โดยมองว่าเป็นหุ้นที่มีปันผลดี แต่ยังต้องรอสัญญาณการฟื้นตัวของรายได้และกำไร
ส่วนไตรมาส 1 ปี 2568 (สิ้นสุด 31 มีนาคม 2568) M รายงานรายได้จากการขายและบริการอยู่ที่ 3.62 พันล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า (2566) 8.21% จากเดิม 3.95 พันล้านบาท ทำให้มีกำไรสุทธิ 234 ล้านบาท ลดลง 32.59% จาก 346 ล้านบาท ของไตรมาส 1 ปี 2566 ด้วยสาเหตุเดียวกันกับผลประกอบการปี 2567
สิ่งที่น่าสนใจเพิ่มเติม สำหรับหุ้น M นั่นคือ D/E Ratio ณ สิ้นปี 2567 พบว่าอยู่ที่ประมาณ 0.4 เท่า ถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ซึ่งหมายความว่าบริษัทมีหนี้สินน้อยมากเมื่อเทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้น แสดงให้เห็นว่าบริษัทพึ่งพาเงินทุนจากเจ้าของเป็นหลัก ไม่ได้พึ่งพาการกู้ยืมมากนัก ทำให้มีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้หรือมีปัญหาทางการเงินน้อย ขณะเดียวกันบริษัทมีศักยภาพในการกู้ยืมเพิ่มเติมได้อย่างน่าสนใจ หากต้องการขยายกิจการหรือลงทุนในอนาคต ก็ยังมีช่องทางในการกู้ยืมเงินได้ง่ายกว่าบริษัทที่มีหนี้สินสูง ถือเป็นความแข็งแกร่งทางการเงินที่โดดเด่นในแง่ของโครงสร้างหนี้สินต่อทุน
ไม่เพียงเท่านี้มีรายงานว่า M เป็นเพียงไม่กี่บริษัทในตลาดหุ้นที่มีกระแสเงินสดในมือสูงมากกว่า 7.4 พันล้านบาท ยิ่งเป็นเครื่องย้ำเตือนคู่แข่งขันว่า หากต้องการก่อสงครามราคาอาจเจ็บตัวมิใช่น้อย
"Fighting Brand"
และเมื่อมีการเปิดตัว Bonus Suki คาดว่าสัดส่วนรายได้ของ M น่าจะมีโอกาสเปลี่ยนแปลง อย่างมีนัยสำคัญ เพราะถือเป็นการเข้าสู่ตลาดใหม่ ด้วยเพราะถูกวางตำแหน่งให้เป็นแบรนด์ "Fighting Brand" เพื่อเข้าสู่ตลาดสุกี้บุฟเฟต์ราคาประหยัดโดยตรง ซึ่งเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูง ดังนั้นการเข้าสู่ตลาดนี้จะสร้างแหล่งรายได้ใหม่ให้กับ M ที่เดิมเน้นตลาดพรีเมียมมากกว่า จนถูกมองว่าเป็นการเสริมความแข็งแกร่งในตลาดสุกี้โดยรวม
นอกจากนี้ การมีแบรนด์ที่ตอบโจทย์ลูกค้าที่แตกต่างกัน จะช่วยให้บริษัทสามารถเข้าถึงฐานลูกค้าที่กว้างขึ้น และลดความเสี่ยงจากการพึ่งพารายได้จากแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งมากเกินไป จนมีการประเมินว่า Bonus Suki มีศักยภาพในการทำกำไรต่อสาขาที่สูง และหากสามารถขยายสาขาได้ตามแผน ก็จะส่งผลให้รายได้รวมของ M เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม การผุด Bonus Suki ก็อาจส่งผลกระทบต่อ “เอ็มเค สุกี้”เช่นกัน เนื่องจากแม้จะคนละตลาดหรือกลุ่มเป้าหมาย แต่เป็นอาหารประเภทเดียวกัน การเติบโตของ Bonus Suki ก็อาจมาได้จากการดึงฐานลูกค้าบุฟเฟ่ต์ สุกี้รายอื่น รวมไปถึงลูกค้าบางกลุ่มจาก “เอ็มเค สุกี้”เอง แต่ ณ วินาที นี้หลายฝ่ายยังเชื่อว่าจะสร้างกระทบกับ “เอ็มเค สุกี้”แค่วงจำกัด
โดยนักวิเคราะห์มองว่า การเปิดเกมรุกตลาดใหม่ ด้วยกลยุทธ์แบรนด์คู่ขนาน น่าจะช่วยหนุนรายได้ในครึ่งหลังของปี และพลิกภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมอาหารจานด่วนที่กำลังร้อนแรง แต่ยังคงระมัดระวังกับแนวโน้มต้นทุนวัตถุดิบและค่าแรงที่มีโอกาสเพิ่มขึ้นในครึ่งหลังของปี รวมถึงการแข่งขันด้านราคาที่อาจกดดันอัตรากำไร
นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้อย่างมากเลย ที่การเปิดตัว Bonus Suki นั้นจะสามารถทำรายได้เพิ่มขึ้นได้จริง แต่กลับมีกำไรที่น้อยมาก หรือมี Margin ที่ต่ำมาก (Thin Margin) ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ใช้กันบ่อยครั้งในการทำตลาดที่เน้นการแข่งขันด้านราคา ดังนั้นเพื่อที่จะแข่งขันในตลาดนี้ได้ Bonus Suki จึงจำเป็นต้องตั้งราคาที่ดึงดูดใจ (219 บาท + เครื่องดื่มรีฟิล) ซึ่งทำให้มีอัตรากำไรน้อยลงต่อลูกค้าหนึ่งราย
จนเริ่มมีมุมมองต่อเรื่องนี้ที่บวกต่อ M ว่า เป้าหมายหลักในช่วงแรกอาจไม่ใช่การทำกำไรสูงสุดต่อหน่วย แต่เป็นการสร้างฐานลูกค้า การเพิ่มการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) และการขยายส่วนแบ่งตลาดโดยรวมของกลุ่ม M อย่างไรก็ตามแม้ M จะมีข้อได้เปรียบเรื่องการจัดซื้อวัตถุดิบจำนวนมาก (Economy of Scale) แต่ต้นทุนคงที่อย่างค่าเช่า ค่าแรงพนักงาน และค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสาขา ยังคงมีอยู่
ดังนั้น เมื่อราคาขายต่อหัวลดลง อัตรากำไรต่อหัวจึงลดลง หากบริหารจัดการต้นทุนไม่ดีพอ หรือปริมาณลูกค้าไม่มากพอที่จะชดเชย ก็อาจเห็นกำไรของM ที่ลดลง แลกกับการสร้างฐานลูกค้าใหม่ ซึ่งจะมาจากคู่แข่งขันรายอื่น เพื่อหวังช่วยเพิ่มยอดขายโดยรวมของกลุ่ม
แต่นั่นก็ทำให้หลายคนมองเห็นจุดพลาดของ M กล่าวคือ การปล่อยให้รายเล็กขยายสาขามานานเกินไป จนพอที่จะทำให้เกิด Economies of Scale ที่มีต้นทุนที่ประหยัดต่อขนาดที่สามารถแข่งขันได้กับบริษัท ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทต้องเหนื่อยหากคิดจะเอาชนะในตลาดนี้ เนื่องจาก Bonus Suki เพิ่งก่อตั้งจึงจำเป็นต้องมีต้นทุนรวมต่อสาขาที่สูงกว่ารายอื่น และต้นทุนนั้นผู้รับผิดชอบคิอ M
ขณะที่ M ยังอยู่ในช่วงลองผิดลองถูกในตลาดบุฟเฟ่ต์ สุกี้ ดังนั้นทำให้คาดว่ายังจำเป็นต้องใช้เวลานานกว่าที่ธุรกิจจะอยู่ตัว และเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งขันรที่ประสบการณ์ในตลาดนี้มากก่อน และเริ่มทำกำไรอย่างแข็งแกร่ง ก็ต้อมยอมรับว่า Bonus Suki มีความเสียเปรียบรายอื่นๆที่ดำเนินธุรกิจในตลาดนี้มาก่อน และอาจไม่สามารถมองเห็นกำไรไปอีกสักพัก รวมถึงอาจทำให้เกิดการขาดทุนกับบริษัทแม่ เพื่อหวังจะริดรอนส่วนแบ่งการตลาดของคู่แข่งขัน
ทิศทางธุรกิจของ M
มีการประเมินว่า ผลประกอบการของ M ในไตรมาส 2 ปี 2568 นั้นยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ที่ยังอ่อนแอ โดยคาดการณ์ว่า SSSG ในเดือนเมษายนยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ประมาณ -18% ถึง -20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยนี้มาจากผลกระทบของบรรยากาศเชิงลบ เช่น เหตุแผ่นดินไหว และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง แม้โดยปกติไตรมาส 2 จะเป็น High Season แต่การฟื้นตัวอาจยังไม่โดดเด่นเท่าที่ควร
ขณะเดียวกันยังถูกกดดัน จากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนแอจากค่าครองชีพที่สูงและหนี้ครัวเรือนยังคงเป็นปัจจัยกดดันหลักต่อผลประกอบการของ M รวมถึงธุรกิจร้านอาหารยังคงมีการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะจากผู้เล่นรายใหม่ๆ และโปรโมชั่นต่างๆ ทำให้นักวิเคราะห์หลายรายยังคง "ถือ" หุ้น M เนื่องจากมองว่าการฟื้นตัวของกำไรยังคงช้าและมีปัจจัยกดดันจากเศรษฐกิจและกำลังซื้อ แต่ยังคงน่าสนใจในฐานะ หุ้นปันผล เนื่องจากมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่งและอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่สูง (ล่าสุดประมาณ 8.5-8.6%)
สำหรับการคาดการณ์แนวโน้มผลประกอบการของ M ในไตรมาส 3 ปี 2568 และช่วงครึ่งปีหลังของปี 2568 นั้น นักวิเคราะห์มีมุมมองว่า M จะเผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่องในระยะสั้นถึงกลาง เนื่องจากปัจจัยกดดันด้านกำลังซื้อผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และการแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารที่สูง จึงต้องหวังเพิ่งมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนจากภาครัฐ
ดังนั้นแนวโน้มไตรมาส 3 และครึ่งปีหลัง 2568 ของ M คาดว่าจะยังคงเป็นช่วงของการ "ประคับประคอง" และ "สร้างฐาน" การเติบโตใหม่ๆ ผ่านการขยายแบรนด์และสาขา แม้ว่าปัจจัยกดดันด้านเศรษฐกิจและกำลังซื้อยังคงมีอยู่ แต่การเปิดตัวแบรนด์ใหม่อย่าง "BONUS SUKI" และความพยายามในการควบคุมต้นทุนอาจเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยให้ผลประกอบการโดยรวมเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นได้ในช่วงปลายปี หรืออย่างน้อยก็ทรงตัวได้ดีกว่าช่วงที่ผ่านมา
ระยะยาวมี Upside
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กรุงศรี ประเมินทิศทางธุรกิจ M ว่า มีมุมมองเชิงบวกต่อ M จากการเปิดตัวแบรนด์ใหม่ “Bonus Suki” ซึ่งถือเป็นการเข้าสู่ตลาดบุฟเฟต์ สุกี้ อย่างเป็นทางการ ช่วยขยายฐานลูกค้าโดยไม่กระทบต่อแบรนด์เดิมอย่าง “เอ็มเค สุกี้” ทั้งนี้ยังไม่ได้รวมผลของโปรโมชันและการเปิดตัวแบรนด์ใหม่ไว้ในประมาณการ โดยมองว่าแบรนด์ใหม่หากมีการขยายในระยะยาวมีโอกาสเป็น Upside ต่อผลประกอบการ เนื่องจากไม่กระทบต่อรายได้และมาร์จิ้นของธุรกิจหลัก จึงยังคงคำแนะนำ “ถือ” (Neutral)
นั่นเพราะฐานะการเงินที่แข็งแกร่งด้วยเงินสดในมือ 7 พันล้านบาทและไม่มีหนี้สินยังสนับสนุนให้บริษัทสามารถแข่งขันในตลาดนี้ได้ในระยะยาว โดยราคาเหมาะสมของ M ในปี 2568 ที่ระดับ 24.00 บาทต่อหุ้น
โดยรวมแล้ว Bonus Suki เพิ่งเริ่มต้น ดังนั้นยังต้องจับตาดูระยะยาวและประสบการณ์จากผู้บริโภค ว่าจะสามารถรักษาคุณภาพและสร้างฐานลูกค้าประจำได้มากน้อยแค่ไหน ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดในตลาดสุกี้บุฟเฟต์ เช่นเดียวกับภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังคงมีความไม่แน่นอน รวมถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อาจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ทำให้นักวิเคราะห์หลายรายยังคง "ถือ" หุ้น M และยังคงแนะนำให้ "รอดู" สัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนในธุรกิจหลักและผลตอบรับจากธุรกิจใหม่ๆ แม้จะมีการปรับลดประมาณการกำไรและราคาเป้าหมายลงไปบ้าง แต่ก็ยังคงมองเห็นจุดเด่นในฐานะ หุ้นปันผล ที่มีสถานะการเงินแข็งแกร่ง