ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมินยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ที่ 35.9 ล้านคนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อน ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนหดตัวรุนแรงคาดอยู่ที่ราว 5.5 ล้านคน ฟื้นตัวเพียง 50% จากปี 2562 จาก 3 สาเหตุหลัก แต่ยังได้แรงหนุนจากนักท่องเที่ยวกลุ่ม High Spending ช่วยพยุงด้านรายได้คาดมูลค่าราว 1.74 ล้านล้านบาท ฟื้นตัวที่ระดับ 91% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด แนะภาครัฐเข้าพยุง-ออกมาตรการเข้มข้น-ครอบคลุม-เป็นรูปธรรม
นายสุปรีย์ ศรีสำราญ ผู้อำนวยการฝ่าย ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS เปิดเผยว่า ในช่วง 1-2 ปีนี้ นับเป็นปีแห่งความท้าทายของภาคท่องเที่ยวไทยที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เคยเป็นกลุ่มรายได้หลักส่งสัญญาณลดลงอย่างมากต่อเนื่อง และอาจจะฟื้นได้ราว 50-65% เท่านั้น เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด แต่ยังได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของนักท่องเที่ยวกลุ่มแมสอย่างมาเลเซีย และอินเดีย และกลุ่ม High Spending อาทิ ยุโรป รัสเซีย และอิสราเอล ที่เข้ามาช่วยพยุงรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มีมูลค่าราว 1.74-1.95 ล้านล้านบาท ซึ่งสถานการณ์ในครั้งนี้คงกระทบต่อผู้ประกอบการใน Supply Chain ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งนี้ Krungthai COMPASS คาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยในปี 68 ที่ระดับ 35.9 ล้านคนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 67 ที่ 35.5 ล้านคน และต่ำกว่าคาดการณ์เดิมของธนาคารที่มองไว้ 39 ล้านคน เป็นนักท่องเที่ยวจีน 5.5 ล้านคน และคาดการณ์ปี 69 ที่ 39 ล้านคน เป็นนักท่องเที่ยวจีน 7.2 ล้านคน โดย 5 เดือนแรกของปีมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 14.4 ล้านคน ลดลง 2.7%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และคิดเป็นอัตราฟื้นตัวที่ 86% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 ทั้งนี้ การชะลอตัวลงของนักท่องเที่ยวนั้น หากพิจารณาแล้วจะพบว่ามาจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงเป็นหลัก โดยในช่วง 5 เดือนแรกจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเพียง 2.0 ล้านคน ลดลง 33%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และฟื้นตัวเพียง 41%จากปี 62
นายกณิศ อ่ำสกุล นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า 3 เหตุผล ที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนไม่มาไทยในช่วง 1-2 ปีนี้ ได้แก่ 1) ภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยของประเทศไทย โดยผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยในไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้ากว่าในอดีต โดยอาจใช้เวลาถึง 1 ปี กว่าที่นักท่องเที่ยวจีนจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ 2) พฤติกรรมและกลุ่มของนักท่องเที่ยวจีนที่เปลี่ยนไป โดยนักท่องเที่ยวจีนกลุ่ม F.I.T. ที่มักมองหาประสบการณ์การท่องเที่ยวใหม่ๆ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นชัดเจน ซึ่งสถานที่ท่องเที่ยวของไทย อาจมีความแปลกใหม่ที่น้อยกว่าประเทศคู่แข่งเช่น ญี่ปุ่น เวียดนาม เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และมาเลเซีย ที่มีการพัฒนา Destination ใหม่ๆ 3) ผลกระทบจากภาวะ เศรษฐจีนที่ชะลอตัว ส่งผลให้กำลังซื้อของชาวจีนยังไม่กลับมาในระดับเดิม ทำให้นักท่องเที่ยวจีนบางส่วนเลือกเดินทางในประเทศทดแทนการท่องเที่ยวต่างประเทศที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง
นายธนา ตุลยกิจวัตร นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า ปัจจุบันภาคการท่องเที่ยวเริ่มมีสัดส่วนต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยลดลง โดยสาเหตุมาจากการเติบโตของนักท่องเที่ยวต่าฃชาติทีาลดลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีนที่เป็นหนึ่งในตัวหลักในการขับเคลื่อน โดยสัดส่วนภาคการท่องเที่ยวต่อจีดีพีที่เคยอยู่ในระดับ 57.7%ของจีดีพีในปี 65 ลดลงมาที่ 28.8%ในปี 67 และเหลือเพียง 20.5%ในไตรมาสแรกปี 68 ซึ่งการลดลงดังกล่าวนอกจากจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของจีดีพีไทยแล้ว ยังส่งผลต่อธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องด้วย
ดังนั้น ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงยังเป็นกำลังสำคัญที่มีบทบาทในการพยุงภาคท่องเที่ยวไทยให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ท้าทายในครั้งนี้ ด้วยมาตรการต่างๆ ที่เข้มข้น และครอบคลุมทุกมิติอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งมาตรการเรียกความเชื่อมั่นและดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ พร้อมๆ ไปกับมาตรการที่ช่วยพยุงผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างจริงจัง ขณะที่โครงการไทยเที่ยวไทยมองว่าเป็นเพียงมาตรการเสริมเพื่อช่วยผู้ประกอบการในช่วง Low season เท่านั้น
โดย Krungthai COMPASS มองว่าการสนับสนุนทุนสร้างภาพยนตร์หรือซีรีส์ต่างชาติในประเทศไทย จะเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่ช่วยสร้างแรงกระเพื่อมด้าน Soft Power ที่สำคัญ และเป็นหนึ่งในโอกาสใหม่สำหรับภาคท่องเที่ยวของไทย โดยประเมินว่าจุดคุ้มทุน (Break-even) ของการโปรโมทประเทศไทยด้วยวิธีออกทุนผลิตซีรีส์ 1 EP จะอยู่ที่การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ 500-1,000 คน