โทเค็น WLFI ที่เชื่อมโยงกับโลกการเมืองและโลกคริปโตของอดีตผู้นำสหรัฐฯ “โดนัลด์ ทรัมป์” ใกล้เปิดซื้อขายเต็มรูปแบบ หลังการโหวตปลดล็อกเริ่มต้นผ่านฉลุย 99.94% ด้านนักวิเคราะห์เตือนทั้งโอกาสทำเงินและความเสี่ยงจากเบื้องหลังทางการเมืองที่ซับซ้อนยิ่งกว่าสมการบล็อกเชน
โลกคริปโตเดือดระอุอีกระลอก เมื่อ World Liberty Financial (WLFI) โทเค็นที่เชื่อมโยงกับประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" เตรียมเปิดให้ซื้อขายได้อย่างเป็นทางการ หลังการโหวตของผู้ถือโทเค็นผ่านฉลุยถึง 99.94% เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ท่ามกลางความคาดหวังว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้อาจส่งผลให้ความมั่งคั่งจากสินทรัพย์ดิจิทัลของทรัมป์พุ่งทะยานในระดับประวัติการณ์
โครงการ WLFI เปิดตัวเมื่อปีที่ผ่านมา ในฐานะ “ระบบนิเวศการเงินแบบกระจายอำนาจ” ที่มีทั้งโทเค็นกำกับดูแลและสเตเบิลคอยน์ โดยมีเป้าหมายเชื่อมต่อการเงินแห่งเสรีภาพเข้ากับประชาชน โดยใช้บารมีทางการเมืองของตระกูลทรัมป์เป็นแรงส่ง
เอกสารของโครงการชี้ว่า การโหวตปลดล็อกโทเค็นครั้งแรกนี้ คือการเปลี่ยนผ่านจากระบบปิด ไปสู่ระบบเปิดเต็มตัว ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการค้นหาราคาในตลาดอย่างเสรี พร้อมเปิดโอกาสให้นักลงทุนรุ่นแรกเริ่มต้นเทรดได้ทันที
ถึงอย่างนั้น การปลดล็อกทั้งหมดของ WLFI ยังต้องรอการโหวตครั้งที่สอง ซึ่งจะเป็นตัวตัดสินชะตาโทเค็นที่เหลืออยู่อีกกว่า 100 พันล้านหน่วย ที่ยังถูกกักไว้
โทเค็นแห่งเสรีภาพ หรือหมกเม็ดแฝงการเมือง?
แม้โครงการจะเปิดตัวในชื่อ "เสรีภาพ" และแสดงความตั้งใจสร้างระบบการเงินที่กระจายอำนาจ แต่เบื้องหลังกลับเต็มไปด้วยบุคคลใกล้ชิดทรัมป์ โดยบุตรชายทั้งสามคนของทรัมป์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาโครงการอย่างเป็นทางการ ร่วมด้วย สตีฟ วิทคอฟฟ์ มหาเศรษฐีอสังหาฯ พันธมิตรทรัมป์ ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งทูตพิเศษของสหรัฐฯ ประจำตะวันออกกลาง
DT Marks DEFI LLC บริษัทที่เชื่อมโยงกับทรัมป์โดยตรง คาดว่าจะได้รับโทเค็น WLFI มูลค่า 2.25 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่ ทรัมป์เองถือโทเค็นส่วนตัวอีก 1.575 หมื่นล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปีที่ผ่านมา
รายงานจาก Bloomberg ระบุว่า ตระกูลทรัมป์มีรายได้รวมจากการขายโทเค็นดังกล่าวมากถึง 390 ล้านดอลลาร์ ซึ่งนับเป็นสัดส่วนสำคัญของทรัพย์สินดิจิทัลรวมกว่า 620 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ความมั่งคั่งในคริปโตพุ่ง สภาตั้งคำถามเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน
กระแสตอบรับจากฟากการเมืองไม่ราบรื่นนัก โดยสมาชิกสภาคองเกรสจากพรรคเดโมแครต โดยเฉพาะ วุฒิสมาชิกเอลิซาเบธ วอร์เรน และ ส.ส.แม็กซีน วอเทอร์ส ได้เรียกร้องให้ สำนักงาน ก.ล.ต. ของสหรัฐฯ ตรวจสอบความเป็นไปได้ของผลประโยชน์ทับซ้อน
ทั้งคู่ตั้งคำถามว่า ทรัมป์ในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญทั้งในโลกการเมืองและโลกการเงิน อาจใช้สถานะของตนในการผลักดันกฎหมายหรือท่าทีที่เอื้อต่ออุตสาหกรรมคริปโต ซึ่งเขามีผลประโยชน์ส่วนตัวแฝงอยู่
แม้ทำเนียบขาวจะระบุว่าทรัพย์สินของทรัมป์ถูกบริหารผ่านทรัสต์โดยบุตรชายของเขา แต่เอกสารยังชี้ชัดว่า ทรัมป์ยังคงเป็น “ผู้รับผลประโยชน์เพียงผู้เดียว” ซึ่งหมายความว่า เขาสามารถเข้าถึงรายได้จากโทเค็นได้ตลอดเวลา
นักลงทุนเทใจ “เพื่อความมั่งคั่ง – เพื่อชาติ”
แม้จะเต็มไปด้วยข้อกังขาทางจริยธรรม แต่ในฟากของนักลงทุน WLFI กลับเต็มไปด้วยพลังศรัทธา และมองว่าโครงการนี้คือทั้ง “โอกาสทำเงิน” และ “พันธกิจทางอุดมการณ์”
ผู้ถือโทเค็นรายหนึ่งโพสต์ข้อความไว้บนเว็บไซต์ของโครงการว่า "เราลงทุนเพื่อร่ำรวย"
ขณะที่อีกคนหนึ่งเขียนว่า "เพื่อทำให้อเมริกายิ่งใหญ่อีกครั้ง"
แม้จะไม่มีการเปิดเผยรายชื่อ แต่ที่อยู่กระเป๋าคริปโตที่ร่วมโหวตครั้งนี้บ่งชี้ว่า กลุ่มผู้สนับสนุน WLFI ส่วนใหญ่ยังยึดมั่นในแบรนด์ “ทรัมป์” ทั้งในฐานะนักการเมืองและผู้นำคริปโต
อย่างไรก็ดี การซื้อขาย WLFI อาจไม่ได้เป็นเพียงการเคลื่อนไหวในตลาดคริปโต แต่นี่คือเกมหมากบนกระดานใหม่ของโดนัลด์ ทรัมป์ในสนามการเงินโลก การมีส่วนร่วมของวงในตระกูลและกลุ่มทุนที่แวดล้อม สะท้อนยุทธศาสตร์ที่ไม่เพียงแสวงหากำไร แต่แสวงหาอิทธิพลด้วยในเวลาเดียวกัน
และหากการปลดล็อกครั้งที่สองประสบความสำเร็จ การประเมินมูลค่าคริปโตของทรัมป์อาจพุ่งไกลยิ่งกว่าสถิติปัจจุบัน โดยทิ้งคำถามสำคัญไว้เบื้องหลัง “WLFI จะกลายเป็นเครื่องมือเสรีภาพทางการเงิน หรือเป็นอีกหนึ่งจักรกลของอำนาจการเมืองยุคดิจิทัล?”